Skip to main content

คนแบบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาไม่ได้มีแต่พลเอกประยุทธ์เพียงคนเดียว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่มีเบื้องลึกของจิตใจแบบพลเอกประยุทธ์ แต่หากจะพูดให้ถูก คนที่มีจิตใจเบื้องลึกที่กักขฬะ อาจจะไม่จำเป็นต้องแสดงออกอย่างกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์ แต่ทำไมขณะนี้สังคมไทยจึงยอมให้ความกักขฬะเข้ามาปกครองบ้านเมือง

หรือหากจะพูดอีกแบบหนึ่ง ความกักขฬะเป็นวัฒนธรรมแบบหนึ่ง วัฒนธรรมกักขฬะ ไม่รู้กาละเทศะ ดิบห่าม ไร้มารยาท เหยียดเพศ เหยียดชนชั้นในสังคมไทยนั้นมีอยู่เต็มไปหมด ไม่อย่างนั้นคนแบบพลเอกประยุทธ์ก็ไม่มีทางได้ดิบได้ดีจนทุกวันนี้ได้ 

แต่จะพูดอย่างนี้ก็ออกจะเหมารวมเกินไปสักหน่อย เพราะคุณหลายคนที่อ่านข้อเขียนนี้อยู่ก็คงไม่ได้เป็นคนแบบนี้ แต่คนแบบนี้มีอยู่จริง คนแบบนี้คือคนที่นิยมชมชอบการอยู่ในอำนาจของพลเอกประยุทธ์ 

ที่เห็นชัดๆ เลยคือ ผมว่าคนแบบพลเอกประยุทธ์น่าจะอยู่ในกลุ่มคนที่นิยมความรุนแรง นิยมการใช้อำนาจ นิยมระบบชายเป็นใหญ่ แล้วเป็นคนที่เติบโตในระบบสังคมที่ปิด ปิดหูปิดตาตนเอง ปิดโลกตัวเอง ไม่ค่อยคบค้าสมาคมกับคนในโลกกว้าง  

พูดง่ายๆ คือคนส่วนใหญ่ที่เติบโตในระบบทหารในประเทศไทยนั่นแหละ ดูเอาเถอะ ไม่อย่างนั้นคนอย่างพลเอกประยุทธ์จะขึ้นมาเป็นผู้นำกองทัพได้อย่างไร ไม่อย่างนั้นคนอย่างพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณจะขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตได้อย่างไร 

ตรงกันข้าม คนในโลกยุคปัจจุบันคือคนที่ต้องเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นคนของผู้อื่น ไม่ว่าจิตใจเบื้องลึกของเขาจะหยาบช้าอย่างไร แต่อย่างน้อยที่สุดเมื่ออยู่ต่อหน้าสาธารณชน อยู่ต่อหน้าสังคม อยู่ในสังคมแล้ว จะต้องเข้าใจว่าระเบียบสังคมปัจจุบันเป็นอย่างไร จะมาล้อเล่นกับความเป็นผู้หญิง จะมาดูถูกคนจน อย่างที่พลเอกประยุทธ์เป็นไม่ได้เด็ดขาด 

ที่เป็นอย่างนี้เพราะสังคมปัจจุบันให้คุณค่ากับความเสมอภาคกัน แล้วความเสมอภาคไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ มันก้าวไปข้างหน้าเสมอ มันผลักให้เราต้องคิดหน้าคิดหลัง คิดอย่างละเอียดอ่อนมากยิ่งขึ้นเสมอ  

เมื่อร้อยปีก่อน เราแค่เรียกร้องความเสมอภาคกันระหว่างชนชั้น แล้วต่อมาก็เรียกร้องความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ต่อมาระหว่างคนต่างชนชาติ ศาสนา ต่างวัย เรื่อยมาจนกระทั่งถึงความเสมอภาคระหว่างความเป็นเพศหรือที่เรียกว่าเพศภาวะที่มีหลากหลายจนเกินกว่าจะนับได้ถ้วนทั่ว  

แทบไม่ต้องพูดถึงความเสมอภาคระหว่างคนรวยกับคนจน คนเมืองกับคนชนบท คนการศึกษาน้อยกับคนการศึกษาสูง เหล่านี้ถือเป็นความเสมอภาคที่สังคมไหนๆ เขาก็ก้าวผ่านมา เรียกว่าโลกทั้งใบเขาใส่ใจกับความเสมอภาคกัน แล้วคนแบบไหนกันที่ไม่ใส่ใจกับความเสมอภาค ดูถูกคนจน คนการศึกษาน้อย อยู่ได้ตลอด 

อย่างในสังคมการศึกษาที่ผมคุ้นเคย ปัจจุบันเมื่อยืนอยู่หน้าห้องเรียนทีไร ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้ห้องเรียนชวนติดตาม สนุกสนาน ท้าทายให้นักเรียนคิด โดยไม่นำเอาความบกพร่องทางกาย ทางเพศ หรือความแตกต่างด้านต่างๆ มาเป็นเรื่องเล่น ผมเองแค่จะยกตัวอย่างอะไรในห้องเรียน ก็มักจะต้องระวัง 

ทั้งต้องไม่ทำให้ความแตกต่างกลายเป็นของแปลกจนต้องกลายมาเป็นตัวอย่างเสมอ หรืออย่างน้อยที่สุด ก็จะต้องไม่ยกเอาความพิกลพิการมาพูดถึงจนเกินเลย อย่าว่าแต่จะพูดให้เสียหายเลย จะพูดให้คนเห็นใจยังต้องระวังว่าทำอย่างไรจะไม่กลายเป็นการสร้างความรู้สึกสงสาร แล้วจะกลับกลายเป็นการดูถูกไปเสียอีก 

ผมคิดว่าความกักขฬะ เหยียดหยามคนอื่นมีที่ทางทางสังคมของมันเองเหมือนกัน นิสัยแบบนี้อยู่ในกมลสันดานของคนจำพวกหนึ่ง เป็นคนที่สมาคมกับคนน้อย เป็นคนที่สังคมของพวกเขาไม่ใส่ใจคนอื่น ใส่ใจอยู่แต่กับระบบพวกพ้องของตนเอง เพราะความก้าวหน้าของพวกเขามาจากการใช้ความกักขฬะมากกว่าการให้ความเคารพผู้อื่น 

ฉะนั้นความกักขฬะอาจมีประโยชน์ของมันเองในสังคมแบบหนึ่ง เช่น สังคมที่ต้องการความเด็ดขาด มีความจำเป็นต้องใช้ความเผด็จการ อย่างเช่น หากเราจะฝึกสัตว์ป่าให้เชื่อง ฝึกคนให้เชื่อฟังอย่างไร้ข้อต่อรองใดๆ ก็จะต้องทำลายความเท่าเทียมลง สร้างระบบช่วงชั้นการบังคับบัญชาขึ้นมา และแน่นอนว่าเราคงต้องใช้ความกักขฬะส่วนหนึ่ง  

ในสังคมที่เต็มไปด้วยชายฉกรรจ์ถืออาวุธ ความกักขฬะในสัดส่วนที่เหมาะสม ผสมกับศรัทธาหรือความเชื่อทางสัญลักษณ์ทำให้คนเชื่อฟังอย่างซาบซึ้ง (ซึ่งจะเกินเลยจากประเด็นในที่นี้มากไป ขอไม่พูดถึง) จึงจะสามารถควบคุมให้ฝูงคนเหล่านั้นปฏิบัติตามคำสั่งได้ ความกักขฬะคงจะจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการสร้างสังคมที่มีกฎระเบียบเข้มงวดอย่างสังคมทหาร 

แต่สังคมทั่วไปไม่ใช่สังคมทหาร ประเทศชาติไม่ใช่ค่ายทหาร เราทุกคนไม่ใช่ทหาร หากทุกคนคิดแบบทหารและกลายเป็นทหารหมด ทุกคนกักขฬะหมด เราจะอยู่ในโลกใบเดียวกันนี้กับชาวโลกเขาไม่ได้ หากลูกหลานคุณเป็นคนกักขฬะแบบพลเอกประยุทธ์กันหมด พวกเขาจะต้องย้อนกลับมาต่อว่าคุณที่ปล่อยให้เขาโตขึ้นมากับความกักขฬะเมื่อเขาได้ออกไปเผชิญโลกกว้าง แล้วพบว่าชาวโลกเขาเลิกกักขฬะกันหมดแล้ว 

ที่แย่ยิ่งกว่านั้นคือ สังคมกักขฬะคิดไม่เป็นก็จึงไม่เจริญก้าวหน้า ความคิดความอ่านเกิดมาจากการเป็นสังคมที่ไม่เชื่อตามๆ กัน เป็นสังคมที่กล้าแตกแถว เป็นสังคมที่เคารพคนอื่น สังคมที่จะก้าวหน้าได้ต้องเป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค พร้อมที่จะรับฟังคนอื่น ให้โอกาสคนอื่น เห็นอกเห็นใจและคิดเผื่อคนอื่นเสมอ  

เราจะให้สังคมไทยปกครองด้วยคนกักขฬะอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ หรือ เราจะต้องทนกับความกักขฬะไปอีกนานเท่าไหร่ เราอยากให้ชาวโลกเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีวัฒนธรรมกักขฬะอย่างนั้นหรือ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลังจากพินิจพิเคราะห์แล้วว่า ท่านผู้นำกำลังจะหมดเรื่องพล่ามในไม่ช้า เพราะเริ่มวนเวียนและเล่าเรื่องตัวเองมากขึ้น ท่านจึงควรหาความรู้รอบตัวมากขึ้น ก็เลยขอตามกระแส แนะนำหนังสือให้ท่านอ่าน ก็ไม่รู้จะ tag ท่านยังไง แต่คิดว่า เขียนใส่ขวดลอยไปก็อาจจะลอยไปถึงตีนบันไดบ้านท่านบ้างสักวัน ก็ขออนุญาตแนะนำดังนี้ครับท่าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นท่านผู้นำไม่นิยมผู้หญิง เพราะในคณะรัฐบาลท่านมีผู้หญิงเพียง 2 คน ผมก็เลยขอแนะนำท่านว่า ผู้หญิงทำงานความคิดเก่งๆ มีมากมาย ไม่ใช่ให้ลูกน้องเอาผู้หญิงมาเต้นโป๊เปลือยดูกันในค่ายทหารเท่านั้น แต่ก็เอาล่ะ ขอแนะนำนักมานุษยวิทยาสตรีที่ผมชื่นชอบสัก 10 คนก็แล้วกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรามีปาก เขามีปืน เราขัดขืน เขาข่มเหงเรานักเขียน เขานักเลง เรายำเกรง เขาลำพอง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใครที่รู้จักอาคารดังๆ ของแฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frak Lloyd Wright) อย่าง Guggenhiem Museum ที่นิวยอร์ค บ้านน้ำตกที่เพลซิลวาเนีย Imperial Hotel ที่โตเกียว อาจจะนึกไม่ถึงว่า บ้านที่ไรท์เรียกว่าเป็นบ้านของเขานั้นอยู่ในชนบทที่ Spring Green มลรัฐวิสคอนซิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะแบบนี้ปรากฏตัวบ่อยครั้งในข้อถกเถียงทางการเมืองไทย ในระบบการศึกษาไทย ตำราเรียนไทย ประวัติศาสตรืไทยแบบทางการก็ยังสอนแบบนี้อยู่ คนไทยไม่ว่าจะใส่เสื้อสีใด ส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อแบบนี้อยู่ ทัศนะแบบนี้คงกะลาความเป็นไทยเอาไว้อย่างหนาเตอะเกรอะกรัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บทสนทนาระหว่าง นายอานันท์ ปันยารชุน กับนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2557 ที่โรงแรมมณเฑียร มีสาระที่น่าสนใจหลายประการต่อการเข้าใจการเมืองไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 นึกถึงชิคาโก ผู้คนคงนึกถึงตึกระฟ้าที่เคยประชันกันกับนิวยอร์ค นึกถึงธุรกิจที่ดึงดูดให้ใครต่อใครมาอาศัยที่นี่จนเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ของสหรัฐอเมริกา นึกถึงสถาปัตยกรรมอันหลากหลายและฟังเมืองใหม่หลังไฟไฟม้ใหญ่จนราบไปทั้งเมือง นึกถึงอัลคาโปนเจ้าพ่อชื่อดัง นึกถึงพิพิธภัณฑ์ที่เดินดูกันทั้งเดือนก็คงไม่หมด นึกถึงมหาวิทยาลัยอันโด่งดังอย่างมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก แต่ใครบ้างจะนึกถึงแมกไม้และสายน้ำของชิคาโก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
  เมื่อวันจันทร์ (11 สค.) หลังจากใช้เวลาอยู่ใน Field Museum (ซึ่งพอดีมีนิทรรศการว่าด้วยกำเนิดของ Field Museum ที่เกี่ยวข้องกับกำเนิดของมานุษยวิทยาอเมริกันอย่างยิ่ง) ไปกว่า 4 ชั่วโมงแล้ว ผมลังเลอย่างยิ่งที่จะเข้าชม The Art Institute of Chicago ต่อ เพราะเกรงว่าจะไม่ทันได้ครุ่นคิดอะไรกับความรู้และความรู้สึกแบบอัดแน่นจากเมื่อ 4 ชั่วโมงที่ผ่านมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักเรียนคนหนึ่งถามเรื่อง "การเขียน" และการวางแผน "อนาคต" ของเขา ผมเขียนตอบไปอย่างยาว เห็นว่าอาจเป็นประโยชน์กับคนอื่นๆ บ้าง ก็เลยขอนำมาเผยแพร่ที่นี่ครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์ธรรมศาสตร์ ผมไม่อาจยินดีกับการที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก คสช. 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อก่อนผมเถียงกับเพื่อนเสมอว่า อย่ามาถามว่าผมเป็นคนที่ไหน เพราะคนเราอาจมีหลายบ้าน มีใครในยุคนี้ที่ไม่ย้ายบ้านบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสวยหรูนี้ประดิษฐ์ขึ้นมาในภาษาไทยโดยใครนั้น ผู้ที่ติดตามแวดวงวิชาการในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาย่อมทราบดี ไม่ว่าจิตวิญญาณของผู้ที่กล่าวคำนี้จะยังอยู่กับแนวคิดนี้ที่เขาอาจพลั้งปากออกมาหรือไม่ คนที่สนิทชิดเชื้อกับผู้ประดิษฐ์คำท่านนี้ก็คงจะทราบดี