Skip to main content

ความสุขอย่างหนึ่งของการมาอยู่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษามหาวิทยาลัยเกียวโตก็คือ การได้รู้จักผู้คนและแลกเปลี่ยนความรู้ในหลายภาษา อีกอย่างคือได้แลกเปลี่ยนความรู้ในหลายบริบท ทั้งในห้องสัมมนา ห้องทำงาน ห้องเรียน และร้านเหล้า ผมถือว่ามันเป็นบริบททางวิชาการทั้งนั้นแหละ

  

ญี่ปุ่นเป็นเมืองที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งที่จริงก็น่าสนใจ คงเพราะโลกของการใช้ภาษาญี่ปุ่นใหญ่พอที่จะไม่จำเป็นต้องเรียนภาษาอังกฤษให้ดีนักก็ก้าวหน้าทางการงานได้ เดาเอาน่ะนะครับ และที่น่าสนใจอีกอย่างคือ ผมเจอคนญี่ปุ่นหลายคนที่เขียนภาษาอังกฤษดีมาก แต่พูดไม่ได้เลย ฟังบางคนยังพอฟังได้ แต่บางคนฟังก็แทบจะไม่ได้เลย แต่เขียนได้ได้ดีมาก การเขียนภาษาอังกฤษได้ดีคงเพียงพอแล้วกระมัง

 

แต่ที่ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา และในภาควิชาทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเกียวโตนี่แตกต่างจากที่อื่น ผู้บริหารที่ศูนย์เองคุยว่านักวิชาการที่ทำงานและที่เกี่ยวข้องศูนย์นี้น่ะ พูดกันได้หลายภาษามากกว่าหลายๆ ที่ในญี่ปุ่น ที่จริงบรรยากาศแบบนี้ก็มีในบางที่ในอเมริกาเหมือนกัน และที่อื่นๆ ในโลกเช่นกัน แต่ต้องเป็นที่ที่มีภาษาสอนหลายภาษา

 

แน่นอนว่าเมื่อมีการเสนองานวิชาการ ภาษาสำหรับการสื่อสารก็เป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาญี่ปุ่น แต่ภาษาในการแลกเปลี่ยนสนทนานอกเวลานำเสนอผลงาน อย่างในห้องทำงานและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามร้านเหล้าล่ะก็ อยากพูดภาษาอะไรก็พูดกันไปเถอะ แต่ผมว่าบรรยากาศร้านเหล้านี่แหละที่จะยิ่งทำให้คนพูดกันหลายภาษา เพราะคนอยากแลกเปลี่ยนกันแบบสบายๆ บางทีภาษาอังกฤษก็เป็นอุปสรรคสำหรับนักวิชาการญี่ปุ่นจำนวนมากเช่นกัน

 

บางวันผมไปนั่งกินเหล้ากับกลุ่มนักวิชาการญี่ปุ่น ที่กลุ่มคนพูดภาษาเวียดนาม อีกคนพูดภาษาไทย ทั้งสองคนไม่ถนัดพูดภาษาอังกฤษ กับอีกคนที่พูดสองภาษานี้ไม่ได้เลย หันข้างนึงก็พูดภาษาเวียด หันมาอีกข้างก็พูดภาษาไทย หันไปอีกข้างก็ต้องพูดภาษาอังกฤษ นี่ถ้าพูดญี่ปุ่นได้ด้วยคงยิ่งสนุกกว่านี้อีก หรือไม่ก็คือทุกคนพูดญี่ปุ่นหมดมีผมคนเดียวที่พูดภาษาต่างประเทศ

 

เมื่อวาน (27 พฤษภาคม 2559) ไปดูหนังเวียดนามเรื่องหนึ่งกับกลุ่มนักวิชาการญี่ปุ่นที่ศึกษาเวียดนาม กลุ่มที่มาดูก็แน่นอนว่าเป็นพวกที่รู้ภาษาเวียดนาม ไม่รู้มากก็ต้องรู้บ้าง แต่หนังมีซับไทเทิลภาษาญี่ปุ่น ดูหนังจบมีการบรรยายเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งผมไม่รู้เรื่อง แต่ก็นั่งอยู่จนจบ เพราะหลังจากนั้นจะมีกิจกรรมทางวิชาการที่ผมถือว่าสำคัญ คือการที่พวกอาจารย์และนักศึกษาปริญญาโท-เอกก็ไปกินข้าวด้วยกัน  

 

ตามปกติของวัฒนธรรมทางวิชาการที่นี่ งานเสวนาวิชาการก็มักจะจัดเย็นๆ เสร็จแล้วจะให้สมบูรณ์ก็ต้องจบลงที่การไปดื่ม-กินด้วยกันอย่างนี้แหละ หากขยันไปเข้าร่วมสัมมนาซึ่งสัปดาห์หนึ่งมีไม่ต่ำกว่า 2 งาน ไม่มากก็น้อยก็จะต้องติดสอยห้อยตามกันไปดื่ม-กินหลังงานเสวนาวิชาการ ซึ่งก็จะเหนื่อยไม่น้อย

 

คืนวานหลังดูหนัง ผมสนุกมากที่ได้พูดคุยภาษาเวียดนามเหมือนกับอยู่ที่เวียดนามเลย บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนความรู้ แลกเปลี่ยนข้อมูลของคนที่ศึกษาเวียดนามพื้นที่ต่างๆ และเรียนรู้จากนักวิชาการเวียดนามเอง เป็นไปอย่างครึกครื้น  

 

ที่สนุกอีกอย่างคือ นอกจากจะแลกเปลี่ยนกันเป็นภาษาเวียดนามเป็นส่วนใหญ่แล้ว นักศึกษาชาวเวียดที่มาเรียนที่นี่ที่เจอกันเมื่อวานน่ะ เธอมาจากเวียดนามภาคกลาง เสียงภาษาเวียดเธอก็เลยมีสำเนียงภาคกลาง ฟังรื่นหูไปอีกแบบ ได้บรรยากาศแบบไม่ค่อยฮานอยนัก งานวิจัยของเธอก็น่าสนใจ เธอศึกษาเรื่องการคลอดลูกของชาวม้งที่จังหวัด Hà Giang (ห่าซาง) เธอก็ไปเรียนภาษาม้งด้วยเพราะคนม้งที่นั่นแทบไม่พูดภาษาเวียด แล้วพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ซึ่งผมเคยเดินทางไปเยือนมาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ก็จึงแลกเปลี่ยนกันถามไถ่ว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมกี่มากน้อย

 

ความบันเทิงอีกอย่างของเมื่อคืนวานคือ นักศึกษาคนนี้มีลูกสาวอายุ 6 ขวบ ตอนนี้มาอยู่ด้วยกันที่ญี่ปุ่น เด็กคนนี้อยู่มาแค่ปีเดียวก็พูดได้ทั้งภาษาเวียดและภาษาญี่ปุ่นอย่างคล่องแคล่ว แม่เธอบอกว่าลูกสาวพูดภาษาอังกฤษด้วย แต่ยังไม่ได้ลองคุยด้วยว่าพูดไ้ด้ดีแค่ไหน คือในบรรยากาศทางวิชาการแบบนี้ ลูกคนเหล่านี้ก็มักพูดกันหลายภาษาไปด้วย  

 

ไม่มีอะไรมากครับ แค่เล่าสู่กันฟังเพราะอยากให้มีบรรยากาศทางวิชาการแบบนี้ในประเทศไทยบ้าง มหาวิทยาลัยไทยมีหลายแห่งที่จัดสอนภาษาต่างๆ แต่จะมีสักกี่มากน้อยที่สร้างบรรยากาศทางวิชาการที่แลกเปลี่ยนกันด้วยภาษาอื่นๆ นอกเหนือจากภาษาอังกฤษแบบนี้ แล้วบรรยากาศวิชาการนอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนา ก็แทบจะไม่เกิดขึ้น เพราะความสัมพันธ์ศิษย์อาจารย์ของไทยน่ะดูห่างเหินแข็งทื่อยิ่งกว่าระบบอาวุโสที่ดูเคร่งครัดแต่สนิทสนมกันแบบญี่ปุ่น

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก