Skip to main content

หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด

ที่จริงจะพูดไปเรื่องนี้อย่างไรเสียก็ว่ากันได้ทุกคน ว่ากันได้ตั้งแต่สมัยอดีตนายกฯ คนที่เป็นที่นิยมมาก จนถึงผู้มีอำนาจในทุกวันนี้ จนถึงชาวบ้านตาดำๆ อย่างเราๆ ใครๆ ก็ทำผิดกันได้ทั้งนั้น แล้วหลายคนก็ไม่ยอมรับผิดของตนเองกันได้ทั้งนั้น แต่ความผิดบางกรณีถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม เพราะเป็นความผิดต่อสาธารณชน ไม่ใช่ความผิดต่อใครคนใดคนหนึ่ง

เช่นว่า ความผิดที่ดูเล็กน้อย เหมือนไม่เป็นภัยแต่ดูใจบุญอย่างกรณีนกเงือก หรือความผิดที่ดูผู้กระทำกลับอ้างการตกเป็นเหยื่อของการลวงโลกเสียเองอย่างกรณี GT200 รวมทั้งกรณีศิลปินที่มีส่วนร่วมกับการปูทางไปสู่การรัฐประหารที่บัดนี้พิสูจน์แล้วว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง แต่ผู้กระทำกลับปฏิเสธราวกับว่าขณะนั้นรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งๆ ที่ก็ยังร่วมหัวจมท้ายกับขบวนการทำลายสิทธิเสรีภาพมาจนหลังรัฐประหาร ตลอดจนกรณีก่อนหน้านั้นที่ใหญ่ๆ ก็คงจำกันได้ที่อดีตนายกฯ คนหนึ่งยอมรับเองว่ามีการสั่งให้ใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่ยอมรับผิด กลับบอกว่า "โชคร้ายที่มีคนตาย" 

เรื่องนี้มีสามคำถามที่น่าคิดคือ 1. ทำไมสังคมจึงสนใจบางความผิดของบางคนเป็นพิเศษ 2. ทำไมการยอมรับผิดของบางคนจึงยากเย็นนัก แล้ว 3. ทำไมประเทศไทยจึงไม่สามารถเอาผิดกับผู้มีอำนาจได้เสียที 

แน่นอนบางคนคงอยากจะบอกว่า เรื่องนี้มันก็เลวกันทุกฝ่ายนั่นแหละ แต่ที่ผมว่าที่เลวร้ายยิ่งกว่า สร้างความผิดหวังต่อสังคมยิ่งกว่า และทำลายความเชื่อมั่นต่อความดีงามมากที่สุด ก็คือกรณีของคนที่ออกตัวแรงกับสังคมว่าเป็นคนดี อยู่ข้างความถูกต้อง อยู่ตรงข้ามกับคนโกง ทำดีให้สังคมรับรู้สม่ำเสมอ แต่เมื่อตนเองทำผิดพลาด กลับเฉไฉแถไปมาด้วย "คำแก้ตัว" (คำนี้สำคัญนะครับ เป็นคนละคำกับ "เหตุผล") ต่างๆ นานา 

นี่ชวนให้คิดถึงข้อเท็จจริงทางสังคมอย่างหนึ่งของวัฒนธรมไทยว่า การรักษาหน้าตาสำคัญกว่าความละอายต่อการทำบาป สังคมไทยให้ความสำคัญกับหน้าตาทางสังคม มากกว่าหลักการในอุดมคติ เขาจึงยอมผิดหลักการแต่ไม่ยอมเสียหน้า อุดมคติเป็นสิ่งที่อยู่ในใจ หลายครั้งทำดีตามอุดมคติแล้วไม่ได้หน้า ได้เพียงความรู้สึกดีอยู่ในใจคนเดียว แต่คนไทยชอบทำดีพร้อมกับได้หน้า เพราะหน้าตามาพร้อมกับฐานะพิเศษทางสังคม 

หน้าตาสำคัญเพราะหน้าตารักษาความคาดหวังต่อบทบาทตามสายสัมพันธ์ทางสังคม คนที่มีอำนาจ ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ผู้ที่สังคมให้ความนับถือยกย่อง ย่อมไม่อยากสูญเสียสถานภาพทางสังคม เพราะในกลไกทางสังคมของสังคมไทย เมื่อใครก็ตามมีอำนาจ มีคนยกย่องสรรเสริญ เขาย่อมมีโอกาสได้รับอภิสิทธิ์พิเศษ และยิ่งมีโอกาสได้สืบทอดให้คงอยู่ในสถานภาพพิเศษนั้นไปได้นานๆ มากกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในสถานะเช่นนั้น 

ลึกไปกว่านั้น ผมว่ามีอีกส่วนที่ผมคิดว่าอาจจะทำให้คนเหล่านี้ไม่ยอมรับผิด คนเหล่านี้อาจจะเกรงกลัวโทษทัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าการเสียหน้า เพราะการรับผิดทางสังคมย่อมอาจจะส่งผลให้เขากลายเป็นผู้สารภาพผิดในทางนิตินัยไปด้วยโดยปริยาย ข้อนี้ผมไม่รู้เหมือนกันว่าในทางกฎหมายจะถือได้หรือเปล่าว่า เมื่อผู้ทำผิดได้รับสารภาพผิดต่อสาธารณชนไปแล้ว ก็เหมือนปูทางไปสู่การต้องรับผิดในกระบวนการยุติธรรมไปด้วย 

ประเด็นที่ใหญ่ยิ่งกว่านั้นคือ "วัฒนธรรมการปล่อยให้คนผิดลอยนวล"(impunity) ที่จริงผมไม่ได้รู้เรื่องนี้มากนัก ก็อ่านเอาจากหลายๆ คนที่เคยเขียนไว้แล้ว แนวคิดนี้พูดถึงการปล่อยปละละเลยไม่ให้เกิดความรับผิดชอบของความผิดในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ก่อความผิดเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง  

นี่ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็น "นักการเมือง" ในความหมายแคบ แต่ยังรวมถึงคนมีอำนาจในการบริหารประเทศ พูดง่ายๆ คือ ผู้นำเผด็จการที่อ้างว่าเข้ามายึดอำนาจเพื่อกำจัดนักการเมือง ตัวเขาเองก็เป็นนักการเมืองด้วยเหมือนกัน และต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองที่ต้องสามารถถูกดำเนินการด้วยกระบวนการยุติธรรมได้เช่นกัน แต่คนผิดที่ขี้ขลาดและหน้าด้านส่วนมากก็ย่อมนิรโทษกรรมตนเองให้ปลอดจากความผิดทั้งหมดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็คือประกาศตั้งแต่แรกที่ทำผิดว่า พวกเขาไม่ยอมรับผิด

ความไม่รับผิดต่อความผิดสาธารณะของผู้มีอำนาจ เป็นพื้นฐานของการปล่อยให้ผู้มีอำนาจที่กระทำผิดลอยนวล เมื่อเราปล่อยปละละเลยต่อการลงโทษผู้มีอำนาจที่กระทำผิด ผู้ที่เป็นเหยื่อของความผิดเหล่านั้นก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม สังคมก็ไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ สุดท้ายสังคมก็ไม่อาจไปสู่การให้อภัยกันแล้วหันหน้ากลับมากล้ำกลืนจนสุดท้ายยอมปรองดองกันได้  

แล้วสุดท้าย วัฎจักรการไม่รู้จักรับผิดก็ผลิตซ้ำตัวมันเอง สังคมจึงปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอำนาจกระทำผิดต่อประชาชนได้ต่อไปอย่างซ้ำซาก จนกลายเป็นวัฒนธรรมไม่รับผิดของสังคมไทย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้