Skip to main content

หลายวันมานี้มีเรื่องขันขื่นหลายเรื่องที่สังคมไทยก้าวไม่พ้นเสียที แต่ผมว่าเรื่องพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้คือเรื่องการไม่ยอมรับผิด

ที่จริงจะพูดไปเรื่องนี้อย่างไรเสียก็ว่ากันได้ทุกคน ว่ากันได้ตั้งแต่สมัยอดีตนายกฯ คนที่เป็นที่นิยมมาก จนถึงผู้มีอำนาจในทุกวันนี้ จนถึงชาวบ้านตาดำๆ อย่างเราๆ ใครๆ ก็ทำผิดกันได้ทั้งนั้น แล้วหลายคนก็ไม่ยอมรับผิดของตนเองกันได้ทั้งนั้น แต่ความผิดบางกรณีถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม เพราะเป็นความผิดต่อสาธารณชน ไม่ใช่ความผิดต่อใครคนใดคนหนึ่ง

เช่นว่า ความผิดที่ดูเล็กน้อย เหมือนไม่เป็นภัยแต่ดูใจบุญอย่างกรณีนกเงือก หรือความผิดที่ดูผู้กระทำกลับอ้างการตกเป็นเหยื่อของการลวงโลกเสียเองอย่างกรณี GT200 รวมทั้งกรณีศิลปินที่มีส่วนร่วมกับการปูทางไปสู่การรัฐประหารที่บัดนี้พิสูจน์แล้วว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง แต่ผู้กระทำกลับปฏิเสธราวกับว่าขณะนั้นรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งๆ ที่ก็ยังร่วมหัวจมท้ายกับขบวนการทำลายสิทธิเสรีภาพมาจนหลังรัฐประหาร ตลอดจนกรณีก่อนหน้านั้นที่ใหญ่ๆ ก็คงจำกันได้ที่อดีตนายกฯ คนหนึ่งยอมรับเองว่ามีการสั่งให้ใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่ยอมรับผิด กลับบอกว่า "โชคร้ายที่มีคนตาย" 

เรื่องนี้มีสามคำถามที่น่าคิดคือ 1. ทำไมสังคมจึงสนใจบางความผิดของบางคนเป็นพิเศษ 2. ทำไมการยอมรับผิดของบางคนจึงยากเย็นนัก แล้ว 3. ทำไมประเทศไทยจึงไม่สามารถเอาผิดกับผู้มีอำนาจได้เสียที 

แน่นอนบางคนคงอยากจะบอกว่า เรื่องนี้มันก็เลวกันทุกฝ่ายนั่นแหละ แต่ที่ผมว่าที่เลวร้ายยิ่งกว่า สร้างความผิดหวังต่อสังคมยิ่งกว่า และทำลายความเชื่อมั่นต่อความดีงามมากที่สุด ก็คือกรณีของคนที่ออกตัวแรงกับสังคมว่าเป็นคนดี อยู่ข้างความถูกต้อง อยู่ตรงข้ามกับคนโกง ทำดีให้สังคมรับรู้สม่ำเสมอ แต่เมื่อตนเองทำผิดพลาด กลับเฉไฉแถไปมาด้วย "คำแก้ตัว" (คำนี้สำคัญนะครับ เป็นคนละคำกับ "เหตุผล") ต่างๆ นานา 

นี่ชวนให้คิดถึงข้อเท็จจริงทางสังคมอย่างหนึ่งของวัฒนธรมไทยว่า การรักษาหน้าตาสำคัญกว่าความละอายต่อการทำบาป สังคมไทยให้ความสำคัญกับหน้าตาทางสังคม มากกว่าหลักการในอุดมคติ เขาจึงยอมผิดหลักการแต่ไม่ยอมเสียหน้า อุดมคติเป็นสิ่งที่อยู่ในใจ หลายครั้งทำดีตามอุดมคติแล้วไม่ได้หน้า ได้เพียงความรู้สึกดีอยู่ในใจคนเดียว แต่คนไทยชอบทำดีพร้อมกับได้หน้า เพราะหน้าตามาพร้อมกับฐานะพิเศษทางสังคม 

หน้าตาสำคัญเพราะหน้าตารักษาความคาดหวังต่อบทบาทตามสายสัมพันธ์ทางสังคม คนที่มีอำนาจ ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ผู้ที่สังคมให้ความนับถือยกย่อง ย่อมไม่อยากสูญเสียสถานภาพทางสังคม เพราะในกลไกทางสังคมของสังคมไทย เมื่อใครก็ตามมีอำนาจ มีคนยกย่องสรรเสริญ เขาย่อมมีโอกาสได้รับอภิสิทธิ์พิเศษ และยิ่งมีโอกาสได้สืบทอดให้คงอยู่ในสถานภาพพิเศษนั้นไปได้นานๆ มากกว่าคนที่ไม่ได้อยู่ในสถานะเช่นนั้น 

ลึกไปกว่านั้น ผมว่ามีอีกส่วนที่ผมคิดว่าอาจจะทำให้คนเหล่านี้ไม่ยอมรับผิด คนเหล่านี้อาจจะเกรงกลัวโทษทัณฑ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าการเสียหน้า เพราะการรับผิดทางสังคมย่อมอาจจะส่งผลให้เขากลายเป็นผู้สารภาพผิดในทางนิตินัยไปด้วยโดยปริยาย ข้อนี้ผมไม่รู้เหมือนกันว่าในทางกฎหมายจะถือได้หรือเปล่าว่า เมื่อผู้ทำผิดได้รับสารภาพผิดต่อสาธารณชนไปแล้ว ก็เหมือนปูทางไปสู่การต้องรับผิดในกระบวนการยุติธรรมไปด้วย 

ประเด็นที่ใหญ่ยิ่งกว่านั้นคือ "วัฒนธรรมการปล่อยให้คนผิดลอยนวล"(impunity) ที่จริงผมไม่ได้รู้เรื่องนี้มากนัก ก็อ่านเอาจากหลายๆ คนที่เคยเขียนไว้แล้ว แนวคิดนี้พูดถึงการปล่อยปละละเลยไม่ให้เกิดความรับผิดชอบของความผิดในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ก่อความผิดเป็นผู้มีอำนาจทางการเมือง  

นี่ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็น "นักการเมือง" ในความหมายแคบ แต่ยังรวมถึงคนมีอำนาจในการบริหารประเทศ พูดง่ายๆ คือ ผู้นำเผด็จการที่อ้างว่าเข้ามายึดอำนาจเพื่อกำจัดนักการเมือง ตัวเขาเองก็เป็นนักการเมืองด้วยเหมือนกัน และต้องมีความรับผิดชอบทางการเมืองที่ต้องสามารถถูกดำเนินการด้วยกระบวนการยุติธรรมได้เช่นกัน แต่คนผิดที่ขี้ขลาดและหน้าด้านส่วนมากก็ย่อมนิรโทษกรรมตนเองให้ปลอดจากความผิดทั้งหมดทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ก็คือประกาศตั้งแต่แรกที่ทำผิดว่า พวกเขาไม่ยอมรับผิด

ความไม่รับผิดต่อความผิดสาธารณะของผู้มีอำนาจ เป็นพื้นฐานของการปล่อยให้ผู้มีอำนาจที่กระทำผิดลอยนวล เมื่อเราปล่อยปละละเลยต่อการลงโทษผู้มีอำนาจที่กระทำผิด ผู้ที่เป็นเหยื่อของความผิดเหล่านั้นก็ไม่ได้รับความเป็นธรรม สังคมก็ไม่สามารถก้าวข้ามความขัดแย้งไปได้ สุดท้ายสังคมก็ไม่อาจไปสู่การให้อภัยกันแล้วหันหน้ากลับมากล้ำกลืนจนสุดท้ายยอมปรองดองกันได้  

แล้วสุดท้าย วัฎจักรการไม่รู้จักรับผิดก็ผลิตซ้ำตัวมันเอง สังคมจึงปล่อยปละละเลยให้ผู้มีอำนาจกระทำผิดต่อประชาชนได้ต่อไปอย่างซ้ำซาก จนกลายเป็นวัฒนธรรมไม่รับผิดของสังคมไทย

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน