Skip to main content

ขอร่วมรำลึกวาระ 40 ปี 6 ตุลาด้วยการกล่าวถึงงานศึกษาสังคม-วัฒนธรรมไทยที่เป็นพื้นฐานของเหตุการณ์เมื่อ 40 ปีก่อนนี้

 

นอกเหนือจากงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์และสารคดีจำนวนค่อนข้างมากแล้ว งานวิชาการที่พยายามทำความเข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากมุมมองทางสังคม-วัฒนธรรมยังคงมีค่อนข้างจำกัด หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ เรายังไม่ค่อยเข้าใจกันดีนักว่าสังคมแบบไหนกันที่ก่อให้เกิดความรุนแรงอย่างเลือดเย็นกลางเมืองได้ขนาดนี้ เท่าที่ผมรู้ ผมนึกถึงงานอยู่ 3 ชิ้น  

 

ชิ้นแรกต้องถือว่าออกมาทันเหตุการณ์มากที่สุด โดยนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในระดับโลก ซึ่งนั่นหมายความว่าเป็นงานที่ทำให้ความรุนแรงในสังคมไทยเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก ก็คือบทความของ Benedict Anderson ชื่อ Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup (1977) ที่อาจารย์เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ และอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริแปลและตั้งชื่อภาษาไทยให้อย่างเฉียบคมว่า "บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม" (http://www.openbase.in.th/…/ebo…/textbookproject/tbpj198.pdf) บทความนี้ให้ความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้น ที่สังคมไทยสร้างชนชั้นใหม่ขึ้นมา แล้วพวกเขาก็ลุกขึ้นมาเรียกร้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง แล้วก็ถูกปราบปรามในที่สุด  

 

บทความนี้เป็นงานคลาสสิกทั้งในแง่กรอบการวิเคราะห์ชนขั้นแบบมาร์กซิสม์ และการให้ภาพความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยเมื่อ 4 ทศวรรษที่ยังคงเป็นพื้นฐานให้กับความเข้าใจสังคมไทยปัจจุบันได้อย่างดี

 

งานอีกชิ้นหนึ่งเป็นผลงานจากวิจัยของอาจารย์ธงชัย วินิจจกูล ออกมาเป็นหนังสือแล้วชื่อ "6 ตุลา : ลืมไม่ได้ จำไม่ลง" (2558) (http://www.sameskybooks.net/books/6oct1976/) จัดพิมพ์โดยฟ้าเดียวกัน หนังสือนี้เป็นผลจากการทำวิจัยและเรียบเรียงยาวนานหลายปีของอาจารย์ธงชัย (https://www.academia.edu/…/2011_2554_6_ตุลาในความทรงจําของฝ…) ที่โดดเด่นคือการสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลา เป็นมุมมองจากซีกของ "ฝ่ายขวา" ข้อท้าทายในแง่ของการวิจัยคือ เป็นการศึกษาฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับผู้ศึกษา เป็นการเผชิญหน้ากับผู้ก่อความรุนแรงของเหยื่อความรุนแรง ที่กลายมาเป็นผู้วิจัยผู้ก่อความรุนแรง

 

แต่งานอีกชิ้นหนึ่งที่อยากแนะนำให้หามาอ่านคืองานของ Katherine Bowie (แคทเธอรีน บาววี่) ที่เป็นหนังสือชื่อ Rituals of National Loyalty: An Anthropology of the State and the Village Scout Movement in ail and. (1997) น่าเสียดายที่ยังไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่วิทยานิพนธ์ของอาจารย์แคท แต่เป็นผลพลอยได้จากการเก็บข้อมูลระหว่างที่อาจารย์มาทำวิจัยภาคสนามในหมู่บ้านที่เชียงใหม่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 อาจารย์แคทเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องประวัติศาสตร์ชาวนาในภาคเหนือปลายศตวรรษที่ 19 แต่อาจารย์ยังไม่ยอมพิมพ์ผลงานวิทยานิพนธ์ เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัยกับท่านเอง จากนั้นหลังศึกษาจบ อาจารย์ก็เก็บข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้

 

หนังสือเล่มนี้บทแรกกล่าวถึงทฤษฎีที่ใช้ศึกษา บอกตามตรงว่าเมื่ออ่านแรกๆ ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์แคทโดยตรง ผมตั้งข้อกังขากับแนวคิดมาร์กซิสม์ที่อาจารย์แคทใช้เป็นแกนนำของหนังสืออย่างมาก ในช่วงที่ผมไปเรียน คือปี 1998 หนึ่งปีหลังหนังสือนี้ออกมา งานวิชาการละทิ้งแนวคิดมาร์กซิสม์และการวิเคราะห์ชนชั้นไปหมดแล้ว ความคิดที่ใหม่กว่าในการเข้าใจประวัติศาสตร์ นอกจากแนวคิดแบบฟูโกต์ที่ว่าด้วยการประกอบสร้างความรู้ ก็ต้องเป็นเรื่องการศึกษาความทรงจำ ที่อาจารย์ธงชัยใช้เป็นส่วนใหญ่ ถึงอย่างนั้นก็ตาม ข้อที่น่าสนใจของแนวคิดที่อาจารย์แคทใช้คือมโนทัศน์เรื่อง efficacy ที่ใช้อธิบายว่าทำไมอุดมการณ์ "ความจงรักภักดี" จึงได้ผลนัก ในแง่นี้งานอาจารย์แคทก็ขยับจากการใช้มาร์กซิสม์แบบเน้นเศรษฐกิจไปสู่เรื่องอุดมการณ์มากขึ้น

 

ถัดจากบททฤษฎี อีกสามบทต่อมาว่าด้วยประวัติศาสตร์ แต่อาจารย์เน้นบุคคลที่มีบทบาทในการก่อตั้งลูกเสือชาวบ้าน ซึ่งเป็นมวลชนกลุ่มหลักที่อาจารย์ให้ความสำคัญในหนังสือเล่มนี้ และก็แน่นอนว่าเป็นมวลชนฝ่ายขวาที่มีบทบาทหลักในช่วงสงครามเย็น หรือสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย แม้ว่าสามบทนี้จะเป็นการเรียบเรียงจากข้อมูลประวัติศาสตร์ที่มักเข้าถึงได้ทั่วไป แต่ผมว่ามีข้อโดดเด่นอยู่สองอย่าง หนึ่งคือ รวมรวมข้อเท็จจริงอย่างกว้างขวาง ตรงไปตรงมา อ่านแล้วรู้เลยว่าใครเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ใครต้องรับผิดชอบกับความสูญเสีย แต่ใครเหล่านั้นกลับได้ดิบได้ดีหลังเหตุการณ์ สองคือ การสัมภาษณ์ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งลูกเสือชาวบ้าน ที่เรียกได้ว่าเป็นการชี้บทบาทของผู้กระทำการในการเมืองระดับประเทศ

 

บทที่น่าตื่นเต้นอยู่ใน Part Two เป็นสามบทที่ว่าด้วยหมู่บ้านเชียงใหม่ที่อาจารย์มีส่วนได้สังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ที่ชวนติดตามที่สุดคือการบันทึกให้เห็นการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านในหมู่บ้าน อาจารย์แคทใช้แนวคิดการวิเคราะห์พิธีกรรมมาเป็นแนวทางในการเชื่อมโยงการอบรมลูกเสือชาวบ้านกับอุดมการณ์ของรัฐ การอบรมลูกเสือชาวบ้านจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านสถานะของชาวบ้านในหมู่บ้านชนบท จากประชาชนธรรมดา ให้กลายเป็นมวลชนผู้จงรักภักดีอย่างสุดจิตสุดใจต่อประเทศชาติ อันมีสถาบันกษัตริย์เป็นองค์สัญลักษณ์สำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม อาจารย์แคทชี้ให้เห็นว่า พิธีกรรมนี้ไม่ได้ประสบความสำเร็จอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด พิธีกรรมอบรมลูกเสือชาวบ้านใช้ได้ดีกับคนบางกลุ่มในหมู่บ้านเท่านั้น นั่นคือกับคนชั้นกลางและชนชั้นนำในหมู่บ้านเท่านั้น ส่วนกับชนชั้นล่าง คนจนในหมู่บ้าน พวกเขาไม่ได้ "อิน" กับการอบรมลูกเสือชาวบ้านจนถึงขนาดฟูมฟายปลาบปลื้มจนร้องห่มร้องไห้อย่างตื้นตันที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้จงรักภักดีในตอนท้ายของการอบมเท่ากับพวกที่ชนชั้นกลางและชนชั้นนำรู้สึก  

 

โดยรวมแล้ว หนังสือเล่มนี้ถือเป็นการศึกษารัฐในแนวทางแบบมานุษยวิทยาเล่มแรกๆ ของการศึกษารัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไปไกลกว่างานของ Clifford Geertz เรื่อง Negara: The Theatre State in Nineteenth-Century Bali. (1981) (ที่อาจารย์สมเกียรติ วันทะนะแปลว่า "นาฏรัฐ") มากโข ทั้งในเชิงแนวทฤษฎีและวิธีการเก็บข้อมูลภาคสนาม อีกทั้งมีการวิเคราะห์ตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่รัฐส่วนกลาง ไปจนถึงระดับหมู่บ้าน  

 

นอกจากนั้นงานอาจารย์แคทยังเป็นบทบันทึกของเหตุการณ์ในอดีตที่แทบจะไม่มีการบันทึกกันไว้ก่อน นั่นคือการอบรมลูกเสือชาวบ้านในหมู่บ้าน ข้อมูลที่อาจารย์เองก็ไม่นึกว่าจะมีประโยชน์จึงกลับเผยให้เห็นภาพการทำงานของรัฐในระดับจิตสำนึก อุดมการณ์ และกระทั่งอารมณ์ ผ่านพิธีกรรมที่ได้ผลลึกซึ้ง แต่กระนั้นก็ตาม ความรู้สึกนี้ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงมวลชนรากหญ้าอีกมาก ด้วยข้อจำกัดของความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่รัฐไม่ได้พยายามแก้ไขอย่างจริงจัง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ