Skip to main content

อย่างที่บอกคือ ผมไม่ใช่คนเชี่ยวชาญเกาหลี จะเล่าเรื่องเกาหลีก็จะต้องมีผิดมีพลาดบ้าง เพียงแต่อยากบันทึกเก็บไว้ แล้วแบ่งปันบ้าง เผื่อใครสนใจหรือช่วยเติมต่อความรู้ อีกเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจในการไปเกาหลีทั้งสองครั้ง (ครั้งแรกเมื่อ 8 ปีก่อน ก็ไปแค่สั้นๆ ไม่กี่วัน) ก็คือการได้พบเจอผู้คนและได้ไปเดินด่อมๆ มองๆ ตามย่านการค้า ร้านค้า และพบปะพูดคุยดื่มกินกับผู้คน

 

สิ่งหนึ่งที่รู้สึกได้เสมอ ทั้งจากคนเกาหลีที่เจอที่เกาหลีและที่ประเทศอื่นๆ คือ คนเกาหลีเป็นคนเปิดเผย คุยด้วยไม่เท่าไหร่ก็แลกเปลี่ยนความเห็นแสดงทัศนะได้อย่างสนิทสนม ข้อนี้แตกต่างจากคนเวียดนามเหนือ คนญี่ปุ่น และคนอเมริกันส่วนหนึ่ง แต่คล้ายกับคนไต้หวัน คนไทย คนกลุ่มน้อยในเวียดนาม และคนเวียดนามใต้ ผมไม่รู้ว่าบุคคลิกแบบนี้เกิดขึ้นมาจากอะไรได้อย่างไร เกี่ยวอะไรไหมกับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ แต่โดยทั่วๆ ไป เท่าที่ผมได้รู้จักคนเหล่านี้ ก็รู้สึกอย่างนั้น

 

ความเป็นสังคมค่อนข้างเปิดของสังคมเกาหลีผมว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นมาพอสมควร และน่าจะสร้างอย่างเป็นระบบด้วยโครงสร้างการเมืองที่เปิดต่อการแสดงออก การวิพากษ์วิจารณ์ หลังจากที่เกาหลีล้มระบอบเผด็จการและลัทธิทหารไปแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่ทศวรรษ 1980 สิ่งหนึ่งที่ผมว่าเป็นตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัดคือ การที่เกาหลีไม่บังคับให้มีเครื่องแบบนักเรียนและนักศึกษามหาวิทยาลัย เพื่อนเกาหลีบอกว่า โรงเรียนประถมส่วนใหญ่และมัธยมส่วนหนึ่งไม่บังคับให้นักเรียนต้องแต่งชุดนักเรียน บางโรงเรียนจะแต่งก็เป็นตามระเบียบของโรงเรียน ไม่ใช่ระเบียบของรัฐบาล ผมจึงเห็นเด็กนักเรียนประถมจำนวนหนึ่งย้อมผมไปเรียนได้ ทั้งเด็กหญิงและเด็กชาย ไม่ต้องพูดถึงว่าพวกเขาจะแต่งตัวอย่างไรก็เรื่องของเด็กกับผู้ปกครอง

 

ในแง่ของชีวิตในเมืองใหญ่อย่างกรุงโซล โซลนั้นเหนือกรุงเทพฯ ในด้านของการสร้างพื้นที่ของการพักผ่อนหย่อนใจและย่านการค้า ผมไปเดินทั้งย่านการค้ารอบๆ Dongdaemun และอีกหลายย่าน เพื่อนเกาหลีอธิบายว่า ดงแดมุนแปลว่าประตูตะวันออกดง (เสียง ออกเสียงแบบมีลม ฟังดูคล้าย th แต่เป็น dh ซึ่งภาษาไทยไม่มี) แปลว่าตะวันออก เป็นย่านการค้าเก่าแก่ ปัจจุบันมีสวนสาธารณะกับอาคารพิลึกกึกกือขนาดใหญ่เรียก Dongdaemun Design Plaza ด้านนอกและด้านในมีกิจกรรมมากมายและมีร้านค้าจำนวนมาก วันที่ผมเดินผ่านมีการแสดงดนตรีของคณะดนตรีเล็กๆ แบบที่มักเจอในสวนสาธารณะของเมืองใหญ่

 

บริเวณรอบๆ นี้เป็นย่านการค้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าเสื้อผ้าขายส่ง เพื่อนเกาหลีบอกว่าย่านนี้เหมือนประตูน้ำที่กรุงเทพฯ ผมเดาว่านี่น่าจะเป็นที่ที่แม่ค้าไทยเดินทางมาซื้อเสื้อผ้าเกาหลีกลับไปขายต่อที่เมืองไทยกัน ผมก็เลยสนใจอยากเดินดู อยากสำรวจร้านค้าส่ง เพราะผมก็เคยช่วยพี่สาวทั้งขายส่งและซื้อเสื้อผ้าค้าส่งที่ประตูน้ำอยู่เหมือนกัน แต่เมื่อเดินๆ ไปสักพักในช่วงเย็นวันหนึ่ง ก็พบว่า ร้านส่วนใหญ่ยังไม่เปิด เขามักจะเปิดเวลากลางคืน จนถึงเช้ามืดของอีกวันหนึ่ง ซึ่งผมหมดแรงมาเดินต่อแล้ว ก็เลยได้แค่เดินรอบๆ ช่วงเย็นวันหนึ่ง บริเวณพอให้ได้เห็นบรรยากาศ

 

จากนั้นก็เดินในย่านนั้นเรื่อยมาจนถึงโรงแรมที่พัก ก็พบว่าบริเวณรอบๆ นั้นมีลักษณะเหมือนสำเพ็งปนๆ กับย่านเชียงกง มีทั้งร้านของใหม่และของเก่า ตั้งปะปนกันเต็มไปหมด แถมวันเสาร์ยังมีการจัดตลาดนัด มีคนเอาของมาขายแบกะดินเจ้าเล็กๆ คล้ายรอบๆ สนามหลวงและคลองหลอดเมื่อก่อน หากใครสนใจสำรวจตลาดพวกนี้ในโซลก็แนะนำว่าต้องไปเดินย่านนี้

 

อีกย่านที่เดินอย่างเพลิดเพลินเป็นย่านนักท่องเที่ยว ที่มีทั้งคนเกาหลีและคนต่างชาติเต็มพอสมควร ก็คือย่านเมืองเก่าใกล้ๆ พระราชวัง เป็นย่านการค้าฝั่งตะวันออกของพระราชวังกีอองบุ๊กคุง อยู่บริเวณถัดจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะขนาดใหญ่ ที่เพื่อนเกาหลีบอกว่าเป็นเหมือน MOMA ของเกาหลี ย่านนี้ชวนให้นึกถึงย่านร้านค้าตามรายทางเดินขึ้นวัดคิโยมิสึและกิอองของเกียวโตในญี่ปุ่น เพราะนอกจากร้านค้าเล็กๆ แล้ว ยังเป็นถนนเล็กๆ ที่มีอาคารบ้านเรือนโบราณ เป็นตรอกซอกซอยที่มีเค้ารางของเส้นทางเก่าๆ และมีร้านให้เช่าชุดประจำชาติเกาหลีทั้งชายและหญิง ก็เลยมีคนเช่าชุดมาใส่เดินถ่ยรูปเป็นจำนวนจำนวนมาก นอกจากนั้นบริเวณนี้ยังมีร้านอาหารมากมาย ผมเดินเล่นแถวนี้อย่างเพลิดเพลินแล้วก็นั่งจิบเครื่องดื่มร้านหนึ่งอยู่ยาวนาน หากกลับไปโซลอีกก็อยากจะกลับไปเดินย่านนี้อีก

 

อีกย่านที่มีโอกาสได้ไปเดินแม้จะเพียงสั้นๆ คือ ย่านประตูใต้หรือ Namdaemun ย่านนี้เป็นย่านช้อปปิ้ง ที่มีร้านค้ามากมาย ร้านเสื้อผ้าและร้านเครื่องสำอางจำนวนมากตั้งอยู่บริเวณนี้ เพื่อนเกาหลีบอกว่า ถ้าไม่ไปเดินที่คังนัม (Gangnam แปลว่า ด้านใต้ของแม่น้ำ เพราะตั้งอยู่ทางใต้ของแม้น้ำ Han ที่มีขนาดกว้างใหญ่) คนก็จะมาช้อปปิ้งที่นี่กัน ซึ่งราคาส่วนใหญ่ถูกกว่าที่คังนัม แต่เพื่อนก็ยังบอกว่า ปัจจุบันคนเกาหลีไม่ค่อยเดินย่านนี้กัน เพราะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินจับจ่ายกันจำนวนมาก จนทำให้ราคาสินค้าบางอย่างสูงขึ้นไปโดยไม่จำเป็น แต่เหตุที่ผมได้ไปเดินผ่านย่านนี้เพราะเดินทางไปเที่ยวที่เขานามซาน ซึ่งใกล้บริเวณนั้น แล้วเพื่อนพาเดินมาหาของกินที่ร้านซึ่งเพื่อนอยากแนะนำให้กิน ร้านตั้งอยู่ในย่านนี้พอดี

 

ย่านเดินเล่น กิน ดื่ม จับจ่ายของที่มีลักษณะเฉพาะตัว และเป็นย่านเกิดใหม่ไม่เกินสิบกว่าปีนี้ที่คนเกาหลีเองก็ชอบไปเดินไปออกเดทกันคือย่านนกซาปีออง (Noksapyeong) เพื่อนเกาหลีบอกว่า ย่านนี้มีคนต่างชาติอาศัยอยู่มาก จึงมาเดินจับจ่ายจำนวนมาก สังเกตดูก็เป็นอย่างนั้น แต่คนต่างชาติเหล่านี้เพื่อนบอกว่ามักไม่ใช่นักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวไม่ค่อยมาเดินย่านนี้กัน คนเกาหลีก็เลยชอบมาเดิน ย่านนี้คนละอารมณ์กับย่านรอบพระราชวังเลย เพราะหนุ่มสาวที่มาที่นี่แต่งตัวทันสมัยกัน เขามาหาของกินแปลกๆ ร้านรวงแถวนี้แข่งขันกันด้วยความเฉพาะตัว ด้วยฝีมือการทำอาหาร ด้วยสินค้าเฉพาะร้าน เสียดายที่มีเวลาน้อย จึงแทบไม่ได้เดินย่านนี้ นอกจากมาพักดื่มกาแฟหลังกลับจากเดินพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ ย่านนี้อยู่ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ

 

ผู้คนที่เปิดเผย เป็นกันเอง กับการสร้างเมืองให้มีที่เดินเล่น จับจ่าย และแสดงออก เป็นบรรยากาศของสังคมเมืองที่น่าอยู่ทีเดียว เว้นแต่ว่าคนเกาหลีส่วนใหญ่ไม่สามารถอยู่ในเมืองโซลได้ ต้องๆ ไปๆ กลับๆ การเดินทางฝ่ารถติดแสนสาหัสบางเวลาบางช่วง และการขนส่งมวลชนก็ยังรองรับได้ไม่เต็มที่ ทำให้คนเกาหลีขับรถกันอย่างก้าวร้าว ยังดีที่แท็กซี่ราคาไม่สูงนัก

 

ชมภาพที่ https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=783827708422282&id=173987589406300

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง