Skip to main content
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies) 

 
ที่ไปที่นี่และงานนี้ก็เพราะผมมีนักศึกษาปริญญาเอกมานุษยวิทยาคนหนึ่งเป็นคนเกาหลี เขาได้ทุนการศึกษาแล้วเมื่อศึกษาจบก็จะไปเป็นอาจารย์ประจำที่นี่ เขาก็จึงอยากให้ผมไปร่วมโอกาสพิเศษนี้ การมาร่วมงานนี้ทำให้ผมก็ได้รู้จักส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่นี่ แล้วก็ยังได้สัมผัสวัฒนธรรมการเรียนภาษาไทยที่ประเทศเกาหลี
 
เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยไปเสนองานวิชาการที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ทางใต้ของเกาหลีใต้อีกทีหนึ่ง แต่ไปคราวนี้เองจึงค่อยได้เรียนรู้ว่า มหาวิทยาลัยในเกาหลีนั้น ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยของรัฐจริงๆ มีจำกัดมาก ที่แน่ๆ คือบรรดา “มหาวิทยาลัยแห่งชาติ” เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ซึ่งแน่นอนว่าก็มีหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้มากมายจนกลบจำนวนมหาวิทยาลัยเอกชน 
 
เมื่อถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น คนที่มีคำตอบเล่าว่า สมัยที่เกาหลีใต้ยังยากจน รัฐบาลมีรายได้น้อย จึงส่งเสริมให้เอกชนตั้งมหาวิทยาลัยเอง ทั้งบริษัทเอกชนและบรรดาโบสถ์คริสต์ ต่างก็ลงทุนด้านการศึกษากัน ทำให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเอกชนในเกาหลีมีจำนวนมากกว่ามหาวิทยาลัยรัฐ และจำนวนมากก็มีคุณภาพสูงไม่ด้อยกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐด้วย แม้แต่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกชนก็มีเช่นกัน ไม่เหมือนประเทศไทยซึ่งค่อนข้างกีดกันการที่มหาวิทยาลัยเอกชนเปิดสอนด้านการแพทย์
 
ส่วนมหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศนั้น ก็มีหลายแห่ง แต่ละแห่งบริหารแยกกันเอง ได้ทุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาล แม้ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน รัฐก็ให้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่งเช่นกัน รัฐบาลจะมีตัวชี้วัดต่างๆ ให้มหาวิทยาลัยแข่งขันกัน หากบรรลุเป้าหมาย ก็จะได้ทุนตามกรอบของการประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย ในแง่นี้ก็ถือว่าระบบมหาวิทยาลัยเกาหลีบริหารเข้มงวดกว่ามหาวิทยาลัยไทยมากนัก เนื่องจากเอาผลการประเมินมาเป็นตัวชี้วัดการให้ทุนกับมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง ที่จริงข้อนี้ค่อนข้างคล้ายกับมหาวิทยาลัยรัฐในสหรัฐอเมริกา
 
มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กฯ นี้เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษาต่างประเทศเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ภาษาที่เขาสอนที่นี่มี 40 กว่าภาษา ภาษาไทยเป็นกลุ่มภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลุ่มแรกๆ เปิดแทบจะพร้อมๆ กับภาษาอินโดนีเซียและภาษาเวียดนาม สำหรับภาษาไทย เปิดสอนครั้งแรกปี 1966 คือ 50 ปีที่แล้วนั่นแหละ แต่ละปีจะมีอาจารย์จากประเทศไทยมาสอน อาจารย์ไทยรับเชิญเหล่านี้จะอยู่ 2-3 ปี แล้วก็จะเปลี่ยนมีอาจารย์คนใหม่มา ผมจำไม่ได้แน่ว่านอกจากอาจารย์ไทยแล้ว ที่นี่เขายังมีอาจารย์เกาหลีเองอีกกี่คน เท่าที่นึกๆ ดูเท่าที่เจอก็น่าจะมีไม่น้อยกว่าอีก 5 คน ส่วนนักเรียน มีทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก แต่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาปริญญาตรี ปีละประมาณ 30 คน
 
จากที่ผมได้ฟังและแลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์บางท่าน ก็ต้องตื่นตะลึงกับความรู้เรื่องภาษาและวรรณคดีไทย ของอาจารย์ที่นี่ อาจารย์ที่เป็นหัวหน้าภาคอยู่ในขณะนี้เป็นอาจารย์ผู้หญิง จบปริญญาเอกภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าใจว่ามาศึกษาภาษาไทยแล้วทำวิทยานิพนธ์ด้านภาษาศาสตร์เกี่ยวกับภาษาไทย นักศึกษาที่เรียนกับผมก็จบการศึกษาจากที่นี่มา แล้วมาเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ จากนั้นก็ย้ายมาเรียนปริญญาเอกที่สาขามานุษยิวทยาของคณะผม ส่วนอาจารย์ท่านอื่นๆ 
 
มีท่านหนึ่งผมสนทนาด้วย ท่านก็จบปริญญาเอกด้านวรรณคดีไทย ถ้าจำไม่ผิดคือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์เหล่านี้เรื่องความสามารถในการพูดภาษาไทยนี่ไม่ต้องพูดถึง คล่องแคล่วชัดเจนมาก ส่วนความรู้เรื่องไทยก็ดีมากเช่นกัน อย่างอาจารย์ที่เรียนวรณคดีก็ศึกษาเรื่องขุนช้างขุนแผนมาก่อน แล้วเมื่อผมชวนคุยเรื่อง “คู่กรรม” ก็แลกเปลี่ยนกันได้อย่างสนุกสนาน ผมมั่นใจว่าท่านรู้จักวรรณคดีไทยดีกว่าคนไทยจำนวนมากแน่นอน
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเท่าที่พูดคุยแลกเปลี่ยนด้วย ดูว่าอาจารย์ที่นี่จะมีความก้าวหน้าในเชิงวัฒนธรรมพอสมควร อย่างหัวหน้าภาควิชาก็เป็นผู้หญิง แล้วจำนวนอาจารย์ผู้หญิงก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละคนก็จบปริญญาเอกกัน นับว่าวัฒนธรรมการศึกษาแบบนี้ยังเห็นได้ยากในญี่ปุ่น เวียดนาม หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา หากแต่ว่าที่น่าตกใจคือ การศึกษาวัฒนธรรมการไทยที่สังเกตเห็นได้ชัดว่าที่นั่นเขายังต้องเดินตามกรอบของไทยกรุงเทพฯ เป็นกรอบอนุรักษนิยมค่อนข้างสุดโต่ง และนี่ชวนให้คิดว่า การเผยแพร่ภาษาไทยในต่างประเทศจำเป็นด้วยหรือไม่ที่จะต้องทำไปพร้อมๆ กับการเผยแพร่ไทยแบบอนุรักษนิยม คร่ำครึ และคงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางสังคม 
 
ที่เป็นอย่างนี้ เป็นไปได้ว่าเพราะสถาบันการศึกษาในเกาหลีใต้อาจไม่มีทางเลือกมากนัก เนื่องจากส่วนหนึ่งเกาหลีใต้เป็นมิตรประเทศกับไทยและเคยได้รับความช่วยเหลือจากไทยอย่างสูง ข้อต่อมาคือ มีนักลงทุนเกาหลีในไทยจำนวนไม่น้อย เกาหลีต้องประนีประนอมกับอนุรักษนิยมไทยก็เพราะต้องรักษาความสัมพันธ์กับเครือข่ายทางการมากมาย 
 
นอกจากนั้น เกาหลีอาจจำเป็นต้องสอนให้นักศึกษาเขาเองเข้าใจความอนุรักษนิยมของไทย ซึ่งมันเป็นความจริงอย่างหนึ่งของประเทศไทย ที่เขาต้องสอนเรื่องคร่ำครึของไทยๆ ไม่ใช่ว่าเพื่อให้คนเกาหลีเป็นคนแบบนี้ แต่เพื่อให้รู้ว่าคนไทยมีคนแบบนี้มาก ต้องเข้าใจ เพราะเท่าที่ผมรู้จักคนเกาหลี คนเกาหลีส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนอนุรักษนิยม แม้ว่าเขาจะชาตินิยม แต่ไม่ได้รังเกียจประชาธิปไตยแบบคนไทยจำนวนมากแน่นอน เขาจึงไม่น่าจะนิยมความอนุรักษนิยมแบบไทยมากนักหรอก
 
ข้อนี้แตกต่างกับการเรียนการสอนภาษาไทยในสหรัฐอเมริกา แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่การศึกษาภาษาไทยจะตามมาด้วยการศึกษาความอนุรักษนิยมแบบไทยไปด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เมื่อไหร่ที่มีอาจารย์ภาษาไทยจากประเทศไทยไปสอนในต่างประเทศ อาจารย์จากประเทศไทยก็มักจะเป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมไทยแบบอนุรักษนิยมไปด้วยโดยอัตโนมัติ เพราะการศึกษาภาษาไทยคือการศึกษาความอนุรักษนิยมแบบไทยไปด้วย 
 
ต่างจากอาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ในมาเลเซีย มักจะเป็นคนก้าวหน้า มีแนวคิดล้ำหน้าชนิดที่เรียกได้ว่าไม่มีทางคุยกับอาจารย์สอนภาษาไทยจากประเทศไทยได้เลย สิ่งที่น่าเบื่อคือการที่วิชาประวัติศาสตร์ วิชามานุษยวิทยา และวิชาอื่นๆ ที่เรียนเกี่ยวกับประเทศไทยในสหรัฐอเมริกา จะต้องมาคอยแก้ความเข้าใจประเทศไทยแบบผิดๆ ที่ถูกเผยแพร่โดยครูภาษาไทยเหล่านั้น
 
นอกจากสถาบันการศึกษา ซึ่งขอเน้นอีกครั้งว่า รัฐเขาไม่บังคับให้นักเรียนและนักศึกษาแต่งชุดนักศึกษา โรงเรียนไหนจะแต่ง ขึ้นกับว่าจะบังคับหรือไม่ แล้วส่นใหญ่เขาก็ไม่บังคับกัน เกาหลีที่ผมรู้จักมีพิพิธภัณฑ์มากมาย ทั้งเล็กและใหญ่ ประเทศไทยก็มีพิพิธภัณฑ์มาก แต่พิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยที่ส่งเสริมโดยรัฐนั้น เทียบกันไม่ได้กับพิพิธภัณฑ์ในหลายๆ ประเทศรวมทั้งในปะเทศเกาหลี พิพิธภัณฑ์มากที่ว่านี้ไม่ใช่เล่าเรื่องซ้ำๆ กัน แต่มีพิพิธภัณฑ์ประเภทต่างๆ แล้วพิพิธภัณฑ์ส่วนหนึ่งก็ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน ไม่ใช่ตั้งอยู่ไกลจนกว่าจะเดินทางไปถึงก็อยากเดินทางกลับแล้วอย่างพิพิธภัณฑ์หลายแห่งของประเทศไทย 
 
ภาพที่เอามาให้ดูมีนิทรรศการถาวรและชั่วคราวจากพิพิธภัณฑ์คติชาวบ้านและพิพิธภัณฑ์การศึกษา แต่บริเวณเดียวกันนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์พระราชวังกีอองบุ๊กคุง พิพิธภัณฑ์เด็ก และพิพิธภัณฑ์ศิลปะ คิดว่าถ้าไปอีกครั้งก็จะต้องหาโอกาสไปเช้าชม ที่น่าสังเกตคือ แต่ละแห่งมีคนเกาหลีเองเข้าชมจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนและนักศึกษา จะด้วยการบังคับหรืออย่างไรก็แล้วแต่ แต่ดูเหมือนการไปพิพิธภัณฑ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเกาหลีมากกว่าคนไทย
 
นักศึกษาเกาหลีเท่าที่ผมเคยเจอ ส่วนใหญ่มีระเบียบวินัยเคร่งครัด นักศึกษามหาวิทยาลัยมีความคิดก้าวหน้า มีวิธีการตั้งคำถามที่คล้ายกับนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ผมคิดว่าระบอบการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่เน้นความเป็นประชาธิปไตย เน้นสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมการแสดงออกของปัจเจก น่าจะมีส่วนเกื้อหนุนให้ระบบการศึกษาและผลผลิตของการศึกษาเป็นอย่างที่เห็น ส่วนประเทศไทย เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นต่อไปเถอะครับ เพราะเรานิยมกันว่าแค่นี้ดีแล้ว ไม่ว่าชนชั้นนำของสังคมจะไปเรียนเมืองนอกเมืองนา จบการศึกษาจากที่ไหนมา เราก็กลับมามุดเข้ากะลาและก่อกะลากันต่อไปอย่างนี้แหละ
 

ชมภาพได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/edit/a.785216044950115.1073741846.173987589406300/

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก