Skip to main content
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies) 

 
ที่ไปที่นี่และงานนี้ก็เพราะผมมีนักศึกษาปริญญาเอกมานุษยวิทยาคนหนึ่งเป็นคนเกาหลี เขาได้ทุนการศึกษาแล้วเมื่อศึกษาจบก็จะไปเป็นอาจารย์ประจำที่นี่ เขาก็จึงอยากให้ผมไปร่วมโอกาสพิเศษนี้ การมาร่วมงานนี้ทำให้ผมก็ได้รู้จักส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่นี่ แล้วก็ยังได้สัมผัสวัฒนธรรมการเรียนภาษาไทยที่ประเทศเกาหลี
 
เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยไปเสนองานวิชาการที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ทางใต้ของเกาหลีใต้อีกทีหนึ่ง แต่ไปคราวนี้เองจึงค่อยได้เรียนรู้ว่า มหาวิทยาลัยในเกาหลีนั้น ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยของรัฐจริงๆ มีจำกัดมาก ที่แน่ๆ คือบรรดา “มหาวิทยาลัยแห่งชาติ” เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ซึ่งแน่นอนว่าก็มีหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้มากมายจนกลบจำนวนมหาวิทยาลัยเอกชน 
 
เมื่อถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น คนที่มีคำตอบเล่าว่า สมัยที่เกาหลีใต้ยังยากจน รัฐบาลมีรายได้น้อย จึงส่งเสริมให้เอกชนตั้งมหาวิทยาลัยเอง ทั้งบริษัทเอกชนและบรรดาโบสถ์คริสต์ ต่างก็ลงทุนด้านการศึกษากัน ทำให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเอกชนในเกาหลีมีจำนวนมากกว่ามหาวิทยาลัยรัฐ และจำนวนมากก็มีคุณภาพสูงไม่ด้อยกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐด้วย แม้แต่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกชนก็มีเช่นกัน ไม่เหมือนประเทศไทยซึ่งค่อนข้างกีดกันการที่มหาวิทยาลัยเอกชนเปิดสอนด้านการแพทย์
 
ส่วนมหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศนั้น ก็มีหลายแห่ง แต่ละแห่งบริหารแยกกันเอง ได้ทุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาล แม้ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน รัฐก็ให้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่งเช่นกัน รัฐบาลจะมีตัวชี้วัดต่างๆ ให้มหาวิทยาลัยแข่งขันกัน หากบรรลุเป้าหมาย ก็จะได้ทุนตามกรอบของการประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย ในแง่นี้ก็ถือว่าระบบมหาวิทยาลัยเกาหลีบริหารเข้มงวดกว่ามหาวิทยาลัยไทยมากนัก เนื่องจากเอาผลการประเมินมาเป็นตัวชี้วัดการให้ทุนกับมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง ที่จริงข้อนี้ค่อนข้างคล้ายกับมหาวิทยาลัยรัฐในสหรัฐอเมริกา
 
มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กฯ นี้เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษาต่างประเทศเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ภาษาที่เขาสอนที่นี่มี 40 กว่าภาษา ภาษาไทยเป็นกลุ่มภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลุ่มแรกๆ เปิดแทบจะพร้อมๆ กับภาษาอินโดนีเซียและภาษาเวียดนาม สำหรับภาษาไทย เปิดสอนครั้งแรกปี 1966 คือ 50 ปีที่แล้วนั่นแหละ แต่ละปีจะมีอาจารย์จากประเทศไทยมาสอน อาจารย์ไทยรับเชิญเหล่านี้จะอยู่ 2-3 ปี แล้วก็จะเปลี่ยนมีอาจารย์คนใหม่มา ผมจำไม่ได้แน่ว่านอกจากอาจารย์ไทยแล้ว ที่นี่เขายังมีอาจารย์เกาหลีเองอีกกี่คน เท่าที่นึกๆ ดูเท่าที่เจอก็น่าจะมีไม่น้อยกว่าอีก 5 คน ส่วนนักเรียน มีทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก แต่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาปริญญาตรี ปีละประมาณ 30 คน
 
จากที่ผมได้ฟังและแลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์บางท่าน ก็ต้องตื่นตะลึงกับความรู้เรื่องภาษาและวรรณคดีไทย ของอาจารย์ที่นี่ อาจารย์ที่เป็นหัวหน้าภาคอยู่ในขณะนี้เป็นอาจารย์ผู้หญิง จบปริญญาเอกภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าใจว่ามาศึกษาภาษาไทยแล้วทำวิทยานิพนธ์ด้านภาษาศาสตร์เกี่ยวกับภาษาไทย นักศึกษาที่เรียนกับผมก็จบการศึกษาจากที่นี่มา แล้วมาเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ จากนั้นก็ย้ายมาเรียนปริญญาเอกที่สาขามานุษยิวทยาของคณะผม ส่วนอาจารย์ท่านอื่นๆ 
 
มีท่านหนึ่งผมสนทนาด้วย ท่านก็จบปริญญาเอกด้านวรรณคดีไทย ถ้าจำไม่ผิดคือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์เหล่านี้เรื่องความสามารถในการพูดภาษาไทยนี่ไม่ต้องพูดถึง คล่องแคล่วชัดเจนมาก ส่วนความรู้เรื่องไทยก็ดีมากเช่นกัน อย่างอาจารย์ที่เรียนวรณคดีก็ศึกษาเรื่องขุนช้างขุนแผนมาก่อน แล้วเมื่อผมชวนคุยเรื่อง “คู่กรรม” ก็แลกเปลี่ยนกันได้อย่างสนุกสนาน ผมมั่นใจว่าท่านรู้จักวรรณคดีไทยดีกว่าคนไทยจำนวนมากแน่นอน
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเท่าที่พูดคุยแลกเปลี่ยนด้วย ดูว่าอาจารย์ที่นี่จะมีความก้าวหน้าในเชิงวัฒนธรรมพอสมควร อย่างหัวหน้าภาควิชาก็เป็นผู้หญิง แล้วจำนวนอาจารย์ผู้หญิงก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละคนก็จบปริญญาเอกกัน นับว่าวัฒนธรรมการศึกษาแบบนี้ยังเห็นได้ยากในญี่ปุ่น เวียดนาม หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา หากแต่ว่าที่น่าตกใจคือ การศึกษาวัฒนธรรมการไทยที่สังเกตเห็นได้ชัดว่าที่นั่นเขายังต้องเดินตามกรอบของไทยกรุงเทพฯ เป็นกรอบอนุรักษนิยมค่อนข้างสุดโต่ง และนี่ชวนให้คิดว่า การเผยแพร่ภาษาไทยในต่างประเทศจำเป็นด้วยหรือไม่ที่จะต้องทำไปพร้อมๆ กับการเผยแพร่ไทยแบบอนุรักษนิยม คร่ำครึ และคงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางสังคม 
 
ที่เป็นอย่างนี้ เป็นไปได้ว่าเพราะสถาบันการศึกษาในเกาหลีใต้อาจไม่มีทางเลือกมากนัก เนื่องจากส่วนหนึ่งเกาหลีใต้เป็นมิตรประเทศกับไทยและเคยได้รับความช่วยเหลือจากไทยอย่างสูง ข้อต่อมาคือ มีนักลงทุนเกาหลีในไทยจำนวนไม่น้อย เกาหลีต้องประนีประนอมกับอนุรักษนิยมไทยก็เพราะต้องรักษาความสัมพันธ์กับเครือข่ายทางการมากมาย 
 
นอกจากนั้น เกาหลีอาจจำเป็นต้องสอนให้นักศึกษาเขาเองเข้าใจความอนุรักษนิยมของไทย ซึ่งมันเป็นความจริงอย่างหนึ่งของประเทศไทย ที่เขาต้องสอนเรื่องคร่ำครึของไทยๆ ไม่ใช่ว่าเพื่อให้คนเกาหลีเป็นคนแบบนี้ แต่เพื่อให้รู้ว่าคนไทยมีคนแบบนี้มาก ต้องเข้าใจ เพราะเท่าที่ผมรู้จักคนเกาหลี คนเกาหลีส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนอนุรักษนิยม แม้ว่าเขาจะชาตินิยม แต่ไม่ได้รังเกียจประชาธิปไตยแบบคนไทยจำนวนมากแน่นอน เขาจึงไม่น่าจะนิยมความอนุรักษนิยมแบบไทยมากนักหรอก
 
ข้อนี้แตกต่างกับการเรียนการสอนภาษาไทยในสหรัฐอเมริกา แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่การศึกษาภาษาไทยจะตามมาด้วยการศึกษาความอนุรักษนิยมแบบไทยไปด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เมื่อไหร่ที่มีอาจารย์ภาษาไทยจากประเทศไทยไปสอนในต่างประเทศ อาจารย์จากประเทศไทยก็มักจะเป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมไทยแบบอนุรักษนิยมไปด้วยโดยอัตโนมัติ เพราะการศึกษาภาษาไทยคือการศึกษาความอนุรักษนิยมแบบไทยไปด้วย 
 
ต่างจากอาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ในมาเลเซีย มักจะเป็นคนก้าวหน้า มีแนวคิดล้ำหน้าชนิดที่เรียกได้ว่าไม่มีทางคุยกับอาจารย์สอนภาษาไทยจากประเทศไทยได้เลย สิ่งที่น่าเบื่อคือการที่วิชาประวัติศาสตร์ วิชามานุษยวิทยา และวิชาอื่นๆ ที่เรียนเกี่ยวกับประเทศไทยในสหรัฐอเมริกา จะต้องมาคอยแก้ความเข้าใจประเทศไทยแบบผิดๆ ที่ถูกเผยแพร่โดยครูภาษาไทยเหล่านั้น
 
นอกจากสถาบันการศึกษา ซึ่งขอเน้นอีกครั้งว่า รัฐเขาไม่บังคับให้นักเรียนและนักศึกษาแต่งชุดนักศึกษา โรงเรียนไหนจะแต่ง ขึ้นกับว่าจะบังคับหรือไม่ แล้วส่นใหญ่เขาก็ไม่บังคับกัน เกาหลีที่ผมรู้จักมีพิพิธภัณฑ์มากมาย ทั้งเล็กและใหญ่ ประเทศไทยก็มีพิพิธภัณฑ์มาก แต่พิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยที่ส่งเสริมโดยรัฐนั้น เทียบกันไม่ได้กับพิพิธภัณฑ์ในหลายๆ ประเทศรวมทั้งในปะเทศเกาหลี พิพิธภัณฑ์มากที่ว่านี้ไม่ใช่เล่าเรื่องซ้ำๆ กัน แต่มีพิพิธภัณฑ์ประเภทต่างๆ แล้วพิพิธภัณฑ์ส่วนหนึ่งก็ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน ไม่ใช่ตั้งอยู่ไกลจนกว่าจะเดินทางไปถึงก็อยากเดินทางกลับแล้วอย่างพิพิธภัณฑ์หลายแห่งของประเทศไทย 
 
ภาพที่เอามาให้ดูมีนิทรรศการถาวรและชั่วคราวจากพิพิธภัณฑ์คติชาวบ้านและพิพิธภัณฑ์การศึกษา แต่บริเวณเดียวกันนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์พระราชวังกีอองบุ๊กคุง พิพิธภัณฑ์เด็ก และพิพิธภัณฑ์ศิลปะ คิดว่าถ้าไปอีกครั้งก็จะต้องหาโอกาสไปเช้าชม ที่น่าสังเกตคือ แต่ละแห่งมีคนเกาหลีเองเข้าชมจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนและนักศึกษา จะด้วยการบังคับหรืออย่างไรก็แล้วแต่ แต่ดูเหมือนการไปพิพิธภัณฑ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเกาหลีมากกว่าคนไทย
 
นักศึกษาเกาหลีเท่าที่ผมเคยเจอ ส่วนใหญ่มีระเบียบวินัยเคร่งครัด นักศึกษามหาวิทยาลัยมีความคิดก้าวหน้า มีวิธีการตั้งคำถามที่คล้ายกับนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ผมคิดว่าระบอบการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่เน้นความเป็นประชาธิปไตย เน้นสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมการแสดงออกของปัจเจก น่าจะมีส่วนเกื้อหนุนให้ระบบการศึกษาและผลผลิตของการศึกษาเป็นอย่างที่เห็น ส่วนประเทศไทย เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นต่อไปเถอะครับ เพราะเรานิยมกันว่าแค่นี้ดีแล้ว ไม่ว่าชนชั้นนำของสังคมจะไปเรียนเมืองนอกเมืองนา จบการศึกษาจากที่ไหนมา เราก็กลับมามุดเข้ากะลาและก่อกะลากันต่อไปอย่างนี้แหละ
 

ชมภาพได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/edit/a.785216044950115.1073741846.173987589406300/

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา