Skip to main content
อย่างที่บอก ผมไปเกาหลีเที่ยวนี้เพื่อไปประชุมวิชาการครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศ (Hankuk University of Foreign Studies) 

 
ที่ไปที่นี่และงานนี้ก็เพราะผมมีนักศึกษาปริญญาเอกมานุษยวิทยาคนหนึ่งเป็นคนเกาหลี เขาได้ทุนการศึกษาแล้วเมื่อศึกษาจบก็จะไปเป็นอาจารย์ประจำที่นี่ เขาก็จึงอยากให้ผมไปร่วมโอกาสพิเศษนี้ การมาร่วมงานนี้ทำให้ผมก็ได้รู้จักส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่นี่ แล้วก็ยังได้สัมผัสวัฒนธรรมการเรียนภาษาไทยที่ประเทศเกาหลี
 
เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยไปเสนองานวิชาการที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ทางใต้ของเกาหลีใต้อีกทีหนึ่ง แต่ไปคราวนี้เองจึงค่อยได้เรียนรู้ว่า มหาวิทยาลัยในเกาหลีนั้น ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยของรัฐจริงๆ มีจำกัดมาก ที่แน่ๆ คือบรรดา “มหาวิทยาลัยแห่งชาติ” เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ แต่มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ซึ่งแน่นอนว่าก็มีหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้มากมายจนกลบจำนวนมหาวิทยาลัยเอกชน 
 
เมื่อถามว่าทำไมเป็นอย่างนั้น คนที่มีคำตอบเล่าว่า สมัยที่เกาหลีใต้ยังยากจน รัฐบาลมีรายได้น้อย จึงส่งเสริมให้เอกชนตั้งมหาวิทยาลัยเอง ทั้งบริษัทเอกชนและบรรดาโบสถ์คริสต์ ต่างก็ลงทุนด้านการศึกษากัน ทำให้ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเอกชนในเกาหลีมีจำนวนมากกว่ามหาวิทยาลัยรัฐ และจำนวนมากก็มีคุณภาพสูงไม่ด้อยกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐด้วย แม้แต่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเอกชนก็มีเช่นกัน ไม่เหมือนประเทศไทยซึ่งค่อนข้างกีดกันการที่มหาวิทยาลัยเอกชนเปิดสอนด้านการแพทย์
 
ส่วนมหาวิทยาลัยฮันกุ๊กภาษาและกิจการต่างประเทศนั้น ก็มีหลายแห่ง แต่ละแห่งบริหารแยกกันเอง ได้ทุนส่วนหนึ่งจากรัฐบาล แม้ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน รัฐก็ให้เงินสนับสนุนส่วนหนึ่งเช่นกัน รัฐบาลจะมีตัวชี้วัดต่างๆ ให้มหาวิทยาลัยแข่งขันกัน หากบรรลุเป้าหมาย ก็จะได้ทุนตามกรอบของการประเมินคุณภาพมหาวิทยาลัย ในแง่นี้ก็ถือว่าระบบมหาวิทยาลัยเกาหลีบริหารเข้มงวดกว่ามหาวิทยาลัยไทยมากนัก เนื่องจากเอาผลการประเมินมาเป็นตัวชี้วัดการให้ทุนกับมหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง ที่จริงข้อนี้ค่อนข้างคล้ายกับมหาวิทยาลัยรัฐในสหรัฐอเมริกา
 
มหาวิทยาลัยฮันกุ๊กฯ นี้เป็นมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนภาษาต่างประเทศเป็นจำนวนมากที่สุดในประเทศเกาหลีใต้ ภาษาที่เขาสอนที่นี่มี 40 กว่าภาษา ภาษาไทยเป็นกลุ่มภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลุ่มแรกๆ เปิดแทบจะพร้อมๆ กับภาษาอินโดนีเซียและภาษาเวียดนาม สำหรับภาษาไทย เปิดสอนครั้งแรกปี 1966 คือ 50 ปีที่แล้วนั่นแหละ แต่ละปีจะมีอาจารย์จากประเทศไทยมาสอน อาจารย์ไทยรับเชิญเหล่านี้จะอยู่ 2-3 ปี แล้วก็จะเปลี่ยนมีอาจารย์คนใหม่มา ผมจำไม่ได้แน่ว่านอกจากอาจารย์ไทยแล้ว ที่นี่เขายังมีอาจารย์เกาหลีเองอีกกี่คน เท่าที่นึกๆ ดูเท่าที่เจอก็น่าจะมีไม่น้อยกว่าอีก 5 คน ส่วนนักเรียน มีทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก แต่ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาปริญญาตรี ปีละประมาณ 30 คน
 
จากที่ผมได้ฟังและแลกเปลี่ยนความรู้กับอาจารย์บางท่าน ก็ต้องตื่นตะลึงกับความรู้เรื่องภาษาและวรรณคดีไทย ของอาจารย์ที่นี่ อาจารย์ที่เป็นหัวหน้าภาคอยู่ในขณะนี้เป็นอาจารย์ผู้หญิง จบปริญญาเอกภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าใจว่ามาศึกษาภาษาไทยแล้วทำวิทยานิพนธ์ด้านภาษาศาสตร์เกี่ยวกับภาษาไทย นักศึกษาที่เรียนกับผมก็จบการศึกษาจากที่นี่มา แล้วมาเรียนปริญญาโทที่ธรรมศาสตร์ จากนั้นก็ย้ายมาเรียนปริญญาเอกที่สาขามานุษยิวทยาของคณะผม ส่วนอาจารย์ท่านอื่นๆ 
 
มีท่านหนึ่งผมสนทนาด้วย ท่านก็จบปริญญาเอกด้านวรรณคดีไทย ถ้าจำไม่ผิดคือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์เหล่านี้เรื่องความสามารถในการพูดภาษาไทยนี่ไม่ต้องพูดถึง คล่องแคล่วชัดเจนมาก ส่วนความรู้เรื่องไทยก็ดีมากเช่นกัน อย่างอาจารย์ที่เรียนวรณคดีก็ศึกษาเรื่องขุนช้างขุนแผนมาก่อน แล้วเมื่อผมชวนคุยเรื่อง “คู่กรรม” ก็แลกเปลี่ยนกันได้อย่างสนุกสนาน ผมมั่นใจว่าท่านรู้จักวรรณคดีไทยดีกว่าคนไทยจำนวนมากแน่นอน
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเท่าที่พูดคุยแลกเปลี่ยนด้วย ดูว่าอาจารย์ที่นี่จะมีความก้าวหน้าในเชิงวัฒนธรรมพอสมควร อย่างหัวหน้าภาควิชาก็เป็นผู้หญิง แล้วจำนวนอาจารย์ผู้หญิงก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ละคนก็จบปริญญาเอกกัน นับว่าวัฒนธรรมการศึกษาแบบนี้ยังเห็นได้ยากในญี่ปุ่น เวียดนาม หรือแม้แต่ในสหรัฐอเมริกา หากแต่ว่าที่น่าตกใจคือ การศึกษาวัฒนธรรมการไทยที่สังเกตเห็นได้ชัดว่าที่นั่นเขายังต้องเดินตามกรอบของไทยกรุงเทพฯ เป็นกรอบอนุรักษนิยมค่อนข้างสุดโต่ง และนี่ชวนให้คิดว่า การเผยแพร่ภาษาไทยในต่างประเทศจำเป็นด้วยหรือไม่ที่จะต้องทำไปพร้อมๆ กับการเผยแพร่ไทยแบบอนุรักษนิยม คร่ำครึ และคงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำทางสังคม 
 
ที่เป็นอย่างนี้ เป็นไปได้ว่าเพราะสถาบันการศึกษาในเกาหลีใต้อาจไม่มีทางเลือกมากนัก เนื่องจากส่วนหนึ่งเกาหลีใต้เป็นมิตรประเทศกับไทยและเคยได้รับความช่วยเหลือจากไทยอย่างสูง ข้อต่อมาคือ มีนักลงทุนเกาหลีในไทยจำนวนไม่น้อย เกาหลีต้องประนีประนอมกับอนุรักษนิยมไทยก็เพราะต้องรักษาความสัมพันธ์กับเครือข่ายทางการมากมาย 
 
นอกจากนั้น เกาหลีอาจจำเป็นต้องสอนให้นักศึกษาเขาเองเข้าใจความอนุรักษนิยมของไทย ซึ่งมันเป็นความจริงอย่างหนึ่งของประเทศไทย ที่เขาต้องสอนเรื่องคร่ำครึของไทยๆ ไม่ใช่ว่าเพื่อให้คนเกาหลีเป็นคนแบบนี้ แต่เพื่อให้รู้ว่าคนไทยมีคนแบบนี้มาก ต้องเข้าใจ เพราะเท่าที่ผมรู้จักคนเกาหลี คนเกาหลีส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นคนอนุรักษนิยม แม้ว่าเขาจะชาตินิยม แต่ไม่ได้รังเกียจประชาธิปไตยแบบคนไทยจำนวนมากแน่นอน เขาจึงไม่น่าจะนิยมความอนุรักษนิยมแบบไทยมากนักหรอก
 
ข้อนี้แตกต่างกับการเรียนการสอนภาษาไทยในสหรัฐอเมริกา แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่การศึกษาภาษาไทยจะตามมาด้วยการศึกษาความอนุรักษนิยมแบบไทยไปด้วย แต่สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ เมื่อไหร่ที่มีอาจารย์ภาษาไทยจากประเทศไทยไปสอนในต่างประเทศ อาจารย์จากประเทศไทยก็มักจะเป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมไทยแบบอนุรักษนิยมไปด้วยโดยอัตโนมัติ เพราะการศึกษาภาษาไทยคือการศึกษาความอนุรักษนิยมแบบไทยไปด้วย 
 
ต่างจากอาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่ในมาเลเซีย มักจะเป็นคนก้าวหน้า มีแนวคิดล้ำหน้าชนิดที่เรียกได้ว่าไม่มีทางคุยกับอาจารย์สอนภาษาไทยจากประเทศไทยได้เลย สิ่งที่น่าเบื่อคือการที่วิชาประวัติศาสตร์ วิชามานุษยวิทยา และวิชาอื่นๆ ที่เรียนเกี่ยวกับประเทศไทยในสหรัฐอเมริกา จะต้องมาคอยแก้ความเข้าใจประเทศไทยแบบผิดๆ ที่ถูกเผยแพร่โดยครูภาษาไทยเหล่านั้น
 
นอกจากสถาบันการศึกษา ซึ่งขอเน้นอีกครั้งว่า รัฐเขาไม่บังคับให้นักเรียนและนักศึกษาแต่งชุดนักศึกษา โรงเรียนไหนจะแต่ง ขึ้นกับว่าจะบังคับหรือไม่ แล้วส่นใหญ่เขาก็ไม่บังคับกัน เกาหลีที่ผมรู้จักมีพิพิธภัณฑ์มากมาย ทั้งเล็กและใหญ่ ประเทศไทยก็มีพิพิธภัณฑ์มาก แต่พิพิธภัณฑ์ในเมืองไทยที่ส่งเสริมโดยรัฐนั้น เทียบกันไม่ได้กับพิพิธภัณฑ์ในหลายๆ ประเทศรวมทั้งในปะเทศเกาหลี พิพิธภัณฑ์มากที่ว่านี้ไม่ใช่เล่าเรื่องซ้ำๆ กัน แต่มีพิพิธภัณฑ์ประเภทต่างๆ แล้วพิพิธภัณฑ์ส่วนหนึ่งก็ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน ไม่ใช่ตั้งอยู่ไกลจนกว่าจะเดินทางไปถึงก็อยากเดินทางกลับแล้วอย่างพิพิธภัณฑ์หลายแห่งของประเทศไทย 
 
ภาพที่เอามาให้ดูมีนิทรรศการถาวรและชั่วคราวจากพิพิธภัณฑ์คติชาวบ้านและพิพิธภัณฑ์การศึกษา แต่บริเวณเดียวกันนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์พระราชวังกีอองบุ๊กคุง พิพิธภัณฑ์เด็ก และพิพิธภัณฑ์ศิลปะ คิดว่าถ้าไปอีกครั้งก็จะต้องหาโอกาสไปเช้าชม ที่น่าสังเกตคือ แต่ละแห่งมีคนเกาหลีเองเข้าชมจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเรียนและนักศึกษา จะด้วยการบังคับหรืออย่างไรก็แล้วแต่ แต่ดูเหมือนการไปพิพิธภัณฑ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเกาหลีมากกว่าคนไทย
 
นักศึกษาเกาหลีเท่าที่ผมเคยเจอ ส่วนใหญ่มีระเบียบวินัยเคร่งครัด นักศึกษามหาวิทยาลัยมีความคิดก้าวหน้า มีวิธีการตั้งคำถามที่คล้ายกับนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา ผมคิดว่าระบอบการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่เน้นความเป็นประชาธิปไตย เน้นสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมการแสดงออกของปัจเจก น่าจะมีส่วนเกื้อหนุนให้ระบบการศึกษาและผลผลิตของการศึกษาเป็นอย่างที่เห็น ส่วนประเทศไทย เป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นต่อไปเถอะครับ เพราะเรานิยมกันว่าแค่นี้ดีแล้ว ไม่ว่าชนชั้นนำของสังคมจะไปเรียนเมืองนอกเมืองนา จบการศึกษาจากที่ไหนมา เราก็กลับมามุดเข้ากะลาและก่อกะลากันต่อไปอย่างนี้แหละ
 

ชมภาพได้ที่ https://www.facebook.com/media/set/edit/a.785216044950115.1073741846.173987589406300/

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้