Skip to main content

เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 

อาจารย์ภาสกรให้แนวทางมาก่อนหน่อยนึงว่า ละครดัดแปลงจากบทละครชื่อ Death and the Maiden แสดงในวาระ 40 ปี 6 ตุลา แต่เลื่อนมาแสดงเดือนนี้แทน

ดูละครจบ ผมก็ไม่รู้ว่าละคร "รื้อ" น่ะรื้ออะไรได้บ้าง แต่ผมเสนอให้แลกเปลี่ยนประเด็น 4-5 ประเด็น สำหรับหลายคนประเด็นเหล่านี้ก็คงเป็นเรื่องพื้น ๆ แหละครับ แต่ก็ขอบันทึกไว้สั้น ๆ ไว้ก็แล้วกัน แล้วจะพยายามไม่เล่าเรื่องราวของละครมากนัก
 
1. function of art ความเป็นศิลปะกับการมีบทบาทเสนอความจริง ละครหรืองานศิลปะทั่วมีข้อได้เปรียบงานวิจัยหรือตำราวิชาการหลายอย่าง นอกจากนำเสนอเรื่องอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่าแล้ว ยังสามารถสื่อถึงความจริงที่วิธีการทางวิชาการสื่อไม่ได้ 
 
นอกจากนั้น ในภาวะที่การพูดความจริงถูกปิดกั้น ความจริงหลายอย่างต้องพูดผ่านศิลปะ ที่อาศัยความกำกวม แต่สื่อถึงระดับของความหมายได้หลายชั้น เปิดให้มีการคิดวิเคราะห์ ตีความ ถกเถียงได้มาก นี่ยิ่งเป็นข้อได้เปรียบของศิลปะ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมเผด็จการ และน่าจะยิ่งมีบทบาทในสังคมไทยยุคเผด็จการปัจจุบัน
 
2. art as analogy หากจะวางละครนี้ในบริบทของมัน แน่นอนว่าเป็นบริบทเฉพาะของการเมืองชิลีหลังยุคเผด็จการปิโนเช่ แต่ละครเรื่องนี้ไม่ได้สื่อถึงเรื่องนี้เฉพาะในบริบทของมันแน่นอน เพราะเมื่อนำมาวางทาบกับการเมืองเผด็จการในประเทศอื่น ๆ แล้ว ก็กลับทำให้เราเข้าใจการเมืองเผด็จการและภาวะหลังเผด็จการของที่อื่น ๆ ได้ดีเช่นกัน การนำละครเรื่องนี้มาทาบกับวาระ 40 ปี 6 ตุลาของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวจึงทำหน้าของของการละครแบบนี้ได้ดีทีเดียว
 
ผมบอกเล่าไปว่า นี่ทำให้นึกถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น หนังสือ 1984 ของ George Orwell ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการอ่านเพื่อเข้าใจภาวะการปิดกั้นเสรีภาพของสังคมเผด็จการอย่างข้ามพื้นที่ ข้ามกาลเวลาได้เช่นกัน ดังที่ผมได้ไปพบว่า ในเวียดนามขณะนี้ก็มีการเผยแพร่ 1984 ฉบับแปลภาษาเวียดนามในความหมายเดียวกันกับที่ประเทศไทย
 
3. trauma representation ผมเคยอ่านงานศึกษาทางมานุษยวิทยา (Charred Lullabies: Chapters in an Anthropography of Violence พิมพ์ปี 1996 เขียนโดย E.V. Daniel) ที่พยายามเข้าใจผู้ประสบกับภาวะบาดแผลทางจิตใจอันเนื่องมาจากถูกกระทำรุนแรงจากวิกฤติการทางการเมือง ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการเป็นเหยื่อของความรุนแรงทำให้ผู้เป็นเหยื่อไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวอะไรต่าง ๆ ที่เขาประสบมาได้ ในหนังสือเล่มนั้น คนเขียนจึงอาศัยวิธีอื่นในการรับรู้เรื่องราวของเหยื่อ นั่นคือผ่านงานศิลปะ ทั้งทัศนศิลป์และเรื่องเขียน ของผู้ประสบความรุนแรง
 
ละครเรื่องนี้เป็นหนึ่งในวิธีการเล่า trauma ของคน ไม่ว่าจะเป็นคนชิลี หรือคนที่อื่น ๆ ที่ประสบภาวะการถูกกระทำรุนแรงนั้นได้อย่างดี
 
4. gender of the victim ทำไมบทละครนี้และเราจะเห็นบทละครเกี่ยวกับเหยื่อของความรุนแรงจำนวนมาก จึงเล่าถึงเหยื่อของความรุนแรงด้วยผู้หญิงและความเป็นผู้หญิง ทั้งผู้หญิงในเชิงกายภาพและในเชิงวัฒนธรรมถูกใช้เป็นสื่อแสดงความเป็นเหยื่อของความรุนแรงเสมอ บ่อยมากเสียจนทำให้ทั้งผู้หญิงและเหยื่อความรุนแรงถูกตีตรา พร้อมอาจจะเป็นการสถาปนาสัญลักษณ์หลักของการเป็นเหยื่อความรุนแรง บดบังการเข้าใจเหยื่อความรุนแรงจากมุมมองอื่น
 
ลองคิดดูว่าถ้าเหยื่อความรุนแรงเป็นคนเพศอื่น ๆ เป็นผู้ชาย เป็นคนข้ามเพศที่เป็นชาย เราคงจะเข้าใจทั้งความรุนแรงและเหยื่อความรุนแรงต่างออกไปได้บ้าง เช่น อันที่จริงเหยื่อที่เป็นสัญลักษณ์ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลา มักจะเป็นผู้ชาย ด้วยเหตุที่พวกเขาเป็นผู้ชายด้วยหรือเปล่าที่ทำให้สังคมไทยสนใจเหยื่อและความรุนแรงในเหตุการณ์นั้นน้อยเกินไป
 
5. political context บริบททางการเมืองของละครเรื่องนี้กับการเมืองไทยก็น่าสนใจ ในบริบทดั้งเดิมของละครเรื่องนี้ เป็นยุคหลังปิโนเชลงจากอำนาจใหม่ ๆ  ปิโนเช่เป็นประธานาธบดีชิลีปี 1973-1990 ขึ้นสู่อำนาจด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมริกาเสื่อมอำนาจลงตั้งแต่ 1975 หลังไซ่ง่อนแตก ในไทย ปี 1990 ประชาธิปไตยครึ่งใบเริ่มเสื่อมลง อีกสองปีจากนั้นเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 (1992) 
 
เมื่อเทียบกันแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในชิลี ที่หลังปิโนเช่มีการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง มีกระบวนการของการก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือ transitional justice ไม่ถึงกับทำได้ดีนัก แต่ก็ยังดูดีกว่าประเทศไทยมาก สิ่งที่เกิดขึ้นในชิลีเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง เกิดขึ้นแทบจะพร้อม ๆ กับการตกต่ำลงของเผด็จการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างในไทย ช่วงทศวรรษ 1980-1990 แต่ทำไมสถาบันทหารไทยถึงหวนกลับมามีอำนาจได้อีกในทศวรรษ 2000-2010 ข้อนี้ยังต้องศึกษากันต่อไป
 
ยังมีประเด็นที่ผู้ชมคนอื่น ๆ และผู้จัดละครเองแลกเปลี่ยนกับผู้ชมอีกมากมาย เป็นบรรยากาศการพูดคุยหลังละครที่เข้มข้น สร้างสรรค์ และได้ความรู้จากหลายกหลายมุมมองและประสบการณ์อย่างยิ่ง ผมได้เรียนรู้ ได้คิดเพิ่มเติมอีกมากมาย
 
ยังไปดูกันได้ครับ ที่สถาบันปรีดีฯ ทองหล่อ โดยคณะละครพระจันทร์เสี้ยว จะแสดงต่อวันนี้ (20 พย.) รอบบ่ายสองและสองทุ่ม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้