Skip to main content

เมื่อคืนวันที่ 18 พย. ผมไปดูละครเรื่อง "รื้อ" มา ละครสนุกเหลือเชื่อ เวลาชั่วโมงครึ่งผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอดีผู้จัดซึ่งเป็นผู้แสดงหลักคนหนึ่งด้วย คืออาจารย์ภาสกร อินทุมาร ภาควิชาการละคร ศิลปกรรม ธรรมศาสตร์ ชวนไปเสวนาแลกเปลี่ยนหลังการแสดง ก็เลยต้องนั่งดูอย่างเอาจริงเอาจัง 

อาจารย์ภาสกรให้แนวทางมาก่อนหน่อยนึงว่า ละครดัดแปลงจากบทละครชื่อ Death and the Maiden แสดงในวาระ 40 ปี 6 ตุลา แต่เลื่อนมาแสดงเดือนนี้แทน

ดูละครจบ ผมก็ไม่รู้ว่าละคร "รื้อ" น่ะรื้ออะไรได้บ้าง แต่ผมเสนอให้แลกเปลี่ยนประเด็น 4-5 ประเด็น สำหรับหลายคนประเด็นเหล่านี้ก็คงเป็นเรื่องพื้น ๆ แหละครับ แต่ก็ขอบันทึกไว้สั้น ๆ ไว้ก็แล้วกัน แล้วจะพยายามไม่เล่าเรื่องราวของละครมากนัก
 
1. function of art ความเป็นศิลปะกับการมีบทบาทเสนอความจริง ละครหรืองานศิลปะทั่วมีข้อได้เปรียบงานวิจัยหรือตำราวิชาการหลายอย่าง นอกจากนำเสนอเรื่องอารมณ์ความรู้สึกได้ดีกว่าแล้ว ยังสามารถสื่อถึงความจริงที่วิธีการทางวิชาการสื่อไม่ได้ 
 
นอกจากนั้น ในภาวะที่การพูดความจริงถูกปิดกั้น ความจริงหลายอย่างต้องพูดผ่านศิลปะ ที่อาศัยความกำกวม แต่สื่อถึงระดับของความหมายได้หลายชั้น เปิดให้มีการคิดวิเคราะห์ ตีความ ถกเถียงได้มาก นี่ยิ่งเป็นข้อได้เปรียบของศิลปะ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมเผด็จการ และน่าจะยิ่งมีบทบาทในสังคมไทยยุคเผด็จการปัจจุบัน
 
2. art as analogy หากจะวางละครนี้ในบริบทของมัน แน่นอนว่าเป็นบริบทเฉพาะของการเมืองชิลีหลังยุคเผด็จการปิโนเช่ แต่ละครเรื่องนี้ไม่ได้สื่อถึงเรื่องนี้เฉพาะในบริบทของมันแน่นอน เพราะเมื่อนำมาวางทาบกับการเมืองเผด็จการในประเทศอื่น ๆ แล้ว ก็กลับทำให้เราเข้าใจการเมืองเผด็จการและภาวะหลังเผด็จการของที่อื่น ๆ ได้ดีเช่นกัน การนำละครเรื่องนี้มาทาบกับวาระ 40 ปี 6 ตุลาของกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวจึงทำหน้าของของการละครแบบนี้ได้ดีทีเดียว
 
ผมบอกเล่าไปว่า นี่ทำให้นึกถึงอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น หนังสือ 1984 ของ George Orwell ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของการอ่านเพื่อเข้าใจภาวะการปิดกั้นเสรีภาพของสังคมเผด็จการอย่างข้ามพื้นที่ ข้ามกาลเวลาได้เช่นกัน ดังที่ผมได้ไปพบว่า ในเวียดนามขณะนี้ก็มีการเผยแพร่ 1984 ฉบับแปลภาษาเวียดนามในความหมายเดียวกันกับที่ประเทศไทย
 
3. trauma representation ผมเคยอ่านงานศึกษาทางมานุษยวิทยา (Charred Lullabies: Chapters in an Anthropography of Violence พิมพ์ปี 1996 เขียนโดย E.V. Daniel) ที่พยายามเข้าใจผู้ประสบกับภาวะบาดแผลทางจิตใจอันเนื่องมาจากถูกกระทำรุนแรงจากวิกฤติการทางการเมือง ความเจ็บปวดทุกข์ทรมานจากการเป็นเหยื่อของความรุนแรงทำให้ผู้เป็นเหยื่อไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวอะไรต่าง ๆ ที่เขาประสบมาได้ ในหนังสือเล่มนั้น คนเขียนจึงอาศัยวิธีอื่นในการรับรู้เรื่องราวของเหยื่อ นั่นคือผ่านงานศิลปะ ทั้งทัศนศิลป์และเรื่องเขียน ของผู้ประสบความรุนแรง
 
ละครเรื่องนี้เป็นหนึ่งในวิธีการเล่า trauma ของคน ไม่ว่าจะเป็นคนชิลี หรือคนที่อื่น ๆ ที่ประสบภาวะการถูกกระทำรุนแรงนั้นได้อย่างดี
 
4. gender of the victim ทำไมบทละครนี้และเราจะเห็นบทละครเกี่ยวกับเหยื่อของความรุนแรงจำนวนมาก จึงเล่าถึงเหยื่อของความรุนแรงด้วยผู้หญิงและความเป็นผู้หญิง ทั้งผู้หญิงในเชิงกายภาพและในเชิงวัฒนธรรมถูกใช้เป็นสื่อแสดงความเป็นเหยื่อของความรุนแรงเสมอ บ่อยมากเสียจนทำให้ทั้งผู้หญิงและเหยื่อความรุนแรงถูกตีตรา พร้อมอาจจะเป็นการสถาปนาสัญลักษณ์หลักของการเป็นเหยื่อความรุนแรง บดบังการเข้าใจเหยื่อความรุนแรงจากมุมมองอื่น
 
ลองคิดดูว่าถ้าเหยื่อความรุนแรงเป็นคนเพศอื่น ๆ เป็นผู้ชาย เป็นคนข้ามเพศที่เป็นชาย เราคงจะเข้าใจทั้งความรุนแรงและเหยื่อความรุนแรงต่างออกไปได้บ้าง เช่น อันที่จริงเหยื่อที่เป็นสัญลักษณ์ความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลา มักจะเป็นผู้ชาย ด้วยเหตุที่พวกเขาเป็นผู้ชายด้วยหรือเปล่าที่ทำให้สังคมไทยสนใจเหยื่อและความรุนแรงในเหตุการณ์นั้นน้อยเกินไป
 
5. political context บริบททางการเมืองของละครเรื่องนี้กับการเมืองไทยก็น่าสนใจ ในบริบทดั้งเดิมของละครเรื่องนี้ เป็นยุคหลังปิโนเชลงจากอำนาจใหม่ ๆ  ปิโนเช่เป็นประธานาธบดีชิลีปี 1973-1990 ขึ้นสู่อำนาจด้วยการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา เมื่อเทียบกับไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมริกาเสื่อมอำนาจลงตั้งแต่ 1975 หลังไซ่ง่อนแตก ในไทย ปี 1990 ประชาธิปไตยครึ่งใบเริ่มเสื่อมลง อีกสองปีจากนั้นเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 (1992) 
 
เมื่อเทียบกันแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในชิลี ที่หลังปิโนเช่มีการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องกับความรุนแรง มีกระบวนการของการก้าวเข้าสู่ประชาธิปไตยมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่ประสบความสำเร็จ หรือ transitional justice ไม่ถึงกับทำได้ดีนัก แต่ก็ยังดูดีกว่าประเทศไทยมาก สิ่งที่เกิดขึ้นในชิลีเกิดขึ้นไม่นานมานี้เอง เกิดขึ้นแทบจะพร้อม ๆ กับการตกต่ำลงของเผด็จการทหารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างในไทย ช่วงทศวรรษ 1980-1990 แต่ทำไมสถาบันทหารไทยถึงหวนกลับมามีอำนาจได้อีกในทศวรรษ 2000-2010 ข้อนี้ยังต้องศึกษากันต่อไป
 
ยังมีประเด็นที่ผู้ชมคนอื่น ๆ และผู้จัดละครเองแลกเปลี่ยนกับผู้ชมอีกมากมาย เป็นบรรยากาศการพูดคุยหลังละครที่เข้มข้น สร้างสรรค์ และได้ความรู้จากหลายกหลายมุมมองและประสบการณ์อย่างยิ่ง ผมได้เรียนรู้ ได้คิดเพิ่มเติมอีกมากมาย
 
ยังไปดูกันได้ครับ ที่สถาบันปรีดีฯ ทองหล่อ โดยคณะละครพระจันทร์เสี้ยว จะแสดงต่อวันนี้ (20 พย.) รอบบ่ายสองและสองทุ่ม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน