Skip to main content

วันนี้ (27 มค. 60) ไปสอน นศ. ธรรมศาสตร์ปี 1 ที่ลำปาง วิชามนุษย์กับสังคม ผมมีหน้าที่แนะนำว่าสังคมศาสตร์คืออะไร แล้วพบอะไรน่าสนใจบางอย่าง 

อย่างแรกที่ชอบคือ พวกเขาไม่ได้ใส่เสื้อดำปี๋กันแบบที่ท่าพระจันทร์ ที่จริงระหว่าง 3 แคมปัส ที่รังสิตก็ยังไม่เคร่งครัดเท่าไหร่กับเสื้อดำ มีแต่ท่าพระจันทร์นี่แหละที่ดำปี๋ๆ ตลกดีที่ท่าพระจันทร์สิ้นความดื้อไปแล้ว 

ที่ลำปางวันนี้ ก่อนเริ่มสอน ผมถามพวกเขาว่าพวกคุณคิดว่าอะไรที่ทำให้คุณรู้สึกว่าชีวิตมหาวิทยาลัยแตกต่างจากเมื่อเป็นนักเรียนที่สุด ขอ 3 คำตอบ นศ. ร่วมร้อยคนในห้อง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงตอบกันอย่างรวดเร็ว คนแรกบอกว่า ได้นอนตื่นสาย คนต่อมาบอก ไม่ต้องแต่งชุดนักศึกษา อีกคนบอก เลือกวิชาเรียนได้มากขึ้น 

เรื่องชุดนักศึกษา ผมว่านักศึกษามหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ทางเหนือใส่ชุด นศ. มากกว่า มธ. ลำปางเสียอีก 

ผมถามว่าสามคำตอบนี้มีอะไรร่วมกัน คนหนึ่งตอบว่า ความอิสระ ผมแอบตกใจในใจว่าทำไมเชื่อมโยงได้ไวจัง แต่พยายามเก็บอาการ เริ่มนึกในใจว่า ห้องนี้เริ่มสนุกแระ  

ผมรีบสำทับทันทีว่า ความอิสระคือการเลือกได้ การเลือกได้มีความยุ่งยาก มีความรับผิดชอบต่อผลที่เลือก แต่ก็ดีกว่าเลือกไม่ได้ พวกเขานั่งฟังอย่างสนใจ ตาใส หลายคนอมยิ้ม ผมเริ่มมีความหวังขึ้นอีก  

แล้วบอกพวกเขาว่า ผมมาสอนลำปางเมื่อเกือบสิบปีก่อนแล้วไม่ได้มาอีกเลย ตอนนั้นผมคิดว่า นศ. ธรรมศาสตร์ลำปางทำไมต่างจากที่ท่าพระจันทร์และรังสิตมากจัง เพราะมีแต่คนใส่ชุดนักศึกษา แต่ไม่ตั้งใจเรียนเลย มาถึงรุ่นพวกคุณ ต่างไปมากเลย คงมีใครมาปลูกอะไรไว้ อันหลังนี้ผมแอบนึกคนเดียวในใจ 

ผมได้ใจบอกพวกเขาต่อไปว่า พวกคุณต้องรู้จักเลือก กล้าเลือก ถ้าพวกคุณอยู่ในสังคมที่เลือกไม่ได้เสียจนไม่คิดว่าการเลือกเป็นสิ่งจำเป็น สังคมเราจะถดถอย สังคมจะไม่มีทางเลือกใหม่ๆ 

แล้วผมก็สอนสังคมศาสตร์ ผ่านจากการบอกว่าสังคมคืออะไร จะรู้จักมันได้อย่างไร ผมบอกให้พวกเขารู้จักดื้อกับสังคม บอกพวกเขาว่า อย่าสร้างสรรค์สังคมด้วยการแค่ผลิตซ้ำสิ่งที่สังคมต้องการ ผมบอกให้เขาเป็นนักสังคมศาสตร์ที่นอกจากศึกษาสังคมแล้วยังต้องเปลี่ยนแปลงสังคม  

ผมบอกว่า ในฐานะที่พวกเขาเป็นนักเรียนสังคมสงเคราะห์ พวกเขาต้องกล้าสงสัยว่า สิ่งที่สังคมบอกว่าดีนั้น ดีต่อใครกันแน่ พวกเขาต้องกล้าที่จะดื้อเพื่อเปลี่ยนสังคมให้เป็นธรรม นักสังคมศาสตร์ต้องเรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พวกเขาดูอึ้งๆ แต่ก็เหมือนจะสนใจดีอยู่ 

ตอนท้ายๆ ของเวลาเรียน ผมล้อพวกเขาว่า พรุ่งนี้อาจมีผู้ปกครองไปฟ้องครูใหญ่ว่า อาจารย์คนนี้สอนให้เด็กดื้อ แต่ผมดักคอไว้แล้วว่า ถ้าคุณพิมพ์ชื่อผมแล้วพิมพ์ชื่อครูใหญ่ตามมา จะรู้ว่าครูใหญ่คุณไม่อยากยุ่งกับผมหรอก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้