Skip to main content

ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา

เนื่องจากปีนั้นเป็นปีแรกที่นักศึกษาธรรมศาสตร์ต้องเรียนที่รังสิต 1 ปี ห้องสมุดที่ มธ. รังสิตยังโหรงเหรงมาก หนังสือแทบจะไม่มี แต่พอพบว่าห้องสมุดธรรมศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์ดีเหลือหลาย เป็นคลังความรู้มหาศาล ผมก็แทบจะไม่ได้เข้าห้องเรียนปี 1 ที่รังสิตอีกเลย ส่วนใหญ่มาขลุกอยู่ห้องสมุดที่ท่าพระจันทร์ (กับมุ่งมั่นฝึกเขียนรูปเพราะอยากย้ายไปเรียนศิลปะที่ศิลปากร)  

ที่ห้องสมุดธรรมศาสตร์ หนังสือของจิตรเล่มแรกๆ ที่ผมอ่านไม่ใช่ "โฉมหน้าศักดินาไทย" เพราะขณะนั้นจำได้ว่าหนังสือเล่มนี้ยังเป็นหนังสือต้องห้ามอยู่ ยังอ่านไม่ได้ แต่ภายหลังเมื่อได้อ่านแล้วก็ไม่ชอบนัก ไม่ประทับใจเท่าใดนัก ผมกลับชอบ "สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยอยุธยา" มากกว่า อ่านแล้วเปิดหูเปิดตามาก แทบจะเป็นการกระแทกทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยเรียนมาทั้งหมด ในสายตาของเด็กที่เพิ่งจบมัธยมมา  

สมัยนั้นเพื่อนร่วมรุ่นผมคนหนึ่งคลั่งไคล้งานของจิตรมาก เขาเป็นคนเรียนเก่งมาก ผมรู้จักเขาเพราะเรียน รด. ด้วยกัน เป็นนักเรียน รด. กลุ่มเล็กๆ เพราะพวกเราออกจากโรงเรียนก่อน ม. 6 ก็เลยต้องมาเรียน รด. ต่ออีกปีตอนเรียนปี 1 ซึ่งก็ทำให้ได้เจอเพื่อนต่างคณะหลายคน รวมทั้งคนนี้แหละ เพื่อนๆ เรียกเขาว่า "ไอ้หลง" ไอ้หลงมาเรียน รด. ทีไรหอบหนังสือ 4-5 เล่มมาตลอด  

ผมกับหลงมักคุยกันเรื่องงานเขียนของจิตร ที่จริงไอ้หลงมันคุมบทสนทนามากกว่า เพราะมันช่างพูด ผมชอบฟังมันด้วย น้ำเสียงมันเพราะดีกับมันพูดจาภาษาไทยเพราะดี มันชอบภาษาและวรรณคดี แล้วมันก็บรรยายความงามของงานบทกวีของจิตรได้สนุกมาก มันเอาไปเทียบกับงานท่านจันทร์ เทียบกับใครต่อใครที่ผมไม่รู้จักอีกหลายคน แล้วมันก็อธิบายความงามของเพลง "แสงดาวแห่งศรัทธา" ให้ฟังอย่างจับใจ ผมก็เลยต้องพลอยไปหางานเขียนบทกวีของจิตรมาอ่านบ้าง แต่ก็ไม่ได้ใจความอะไรลึกซึ้งเท่าที่ไอ้หลงมันอ่านหรอก 

นอกจาก "สังคมไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยาฯ" แล้ว งานเขียนประวัติศาสตร์ที่ผมชอบมากคือ "ตำนานแห่งนครวัด" เล่มนี้อ่านรวดเดียวจบ อ่านสนุกมาก เพราะนอกจากได้ความรู้ต่างๆ แล้ว จิตรเขียนด้วยลีลาการประพันธ์แบบการเดินทางท่องเที่ยว ที่ตัวเขาเองที่สวมบทผู้เล่าที่ดูเหมือนไม่มีความรู้อะไรมากมาย แต่เล่าไปเล่ามาได้สนุกสนานมาก และนั่นเป็นครั้งแรกๆ ที่ทำให้ผมสนใจประวัติศาสตร์กัมพูชาและประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากเล่มนั้นผมหางานเกี่ยวกับนครวัดอ่านอีกหลายเล่ม แต่ไม่มีเล่มไหนประทับใจเท่าที่จิตรเขียน 

เดิมทีผมก็คิดว่าจิตรเขียนแต่งานประวัติศาสตร์ แล้วก็มองข้ามงาน "ความเป็นมาของคำสยามฯ" ส่วนหนึ่งคงเพราะเป็นหนังสือเล่มหนามาก แล้วขณะนั้นก็คิดว่าอ่านยากมาก แต่หลังๆ มาผมคิดว่า ในบรรดาหนังสือของจิตร ผมชอบงานเขียนแนวชาติพันธ์ุของเขามากที่สุด 

สารภาพเลยว่าครั้งแรกที่ได้อ่าน "ความเป็นมาของคำสยามฯ" ผมกำลังเรียนปริญญาเอก พอดีไปเยี่ยมญาติพ่อที่ทางใต้ บ้านเก่าของพ่ออยู่ริมทะเล ไปอยู่นั่นวันๆ ไม่มีอะไรทำ นั่นแหละถึงได้นั่งอ่านหนังสือเล่มนี้จริงๆ จังๆ นอนในเปลอ่านริมทะเลอย่างสนุกสนานรวดเดียวจบ แล้วได้มาอ่านจริงจังอีกครั้งก็เมื่อ บก. ธนาพล แห่งฟ้าเดียวกัน ให้มาพูดเปิดตัวโครงการพิมพ์หนังสือจิตร ภูมิศักดิ์อีกครั้งหนึ่งที่ธรรมศาสตร์  

สุดท้ายบทความชิ้นนี้ของผมไปพิมพ์ใน "ศิลปวัฒนธรรม" เป็นบทความชิ้นแรกและชิ้นเดียวในชีวิตผมที่ได้รับเกียรติจากวารสารนี้ (แต่ปัจจุบันนี้มหาวิทยาลัยและ สกอ. ไม่ให้ค่าบทความที่พิมพ์ในศิลปวัฒนธรรมนะครับ) 

มีครั้งหนึ่งที่หยิบหนังสือ "ภาษาละหุหรือมูเซอร์" ของจิตรมาอ่าน แต่แล้วไม่ค่อยเข้าใจ เข้าใจว่าเป็นผลงานที่จิตรเองไม่ได้เขียนเป็นเรื่องเป็นราวเท่ากับว่าจะรวมรวมคำศัพท์และเรื่องเล่าบางอย่าง แต่นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของผลงานในคุกที่เขาเขียนจากการสัมภาษณ์คนละหุที่มาติดคุกด้วยกัน   

หนังสืออีกเล่มที่อ่านจริงจังคือ "โองการแช่งน้ำฯ" นี่ก็อ่านหลังจบปริญญาเอก อ่านรวดเดียวจบเช่นกัน ตอนนั้นเป็นงานครบรอบจิตรเช่นกัน แต่เป็นที่จุฬาฯ จัด เป็นงานใหญ่ มีนักวิชาการรุ่นเดียวกับผมหลายคนอ่านงานจิตรแล้วมาเสนอความเห็นใหม่ๆ หลายอย่าง นอกจากนั้นยังได้ฟังทัศนะของนักวิชาการรุ่นใหญ่อย่างอาจารย์ยิ้ม โต้โผจัดงานครั้งนั้น สุดท้ายงานผมกลายมาเป็นบทความรวมเล่มอยู่ในหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับจิตรที่อาจายร์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐเป็นบรรณาธิการ 

อีกเล่มที่อ่านค่อนข้างจริงจังคือ "ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน" อ่านเพื่อไปพูดเรื่องศิลปะเพื่อชีวิตที่ร้านหนังสือก็องดิด ตอนนั้นร้านยังอยู่ที่ถนนตะนาว ผมอ่านไปหงุดหงิดไปกับวิธีคิดทางศิลปะของจิตร แล้วเถียงในใจไปตลอด ผมเอาวิธีคิดเกี่ยวกับศิลปะแบบมาร์กซิสต์ของ Raymond Williams ไปเถียงด้วยตลอด เพราะเห็นว่าข้อเสนอของจิตรแข็งทื่อเกินไป เสียดายที่ยังไม่มีโอกาสเขียนร่างที่พูดตอนนั้นเป็นบทความสักที ขณะนี้ก็คงหาร่างนั้นไม่เจอแล้วด้วย 

งานของจิตรที่ผมอ่านส่วนใหญ่อ่านสนุก อ่านแล้วชวนให้คิด ชวนให้เถียง มีทั้งหลักฐานและหลักเหตุผลที่หนักแน่นมาก แต่เขาก็เขียนหนังสือแบบท้าทาย เขียนด้วยภาษาที่เหมือนการเล่าเรื่อง เมื่อจบปริญญาเอกแล้วกลับมาสอนหนังสือ ผมให้นักศึกษาอ่านงานของจิตรมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความเป็นมาฯ" ผมให้นักศึกษาอ่านทุกปี ไม่ว่าจะชั้นปริญญาตรี โท หรือเอก ผมคิดว่า ถ้านักศึกษารุ่นหลังๆ จะไม่รู้จักงานเขียนที่ยิ่งใหญ่ของนักวิชาการไทยคนไหนเลย อย่างน้อยเขาจะต้องรู้จักและได้อ่านงานของจิตร ภูมิศักดิ์

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ...