Skip to main content

เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้ ส่วนตัวผมเอง ระหว่างนั่งดูไป ก็หาวิธีที่จะดูละครเรื่องนี้หลายวิธีด้วยกัน วิธีแรกเลยคือ ผมดูละครเรื่องนี้แบบอ่านนิยายนักสืบแนวแฟนตาซีเพราะเรื่องราวเดินเรื่องด้วยการสืบหาตัวละครตัวหนึ่งที่หายไป วิธีการสืบหามีความแฟนตาซีที่ ทั้งตัวละครเองก็แฟนตาซี และวิธีการเข้าไปสู่เส้นทางของการค้นหาก็แฟนตาซี ลองไปดูกันแก็แล้วกันครับว่าเขาค้นหาใครกัน แล้วสุดท้ายเจอกันหรือไม่ แล้วอย่างไรต่อ 

อีกวิธีหนึ่งที่ผมใช้ดูคือ ดูว่าละครเรื่องนี้เป็นอุปมานิทัศน์ (allegory) ของอะไรที่นอกเหนือไปจากเนื้อหาตรงไปตรงมาของละคร ละครพูดเรื่องความทรงจำ ละครพูดเรื่องการค้นพบตัวตนด้านอื่นของตัวละคร ละครพูดเรื่องอัตภาวะของคนที่มักไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม ละครพูดเรื่องภาวะ disillusion ความตาสว่างเมื่อได้ค้นพบกับอีกด้านหนึ่งของสังคมที่ไม่ได้ถูกเล่า และนั่นชวนให้คิดไปถึงได้ทั้งเรื่องส่วนตัว สังคม และกระทั่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

แต่วิธีที่ผมอ่านอีกแบบคือ อ่านจากคนอ่านนิทาน เพราะละครเรื่องนี้เขียนบทให้เป็นนิทานและมีตัวละครจากนิทานเป็นเค้าโครงเรื่องหลัก ถ้าจะเล่าคร่าวๆ โดยที่จะไม่พยายามเปิดเผยเนื้อเรื่องมากนักก็คือ ในเรื่องมีตัวละครหลักเป็นตัวละครหญิงจากนิทานสี่คนสี่เรื่อง ตัวละครเดินทางเข้าไปในโลกของเรื่องราวในอีดตของตนเองที่ตัวละครบางตัวเองก็ไม่รับรู้ หากแต่เมื่อเข้าไปรับรู้โลกนั้นแล้ว ตัวละครก็มีปฏิกิริยาต่างๆ กันไป 

นักคติชนและนักมานุษยวิทยาอ่านนิทานหลายแบบ เช่น แบบฟรอยด์ที่มุ่งหาปมขัดแย้งทางเพศ หรือแบบหนึ่งคือการแยกชิ้นส่วนของนิทานออกเป็น motif แล้วดูว่าโมทิฟต่างๆ กระจายตัวไปในภูมิภาคต่างๆ ของโลกอย่างไร อีกแบบคืออ่านหาโครงสร้างของการดำเนินเรื่องของนิทาน คนที่ประสบความสำเร็จในการอ่านวิธีหลังนี้มากที่สุดคือโคลด์ เลวี่-สโตรทส์  

เลวี่-สโตรทส์หาโครงสร้างและความขัดแย้งของตัวละครและโครงเรื่อง เขาพบว่านิทานที่มักดูไร้สาระไม่เป็นเรื่องเป็นราวไม่มีเหตุผล แท้จริงแล้วมีโครงสร้างที่ดูมีเหตุมีผลกำกับอยู่ นิทานมักจะดำเนินเรื่องไปแล้วเกิดความขัดแย้ง หากความขัดแย้งประนีประนอมได้ลงตัว นิทานก็จะดำเนินต่อไป หากไม่เกิดการประนีประนอม ซึ่งมักจะเกิดการตายลงของตัวละคร หรือเกิดเหตุบางอย่างที่แก้ปัญหาไม่ได้ นิทานก็จะจบลง 

ยังมีวิธีอ่านนิทานอีกแบบคืออ่านโดยโยงกับบริบททางประวัติศาสตร์และสังคมของนิทาน ซึ่งผมมักจะใช้อ่าน ผมจึงดูละครพร้อมอ่านนิทานด้วยวิธีที่ว่า ละครเรื่องนี้ไม่ได้แค่เอา 2 โลกของ fairy tales นั้นมาเจอกัน แต่ยังสร้างโลกใหม่ คือโลกที่ตีความ โลกที่อ่าน โลกที่ประเมินคุณค่าโลกในนิทานทั้งสองนั้นจากทัศนะของผู้ประพันธ์และผู้กำกับละครเรื่องนี้เอง มันจึงเป็นอีกโลกหนึ่ง คือโลกที่ 3 ของการอ่านนิทาน ผมจึงตั้งคำถามว่า ทำไมผู้เล่านิทานทั้งสองด้านนี้จึงตีความ จึงประเมินนิทานแบบนั้น 

นิทานที่ละครเรื่องนี้เอามาเล่าเป็นนิทานพื้นบ้านของยุโรป ส่วนใหญ่มาจากนิทานพื้นบ้านของชาวเยอรมัน เหตุใดพี่น้องกริมม์จึงเก็บนิทานเหล่านี้มาเป็นสิ่งที่คนอ่านนิทานกริมม์มักไม่ค่อยสนใจกันนัก อันที่จริงพี่น้องกริมม์ (วิลเฮล์มและเจคอบ ) ทำงานทางวิชาการด้านคติชนวิทยาและภาษาศาสตร์ ทั้งสองมีชีวิตอยู่ในปลายศตวรรษที่ 18 ถึงกลางศตวรรษที่ 19  

ระยะนั้นมีการศึกษาค้นหาความเป็นชาติเยอรมันจากชีวิตสามัญของชาวเยอรมัน ภายใต้แนวทางของแฮรเดอร์ นักปรัชญาเยอรมันที่เสนอแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมแห่งชนชาติ จนกลายมาเป็นพื้นฐานของแนวคิดชาตินิยมและเป็นพื้นฐานของสาขาวิชาสำคัญ 3 สาขาคือคติชนวิทยา ภาษาศาสตร์ และมานุษยวิทยา พูดง่ายๆ คือ คอลเล็คชั่นนิทานกริมม์เป็นพื้นฐานสำคัญของการค้นหารากเหง้าความเป็นเยอรมันจากคนสามัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนา 

ประเด็นคือ เราจะอ่านนิทานกริมม์อย่างไร กริมม์เองใน ค.ศ. ที่ 19 อ่านจากมุมของนักคติชนและนักภาษาศาสตร์ ถือว่านิทานเป็นรากเหง้าของชาติ ไม่ว่ามันจะมีความรุนแงโหดร้าย ป่าเถื่อนในทัศนะของคน ค.ศ. ที่ 21 อย่างไร แต่คนในโลกของนิทานนั้นเองเล่า คนใน ค.ศ. 18-19 หรือก่อนหน้านั้น เขาอ่านหรือฟังนิทานเรื่องเหล่านี้กันอย่างไร คงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก ส่วนดีสนีย์ใน ค.ศ. ที่ 20 คงอ่านนิทานที่พวกกริมม์เก็บมาอีกแบบแล้วคิดว่า เล่าเรื่องแบบนี้ไปขายคนอเมริกันที่ฝันเผื่อนอยู่ในชีวิตที่ "ดีงาม" (เฉพาะแต่ในสหรัฐฯ เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) เขาจึงดัดแปลงนิทานเหล่านั้นให้เข้ากับบริบทอเมริกันดรีม  

แล้วคนปัจจุบันอ่านนิทานทั้งสองเวอร์ชั่นนั้นอย่างไร เท่าที่ผมเห็น วิธีอ่านนิทานกริมม์ของละครเรื่องนี้เป็นวิธีอ่านที่ "ปัจจุบัน" จากมุมมอง "สตรีนิยม (สายหนึ่ง)" เป็นการตัดสินนิทาน บทบาทในนิทาน ตัวละครในนิทาน กระทั่งการตีความของตัวละคร "ในละครเรื่องนี้" เองไปสักนิด  

อย่างเช่น การที่ตัวละครบางตัวตกตะลึงเมื่อพบว่าเรื่องดั้งเดิมของเธอนั้น ไม่ได้จบลงอย่างสวยงาม อีกตัวละครจำต้องจมปลักอยู่กับอดีตอันมืดมนของตนเองจนไม่สามรถกลับไปมีชีวิตในโลกนิทานแสนหวานของเธออีกต่อไปได้ อีกตัวละครเลือกเข้าใจอดีต "อันโหดร้าย" ของเธอแล้วอยู่อย่างตระหนักถึงความจริงพร้อมๆ กับโลกเสมือนแสนหวาน อีกตัวละครลังเลที่จะอยากหรือไม่อยากรู้จักตัวเอง 

ละครเรื่องนี้จึงนำเอาโลกของนิทาน 2 โลก คือโลกของนิทานที่สดใสงดงามจบลงอย่างชื่นมื่น มาปะทะกับโลกของนิทานที่ไม่ได้สวยงามและมักจะจบลงอย่างโหดร้าย พูดง่ายๆ คือ เอานิทาน fairy tales ในเวอร์ชั่นของวอลดีสนีย์ที่คนสมัยนี้คุ้นเคยกันไปทั่วโลก มาวางตัดกับนิทานเรื่องเดียวกันในเวอร์ชั่นเก่าแก่ของพี่น้องกริมม์ เวอร์ชั่นของดีสนีย์ที่จบอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้งเสมอ เมื่อมาเจอกับเวอร์ชั่นเก่าที่มีเพียงเค้าโครงบางอย่างของตัวละครเท่านั้นที่ใกล้เคียงกัน แต่บทบาทและเนื้อหาของเรื่องราวที่ดำเนินไปต่างกันลิบลับ 

แต่ไม่เท่านั้น ผู้เล่านิทานสองเวอร์ชั่นนั้นเองก็ยังนำเสนอการตีความ การประเมินคุณค่านิทานทั้งสองเวอร์ชั่นนั้นแทรกเข้าไปด้วย จนทำให้นิทานทั้ง 4 เรื่องที่ผสมกันออกมาเป็นละครเรื่องนี้เชื่อมโยงไปสู่ระบบคุณค่าใหม่ๆ ของสังคมในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งยังทำให้นิทานทั้ง 2 เวรอ์ชั่นนั้นเป็นอุปมาอุปมัยเล่าเรื่อง เล่าประเด็นอื่นๆ ที่คนในโลกปัจจุบันสนใจ  

จะชอบมุมมองเหล่านั้นของคนทำละครและผู้แสดงหรือไม่ก็ตาม ผมก็ยังคิดว่าละครเรื่องนี้เสนอการอ่านและเล่านิทานอย่างสร้างสรรค์ไปอีกแบบหนึ่ง และท้าทายให้คนดูคิดต่อได้อีกมากทีเดียว 

ละครยังเล่นอีก 2 รอบสุดท้ายในวันนี้ (1 ตุลาคม 2560) ไปสนับสนุนกันได้นะครับที่ Democracy Theatre ถนนพระราม 4

#TheDarkFairyTales #นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้