Skip to main content

เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้ ส่วนตัวผมเอง ระหว่างนั่งดูไป ก็หาวิธีที่จะดูละครเรื่องนี้หลายวิธีด้วยกัน วิธีแรกเลยคือ ผมดูละครเรื่องนี้แบบอ่านนิยายนักสืบแนวแฟนตาซีเพราะเรื่องราวเดินเรื่องด้วยการสืบหาตัวละครตัวหนึ่งที่หายไป วิธีการสืบหามีความแฟนตาซีที่ ทั้งตัวละครเองก็แฟนตาซี และวิธีการเข้าไปสู่เส้นทางของการค้นหาก็แฟนตาซี ลองไปดูกันแก็แล้วกันครับว่าเขาค้นหาใครกัน แล้วสุดท้ายเจอกันหรือไม่ แล้วอย่างไรต่อ 

อีกวิธีหนึ่งที่ผมใช้ดูคือ ดูว่าละครเรื่องนี้เป็นอุปมานิทัศน์ (allegory) ของอะไรที่นอกเหนือไปจากเนื้อหาตรงไปตรงมาของละคร ละครพูดเรื่องความทรงจำ ละครพูดเรื่องการค้นพบตัวตนด้านอื่นของตัวละคร ละครพูดเรื่องอัตภาวะของคนที่มักไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม ละครพูดเรื่องภาวะ disillusion ความตาสว่างเมื่อได้ค้นพบกับอีกด้านหนึ่งของสังคมที่ไม่ได้ถูกเล่า และนั่นชวนให้คิดไปถึงได้ทั้งเรื่องส่วนตัว สังคม และกระทั่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

แต่วิธีที่ผมอ่านอีกแบบคือ อ่านจากคนอ่านนิทาน เพราะละครเรื่องนี้เขียนบทให้เป็นนิทานและมีตัวละครจากนิทานเป็นเค้าโครงเรื่องหลัก ถ้าจะเล่าคร่าวๆ โดยที่จะไม่พยายามเปิดเผยเนื้อเรื่องมากนักก็คือ ในเรื่องมีตัวละครหลักเป็นตัวละครหญิงจากนิทานสี่คนสี่เรื่อง ตัวละครเดินทางเข้าไปในโลกของเรื่องราวในอีดตของตนเองที่ตัวละครบางตัวเองก็ไม่รับรู้ หากแต่เมื่อเข้าไปรับรู้โลกนั้นแล้ว ตัวละครก็มีปฏิกิริยาต่างๆ กันไป 

นักคติชนและนักมานุษยวิทยาอ่านนิทานหลายแบบ เช่น แบบฟรอยด์ที่มุ่งหาปมขัดแย้งทางเพศ หรือแบบหนึ่งคือการแยกชิ้นส่วนของนิทานออกเป็น motif แล้วดูว่าโมทิฟต่างๆ กระจายตัวไปในภูมิภาคต่างๆ ของโลกอย่างไร อีกแบบคืออ่านหาโครงสร้างของการดำเนินเรื่องของนิทาน คนที่ประสบความสำเร็จในการอ่านวิธีหลังนี้มากที่สุดคือโคลด์ เลวี่-สโตรทส์  

เลวี่-สโตรทส์หาโครงสร้างและความขัดแย้งของตัวละครและโครงเรื่อง เขาพบว่านิทานที่มักดูไร้สาระไม่เป็นเรื่องเป็นราวไม่มีเหตุผล แท้จริงแล้วมีโครงสร้างที่ดูมีเหตุมีผลกำกับอยู่ นิทานมักจะดำเนินเรื่องไปแล้วเกิดความขัดแย้ง หากความขัดแย้งประนีประนอมได้ลงตัว นิทานก็จะดำเนินต่อไป หากไม่เกิดการประนีประนอม ซึ่งมักจะเกิดการตายลงของตัวละคร หรือเกิดเหตุบางอย่างที่แก้ปัญหาไม่ได้ นิทานก็จะจบลง 

ยังมีวิธีอ่านนิทานอีกแบบคืออ่านโดยโยงกับบริบททางประวัติศาสตร์และสังคมของนิทาน ซึ่งผมมักจะใช้อ่าน ผมจึงดูละครพร้อมอ่านนิทานด้วยวิธีที่ว่า ละครเรื่องนี้ไม่ได้แค่เอา 2 โลกของ fairy tales นั้นมาเจอกัน แต่ยังสร้างโลกใหม่ คือโลกที่ตีความ โลกที่อ่าน โลกที่ประเมินคุณค่าโลกในนิทานทั้งสองนั้นจากทัศนะของผู้ประพันธ์และผู้กำกับละครเรื่องนี้เอง มันจึงเป็นอีกโลกหนึ่ง คือโลกที่ 3 ของการอ่านนิทาน ผมจึงตั้งคำถามว่า ทำไมผู้เล่านิทานทั้งสองด้านนี้จึงตีความ จึงประเมินนิทานแบบนั้น 

นิทานที่ละครเรื่องนี้เอามาเล่าเป็นนิทานพื้นบ้านของยุโรป ส่วนใหญ่มาจากนิทานพื้นบ้านของชาวเยอรมัน เหตุใดพี่น้องกริมม์จึงเก็บนิทานเหล่านี้มาเป็นสิ่งที่คนอ่านนิทานกริมม์มักไม่ค่อยสนใจกันนัก อันที่จริงพี่น้องกริมม์ (วิลเฮล์มและเจคอบ ) ทำงานทางวิชาการด้านคติชนวิทยาและภาษาศาสตร์ ทั้งสองมีชีวิตอยู่ในปลายศตวรรษที่ 18 ถึงกลางศตวรรษที่ 19  

ระยะนั้นมีการศึกษาค้นหาความเป็นชาติเยอรมันจากชีวิตสามัญของชาวเยอรมัน ภายใต้แนวทางของแฮรเดอร์ นักปรัชญาเยอรมันที่เสนอแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมแห่งชนชาติ จนกลายมาเป็นพื้นฐานของแนวคิดชาตินิยมและเป็นพื้นฐานของสาขาวิชาสำคัญ 3 สาขาคือคติชนวิทยา ภาษาศาสตร์ และมานุษยวิทยา พูดง่ายๆ คือ คอลเล็คชั่นนิทานกริมม์เป็นพื้นฐานสำคัญของการค้นหารากเหง้าความเป็นเยอรมันจากคนสามัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนา 

ประเด็นคือ เราจะอ่านนิทานกริมม์อย่างไร กริมม์เองใน ค.ศ. ที่ 19 อ่านจากมุมของนักคติชนและนักภาษาศาสตร์ ถือว่านิทานเป็นรากเหง้าของชาติ ไม่ว่ามันจะมีความรุนแงโหดร้าย ป่าเถื่อนในทัศนะของคน ค.ศ. ที่ 21 อย่างไร แต่คนในโลกของนิทานนั้นเองเล่า คนใน ค.ศ. 18-19 หรือก่อนหน้านั้น เขาอ่านหรือฟังนิทานเรื่องเหล่านี้กันอย่างไร คงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก ส่วนดีสนีย์ใน ค.ศ. ที่ 20 คงอ่านนิทานที่พวกกริมม์เก็บมาอีกแบบแล้วคิดว่า เล่าเรื่องแบบนี้ไปขายคนอเมริกันที่ฝันเผื่อนอยู่ในชีวิตที่ "ดีงาม" (เฉพาะแต่ในสหรัฐฯ เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) เขาจึงดัดแปลงนิทานเหล่านั้นให้เข้ากับบริบทอเมริกันดรีม  

แล้วคนปัจจุบันอ่านนิทานทั้งสองเวอร์ชั่นนั้นอย่างไร เท่าที่ผมเห็น วิธีอ่านนิทานกริมม์ของละครเรื่องนี้เป็นวิธีอ่านที่ "ปัจจุบัน" จากมุมมอง "สตรีนิยม (สายหนึ่ง)" เป็นการตัดสินนิทาน บทบาทในนิทาน ตัวละครในนิทาน กระทั่งการตีความของตัวละคร "ในละครเรื่องนี้" เองไปสักนิด  

อย่างเช่น การที่ตัวละครบางตัวตกตะลึงเมื่อพบว่าเรื่องดั้งเดิมของเธอนั้น ไม่ได้จบลงอย่างสวยงาม อีกตัวละครจำต้องจมปลักอยู่กับอดีตอันมืดมนของตนเองจนไม่สามรถกลับไปมีชีวิตในโลกนิทานแสนหวานของเธออีกต่อไปได้ อีกตัวละครเลือกเข้าใจอดีต "อันโหดร้าย" ของเธอแล้วอยู่อย่างตระหนักถึงความจริงพร้อมๆ กับโลกเสมือนแสนหวาน อีกตัวละครลังเลที่จะอยากหรือไม่อยากรู้จักตัวเอง 

ละครเรื่องนี้จึงนำเอาโลกของนิทาน 2 โลก คือโลกของนิทานที่สดใสงดงามจบลงอย่างชื่นมื่น มาปะทะกับโลกของนิทานที่ไม่ได้สวยงามและมักจะจบลงอย่างโหดร้าย พูดง่ายๆ คือ เอานิทาน fairy tales ในเวอร์ชั่นของวอลดีสนีย์ที่คนสมัยนี้คุ้นเคยกันไปทั่วโลก มาวางตัดกับนิทานเรื่องเดียวกันในเวอร์ชั่นเก่าแก่ของพี่น้องกริมม์ เวอร์ชั่นของดีสนีย์ที่จบอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้งเสมอ เมื่อมาเจอกับเวอร์ชั่นเก่าที่มีเพียงเค้าโครงบางอย่างของตัวละครเท่านั้นที่ใกล้เคียงกัน แต่บทบาทและเนื้อหาของเรื่องราวที่ดำเนินไปต่างกันลิบลับ 

แต่ไม่เท่านั้น ผู้เล่านิทานสองเวอร์ชั่นนั้นเองก็ยังนำเสนอการตีความ การประเมินคุณค่านิทานทั้งสองเวอร์ชั่นนั้นแทรกเข้าไปด้วย จนทำให้นิทานทั้ง 4 เรื่องที่ผสมกันออกมาเป็นละครเรื่องนี้เชื่อมโยงไปสู่ระบบคุณค่าใหม่ๆ ของสังคมในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งยังทำให้นิทานทั้ง 2 เวรอ์ชั่นนั้นเป็นอุปมาอุปมัยเล่าเรื่อง เล่าประเด็นอื่นๆ ที่คนในโลกปัจจุบันสนใจ  

จะชอบมุมมองเหล่านั้นของคนทำละครและผู้แสดงหรือไม่ก็ตาม ผมก็ยังคิดว่าละครเรื่องนี้เสนอการอ่านและเล่านิทานอย่างสร้างสรรค์ไปอีกแบบหนึ่ง และท้าทายให้คนดูคิดต่อได้อีกมากทีเดียว 

ละครยังเล่นอีก 2 รอบสุดท้ายในวันนี้ (1 ตุลาคม 2560) ไปสนับสนุนกันได้นะครับที่ Democracy Theatre ถนนพระราม 4

#TheDarkFairyTales #นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้