Skip to main content

เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้ ส่วนตัวผมเอง ระหว่างนั่งดูไป ก็หาวิธีที่จะดูละครเรื่องนี้หลายวิธีด้วยกัน วิธีแรกเลยคือ ผมดูละครเรื่องนี้แบบอ่านนิยายนักสืบแนวแฟนตาซีเพราะเรื่องราวเดินเรื่องด้วยการสืบหาตัวละครตัวหนึ่งที่หายไป วิธีการสืบหามีความแฟนตาซีที่ ทั้งตัวละครเองก็แฟนตาซี และวิธีการเข้าไปสู่เส้นทางของการค้นหาก็แฟนตาซี ลองไปดูกันแก็แล้วกันครับว่าเขาค้นหาใครกัน แล้วสุดท้ายเจอกันหรือไม่ แล้วอย่างไรต่อ 

อีกวิธีหนึ่งที่ผมใช้ดูคือ ดูว่าละครเรื่องนี้เป็นอุปมานิทัศน์ (allegory) ของอะไรที่นอกเหนือไปจากเนื้อหาตรงไปตรงมาของละคร ละครพูดเรื่องความทรงจำ ละครพูดเรื่องการค้นพบตัวตนด้านอื่นของตัวละคร ละครพูดเรื่องอัตภาวะของคนที่มักไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม ละครพูดเรื่องภาวะ disillusion ความตาสว่างเมื่อได้ค้นพบกับอีกด้านหนึ่งของสังคมที่ไม่ได้ถูกเล่า และนั่นชวนให้คิดไปถึงได้ทั้งเรื่องส่วนตัว สังคม และกระทั่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย 

แต่วิธีที่ผมอ่านอีกแบบคือ อ่านจากคนอ่านนิทาน เพราะละครเรื่องนี้เขียนบทให้เป็นนิทานและมีตัวละครจากนิทานเป็นเค้าโครงเรื่องหลัก ถ้าจะเล่าคร่าวๆ โดยที่จะไม่พยายามเปิดเผยเนื้อเรื่องมากนักก็คือ ในเรื่องมีตัวละครหลักเป็นตัวละครหญิงจากนิทานสี่คนสี่เรื่อง ตัวละครเดินทางเข้าไปในโลกของเรื่องราวในอีดตของตนเองที่ตัวละครบางตัวเองก็ไม่รับรู้ หากแต่เมื่อเข้าไปรับรู้โลกนั้นแล้ว ตัวละครก็มีปฏิกิริยาต่างๆ กันไป 

นักคติชนและนักมานุษยวิทยาอ่านนิทานหลายแบบ เช่น แบบฟรอยด์ที่มุ่งหาปมขัดแย้งทางเพศ หรือแบบหนึ่งคือการแยกชิ้นส่วนของนิทานออกเป็น motif แล้วดูว่าโมทิฟต่างๆ กระจายตัวไปในภูมิภาคต่างๆ ของโลกอย่างไร อีกแบบคืออ่านหาโครงสร้างของการดำเนินเรื่องของนิทาน คนที่ประสบความสำเร็จในการอ่านวิธีหลังนี้มากที่สุดคือโคลด์ เลวี่-สโตรทส์  

เลวี่-สโตรทส์หาโครงสร้างและความขัดแย้งของตัวละครและโครงเรื่อง เขาพบว่านิทานที่มักดูไร้สาระไม่เป็นเรื่องเป็นราวไม่มีเหตุผล แท้จริงแล้วมีโครงสร้างที่ดูมีเหตุมีผลกำกับอยู่ นิทานมักจะดำเนินเรื่องไปแล้วเกิดความขัดแย้ง หากความขัดแย้งประนีประนอมได้ลงตัว นิทานก็จะดำเนินต่อไป หากไม่เกิดการประนีประนอม ซึ่งมักจะเกิดการตายลงของตัวละคร หรือเกิดเหตุบางอย่างที่แก้ปัญหาไม่ได้ นิทานก็จะจบลง 

ยังมีวิธีอ่านนิทานอีกแบบคืออ่านโดยโยงกับบริบททางประวัติศาสตร์และสังคมของนิทาน ซึ่งผมมักจะใช้อ่าน ผมจึงดูละครพร้อมอ่านนิทานด้วยวิธีที่ว่า ละครเรื่องนี้ไม่ได้แค่เอา 2 โลกของ fairy tales นั้นมาเจอกัน แต่ยังสร้างโลกใหม่ คือโลกที่ตีความ โลกที่อ่าน โลกที่ประเมินคุณค่าโลกในนิทานทั้งสองนั้นจากทัศนะของผู้ประพันธ์และผู้กำกับละครเรื่องนี้เอง มันจึงเป็นอีกโลกหนึ่ง คือโลกที่ 3 ของการอ่านนิทาน ผมจึงตั้งคำถามว่า ทำไมผู้เล่านิทานทั้งสองด้านนี้จึงตีความ จึงประเมินนิทานแบบนั้น 

นิทานที่ละครเรื่องนี้เอามาเล่าเป็นนิทานพื้นบ้านของยุโรป ส่วนใหญ่มาจากนิทานพื้นบ้านของชาวเยอรมัน เหตุใดพี่น้องกริมม์จึงเก็บนิทานเหล่านี้มาเป็นสิ่งที่คนอ่านนิทานกริมม์มักไม่ค่อยสนใจกันนัก อันที่จริงพี่น้องกริมม์ (วิลเฮล์มและเจคอบ ) ทำงานทางวิชาการด้านคติชนวิทยาและภาษาศาสตร์ ทั้งสองมีชีวิตอยู่ในปลายศตวรรษที่ 18 ถึงกลางศตวรรษที่ 19  

ระยะนั้นมีการศึกษาค้นหาความเป็นชาติเยอรมันจากชีวิตสามัญของชาวเยอรมัน ภายใต้แนวทางของแฮรเดอร์ นักปรัชญาเยอรมันที่เสนอแนวคิดเรื่องวัฒนธรรมแห่งชนชาติ จนกลายมาเป็นพื้นฐานของแนวคิดชาตินิยมและเป็นพื้นฐานของสาขาวิชาสำคัญ 3 สาขาคือคติชนวิทยา ภาษาศาสตร์ และมานุษยวิทยา พูดง่ายๆ คือ คอลเล็คชั่นนิทานกริมม์เป็นพื้นฐานสำคัญของการค้นหารากเหง้าความเป็นเยอรมันจากคนสามัญ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนา 

ประเด็นคือ เราจะอ่านนิทานกริมม์อย่างไร กริมม์เองใน ค.ศ. ที่ 19 อ่านจากมุมของนักคติชนและนักภาษาศาสตร์ ถือว่านิทานเป็นรากเหง้าของชาติ ไม่ว่ามันจะมีความรุนแงโหดร้าย ป่าเถื่อนในทัศนะของคน ค.ศ. ที่ 21 อย่างไร แต่คนในโลกของนิทานนั้นเองเล่า คนใน ค.ศ. 18-19 หรือก่อนหน้านั้น เขาอ่านหรือฟังนิทานเรื่องเหล่านี้กันอย่างไร คงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก ส่วนดีสนีย์ใน ค.ศ. ที่ 20 คงอ่านนิทานที่พวกกริมม์เก็บมาอีกแบบแล้วคิดว่า เล่าเรื่องแบบนี้ไปขายคนอเมริกันที่ฝันเผื่อนอยู่ในชีวิตที่ "ดีงาม" (เฉพาะแต่ในสหรัฐฯ เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังสงครามโลกครั้งที่สอง) เขาจึงดัดแปลงนิทานเหล่านั้นให้เข้ากับบริบทอเมริกันดรีม  

แล้วคนปัจจุบันอ่านนิทานทั้งสองเวอร์ชั่นนั้นอย่างไร เท่าที่ผมเห็น วิธีอ่านนิทานกริมม์ของละครเรื่องนี้เป็นวิธีอ่านที่ "ปัจจุบัน" จากมุมมอง "สตรีนิยม (สายหนึ่ง)" เป็นการตัดสินนิทาน บทบาทในนิทาน ตัวละครในนิทาน กระทั่งการตีความของตัวละคร "ในละครเรื่องนี้" เองไปสักนิด  

อย่างเช่น การที่ตัวละครบางตัวตกตะลึงเมื่อพบว่าเรื่องดั้งเดิมของเธอนั้น ไม่ได้จบลงอย่างสวยงาม อีกตัวละครจำต้องจมปลักอยู่กับอดีตอันมืดมนของตนเองจนไม่สามรถกลับไปมีชีวิตในโลกนิทานแสนหวานของเธออีกต่อไปได้ อีกตัวละครเลือกเข้าใจอดีต "อันโหดร้าย" ของเธอแล้วอยู่อย่างตระหนักถึงความจริงพร้อมๆ กับโลกเสมือนแสนหวาน อีกตัวละครลังเลที่จะอยากหรือไม่อยากรู้จักตัวเอง 

ละครเรื่องนี้จึงนำเอาโลกของนิทาน 2 โลก คือโลกของนิทานที่สดใสงดงามจบลงอย่างชื่นมื่น มาปะทะกับโลกของนิทานที่ไม่ได้สวยงามและมักจะจบลงอย่างโหดร้าย พูดง่ายๆ คือ เอานิทาน fairy tales ในเวอร์ชั่นของวอลดีสนีย์ที่คนสมัยนี้คุ้นเคยกันไปทั่วโลก มาวางตัดกับนิทานเรื่องเดียวกันในเวอร์ชั่นเก่าแก่ของพี่น้องกริมม์ เวอร์ชั่นของดีสนีย์ที่จบอย่างแฮปปี้เอ็นดิ้งเสมอ เมื่อมาเจอกับเวอร์ชั่นเก่าที่มีเพียงเค้าโครงบางอย่างของตัวละครเท่านั้นที่ใกล้เคียงกัน แต่บทบาทและเนื้อหาของเรื่องราวที่ดำเนินไปต่างกันลิบลับ 

แต่ไม่เท่านั้น ผู้เล่านิทานสองเวอร์ชั่นนั้นเองก็ยังนำเสนอการตีความ การประเมินคุณค่านิทานทั้งสองเวอร์ชั่นนั้นแทรกเข้าไปด้วย จนทำให้นิทานทั้ง 4 เรื่องที่ผสมกันออกมาเป็นละครเรื่องนี้เชื่อมโยงไปสู่ระบบคุณค่าใหม่ๆ ของสังคมในศตวรรษที่ 21 รวมทั้งยังทำให้นิทานทั้ง 2 เวรอ์ชั่นนั้นเป็นอุปมาอุปมัยเล่าเรื่อง เล่าประเด็นอื่นๆ ที่คนในโลกปัจจุบันสนใจ  

จะชอบมุมมองเหล่านั้นของคนทำละครและผู้แสดงหรือไม่ก็ตาม ผมก็ยังคิดว่าละครเรื่องนี้เสนอการอ่านและเล่านิทานอย่างสร้างสรรค์ไปอีกแบบหนึ่ง และท้าทายให้คนดูคิดต่อได้อีกมากทีเดียว 

ละครยังเล่นอีก 2 รอบสุดท้ายในวันนี้ (1 ตุลาคม 2560) ไปสนับสนุนกันได้นะครับที่ Democracy Theatre ถนนพระราม 4

#TheDarkFairyTales #นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ