Skip to main content

ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 

กรณีทุบรถ คนทุบมีฐานะดี มีอำนาจต่อรองสูง ทำลายของส่วนบุคคล ละเมิดของส่วนตัว ไม่ได้ตั้งใจประท้วงปัญหานโยบายแต่แรก โทสะส่วนบุคคล ส่วนการขยายไปเป็นเรื่องสาธารณะนั้น ไม่แน่ใจว่าคนทุบรถคิดไว้แต่แรกหรือเปล่า หรือเพราะสื่อมวลชนและสังคมขยายประเด็นกันไปเอง 

ที่น่าแปลกใจก็คือ คนทุบรถกลายเป็นผู้มีส่วนเปิดโปงปัญหาของการบริหารราชการไป ทั้งๆ ที่อันที่จริงเป็นการละเมิดผู้อื่นที่มากีดขวางทางตน ไม่ได้ตั้งใจประท้วงความผิดผลาดเชิงนโยบายหรือการบริหารอะไรเลย  

กรณีทุบลิฟ คนทุบเป็น "คนพิการ"* อำนาจต่อรองน้อย ทำลายของสาธารณะ ตั้งใจทำเพื่อประท้วงปัญหาการบริหารและนโยบาย อาจมีโทสะส่วนตัว แต่การบันดาลโทสะในที่นี้ถือเป็นตัวแทนปัญหาส่วนรวมที่กว้างใหญ่กว่ากรณีทุบรถมาก อาจไม่ได้คิดวางแผนแต่แรกเช่นกัน แต่เป็นไปได้ว่าจะคิดทำให้เป็นประเด็นสาธารณะด้วยวิธีใดมานานแล้ว เพราะประสบปัญหานี้ด้วยตนเองมานานแล้ว 

แต่ผมกำลังคิดว่า กรณีนี้จะไม่ได้รับความสนใจมากเท่ากรณีแรก ส่วนหนึ่งเพราะสังคมไทยสนใจคนพิการน้อยอยู่แล้ว มีคนเคารพที่จอดรถที่มีสัญลักษณ์รถเข็นมากน้อยแค่ไหน กฎหมายมีบทลงโทษการจอดรถในที่คนพิการจริงจังแค่ไหน มีบัตรสำหรับคนพิการใช้แสดงสิทธิพิเศษในการจอดที่แบบนั้นไหม เพราะคนพิการบางคนไม่ได้ต้องนั่งรถเข็นเสมอไป แต่เขาสัญจรลำบากไม่น้อยกว่าคนใช้รถเข็น 

เห็นได้ชัดว่าสังคมไทยหมักหมมปัญหานี้ไว้ ไม่ถือว่าคนเหล่านี้เป็นคนเท่ากับคนที่เดินเหินสบาย สังคมไทยไม่เอาใจใส่กับสิทธิการสัญจรไปมาของพวกเขา ไม่ต้องอะไรมาก ไปดูกระทรวงสาธารณสุขสิครับ ดูสิว่ารถวีลแชร์คันไหนจะวิ่งบนทางเท้าในกระทรวงนี้ได้บ้าง ลำพังแค่คนจะเดินบนทางเท้าในกระทรวงนี้ยังลำบากเลย นี่ขนาดกระทรวงที่ตามหน้าที่ต้องดูแลสุขภาวะของคนนะครับ 

ฉะนั้น กรณีทุบรถมีพื้นฐานมาจากความขัดแย้งส่วนตัว ที่มีปัญหาเชิงนโยบายและการบริหารเป็นโครงสร้างอีกชั้น คนทุบไม่ได้ทุบไปที่ตัวปัญหาใหญ่ ส่วนกรณีทุบลิฟมีพื้นฐานจากความขัดแย้งระหว่างสังคม แสดงออกผ่านคนพิการ กับปัญหาเชิงนโยบายและการบริหารของรัฐและบริษัทสัมปทานจากรัฐ เป็นการทุบไปที่ปัญหาใหญ่ 

กรณีทั้งสองชวนให้นึกถึง civil disobedience แล้วนึกเทียบว่าบางกรณีอาจเป็น uncivil disobedience การประท้วงสังคม ประท้วงรัฐ ผ่านการสื่อสารด้วยวิธีรุนแรง ส่วนหนึ่งเป็นการทำผิดเพื่อให้สังคมรับรู้ปัญหา  

การที่คนในสังคมต้องใช้วิธีรุนแรงตัดสินปัญหาความขัดแย้ง ไม่ว่าจะระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐหรือบริการสาธารณะ ย่อมชี้ให้เห็นถึงความบกพร่องของสถาบันการจัดการความขัดแย้ง ซึ่งก็คือกระบวนการยุติธรรมหรือองค์กรกลางที่ทำงานอย่างที่ควรทำ ถ้าสถาบันเหล่านั้นทำงานอย่างแข็งขัน จริงจัง อย่างเสมอหน้ากัน อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผล คนที่ลงไม้ลงมือกันเองก็คงไม่เกิดบ่อยนักขนาดนี้ 

แต่ในสังคมที่สถาบันจัดการความขัดแย้งไม่ทำงานดี หรือไม่มีเอาเสียเลย การประท้วงรุนแรง การจัดการปัญหาความขัดแย้งด้วยวิธีรุนแรงของประชาชนด้วยกันเอง การปะทะกัน ก็จะเกิดขึ้นอีกต่อไปเรื่อยๆ เพราะประชาชนไม่ไม่ที่พึ่งที่ดีกว่าการลงมือลงไม้กันนั่นเอง

*หมายเหตุ: มีผู้อยู่ในแวดวงนักต่อสู้เพื่อคนพิการท้วงติงว่า คำว่า “คนทุพลภาพ” ไม่เหมาะสม ขอเปลี่ยนคำเป็น "คนพิการ" ตามข้อท้วงติงครับ ภาษาอังกฤษปัจจุบันก็พยายามเลี่ยงคำว่า disable ไปใช้คำว่า physically challenged แทน อาจแปลว่า “ผู้ประสบความท้าทายทางกายภาพ”

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ...