Skip to main content

ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา

 

ผมมักจะเที่ยวคุยโม้ว่าตัวเองเติบโตและใช้ชีวิตกลับไปกลับมาที่บ้านยาย อยู่บ้านกระทุ่ม อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บ้านยายอยู่ริมน้ำ ผมรู้ดีว่าน้ำท่วมสูงอยู่นานๆ ต้องใช้ชีวิตอย่างไร เคยตัก "น้ำท่า" กินโดยไม่ต้ม เคยอาบน้ำตีนท่า เคยตักน้ำจากตีนท่าขึ้นบันไดสูงมาใส่โอ่งแกว่งสารส้มเก็บไว้ใช้  

 

ในวัยเด็ก ผมก็เลยได้กินปลาหลายชนิด ผมรู้วิธีทำปลาทุกชนิด และเข้าใจว่าตัวเองรู้จักปลาหลายชนิดกว่าเพื่อนๆ ที่โตขึ้นมาในกรุงเทพฯ และรู้จักความอร่อย ความสดหวานของเนื้อปลาพอที่จะไม่ชอบให้ใครทอดปลาก่อนเอาไปผัดเผ็ดหรือแกงส้ม แกงเผ็ด 

 

รวมทั้งไม่ชอบฉู่ฉี่ที่เอาปลาไปทอดก่อน เพราะนั่นคือการกลบเกลื่อนความไม่สดของปลามากกว่าจะทำให้มันอร่อยขึ้น ผมโตมาแบบนั้น ใครจะว่าดัดจริตก็แล้วแต่

 

แต่เมื่อได้ไปอำเภอชุมแสงเที่ยวนี้ จึงได้รู้ว่าความเข้าใจเรื่องปลาของผมมันกระจอกมาก ไม่ได้แม้แต่สักเสี้ยวหนึ่งของชาวปลาในถิ่นนี้

 

เอาเฉพาะแค่ชื่อปลา มีปลาอีกมากมายหลายชนิดที่ผมไม่เคยได้ยินชื่อ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลปลาเกล็ดตั้งแต่ ปลากา ปลาตะโกก ปลาตะกาก สำหรับผม พวกนี้หน้าตาคล้ายตะเพียนไปหมด ยกเว้นแต่สีของเกล็ดกับรูปร่างความแป้น ความเรียวของมัน แม้แต่ปลาตะเพียนที่ผมเคยเห็นว่าส่วนใหญ่จะตัวแป้นๆ ที่นี่ก็ตัวเรียวกว่าที่ผมคุ้นเคย ส่วนปลาม้า ปลาช่อน พวกนี้กลายเป็นปลาตลาดๆ ที่ดูไม่น่าลิ้มลองเอาเสียเลย

 

ส่วนปลาตระกูลหนัง ไม่ต้องพูดถึงปลากด ปลาสวาย ปลาดุก ปลาเนื้ออ่อน ผมยังรู้จักปลาเค้าค่อนข้างดี เพราะเคยเห็นปลาเค้าตัวใหญ่ขนาดเต็มลำเรือมาแล้ว แต่ปลาที่ใกล้เคียงกันอย่าง ปลาลึง ปลากดครีบแดง ปลาเบี้ยว (คล้ายปลาเค้าแต่ปากล่างยื่นออกมามาก) และปลาสวายหนู (คล้ายสวาย แต่ตัวเรียวกว่าหน่อย ไขมันน้อยกว่า แน่นกว่า)

 

หรืออย่าง ปลาแดง (ที่เคยคิดว่าแค่เป็นอีกชื่อของปลาเนื้ออ่อน แต่จริงๆ แล้วมันหัวแดงและตัวใสกว่าปลาเนื้ออ่อน แถมตัวใหญ่กว่า) ที่เพิ่งเคยได้ยินจริงๆ และโชคดีที่ได้ชิทรส คือปลาน้ำเงิน หน้าตารูปร่างมันเหมือนปลาเนื้ออ่อน หนังมันเงางามสีเงินยวงเนื้อนุ่มอย่างปลาเนื้ออ่อน แต่ก็แน่นกว่าหน่อย

 

ชุมแสงมีทำเลที่เหมาะกับการกินปลา หาปลา เรียนรู้เรื่องปลามาก อำเภอนี้อยู่เหนือตัวเมืองนครสวรรค์ขึ้นไป ค่อนไปทางตะวันออก ตัวอำเภอตั้งอยู่ริมน้ำน่าน แต่ถิ่นที่ผมไปน่ะ ตั้งอยู่อยู่ระหว่างน้ำน่านและน้ำยม เกือบถึงพิจิตร มีเส้นทางต่อเนื่องไปถึงพิษณุโลกได้ น้ำเหล่านี้ส่วนหนึ่งไหลมาที่บึงบอระเพ็ด

 

ผมเข้าใจว่าทำเลแบบนี้นี่เองที่ทำให้กลายเป็นแหล่งที่ปลาหลากหลายชนิดมาอาศัยอยู่ แต่อีกส่วนหนึ่งคงเพราะการปิดกั้นเขื่อน ทำให้ปลาหลายชนิดที่อยู่ภาคกลางตอนบน ไม่ค่อยได้ลงไปถึงอยุธยาบ้านยายผม ผมก็เลยไม่รู้จักปลาพวกนี้เลย นอกจากนั้น ปลาพวกนี้คงมีธรรมชาติที่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำเชี่ยวไหลแรง ต่างกับแม่น้ำน้อยหน้าบ้านยายผม ที่ไหลเอื่อยๆ ผมก็เลยไม่ค่อยเจอปลาพวกนี้

 

ในสองวันกว่าที่ผ่านมา ผมก็เลยได้กินปลากลุ่มปลาหนังที่เอ่ยถึงมานั่นเกือบทั้งหมด ส่วนปลาเกล็ดหลายชนิดที่เอ่ยมาแทบจะยังไม่ได้กินเลย ยกเว้นปลาม้า ที่ได้กินตั้งแต่พักกลางวันที่สิงห์บุรีแล้ว กับปลากราย ที่มีมากและสดอร่อยเสียจนแทบจะอยู่ในทุกมื้ออาหาร

 

นอกจากชนิดปลาแล้ว ชาวชุมแสงยังเล่าถึงวิธีการดักปลาในฤดูน้ำหลาก ก็กำลังเริ่มช่วงเดือนนี้นั่นแหละ สำหรับผม ฤดูน้ำหลากที่บ้านยาย ก็คือมีปลามามาก บางจุดนี่ ปลาเยอะขนาดแค่เอากะละมังจ้วงลงไปในน้ำ ก็จะได้ปลาติดขึ้นมาแทบเต็มกะละมังเลยทีเดียว บางปียายผมก็เลยทำน้ำปลาเก็บไว้กินเอง

 

แต่ในฤดูน้ำปกติ แถวบ้านยายผมเขาจะ "ล้อมหญ้า" กัน คือเอาไม้ไผ่มากั้นคอกในแม่น้ำตรงริมตลิ่ง ขนาดสัก 1 งาน (100 ตารางวา) แล้วเอากอไม้ต่างๆ มาโยนลงไปในน้ำ สัก 4-5 เดือนต่อมา ก็ค่อยเอาตาข่ายมาล้อม เอากอไม้ออก แล้วคราวนี้ก็ช่วยกันจับปลาด้วยวิธีต่างๆ วิธีนี้จะได้ปลาเยอะมากพอที่จะขายคนได้หลายหมู่บ้านทีเดียว

 

แต่คนที่ชุมแสงเล่าถึงเทคนิคที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น แบบหนึ่งคือการขุด​ "บ่อล่อ" คือการใช้ที่ส่วนหนึ่งในนา ขุดบ่อขนาดสักหนึ่งงานหรือสองงาน ปล่อยไว้อย่างนั้น ไม่ต้องทำอะไร พอนำ้ลด ปลาที่ไม่ชอบน้ำนิ่งมันจะหนีตามน้ำไป แต่ปลาที่ชอบน้ำนิ่ง มันจะไม่ไปไหน ติดอยู่ในบ่อล่อนั้น นอกจากแทบไม่ต้องลงทุนอะไรมากแล้ว วิธีนี้ยังเก็บปลาไว้ได้เป็นปี ไม่ต้องรีบแปรรูปรีบขาย

 

อีกวิธีคือ "บ่อโจร" เขาจะเอาไหหรือโอ่งฝังใต้ดิน แล้วทำรางน้ำมายังโอ่งนั่น แล้วเอาน้ำใหม่ๆ โรยลงบนราง ปลามันจะชอบน้ำใหม่ มันก็จะว่ายเข้ามาตามราง แล้วเข้าไปในโอ่งนั่น เราก็จะจับปลาได้ วิธีนี้น่าจะชั่วคราว แต่ก็เป็นวิธีที่ไม่ต้องลงทุนใหม่มาก แค่ลงแรงกับดัดแปลงวัสดุที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น

 

ที่จริงหากจะจับปลาเก็บไว้ในหน้าน้ำน่ะ ชาวบ้านเขารู้ดีอยู่แล้ว เขามีวิธีจัดการที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตเขา เหมาะกับสภาพแวดล้อมเขา ส่วนพวกที่ไม่รู้จักฟังใคร แต่คิดว่าตัวเองรู้และคอยสั่งสอนชาวบ้านเขา แถมยังคอยหาเรื่องเสียเงินเสียทองไปได้เรื่อยๆ น่ะ คงไม่มีวันแก้ปัญหาชาวบ้านได้หรอก น่าสมเพชและน่าเสียใจที่ยังมีคนยกย่องคนพวกนี้อยู่อย่างไม่โงหัวสักที

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้