Skip to main content

ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา

 

ผมมักจะเที่ยวคุยโม้ว่าตัวเองเติบโตและใช้ชีวิตกลับไปกลับมาที่บ้านยาย อยู่บ้านกระทุ่ม อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บ้านยายอยู่ริมน้ำ ผมรู้ดีว่าน้ำท่วมสูงอยู่นานๆ ต้องใช้ชีวิตอย่างไร เคยตัก "น้ำท่า" กินโดยไม่ต้ม เคยอาบน้ำตีนท่า เคยตักน้ำจากตีนท่าขึ้นบันไดสูงมาใส่โอ่งแกว่งสารส้มเก็บไว้ใช้  

 

ในวัยเด็ก ผมก็เลยได้กินปลาหลายชนิด ผมรู้วิธีทำปลาทุกชนิด และเข้าใจว่าตัวเองรู้จักปลาหลายชนิดกว่าเพื่อนๆ ที่โตขึ้นมาในกรุงเทพฯ และรู้จักความอร่อย ความสดหวานของเนื้อปลาพอที่จะไม่ชอบให้ใครทอดปลาก่อนเอาไปผัดเผ็ดหรือแกงส้ม แกงเผ็ด 

 

รวมทั้งไม่ชอบฉู่ฉี่ที่เอาปลาไปทอดก่อน เพราะนั่นคือการกลบเกลื่อนความไม่สดของปลามากกว่าจะทำให้มันอร่อยขึ้น ผมโตมาแบบนั้น ใครจะว่าดัดจริตก็แล้วแต่

 

แต่เมื่อได้ไปอำเภอชุมแสงเที่ยวนี้ จึงได้รู้ว่าความเข้าใจเรื่องปลาของผมมันกระจอกมาก ไม่ได้แม้แต่สักเสี้ยวหนึ่งของชาวปลาในถิ่นนี้

 

เอาเฉพาะแค่ชื่อปลา มีปลาอีกมากมายหลายชนิดที่ผมไม่เคยได้ยินชื่อ ไม่ว่าจะเป็นตระกูลปลาเกล็ดตั้งแต่ ปลากา ปลาตะโกก ปลาตะกาก สำหรับผม พวกนี้หน้าตาคล้ายตะเพียนไปหมด ยกเว้นแต่สีของเกล็ดกับรูปร่างความแป้น ความเรียวของมัน แม้แต่ปลาตะเพียนที่ผมเคยเห็นว่าส่วนใหญ่จะตัวแป้นๆ ที่นี่ก็ตัวเรียวกว่าที่ผมคุ้นเคย ส่วนปลาม้า ปลาช่อน พวกนี้กลายเป็นปลาตลาดๆ ที่ดูไม่น่าลิ้มลองเอาเสียเลย

 

ส่วนปลาตระกูลหนัง ไม่ต้องพูดถึงปลากด ปลาสวาย ปลาดุก ปลาเนื้ออ่อน ผมยังรู้จักปลาเค้าค่อนข้างดี เพราะเคยเห็นปลาเค้าตัวใหญ่ขนาดเต็มลำเรือมาแล้ว แต่ปลาที่ใกล้เคียงกันอย่าง ปลาลึง ปลากดครีบแดง ปลาเบี้ยว (คล้ายปลาเค้าแต่ปากล่างยื่นออกมามาก) และปลาสวายหนู (คล้ายสวาย แต่ตัวเรียวกว่าหน่อย ไขมันน้อยกว่า แน่นกว่า)

 

หรืออย่าง ปลาแดง (ที่เคยคิดว่าแค่เป็นอีกชื่อของปลาเนื้ออ่อน แต่จริงๆ แล้วมันหัวแดงและตัวใสกว่าปลาเนื้ออ่อน แถมตัวใหญ่กว่า) ที่เพิ่งเคยได้ยินจริงๆ และโชคดีที่ได้ชิทรส คือปลาน้ำเงิน หน้าตารูปร่างมันเหมือนปลาเนื้ออ่อน หนังมันเงางามสีเงินยวงเนื้อนุ่มอย่างปลาเนื้ออ่อน แต่ก็แน่นกว่าหน่อย

 

ชุมแสงมีทำเลที่เหมาะกับการกินปลา หาปลา เรียนรู้เรื่องปลามาก อำเภอนี้อยู่เหนือตัวเมืองนครสวรรค์ขึ้นไป ค่อนไปทางตะวันออก ตัวอำเภอตั้งอยู่ริมน้ำน่าน แต่ถิ่นที่ผมไปน่ะ ตั้งอยู่อยู่ระหว่างน้ำน่านและน้ำยม เกือบถึงพิจิตร มีเส้นทางต่อเนื่องไปถึงพิษณุโลกได้ น้ำเหล่านี้ส่วนหนึ่งไหลมาที่บึงบอระเพ็ด

 

ผมเข้าใจว่าทำเลแบบนี้นี่เองที่ทำให้กลายเป็นแหล่งที่ปลาหลากหลายชนิดมาอาศัยอยู่ แต่อีกส่วนหนึ่งคงเพราะการปิดกั้นเขื่อน ทำให้ปลาหลายชนิดที่อยู่ภาคกลางตอนบน ไม่ค่อยได้ลงไปถึงอยุธยาบ้านยายผม ผมก็เลยไม่รู้จักปลาพวกนี้เลย นอกจากนั้น ปลาพวกนี้คงมีธรรมชาติที่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำเชี่ยวไหลแรง ต่างกับแม่น้ำน้อยหน้าบ้านยายผม ที่ไหลเอื่อยๆ ผมก็เลยไม่ค่อยเจอปลาพวกนี้

 

ในสองวันกว่าที่ผ่านมา ผมก็เลยได้กินปลากลุ่มปลาหนังที่เอ่ยถึงมานั่นเกือบทั้งหมด ส่วนปลาเกล็ดหลายชนิดที่เอ่ยมาแทบจะยังไม่ได้กินเลย ยกเว้นปลาม้า ที่ได้กินตั้งแต่พักกลางวันที่สิงห์บุรีแล้ว กับปลากราย ที่มีมากและสดอร่อยเสียจนแทบจะอยู่ในทุกมื้ออาหาร

 

นอกจากชนิดปลาแล้ว ชาวชุมแสงยังเล่าถึงวิธีการดักปลาในฤดูน้ำหลาก ก็กำลังเริ่มช่วงเดือนนี้นั่นแหละ สำหรับผม ฤดูน้ำหลากที่บ้านยาย ก็คือมีปลามามาก บางจุดนี่ ปลาเยอะขนาดแค่เอากะละมังจ้วงลงไปในน้ำ ก็จะได้ปลาติดขึ้นมาแทบเต็มกะละมังเลยทีเดียว บางปียายผมก็เลยทำน้ำปลาเก็บไว้กินเอง

 

แต่ในฤดูน้ำปกติ แถวบ้านยายผมเขาจะ "ล้อมหญ้า" กัน คือเอาไม้ไผ่มากั้นคอกในแม่น้ำตรงริมตลิ่ง ขนาดสัก 1 งาน (100 ตารางวา) แล้วเอากอไม้ต่างๆ มาโยนลงไปในน้ำ สัก 4-5 เดือนต่อมา ก็ค่อยเอาตาข่ายมาล้อม เอากอไม้ออก แล้วคราวนี้ก็ช่วยกันจับปลาด้วยวิธีต่างๆ วิธีนี้จะได้ปลาเยอะมากพอที่จะขายคนได้หลายหมู่บ้านทีเดียว

 

แต่คนที่ชุมแสงเล่าถึงเทคนิคที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น แบบหนึ่งคือการขุด​ "บ่อล่อ" คือการใช้ที่ส่วนหนึ่งในนา ขุดบ่อขนาดสักหนึ่งงานหรือสองงาน ปล่อยไว้อย่างนั้น ไม่ต้องทำอะไร พอนำ้ลด ปลาที่ไม่ชอบน้ำนิ่งมันจะหนีตามน้ำไป แต่ปลาที่ชอบน้ำนิ่ง มันจะไม่ไปไหน ติดอยู่ในบ่อล่อนั้น นอกจากแทบไม่ต้องลงทุนอะไรมากแล้ว วิธีนี้ยังเก็บปลาไว้ได้เป็นปี ไม่ต้องรีบแปรรูปรีบขาย

 

อีกวิธีคือ "บ่อโจร" เขาจะเอาไหหรือโอ่งฝังใต้ดิน แล้วทำรางน้ำมายังโอ่งนั่น แล้วเอาน้ำใหม่ๆ โรยลงบนราง ปลามันจะชอบน้ำใหม่ มันก็จะว่ายเข้ามาตามราง แล้วเข้าไปในโอ่งนั่น เราก็จะจับปลาได้ วิธีนี้น่าจะชั่วคราว แต่ก็เป็นวิธีที่ไม่ต้องลงทุนใหม่มาก แค่ลงแรงกับดัดแปลงวัสดุที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น

 

ที่จริงหากจะจับปลาเก็บไว้ในหน้าน้ำน่ะ ชาวบ้านเขารู้ดีอยู่แล้ว เขามีวิธีจัดการที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตเขา เหมาะกับสภาพแวดล้อมเขา ส่วนพวกที่ไม่รู้จักฟังใคร แต่คิดว่าตัวเองรู้และคอยสั่งสอนชาวบ้านเขา แถมยังคอยหาเรื่องเสียเงินเสียทองไปได้เรื่อยๆ น่ะ คงไม่มีวันแก้ปัญหาชาวบ้านได้หรอก น่าสมเพชและน่าเสียใจที่ยังมีคนยกย่องคนพวกนี้อยู่อย่างไม่โงหัวสักที

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง