Skip to main content

อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้ 

เมืองลอไม่ค่อยมีใครรู้จัก คนรู้จักกันแต่เมืองแถง ทั้งๆ ที่ทั้งในตำนานและในการส่งผีขึ้นเมืองฟ้า เมืองลอนี่แหละที่เป็นเมืองต้นกำเนิดของชาวไต/ไทในความรับรู้ของพวกไทดำ ปัจจุบันเมืองลอตั้งอยู่ในจังหวัดเอียนบ๋าย เป็นเมืองสวยงาม น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่ในหุบเขาที่ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ ตำนานเมืองลอเป็นอย่างไร จะให้เล่าที่นี่ก็ยืดยาวเกินไป  

 

รูปอาวเบี๋ยนกับผมเมื่อ 15 ปีก่อน ถ่ายที่บ้านท่านที่เมืองลอ

 

การเดินทางไปเมืองลอ แม้ในปัจจุบัน ก็ต้องใช้เวลาเกินกว่า 4 ชั่วโมงอย่างแน่นอน เพราะเส้นทางขึ้นๆ ลงๆ บนเขา กว่าจะถึงเมืองลอ กว่าจะได้เจออาวเบี๋ยนก็เหนื่อยยาก ชีวิตความเป็นอยู่ท่านก็เรียบง่าย อยู่แบบชาวบ้าน เรือนชานก็แค่พอเหมาะพออยู่กันสองผัวเมีย ท่านอยู่กับอาปอง ส่วนใหญ่ก็อยู่กันแค่สองคน  

 

ที่เรียกอาวและอานั้น ก็ด้วยเหตุว่าครูของผมคืออาจารย์คำจองบอกให้เรียกอย่างนั้น เพราะตามธรรมเนียมไทดำ หากจะเรียกใคร หลักแรกๆ ก็นับตั้งต้นที่ตัวเราว่าสัมพันธ์กับเขาอย่างไร ครูผมนับเป็นอ้ายหรือเป็นพ่อของผม อาวเบี๋ยนแม้อายุเท่ากับครูผม ก็นับว่าเป็นน้องครูผมตามศักดิ์ของตระกูล ก็จึงนับเป็นอาวของผม  

 

คำว่าอาวนี่ก็เรียกตามคำของไทดำ ที่จะเรียกน้องผู้ชายของพ่อว่าอาว น้องผู้หญิงเรียกอา แต่นี่ก็ยังเป็นวิธีเรียกสำหรับคนที่ยังค่อนข้างห่างเหินกัน เพราะถ้าสนิทกันจริงๆ ก็จะเรียกตามชื่อลูกคนโต เช่น ครูผมชื่อก๊ำจ่อง คนไม่รู้จักกันก็เรียกตามชื่อตัวคือชื่อจ่อง มีคำนำหน้าตามสมควร แต่ถ้ารู้จักกันดี เขาจะรู้ว่าลูกคนโตชื่อเนม ก็จะต้องเรียก อาวเนม หรืออ้ายลุงเนม ซึ่งสำหรับคนอื่นฟังก็จะงงมาก

 

กลับมาที่อาวเบี๋ยน หลังๆ มาท่านเรียกตัวเองกับผมว่า อ้าย หมายถึงพ่อ ก็นับว่าสนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น เวลาเมาๆ ก็จะเรียกผมว่า สู ไม่ก็มึง แต่ถ้าอยู่ต่อหน้าคนมากๆ ท่านก็จะเปลี่ยนสรรพนามเป็นข้อยบ้าง อ้ายบ้าง แล้วแต่บริบท  

 

เวลาไปเจอท่านที่เมืองลอแต่ละที ผมก็ไปรบกวนท่านให้ท่านทำข้าวปลาอาหารและเหล้ายามาเลี้ยงดูกัน พวกเราก็ช่วยเงินท่านบ้างนั่นแหละ แต่แน่นอนว่าก็จะเป็นการรบกวนทั้งแรงกายและเวลาส่วนตัวของท่านกับอาปอง แต่เมื่อไหร่ที่ไปกัน ท่านก็จะระดมลูกหลานสะใภ้คนเล็กคนโต มาช่วยทำอาหาร นั่งกินอาหารเป็นเพื่อนอย่างสนุกสนาน กับเก็บล้าง เมื่อ 3 ปีก่อนนี้  

 

คราวที่ผมพาอาจารย์นิธิไปเที่ยวถิ่นนี้ ก็มีโอกาสได้พาอาจารย์นิธิไปเยี่ยมท่านด้วย ท่านก็ทำอาหารเลี้ยงดู ผมร่ำสุรากับครอบครัวท่านพอสมควรก็ต้องขอตัวกลับไปพัก ความหนักหนาของสุรากับวิธิีการดื่ม และความพื้นบ้านของอาหารการกิน ทำให้เมื่อผละออกมาจากวงเหล้าแล้ว อาจารย์นิธิเอ่ยปากกับผมทันทีว่า "โชคดีชิบหายที่ผมเลือกเรียนประวัติศาสตร์ ไม่ได้เลือกเรียนมานุษยวิทยา"  

 

เมื่อวาน (9 มีค. 62) เมื่อรู้ข่าวว่าท่านมาเยือนถิ่นไทดำถึงประเทศไทย ท่านไปร่วมงานเปิดศูนย์วัฒนธรรมไทดำแห่งใหม่ที่วัดไผ่คอกเนื้อ บางเลน นครปฐม ผมก็รีบชวนฆัสรา ที่เพิ่งกลับจากงานที่ไต้หวันมาหมาดๆ เดินทางไปพบท่านทันที ตามธรรมเนียม คนไทดำพบกันก็ต้องกินเหล้าเป็นการคารวะกัน แสดงความรักใคร่กัน เฉลิมฉลองการมีชีวิตอยู่จนได้มาดื่มเหล้าร่วมกันอีก (อันหลังนี่ผมเติมเอง)

 

เสียดายที่เมื่อวานไม่ได้ดื่มกินกันจนเมามาย ไม่ทันได้ถกเถียงกันดังแต่ก่อน เพราะต่างก็มีภารกิจรัดตัว เอาไว้การเดินทางรอบหน้าที่หากได้ไปพบท่านที่เรือนชานท่านอีก จะต้องดื่มกินอย่างเต็มที่เหมือนครั้งเมื่อสิบกว่าปีก่อนอีกอย่างแน่นอน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้