Skip to main content

อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้ 

เมืองลอไม่ค่อยมีใครรู้จัก คนรู้จักกันแต่เมืองแถง ทั้งๆ ที่ทั้งในตำนานและในการส่งผีขึ้นเมืองฟ้า เมืองลอนี่แหละที่เป็นเมืองต้นกำเนิดของชาวไต/ไทในความรับรู้ของพวกไทดำ ปัจจุบันเมืองลอตั้งอยู่ในจังหวัดเอียนบ๋าย เป็นเมืองสวยงาม น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ตั้งอยู่ในหุบเขาที่ไม่เล็ก ไม่ใหญ่ ตำนานเมืองลอเป็นอย่างไร จะให้เล่าที่นี่ก็ยืดยาวเกินไป  

 

รูปอาวเบี๋ยนกับผมเมื่อ 15 ปีก่อน ถ่ายที่บ้านท่านที่เมืองลอ

 

การเดินทางไปเมืองลอ แม้ในปัจจุบัน ก็ต้องใช้เวลาเกินกว่า 4 ชั่วโมงอย่างแน่นอน เพราะเส้นทางขึ้นๆ ลงๆ บนเขา กว่าจะถึงเมืองลอ กว่าจะได้เจออาวเบี๋ยนก็เหนื่อยยาก ชีวิตความเป็นอยู่ท่านก็เรียบง่าย อยู่แบบชาวบ้าน เรือนชานก็แค่พอเหมาะพออยู่กันสองผัวเมีย ท่านอยู่กับอาปอง ส่วนใหญ่ก็อยู่กันแค่สองคน  

 

ที่เรียกอาวและอานั้น ก็ด้วยเหตุว่าครูของผมคืออาจารย์คำจองบอกให้เรียกอย่างนั้น เพราะตามธรรมเนียมไทดำ หากจะเรียกใคร หลักแรกๆ ก็นับตั้งต้นที่ตัวเราว่าสัมพันธ์กับเขาอย่างไร ครูผมนับเป็นอ้ายหรือเป็นพ่อของผม อาวเบี๋ยนแม้อายุเท่ากับครูผม ก็นับว่าเป็นน้องครูผมตามศักดิ์ของตระกูล ก็จึงนับเป็นอาวของผม  

 

คำว่าอาวนี่ก็เรียกตามคำของไทดำ ที่จะเรียกน้องผู้ชายของพ่อว่าอาว น้องผู้หญิงเรียกอา แต่นี่ก็ยังเป็นวิธีเรียกสำหรับคนที่ยังค่อนข้างห่างเหินกัน เพราะถ้าสนิทกันจริงๆ ก็จะเรียกตามชื่อลูกคนโต เช่น ครูผมชื่อก๊ำจ่อง คนไม่รู้จักกันก็เรียกตามชื่อตัวคือชื่อจ่อง มีคำนำหน้าตามสมควร แต่ถ้ารู้จักกันดี เขาจะรู้ว่าลูกคนโตชื่อเนม ก็จะต้องเรียก อาวเนม หรืออ้ายลุงเนม ซึ่งสำหรับคนอื่นฟังก็จะงงมาก

 

กลับมาที่อาวเบี๋ยน หลังๆ มาท่านเรียกตัวเองกับผมว่า อ้าย หมายถึงพ่อ ก็นับว่าสนิทชิดเชื้อกันมากขึ้น เวลาเมาๆ ก็จะเรียกผมว่า สู ไม่ก็มึง แต่ถ้าอยู่ต่อหน้าคนมากๆ ท่านก็จะเปลี่ยนสรรพนามเป็นข้อยบ้าง อ้ายบ้าง แล้วแต่บริบท  

 

เวลาไปเจอท่านที่เมืองลอแต่ละที ผมก็ไปรบกวนท่านให้ท่านทำข้าวปลาอาหารและเหล้ายามาเลี้ยงดูกัน พวกเราก็ช่วยเงินท่านบ้างนั่นแหละ แต่แน่นอนว่าก็จะเป็นการรบกวนทั้งแรงกายและเวลาส่วนตัวของท่านกับอาปอง แต่เมื่อไหร่ที่ไปกัน ท่านก็จะระดมลูกหลานสะใภ้คนเล็กคนโต มาช่วยทำอาหาร นั่งกินอาหารเป็นเพื่อนอย่างสนุกสนาน กับเก็บล้าง เมื่อ 3 ปีก่อนนี้  

 

คราวที่ผมพาอาจารย์นิธิไปเที่ยวถิ่นนี้ ก็มีโอกาสได้พาอาจารย์นิธิไปเยี่ยมท่านด้วย ท่านก็ทำอาหารเลี้ยงดู ผมร่ำสุรากับครอบครัวท่านพอสมควรก็ต้องขอตัวกลับไปพัก ความหนักหนาของสุรากับวิธิีการดื่ม และความพื้นบ้านของอาหารการกิน ทำให้เมื่อผละออกมาจากวงเหล้าแล้ว อาจารย์นิธิเอ่ยปากกับผมทันทีว่า "โชคดีชิบหายที่ผมเลือกเรียนประวัติศาสตร์ ไม่ได้เลือกเรียนมานุษยวิทยา"  

 

เมื่อวาน (9 มีค. 62) เมื่อรู้ข่าวว่าท่านมาเยือนถิ่นไทดำถึงประเทศไทย ท่านไปร่วมงานเปิดศูนย์วัฒนธรรมไทดำแห่งใหม่ที่วัดไผ่คอกเนื้อ บางเลน นครปฐม ผมก็รีบชวนฆัสรา ที่เพิ่งกลับจากงานที่ไต้หวันมาหมาดๆ เดินทางไปพบท่านทันที ตามธรรมเนียม คนไทดำพบกันก็ต้องกินเหล้าเป็นการคารวะกัน แสดงความรักใคร่กัน เฉลิมฉลองการมีชีวิตอยู่จนได้มาดื่มเหล้าร่วมกันอีก (อันหลังนี่ผมเติมเอง)

 

เสียดายที่เมื่อวานไม่ได้ดื่มกินกันจนเมามาย ไม่ทันได้ถกเถียงกันดังแต่ก่อน เพราะต่างก็มีภารกิจรัดตัว เอาไว้การเดินทางรอบหน้าที่หากได้ไปพบท่านที่เรือนชานท่านอีก จะต้องดื่มกินอย่างเต็มที่เหมือนครั้งเมื่อสิบกว่าปีก่อนอีกอย่างแน่นอน

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน