Skip to main content

พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีอะไรที่คาดได้หลายอย่างก็จริง แต่ก็มีสิ่งเหนือความคาดหมายอยู่หลายเรื่องเช่นกัน
 
ที่คาดได้คือ เรารู้แน่อยู่แล้วว่าพรรคใหญ่ที่ครองเสียงภาคเหนือตอนบนและอีสาน ก็จะยังได้เสียงส่วนใหญ่จากที่นั่น เรารู้แน่อยู่แล้วว่าพรรคใหม่ที่มุ่งสืบอำนาจเผด็จการทหารจะได้เสียงไม่น้อย แต่ก็ไม่มีทางมากพอที่จะเป็นที่หนึ่ง พวกเราคาดเดากันอยู่แล้วว่า ภาคกลางและกรุงเทพฯ จะเป็นดินแดนที่มีการพลิกผันรวนเรที่สุด
 
แต่ที่เกินคาดคือ แม้แต่คนกรุงเทพฯ เองก็ยังเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยมากกว่าพรรคฝ่ายเผด็จการ เมื่อรวมกับกลุ่มคนหันหลังให้เผด็จการทหารทั่วประเทศ ก็มีคะแนนเสียงรวมกันมากกว่ากลุ่มคนที่แน่ชัดว่าสนับสนุนการสืบทอดของฝ่ายเผด็จการทหาร
 
ขอย้ำว่า แม้แต่คนกรุงเพทฯ ที่เคยสนับสนุนเผด็จการ เคยสนับสนุนพรรคการเมืองที่สนับสนุนเผด็จการ พวกเขาหลายคนทิ้งนกหวีดแล้วหันมาเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตย หาไม่แล้ว พรรคที่เคยสนับสนุนให้เผด็จการขึ้นสู่อำนาจก็จะไม่พ่ายแพ้ราบคาบราวแมลงเหม็นจนตรอกอย่างทุกวันนี้หรอก หาไม่แล้ว แม้พรรคที่พวกเขาเคยจงเกลียดจงชังอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็จะไม่ได้ที่นั่งถึง 1 ใน 3 ของ สส. เขตในกรุงเทพฯ หรอก หาไม่แล้วพรรคหน้าใหม่ก็จะไม่สามารถเบียดพรรคที่ระดมคนมาปูทางให้ทหารตกเวทีการเลือกตั้งกรุงเทพฯ ไปอย่างไร้เงาได้หรอก
 
ความคาดไม่ถึงที่เกี่ยวพันกันต่อมาคือ แม้ว่าหลายคนจะอยากให้เป็นเช่นนั้น แต่คนที่แอบคิดแบบนั้น ก็แทบไม่เชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น คือการที่อดีต สส. ผู้แก่กล้าของพรรคที่สนับสนุนเผด็จการขึ้นสู่อำนาจน่ะ พ่ายแพ้ราบคาบในหลายเขตที่แม้จะเป็นเขต "ของตาย" หรือเขต “เอาเสาไฟฟ้ามาลงก็ยังได้รับเลือก” ก็ตาม สิ่งนี้เกิเขึ้นกระทั่งในถิ่นของพรรคนี้เอง
 
เหนืออื่นใดคือความคาดไม่ถึงที่มีต่อความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ ผมมั่นใจว่าผมพูดไม่ผิดนักหากจะบอกว่า แม้แต่คนในพรรคอนาคตใหม่เองก็คาดไม่ถึงหรอกว่าพวกเขาจะมาได้ไกลถึงเพียงนี้ ไกลขนาดโค่น สส. เขตที่ลงหลักปักฐานในหลายๆ ที่อย่างถล่มทลาย ไกลขนาดที่ สส. เขตจำนวนมากคือคนหน้าใหม่ในแวดวงการเมืองระดับประเทศ ไกลขนาดที่ การจะดิสเครดิตพรรคนี้ได้ ไม่ใช่ด้วยข้อหาเก่าๆ คือ "การซื้อเสียง" อีกต่อไป แต่ต้องใช้กลไกพิศดารทางกฎหมายมากมายเพื่อทำลายล้างกัน
 
แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ไม่อยากพูดว่าพรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง จริงอยู่ว่าพวกเขาทุ่มเทอย่างยิ่ง พวกเขายึดมั่นในหลักการอย่างแน่วแน่ พวกเขาเต็มไปด้วยพลังของคนหนุ่มสาว พวกเขามีข้อเสนอหลายอย่างที่ค่อนข้างหนักแน่น พวกเขาวางแผนหลายด้านอย่างรัดกุม แต่ผมก็ยังเห็นว่า นั่นเป็นเพียงด้านเดียวของความสำเร็จของพวกเขา
 
ที่ว่าอย่างนั้นก็เพราะว่า พรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นมาในจังหวะทางการเมืองที่สอดรับกับพวกเขาอย่างยิ่งหลายประการด้วยกัน เป็นช่วงจังหวะที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพของการเมืองไทยอีกก้าวหนึ่ง
 
หลังการรอคอยอย่างอดทนที่จะให้เผด็จการทหารพิสูจน์ตนเองมานานเกือบ 5 ปี ผู้คนจำนวนมากสังเกตเห็นได้แล้วว่า เผด็จการทหารไม่ใช่คำตอบต่ออนาคตต่อไปของพวกเขาอีกแล้ว ความกลัวต่อ "ผีทักษิณ" ของผู้คนเหล่านี้จำนวมหาศาลเบาบางลง หรือไม่ก็ เมื่อคิดคำนวณแล้วดูจะน้อยลงกว่าความเบื่อหน่ายต่อความกักขฬะและไร้น้ำยาของพวกเผด็จการทหารเต็มทีแล้ว เวลาของเผด็จการหมดลงแล้ว อย่างน้อยก็ในระยะสั้นนี้
 
พูดอีกอย่างคือ อำนาจเผด็จการเกือบ 5 ปีนั่นแหละ ที่สร้างการตัดสินใจแบบใหม่ให้กับคนที่เคยสนับสนุนเผด็จการ หลายคน "ตาสว่าง" หรืออย่างน้อยก็ "เบื่อหน่ายทหาร" มากขึ้น
 
ประการต่อมา เห็นได้ชัดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ได้สร้าง "ช่องว่างระหว่างวัย" ขึ้นทั่วไปในหลายพื้นที่ทางสังคม ความแตกต่างของการตัดสินใจทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นระหว่างรุ่นในระดับครัวเรือน คนในครอบครัวเดียวกันจำนวนมากลงคะแนนด้วยฐานความคิดที่แตกต่างกัน คนรุ่นใหม่ Gen Y ที่เพิ่งเลือกตั้งครั้งแรกจำนวนมาก เลือกพรรคใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลือกที่ชัดเจนในนั้นก็คือพรรคอนาคตใหม่ ผมเดาว่า ไม่น้อยกว่า 70% ของคนที่เพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก เลือกพรรคอนาคตใหม่
 
แน่นอนว่าข้อสรุปนี้มีข้อยกเว้นมากมาย แต่พูดได้ว่า การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งสำคัญของประเทศไทย
 
ความเปลี่ยนแปลงนี้ยังสะท้อนวิธีคิดเรื่องการเลือกตั้ง ว่าเป็นการเลือกโดยดูจากนโยบาย อุดมการณ์ของพรรคการเมือง มากกว่าสายสัมพันธ์และตัวบุคคล สำหรับผู้ลงคะแนนจำนวนมาก ดังมีพรรคอนาคตใหม่เป็นตัวอย่างสำคัญ ผู้สมัคร สส. เขตมีความสำคัญน้อยกว่าพรรคการเมือง หากมีการเลือกในระบบปาร์ตี้ลิสต์แบบเดิม เชื่อได้ว่า พรรคที่วาดหวังจะสนับสนุนเผด็จการกลับมา จะยิ่งพ่ายแพ้กว่านี้อย่างมากมาย
 
การเลือกพรรคการเมืองสะท้อนคุณภาพการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างยิ่ง ขณะที่ สส. เขตสะท้อนความนิยม และอาจจะรวมทั้งสายสัมพันธ์ใต้ระบบอุปถัมภ์ในระดับท้องถิ่น ที่สั่งสมขึ้นมาจากอำนาจบารมีด้วยทุนทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น หากแต่การเลือกพรรคการเมืองโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้สมัคร สส. เขต และการลงคะแนนเพื่อหวังจะให้เสียงของตนได้ถูกนับในการสนับสนุนพรรคการเมืองเพื่อให้มี สส. ปาร์ตี้ลิสต์นั้น คือการเลือกที่ปลอดจากสายสัมพันธ์ส่วนตัวโดยสิ้นเชิง เป็นการเลือกเพื่อหวังผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศโดยแท้จริง
 
ประการต่อมา การที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับความนิยมสูงนั้น ส่วนสำคัญอย่างยิ่งคือการที่พวกเขาเป็นคนหน้าใหม่ในการเมือง เป็นคนรุ่นใหม่ในการเมืองไทย พวกเขาส่วนใหญ่ยังไม่มีประวัติในการเมือง ส่วนใหญ่ยังไร้ที่ติติง เป็นกลุ่มที่สมัยก่อนเราเรียกว่า "เลือดใหม่" ไม่ใช่ "น้ำเน่า" ทางการเมือง นี่สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยปัจจุบันต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงจากระบอบน้ำเน่าทางการเมืองอย่างก้าวกระโดด
 
การหลุดจากระบอบอุปถัมภ์ การเลือกผู้แทนหน้าใหม่ การเลือกพรรคเลือกนโบายมากกว่าตัวบุคคล การที่คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขันทั้งในฐานะผู้สมัคร สส. และผู้ออกเสียงเลือกตั้ง การตัดสินอนาคตอย่างสันติด้วยการเลือกตั้ง เหล่านี้คือภาวะทางการเมืองแบบใหม่ของไทยที่ก้าวหน้าขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หรือที่เราอยากให้เกิดขึ้นในหน้าใหม่ของการเมืองไทย
 
หากกล่าวเฉพาะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหน้าใหม่ ในบริบทโลกาภิวัตน์ขณะนี้ คนรุ่นใหม่จำนวนมากมีความใฝ่ฝันและมีศักยภาพจริงที่จะย้ายครอบครัวไปทำมาหากินในต่างประเทศ คนรุ่นใหม่ที่ผมรู้จักจำนวนมากเริ่มคิดว่าตนเองไม่ได้เป็นประชากรของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น พวกเขายังคิดว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก การที่พวกเขาหันมาใส่ใจการเมืองไทย ไม่เพียงลบคำสบประมาทที่พวกคนเฒ่ามีต่อพวกเขาว่าเฉื่อยชาทางการเมืองและไม่สนใจชีวิตของสังคมดิจิทัลออนไลน์ แต่ยังชี้ว่าพวกเขายังมีความหวังต่อประเทศนี้ พวกเขายังรักประเทศนี้ไม่น้อยกว่าคนเฒ่าคนแก่
 
หากเกิดภาวะล้มเหลวของการเมืองในประเทศ จากการทุบทำลายความหวังของคนเฒ่าคนแก่ ของคนที่ต้องการสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร หากพวกคุณที่ต้องการสืบทอดอำนาจทุบทำลายการเมืองที่ก้าวหน้าซึ่งกำลังเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย ทั้งประชาชนที่อยากเห็นความก้าวหน้าและคนรุ่นใหม่ที่รักประเทศชาติ รักอนาคตตนเอง พวกเขาอาจจะยิ่งสิ้นหวัง แล้วเลือกละทิ้งประเทศนี้ไปมากขึ้นเรื่อยๆ
 
ยอมรับเสียเถอะว่า คนที่ยังยินดีให้เผด็จการกลับมาปกครองน่ะ เหลือน้อยลงเต็มทีแล้ว การดื้อด้านคงความเชื่อของพวกคุณอยู่น่ะ มีแต่จะทำร้ายประเทศไทยที่คนอื่นๆ เขาก็รักไม่น้อยไปกว่าพวกคุณ หยุดทำร้ายประเทศด้วยการพยายามผูกขาดอำนาจได้แล้ว

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้