Skip to main content

พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีอะไรที่คาดได้หลายอย่างก็จริง แต่ก็มีสิ่งเหนือความคาดหมายอยู่หลายเรื่องเช่นกัน
 
ที่คาดได้คือ เรารู้แน่อยู่แล้วว่าพรรคใหญ่ที่ครองเสียงภาคเหนือตอนบนและอีสาน ก็จะยังได้เสียงส่วนใหญ่จากที่นั่น เรารู้แน่อยู่แล้วว่าพรรคใหม่ที่มุ่งสืบอำนาจเผด็จการทหารจะได้เสียงไม่น้อย แต่ก็ไม่มีทางมากพอที่จะเป็นที่หนึ่ง พวกเราคาดเดากันอยู่แล้วว่า ภาคกลางและกรุงเทพฯ จะเป็นดินแดนที่มีการพลิกผันรวนเรที่สุด
 
แต่ที่เกินคาดคือ แม้แต่คนกรุงเทพฯ เองก็ยังเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยมากกว่าพรรคฝ่ายเผด็จการ เมื่อรวมกับกลุ่มคนหันหลังให้เผด็จการทหารทั่วประเทศ ก็มีคะแนนเสียงรวมกันมากกว่ากลุ่มคนที่แน่ชัดว่าสนับสนุนการสืบทอดของฝ่ายเผด็จการทหาร
 
ขอย้ำว่า แม้แต่คนกรุงเพทฯ ที่เคยสนับสนุนเผด็จการ เคยสนับสนุนพรรคการเมืองที่สนับสนุนเผด็จการ พวกเขาหลายคนทิ้งนกหวีดแล้วหันมาเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตย หาไม่แล้ว พรรคที่เคยสนับสนุนให้เผด็จการขึ้นสู่อำนาจก็จะไม่พ่ายแพ้ราบคาบราวแมลงเหม็นจนตรอกอย่างทุกวันนี้หรอก หาไม่แล้ว แม้พรรคที่พวกเขาเคยจงเกลียดจงชังอย่างเอาเป็นเอาตาย ก็จะไม่ได้ที่นั่งถึง 1 ใน 3 ของ สส. เขตในกรุงเทพฯ หรอก หาไม่แล้วพรรคหน้าใหม่ก็จะไม่สามารถเบียดพรรคที่ระดมคนมาปูทางให้ทหารตกเวทีการเลือกตั้งกรุงเทพฯ ไปอย่างไร้เงาได้หรอก
 
ความคาดไม่ถึงที่เกี่ยวพันกันต่อมาคือ แม้ว่าหลายคนจะอยากให้เป็นเช่นนั้น แต่คนที่แอบคิดแบบนั้น ก็แทบไม่เชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น คือการที่อดีต สส. ผู้แก่กล้าของพรรคที่สนับสนุนเผด็จการขึ้นสู่อำนาจน่ะ พ่ายแพ้ราบคาบในหลายเขตที่แม้จะเป็นเขต "ของตาย" หรือเขต “เอาเสาไฟฟ้ามาลงก็ยังได้รับเลือก” ก็ตาม สิ่งนี้เกิเขึ้นกระทั่งในถิ่นของพรรคนี้เอง
 
เหนืออื่นใดคือความคาดไม่ถึงที่มีต่อความสำเร็จของพรรคอนาคตใหม่ ผมมั่นใจว่าผมพูดไม่ผิดนักหากจะบอกว่า แม้แต่คนในพรรคอนาคตใหม่เองก็คาดไม่ถึงหรอกว่าพวกเขาจะมาได้ไกลถึงเพียงนี้ ไกลขนาดโค่น สส. เขตที่ลงหลักปักฐานในหลายๆ ที่อย่างถล่มทลาย ไกลขนาดที่ สส. เขตจำนวนมากคือคนหน้าใหม่ในแวดวงการเมืองระดับประเทศ ไกลขนาดที่ การจะดิสเครดิตพรรคนี้ได้ ไม่ใช่ด้วยข้อหาเก่าๆ คือ "การซื้อเสียง" อีกต่อไป แต่ต้องใช้กลไกพิศดารทางกฎหมายมากมายเพื่อทำลายล้างกัน
 
แต่ถึงอย่างนั้น ผมก็ไม่อยากพูดว่าพรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง จริงอยู่ว่าพวกเขาทุ่มเทอย่างยิ่ง พวกเขายึดมั่นในหลักการอย่างแน่วแน่ พวกเขาเต็มไปด้วยพลังของคนหนุ่มสาว พวกเขามีข้อเสนอหลายอย่างที่ค่อนข้างหนักแน่น พวกเขาวางแผนหลายด้านอย่างรัดกุม แต่ผมก็ยังเห็นว่า นั่นเป็นเพียงด้านเดียวของความสำเร็จของพวกเขา
 
ที่ว่าอย่างนั้นก็เพราะว่า พรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นมาในจังหวะทางการเมืองที่สอดรับกับพวกเขาอย่างยิ่งหลายประการด้วยกัน เป็นช่วงจังหวะที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพของการเมืองไทยอีกก้าวหนึ่ง
 
หลังการรอคอยอย่างอดทนที่จะให้เผด็จการทหารพิสูจน์ตนเองมานานเกือบ 5 ปี ผู้คนจำนวนมากสังเกตเห็นได้แล้วว่า เผด็จการทหารไม่ใช่คำตอบต่ออนาคตต่อไปของพวกเขาอีกแล้ว ความกลัวต่อ "ผีทักษิณ" ของผู้คนเหล่านี้จำนวมหาศาลเบาบางลง หรือไม่ก็ เมื่อคิดคำนวณแล้วดูจะน้อยลงกว่าความเบื่อหน่ายต่อความกักขฬะและไร้น้ำยาของพวกเผด็จการทหารเต็มทีแล้ว เวลาของเผด็จการหมดลงแล้ว อย่างน้อยก็ในระยะสั้นนี้
 
พูดอีกอย่างคือ อำนาจเผด็จการเกือบ 5 ปีนั่นแหละ ที่สร้างการตัดสินใจแบบใหม่ให้กับคนที่เคยสนับสนุนเผด็จการ หลายคน "ตาสว่าง" หรืออย่างน้อยก็ "เบื่อหน่ายทหาร" มากขึ้น
 
ประการต่อมา เห็นได้ชัดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ได้สร้าง "ช่องว่างระหว่างวัย" ขึ้นทั่วไปในหลายพื้นที่ทางสังคม ความแตกต่างของการตัดสินใจทางการเมืองนั้นเกิดขึ้นระหว่างรุ่นในระดับครัวเรือน คนในครอบครัวเดียวกันจำนวนมากลงคะแนนด้วยฐานความคิดที่แตกต่างกัน คนรุ่นใหม่ Gen Y ที่เพิ่งเลือกตั้งครั้งแรกจำนวนมาก เลือกพรรคใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าตัวเลือกที่ชัดเจนในนั้นก็คือพรรคอนาคตใหม่ ผมเดาว่า ไม่น้อยกว่า 70% ของคนที่เพิ่งมีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก เลือกพรรคอนาคตใหม่
 
แน่นอนว่าข้อสรุปนี้มีข้อยกเว้นมากมาย แต่พูดได้ว่า การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งสำคัญของประเทศไทย
 
ความเปลี่ยนแปลงนี้ยังสะท้อนวิธีคิดเรื่องการเลือกตั้ง ว่าเป็นการเลือกโดยดูจากนโยบาย อุดมการณ์ของพรรคการเมือง มากกว่าสายสัมพันธ์และตัวบุคคล สำหรับผู้ลงคะแนนจำนวนมาก ดังมีพรรคอนาคตใหม่เป็นตัวอย่างสำคัญ ผู้สมัคร สส. เขตมีความสำคัญน้อยกว่าพรรคการเมือง หากมีการเลือกในระบบปาร์ตี้ลิสต์แบบเดิม เชื่อได้ว่า พรรคที่วาดหวังจะสนับสนุนเผด็จการกลับมา จะยิ่งพ่ายแพ้กว่านี้อย่างมากมาย
 
การเลือกพรรคการเมืองสะท้อนคุณภาพการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างยิ่ง ขณะที่ สส. เขตสะท้อนความนิยม และอาจจะรวมทั้งสายสัมพันธ์ใต้ระบบอุปถัมภ์ในระดับท้องถิ่น ที่สั่งสมขึ้นมาจากอำนาจบารมีด้วยทุนทางสังคมและเศรษฐกิจของผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น หากแต่การเลือกพรรคการเมืองโดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้สมัคร สส. เขต และการลงคะแนนเพื่อหวังจะให้เสียงของตนได้ถูกนับในการสนับสนุนพรรคการเมืองเพื่อให้มี สส. ปาร์ตี้ลิสต์นั้น คือการเลือกที่ปลอดจากสายสัมพันธ์ส่วนตัวโดยสิ้นเชิง เป็นการเลือกเพื่อหวังผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับประเทศโดยแท้จริง
 
ประการต่อมา การที่พรรคอนาคตใหม่ได้รับความนิยมสูงนั้น ส่วนสำคัญอย่างยิ่งคือการที่พวกเขาเป็นคนหน้าใหม่ในการเมือง เป็นคนรุ่นใหม่ในการเมืองไทย พวกเขาส่วนใหญ่ยังไม่มีประวัติในการเมือง ส่วนใหญ่ยังไร้ที่ติติง เป็นกลุ่มที่สมัยก่อนเราเรียกว่า "เลือดใหม่" ไม่ใช่ "น้ำเน่า" ทางการเมือง นี่สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยปัจจุบันต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงจากระบอบน้ำเน่าทางการเมืองอย่างก้าวกระโดด
 
การหลุดจากระบอบอุปถัมภ์ การเลือกผู้แทนหน้าใหม่ การเลือกพรรคเลือกนโบายมากกว่าตัวบุคคล การที่คนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแข็งขันทั้งในฐานะผู้สมัคร สส. และผู้ออกเสียงเลือกตั้ง การตัดสินอนาคตอย่างสันติด้วยการเลือกตั้ง เหล่านี้คือภาวะทางการเมืองแบบใหม่ของไทยที่ก้าวหน้าขึ้น สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หรือที่เราอยากให้เกิดขึ้นในหน้าใหม่ของการเมืองไทย
 
หากกล่าวเฉพาะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหน้าใหม่ ในบริบทโลกาภิวัตน์ขณะนี้ คนรุ่นใหม่จำนวนมากมีความใฝ่ฝันและมีศักยภาพจริงที่จะย้ายครอบครัวไปทำมาหากินในต่างประเทศ คนรุ่นใหม่ที่ผมรู้จักจำนวนมากเริ่มคิดว่าตนเองไม่ได้เป็นประชากรของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น พวกเขายังคิดว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก การที่พวกเขาหันมาใส่ใจการเมืองไทย ไม่เพียงลบคำสบประมาทที่พวกคนเฒ่ามีต่อพวกเขาว่าเฉื่อยชาทางการเมืองและไม่สนใจชีวิตของสังคมดิจิทัลออนไลน์ แต่ยังชี้ว่าพวกเขายังมีความหวังต่อประเทศนี้ พวกเขายังรักประเทศนี้ไม่น้อยกว่าคนเฒ่าคนแก่
 
หากเกิดภาวะล้มเหลวของการเมืองในประเทศ จากการทุบทำลายความหวังของคนเฒ่าคนแก่ ของคนที่ต้องการสืบทอดอำนาจเผด็จการทหาร หากพวกคุณที่ต้องการสืบทอดอำนาจทุบทำลายการเมืองที่ก้าวหน้าซึ่งกำลังเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย ทั้งประชาชนที่อยากเห็นความก้าวหน้าและคนรุ่นใหม่ที่รักประเทศชาติ รักอนาคตตนเอง พวกเขาอาจจะยิ่งสิ้นหวัง แล้วเลือกละทิ้งประเทศนี้ไปมากขึ้นเรื่อยๆ
 
ยอมรับเสียเถอะว่า คนที่ยังยินดีให้เผด็จการกลับมาปกครองน่ะ เหลือน้อยลงเต็มทีแล้ว การดื้อด้านคงความเชื่อของพวกคุณอยู่น่ะ มีแต่จะทำร้ายประเทศไทยที่คนอื่นๆ เขาก็รักไม่น้อยไปกว่าพวกคุณ หยุดทำร้ายประเทศด้วยการพยายามผูกขาดอำนาจได้แล้ว

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์