Skip to main content

จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง

1. ทหารชั้นผู้ใหญ่หาผลประโยชน์จากทหารชั้นผู้น้อย ข่าวความคับแค้นใจจากการถูกนายทหารชั้นผู้ใหญ่และญาตินายทหารชั้นผู้ใหญ่โกง ข่าวความไม่โปร่งใสของการทำธุรกิจที่ดินระหว่างทหารชั้นผู้ใหญ่กับทหารชั้นผู้น้อย แสดงถึงประโยชน์ทับซ้อน การหาผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมในกองทัพ การฉ้อฉลในกองทัพ ทั้งหมดนี้รอการตรวจสอบต่อไป แต่นี่เป็นเพียงเหตุเฉพาะหน้าของเหตุการณ์ เหตุซึ่งใหญ่กว่านั้นในระดับโครงสร้างคือการหละหลวมของระบบ และความล้าหลังของบุคลากรและองค์กรกองทัพไทย ที่เราก็ได้เห็นจากเหตุการณ์นี้เช่นกัน

2. ทหารชั้นผู้น้อยไม่มีวินัย ควบคุมตนเองไม่ได้ ความไร้วินัยของทหารบางคน ไม่ได้แสดงถึงแค่ระดับปัจเจก แต่แสดงถึงการที่กองทัพไม่รู้จักวิธีควบคุมกำลังคนที่ถืออาวุธ การสร้างวินัยไม่ใช่แค่การควบคุมท่าทางในการนั่ง ยืน เดิน ตามที่เป็นข่าวแล้วกองทัพก็รีบออกมาปฏิเสธ นั่นไม่ใช่สาระของวินัยทหาร แต่ยังต้องมีเป็นการดูแลสภาพจิตใจ ตรวจสอบลักษณะนิสัย การฝึกฝนให้เคารพหน้าที่ เคร่งครัดกับระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครก็ตามที่เข้าถึงอาวุธสงครามร้ายแรงได้ ยิ่งต้องมีการตรวจสอบควบคุมอย่างใกล้ชิด การปล่อยให้คนมีลักษณะนิยมความรุนแรงเป็นพื้นฐาน สามารถเข้าถึงอาวุธสงครามร้ายแรงได้ ทำให้น่าสงสัยว่าทหารไทยคิดถึงระเบียบวินัยแบบไหนกัน

3. ทหารทั้งค่ายทหารไม่สามารถป้องกันตนเองได้ เรื่องน่าวิตกกังวลแก่ทั้งสังคมคือ ศักยภาพในการป้องกันตนเองของทหาร โดยเฉพาะทหารที่ดูแลคลังอาวุธสงคราม และการคุ้มครองประชาชน การที่คนเพียงคนเดียว แม้จะมีอาวุธแต่ในระหว่างที่เขาเข้าไปชิงอาวุธนั้น เขาน่าจะยังไม่ได้ใช้อาวุธสงครามร้ายแรง แต่เพียงเท่านั้นก็ยังสามารถเข้าถึงคลังอาวุธและนำอาวุธพร้อมขับรถทหารออกมาตามลำพังได้ นี่ย่อมทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจว่าทหารจะสามารถทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนได้หรือไม่ เพราะขนาดทหารเองยังคุ้มครองตนเองไม่ได้เลย

4. ทหารทั้งค่ายทหารไม่สามารถป้องกันการก่อการร้ายทั้งในค่ายและที่จะเกิดต่อเนื่องในสังคมวงกว้างได้ หลังจากคนร้ายได้อาวุธร้ายแรงไปแล้ว ค่ายทหารทั้งค่ายก็ปล่อยให้เขาหลุดรอดจนออกไปก่อเหตุได้ นี่แสดงถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเหตุร้ายที่กำลังจะขยายตัวออกไป ประชาชนยังสงสัยอีกด้วยว่าค่ายทหารมีการซ้อมการป้องกันภัยอย่างไรหรือไม่ มีขั้นตอนที่เป็นระเบียบปฏิบัติอย่างไร หากทหารทั้งค่ายไม่มีกลไกในการป้องกันการก่อการร้าย ไม่สามารถสกัดกั้นเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นได้ แล้วทหารจะปกป้องประชาชนได้อย่างไร นี่ยังไม่นับว่าจะไปรบทัพจับศึกกับใครเขาได้ 

5. ทหารชั้นผู้ใหญ่ไม่มีวุฒิภาวะในภาวะความสูญเสีย ในภาวะของความสูญเสีย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นเสียเลยจนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นถึงระดับผู้นำกองทัพจะไม่เคยมีประสบการณ์ แต่ประสบการณ์อาจจะไม่ได้สอนคนคนนั้นเลยหากเขาไม่มีพื้นฐานจิตใจที่ดีงามต่อประชาชนอย่างแท้จริง หากเขายังคงมองประชาชนว่าเป็นคนอยู่ใต้การปกครอง ใต้การบังคับบัญชาของเขาเท่านั้น ข้อนี้จึงน่ากังวลว่า หากกองทัพไทยยังคงอบรบสั่งสอนให้บุคลากรมีนิสัยกักขฬะต่อประชาชนเช่นนี้ หากกองทัพยังคงยอมรับและปล่อยให้คนแบบนี้มาเป็นผู้นำเรื่อยๆ จะเป็นกองทัพที่รับใช้ ดูแลทุกข์สุข เห็นใจประชาชนได้อย่างไร

6. ทหารชั้นผู้ใหญ่ไม่รู้จักสำนึกผิด ความยอมรับผิดต่อหน้าที่ต่อความรับผิดชอบมีย่อมมากขึ้นตามอำนาจที่มี ยิ่งอำนาจมากยิ่งต้องมีความรับผิดอบมากและยิ่งต้องมีสำนึกต่อความรับผิดมาก แต่ทหารชั้นผู้ใหญ่ไทยกลับเป็นตรงกันข้าม ยิ่งผิดมากยิ่งแก้ตัวมาก ยิ่งปัดความรับผิดชอบมาก ยิ่งไม่แยแสมาก ในเหตุการณ์นี้ เห็นได้ชัดว่าทหารชั้นผู้ใหญ่ปัดความรับผิดชอบให้ทหารชั้นผู้น้อยที่ก่อความผิด ทหารชั้นผู้ใหญ่ไม่รู้จักยอมรับความบกพร่องของการรักษาความปลอดภัยในค่ายทหารเอง ประชาชนย่อมสงสัยว่าพวกเขาห่วงการมีอยู่ของฐานะ ตำแหน่ง รายได้ หน้าตา ของตนเอง มากกว่าการมีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของประชาชนหรือไม่

7. ทหารทั้งกองทัพไร้ธรรมาภิบาล ทหารทั้งกองทัพชอบแก้ตัวให้แก่กันมากกว่าทบทวนตรวจสอบปัญหา เมื่อเกิดปัญหาแล้ว แทนที่จะตั้งกรรมการตรวจสอบ ทบทวนตนเอง ทบทวนความบกพร่อม ไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อปรับปรุง กองทัพไทยกลับมีแต่กลไกการแก้ตัว หน่วยงานประชาสัมพันธ์มีหน้าที่แก้ต่างให้กับความผิดของทหารชั้นผู้ใหญ่ แก้ต่างให้กับความด้อยประสิทธิภาพของกองทัพ แก้ปัญหาด้วยปากมากกว่าการสร้างระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ การตรวจสอบจะต้องมาจากภายนอก หรือมีคนจากภายนอกมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความผิดพลาด ไม่ใช่เหตุเกิดยังไม่ทันข้ามวัน ก็แก้ตัวแล้วว่าไม่มีข้อผิดพลาด ไม่มีความบกพร่อง หรืออ้างกระทั่งว่าตรวจสอบแล้วไม่พบความบกพร่อง 

ทั้งหมดนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการปฏิรูปกองทัพใดๆ เลย แค่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ แค่เป็นทหารที่ควรจะเป็น แค่ทำหน้าที่ตนเองให้ดี ทหารไทยทุกระดับยังแสดงให้เห็นไม่ได้เลยว่ามีความสามารถทำได้ แล้วประชาชนจะเชื่อมั่นในคำพูดว่าจะปกป้องคุ้มครองประชาชน จะป้องกันประเทศชาติได้อย่างไร มิพักต้องเอ่ยถึงว่า ที่ทุกวันนี้กองทัพไทยเข้ามายุ่มย่ามกับการบริหารประเทศ คือทำเกินหน้าที่ของตนเองนั้น จะทำให้ดีได้อย่างไร เพราะแม้แต่หน้าที่ของตนเองยังทำให้ดีไม่ได้เลย

#ทหารมีไว้ทำไม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ผมไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมหรอก เพราะนวัตกรรมเป็นคำเชิงบวก แต่ผมเรียกว่าเป็นนวัตหายนะ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งกลับจากชิคาโก เดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์กับแขกผู้ใหญ่จากเมืองไทย ท่านมีหน้าที่จัดการด้านพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เลยพลอยได้เห็นพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของคนจัดพิพิธภัณฑ์ คือเกินเลยไปจากการอ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอากระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อะไรมากนักหรอก แค่ติดตามเขาไปแล้วก็เรียนรู้เท่าที่จะได้มามากบ้างน้อยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (12 ธค. 2557) ปิดภาคการศึกษาแล้ว เหลือรออ่านบทนิพนธ์ทางมานุษยวิทยาภาษาของนักศึกษา ที่ผมให้ทำแทนการสอบปลายภาค เมื่อเหลือเวลาอีก 15 นาทีสุดท้าย ตามธรรมเนียมส่วนตัวของผมแล้ว ในวันปิดสุดท้ายของการเรียน ผมมักถามนักศึกษาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้เคยเรียนมาก่อนจากวิชานี้บ้าง นักศึกษาทั้ง 10 คนมีคำตอบต่างๆ กันดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด