Skip to main content

จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง

1. ทหารชั้นผู้ใหญ่หาผลประโยชน์จากทหารชั้นผู้น้อย ข่าวความคับแค้นใจจากการถูกนายทหารชั้นผู้ใหญ่และญาตินายทหารชั้นผู้ใหญ่โกง ข่าวความไม่โปร่งใสของการทำธุรกิจที่ดินระหว่างทหารชั้นผู้ใหญ่กับทหารชั้นผู้น้อย แสดงถึงประโยชน์ทับซ้อน การหาผลประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรมในกองทัพ การฉ้อฉลในกองทัพ ทั้งหมดนี้รอการตรวจสอบต่อไป แต่นี่เป็นเพียงเหตุเฉพาะหน้าของเหตุการณ์ เหตุซึ่งใหญ่กว่านั้นในระดับโครงสร้างคือการหละหลวมของระบบ และความล้าหลังของบุคลากรและองค์กรกองทัพไทย ที่เราก็ได้เห็นจากเหตุการณ์นี้เช่นกัน

2. ทหารชั้นผู้น้อยไม่มีวินัย ควบคุมตนเองไม่ได้ ความไร้วินัยของทหารบางคน ไม่ได้แสดงถึงแค่ระดับปัจเจก แต่แสดงถึงการที่กองทัพไม่รู้จักวิธีควบคุมกำลังคนที่ถืออาวุธ การสร้างวินัยไม่ใช่แค่การควบคุมท่าทางในการนั่ง ยืน เดิน ตามที่เป็นข่าวแล้วกองทัพก็รีบออกมาปฏิเสธ นั่นไม่ใช่สาระของวินัยทหาร แต่ยังต้องมีเป็นการดูแลสภาพจิตใจ ตรวจสอบลักษณะนิสัย การฝึกฝนให้เคารพหน้าที่ เคร่งครัดกับระเบียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใครก็ตามที่เข้าถึงอาวุธสงครามร้ายแรงได้ ยิ่งต้องมีการตรวจสอบควบคุมอย่างใกล้ชิด การปล่อยให้คนมีลักษณะนิยมความรุนแรงเป็นพื้นฐาน สามารถเข้าถึงอาวุธสงครามร้ายแรงได้ ทำให้น่าสงสัยว่าทหารไทยคิดถึงระเบียบวินัยแบบไหนกัน

3. ทหารทั้งค่ายทหารไม่สามารถป้องกันตนเองได้ เรื่องน่าวิตกกังวลแก่ทั้งสังคมคือ ศักยภาพในการป้องกันตนเองของทหาร โดยเฉพาะทหารที่ดูแลคลังอาวุธสงคราม และการคุ้มครองประชาชน การที่คนเพียงคนเดียว แม้จะมีอาวุธแต่ในระหว่างที่เขาเข้าไปชิงอาวุธนั้น เขาน่าจะยังไม่ได้ใช้อาวุธสงครามร้ายแรง แต่เพียงเท่านั้นก็ยังสามารถเข้าถึงคลังอาวุธและนำอาวุธพร้อมขับรถทหารออกมาตามลำพังได้ นี่ย่อมทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจว่าทหารจะสามารถทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนได้หรือไม่ เพราะขนาดทหารเองยังคุ้มครองตนเองไม่ได้เลย

4. ทหารทั้งค่ายทหารไม่สามารถป้องกันการก่อการร้ายทั้งในค่ายและที่จะเกิดต่อเนื่องในสังคมวงกว้างได้ หลังจากคนร้ายได้อาวุธร้ายแรงไปแล้ว ค่ายทหารทั้งค่ายก็ปล่อยให้เขาหลุดรอดจนออกไปก่อเหตุได้ นี่แสดงถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันเหตุร้ายที่กำลังจะขยายตัวออกไป ประชาชนยังสงสัยอีกด้วยว่าค่ายทหารมีการซ้อมการป้องกันภัยอย่างไรหรือไม่ มีขั้นตอนที่เป็นระเบียบปฏิบัติอย่างไร หากทหารทั้งค่ายไม่มีกลไกในการป้องกันการก่อการร้าย ไม่สามารถสกัดกั้นเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นได้ แล้วทหารจะปกป้องประชาชนได้อย่างไร นี่ยังไม่นับว่าจะไปรบทัพจับศึกกับใครเขาได้ 

5. ทหารชั้นผู้ใหญ่ไม่มีวุฒิภาวะในภาวะความสูญเสีย ในภาวะของความสูญเสีย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เคยเกิดขึ้นเสียเลยจนนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นถึงระดับผู้นำกองทัพจะไม่เคยมีประสบการณ์ แต่ประสบการณ์อาจจะไม่ได้สอนคนคนนั้นเลยหากเขาไม่มีพื้นฐานจิตใจที่ดีงามต่อประชาชนอย่างแท้จริง หากเขายังคงมองประชาชนว่าเป็นคนอยู่ใต้การปกครอง ใต้การบังคับบัญชาของเขาเท่านั้น ข้อนี้จึงน่ากังวลว่า หากกองทัพไทยยังคงอบรบสั่งสอนให้บุคลากรมีนิสัยกักขฬะต่อประชาชนเช่นนี้ หากกองทัพยังคงยอมรับและปล่อยให้คนแบบนี้มาเป็นผู้นำเรื่อยๆ จะเป็นกองทัพที่รับใช้ ดูแลทุกข์สุข เห็นใจประชาชนได้อย่างไร

6. ทหารชั้นผู้ใหญ่ไม่รู้จักสำนึกผิด ความยอมรับผิดต่อหน้าที่ต่อความรับผิดชอบมีย่อมมากขึ้นตามอำนาจที่มี ยิ่งอำนาจมากยิ่งต้องมีความรับผิดอบมากและยิ่งต้องมีสำนึกต่อความรับผิดมาก แต่ทหารชั้นผู้ใหญ่ไทยกลับเป็นตรงกันข้าม ยิ่งผิดมากยิ่งแก้ตัวมาก ยิ่งปัดความรับผิดชอบมาก ยิ่งไม่แยแสมาก ในเหตุการณ์นี้ เห็นได้ชัดว่าทหารชั้นผู้ใหญ่ปัดความรับผิดชอบให้ทหารชั้นผู้น้อยที่ก่อความผิด ทหารชั้นผู้ใหญ่ไม่รู้จักยอมรับความบกพร่องของการรักษาความปลอดภัยในค่ายทหารเอง ประชาชนย่อมสงสัยว่าพวกเขาห่วงการมีอยู่ของฐานะ ตำแหน่ง รายได้ หน้าตา ของตนเอง มากกว่าการมีความรับผิดชอบต่อความปลอดภัยของประชาชนหรือไม่

7. ทหารทั้งกองทัพไร้ธรรมาภิบาล ทหารทั้งกองทัพชอบแก้ตัวให้แก่กันมากกว่าทบทวนตรวจสอบปัญหา เมื่อเกิดปัญหาแล้ว แทนที่จะตั้งกรรมการตรวจสอบ ทบทวนตนเอง ทบทวนความบกพร่อม ไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อปรับปรุง กองทัพไทยกลับมีแต่กลไกการแก้ตัว หน่วยงานประชาสัมพันธ์มีหน้าที่แก้ต่างให้กับความผิดของทหารชั้นผู้ใหญ่ แก้ต่างให้กับความด้อยประสิทธิภาพของกองทัพ แก้ปัญหาด้วยปากมากกว่าการสร้างระบบการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ การตรวจสอบจะต้องมาจากภายนอก หรือมีคนจากภายนอกมีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการตรวจสอบความผิดพลาด ไม่ใช่เหตุเกิดยังไม่ทันข้ามวัน ก็แก้ตัวแล้วว่าไม่มีข้อผิดพลาด ไม่มีความบกพร่อง หรืออ้างกระทั่งว่าตรวจสอบแล้วไม่พบความบกพร่อง 

ทั้งหมดนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการปฏิรูปกองทัพใดๆ เลย แค่ทำในสิ่งที่ควรจะทำ แค่เป็นทหารที่ควรจะเป็น แค่ทำหน้าที่ตนเองให้ดี ทหารไทยทุกระดับยังแสดงให้เห็นไม่ได้เลยว่ามีความสามารถทำได้ แล้วประชาชนจะเชื่อมั่นในคำพูดว่าจะปกป้องคุ้มครองประชาชน จะป้องกันประเทศชาติได้อย่างไร มิพักต้องเอ่ยถึงว่า ที่ทุกวันนี้กองทัพไทยเข้ามายุ่มย่ามกับการบริหารประเทศ คือทำเกินหน้าที่ของตนเองนั้น จะทำให้ดีได้อย่างไร เพราะแม้แต่หน้าที่ของตนเองยังทำให้ดีไม่ได้เลย

#ทหารมีไว้ทำไม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้