Skip to main content

วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป

หากใครเข้าใจแค่ว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่คือการปิดฉากการเมืองของกลุ่มการเมืองที่แหลมคม ก้าวหน้า มองว่านี่เป็นการกำราบและกรรโชกพลังก้าวหน้าของสังคมนี้ได้อีกขั้นหนึ่ง ผมว่าพวกเขากำลังคิดผิด

พรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นมาและเติบโตได้จากความแตกร้าวทางการเมืองครั้งก่อน ที่วางอยู่บนการเมืองสีเสื้อ การเมืองความดี-ความชั่ว การเมืองแบ่งขั้วแบบเก่าถูกแทนที่ไปพ้นการเมืองแบบเก่าในหลายๆ มิติ มีอะไรบ้างที่ใหม่ มีอะไรบ้างที่การยุบพรรคการเมืองหนึ่งที่เป็นตัวแทนของพลังแบบนี้จะไม่สามารถทำลายพลังแบบนี้ได้

ข้อแรก อนาคตใหม่เกิดมากจากการเป็นทางเลือกของการเมืองขัดแย้งสีเสื้อที่ไม่มีทางออก เสียงที่เลือกอนาคตใหม่แสดงความเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งแบ่งขั้วตรงข้ามอย่างชัดเจน เสียงอนาคตใหม่เป็นตัวแทนของ "คนเป็นกลางทางการเมือง" แบบหนึ่ง ต่างจากเสียงเลือกพลังประชารัฐ ที่เป็นเสียงอนุรักษนิยมสุดขั้ว กับเสียงเพื่อไทย ที่เป็นพลังสนับสนุน "ทักษิณ" และการเมืองมวลชนจากทศวรรษ 2540 คือ 20 ปีที่แล้วอย่างสุดขั้ว

ถ้าได้คุยกับคนขับแท็กซี่ที่ฟังการอภิปรายทั้งวัน จะได้ยินพวกเขาพูดว่า "การอภิปรายในสภาของพรรคอนาคตใหม่นี่ เปลี่ยนการเมืองไปจริงๆ นะ เข้าประเด็นตรงๆ ไม่เสียเวลาไปกัดคนโน้นคนนี้" นี่คือเสียงของคนที่แสวงหาทางเลือกใหม่ทางการเมือง แล้วเขาพบว่าพรรคอนาคตใหม่คือทางเลือก คนไม่อยากเหลือง คนไม่อยากแดงจำนวนมาก หันมาเลือกอนาคตใหม่

ข้อสอง อนาคตใหม่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจการเมือง ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ทุกคนที่ใส่ใจการเมือง ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ทุกคนที่ใส่ใจการเมืองแล้วเลือกอนาคตใหม่ แต่คนรุ่นใหม่จำนวนมาก มากชนิดที่ผมกล้ายืนยันว่าคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจการเมืองส่วนใหญ่เลือกอนาคตใหม่ การยุบพรรคอนาคตใหม่คือการผลักให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ไปยืนเป็นปฏิปักษ์กับการใช้อำนาจรัฐที่พวกเขาเห็นว่า "อยุติธรรม"

หากคิดแต่เพียงว่าคนรุ่นใหม่หรือผู้ลงคะแนนเสียงหน้าใหม่ยังอ่อนด้อย ไร้เดียงสา ก็เท่ากับว่าคุณไม่อยากให้เขาเติบโตในทางของเขาเอง คุณยังอยากให้ลูกหลานคุณเป็นเด็กแบเบาะให้คุณชักจูงไปทางไหนก็ได้ แต่อันที่จริงแล้ว พวกเขาเติบโตและเห็นโลกกว้างและใหม่กว่าโลกตอนที่พวกคุณอาบน้ำร้อนมาก่อนนั้นมากมายนัก

ข้อสาม อนาคตใหม่มีคนสนับสนุนไม่น้อย และคนที่สนับสนุนไม่น้อยเหล่านี้ส่วนหนึ่งคือคนที่มีปากมีเสียง มีอำนาจต่อรอง มีทุนทางสังคมและวัฒนธรรมสูง ผมไม่ได้จะบอกว่าเสียงของคนที่เลือกพรรคอื่นจะไม่สำคัญ แต่เสียงที่เลือกคนพรรคนี้คือเสียงที่พวกคุณเองเกรงกลัว เพราะพวกเขาอยู่ในเครือข่ายทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ที่ช่วงชิงอำนาจศูนย์กลางของพวกคุณได้

ดูง่ายๆ เฉพาะในกรุงเทพฯ เสียงเลือกอนาคตใหม่เป็นเสียงที่มีคะแนน 1 ใน 3 ของเสียงกรุงเทพฯ ทั้งหมด พรรคเก่าแก่พรรคหนึ่งหมดที่นั่งไปในกรุงเทพฯ ก็เพราะ 1 ใน 3 ของเสียงนี้ การลิดรอนเสียงของคนเหล่านี้ การท้าทายเสียงของคนที่มีทุนทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่ทัดเทียมกับพวกคุณเหล่านี้ จะผลักให้พวกเขาเป็นปฏิปักษ์กับพวกคุณมากยิ่งขึ้น

การทำลายทางเลือกใหม่ การผลักให้พลังของคนรุ่นใหม่ไปเป็นปฏิปักษ์กับพลังอนุรักษนิยมอย่างเปิดเผย การท้าทายพลังของทุนใหม่แบบต่างๆ ที่เติบโตรดต้นคอและในครัวเรือนของคนรุ่นอนุรักษนิยมเอง กำลังสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ 

เรายังไม่รู้หรอกว่าปฏิกิริยาต่อการผลักไสทางการเมืองรอบนี้จะเป็นอย่างไร แต่เราจะได้เห็นกันเร็วๆ นี้ว่า พลังของอนาคตที่ก่อตัวขึ้นเงียบๆ ในรถแท็กซี่ ในโรงภาพยนตร์ ในร้านเบเกอร์รี่ ในร้านนมสด ในทวิตเตอร์ ในนิยายออนไลน์ จะตีกลับและรุกไล่พลังอนุรักษนิยมอย่างไร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้