Skip to main content

วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป

หากใครเข้าใจแค่ว่า การยุบพรรคอนาคตใหม่คือการปิดฉากการเมืองของกลุ่มการเมืองที่แหลมคม ก้าวหน้า มองว่านี่เป็นการกำราบและกรรโชกพลังก้าวหน้าของสังคมนี้ได้อีกขั้นหนึ่ง ผมว่าพวกเขากำลังคิดผิด

พรรคอนาคตใหม่เกิดขึ้นมาและเติบโตได้จากความแตกร้าวทางการเมืองครั้งก่อน ที่วางอยู่บนการเมืองสีเสื้อ การเมืองความดี-ความชั่ว การเมืองแบ่งขั้วแบบเก่าถูกแทนที่ไปพ้นการเมืองแบบเก่าในหลายๆ มิติ มีอะไรบ้างที่ใหม่ มีอะไรบ้างที่การยุบพรรคการเมืองหนึ่งที่เป็นตัวแทนของพลังแบบนี้จะไม่สามารถทำลายพลังแบบนี้ได้

ข้อแรก อนาคตใหม่เกิดมากจากการเป็นทางเลือกของการเมืองขัดแย้งสีเสื้อที่ไม่มีทางออก เสียงที่เลือกอนาคตใหม่แสดงความเบื่อหน่ายกับความขัดแย้งแบ่งขั้วตรงข้ามอย่างชัดเจน เสียงอนาคตใหม่เป็นตัวแทนของ "คนเป็นกลางทางการเมือง" แบบหนึ่ง ต่างจากเสียงเลือกพลังประชารัฐ ที่เป็นเสียงอนุรักษนิยมสุดขั้ว กับเสียงเพื่อไทย ที่เป็นพลังสนับสนุน "ทักษิณ" และการเมืองมวลชนจากทศวรรษ 2540 คือ 20 ปีที่แล้วอย่างสุดขั้ว

ถ้าได้คุยกับคนขับแท็กซี่ที่ฟังการอภิปรายทั้งวัน จะได้ยินพวกเขาพูดว่า "การอภิปรายในสภาของพรรคอนาคตใหม่นี่ เปลี่ยนการเมืองไปจริงๆ นะ เข้าประเด็นตรงๆ ไม่เสียเวลาไปกัดคนโน้นคนนี้" นี่คือเสียงของคนที่แสวงหาทางเลือกใหม่ทางการเมือง แล้วเขาพบว่าพรรคอนาคตใหม่คือทางเลือก คนไม่อยากเหลือง คนไม่อยากแดงจำนวนมาก หันมาเลือกอนาคตใหม่

ข้อสอง อนาคตใหม่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจการเมือง ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ทุกคนที่ใส่ใจการเมือง ไม่ใช่คนรุ่นใหม่ทุกคนที่ใส่ใจการเมืองแล้วเลือกอนาคตใหม่ แต่คนรุ่นใหม่จำนวนมาก มากชนิดที่ผมกล้ายืนยันว่าคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจการเมืองส่วนใหญ่เลือกอนาคตใหม่ การยุบพรรคอนาคตใหม่คือการผลักให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ไปยืนเป็นปฏิปักษ์กับการใช้อำนาจรัฐที่พวกเขาเห็นว่า "อยุติธรรม"

หากคิดแต่เพียงว่าคนรุ่นใหม่หรือผู้ลงคะแนนเสียงหน้าใหม่ยังอ่อนด้อย ไร้เดียงสา ก็เท่ากับว่าคุณไม่อยากให้เขาเติบโตในทางของเขาเอง คุณยังอยากให้ลูกหลานคุณเป็นเด็กแบเบาะให้คุณชักจูงไปทางไหนก็ได้ แต่อันที่จริงแล้ว พวกเขาเติบโตและเห็นโลกกว้างและใหม่กว่าโลกตอนที่พวกคุณอาบน้ำร้อนมาก่อนนั้นมากมายนัก

ข้อสาม อนาคตใหม่มีคนสนับสนุนไม่น้อย และคนที่สนับสนุนไม่น้อยเหล่านี้ส่วนหนึ่งคือคนที่มีปากมีเสียง มีอำนาจต่อรอง มีทุนทางสังคมและวัฒนธรรมสูง ผมไม่ได้จะบอกว่าเสียงของคนที่เลือกพรรคอื่นจะไม่สำคัญ แต่เสียงที่เลือกคนพรรคนี้คือเสียงที่พวกคุณเองเกรงกลัว เพราะพวกเขาอยู่ในเครือข่ายทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ที่ช่วงชิงอำนาจศูนย์กลางของพวกคุณได้

ดูง่ายๆ เฉพาะในกรุงเทพฯ เสียงเลือกอนาคตใหม่เป็นเสียงที่มีคะแนน 1 ใน 3 ของเสียงกรุงเทพฯ ทั้งหมด พรรคเก่าแก่พรรคหนึ่งหมดที่นั่งไปในกรุงเทพฯ ก็เพราะ 1 ใน 3 ของเสียงนี้ การลิดรอนเสียงของคนเหล่านี้ การท้าทายเสียงของคนที่มีทุนทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองที่ทัดเทียมกับพวกคุณเหล่านี้ จะผลักให้พวกเขาเป็นปฏิปักษ์กับพวกคุณมากยิ่งขึ้น

การทำลายทางเลือกใหม่ การผลักให้พลังของคนรุ่นใหม่ไปเป็นปฏิปักษ์กับพลังอนุรักษนิยมอย่างเปิดเผย การท้าทายพลังของทุนใหม่แบบต่างๆ ที่เติบโตรดต้นคอและในครัวเรือนของคนรุ่นอนุรักษนิยมเอง กำลังสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ 

เรายังไม่รู้หรอกว่าปฏิกิริยาต่อการผลักไสทางการเมืองรอบนี้จะเป็นอย่างไร แต่เราจะได้เห็นกันเร็วๆ นี้ว่า พลังของอนาคตที่ก่อตัวขึ้นเงียบๆ ในรถแท็กซี่ ในโรงภาพยนตร์ ในร้านเบเกอร์รี่ ในร้านนมสด ในทวิตเตอร์ ในนิยายออนไลน์ จะตีกลับและรุกไล่พลังอนุรักษนิยมอย่างไร

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์