Skip to main content

การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 

20 ปีที่ผ่านมา คนหน้าใหม่ทางการเมืองเหล่านี้ค่อยๆ เติบโตขึ้นมาในวังวนของการเลือกตั้งและการรัฐประหาร ช่วงเวลานี้การเมืองไทยเปลี่ยนไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในหลายต่อหลายมิติด้วยกัน และปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนใน 20 ปีนี้อย่างหนึ่งก็คือ การตื่นตัวของนักเรียนนักศึกษาในขนาดและความหลากหลายอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ ที่เป็นเช่นนี้น่าจะด้วยสาเหตุเชิงโครงสร้างหลายประการด้วยกัน

1) เงื่อนไขเชิงประชากร คนรุ่นเก่ามีอายุยืนยาวขึ้น คนรุ่นเขาจึงไม่อาจปล่อยวางทางการเมือง ไม่อาจปล่อยวางอนาคตในแบบที่พวกเขาไม่ชอบ ไม่อยากเห็นให้เกิดขึ้น การเปลี่ยนผ่านในปัจจุบันจึงเป็นการเปลี่ยนผ่านที่ พลังอนุรักษนิยมไม่จำเป็นต้องหรือที่จริงก็ไม่สามารถจะจัดตั้งคนรุ่นใหม่มาสานต่อความอนุรักษนิยมอีกต่อไป เพราะพวกเขาคนรุ่นเก่ายังจะมีชีวิตอยู่กับคนรุ่นใหม่ไปอีกนานแสนนาน พวกเขาจะยังคงประวิงอำนาจไว้ให้นานที่สุด ดังนั้น ที่ว่ากันว่า "เวลาอยู่ข้างเรา" น่ะ อาจจะไม่จริง เพราะ "เทคโนโลยีการแพทย์และอำนาจเงินในการยืดอายุอยู่ข้างเขา"

2) เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรม เงื่อนไขนี้สืบเนื่องกับเงื่อนไขแรก การเกิดช่องว่างระหว่างวัย ช่องว่างระหว่างวัฒนธรรม 2.0 และ 3.5 (คือยังไม่ 4.0 ดีนัก) ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกัน เกิดการเห็นอนาคตที่แตกต่างกัน เกิดทางเลือกที่แตกต่างกัน ข้อนี้แทบไม่ต้องอธิบายก็เห็นกันอยู่ เช่นว่า โลกของพวกเขาไม่ได้อยู่เฉพาะหน้าจอทีวีที่ยังควบคุมโดยรัฐ ไม่ได้อยู่เฉพาะในขอบเขตประเทศไทย แต่เป็นโลกก้าวที่จะยิ่งกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพราะพวกเขาสร้างตัวตนจากความแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ คนรุ่นพ่อแม่พวกเขาส่วนใหญ่พูดได้อย่างมาก 2 ภาษา แต่คนรุ่นหลังค่อยๆ เรียนภาษาที่ 3 กันมากขึ้น 

นี่ยังไม่ต้องพูดถึงวัฒนธรรมบริโภคที่คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เติบโตมาเลย พวกเขามองความรักต่างออกไป พวกเขามองความงามต่างออกไป พวกเขามองศาสนา (ถ้าจะยังสนใจกันอยู่) ต่างออกไป

การยืดยาวขยายอายุและจึงนำไปสู่การพยายามรักษาอำนาจของคนรุ่นเก่า จึงยิ่งส่งผลให้เกิดช่องว่างของความคิด อุดมการณ์ ความใฝ่ฝันของคนต่างช่วงวัยที่ขัดแย้งกันมากยิ่งขึ้น โลกเก่าอันงดงามของสังคมพ่อปกครองลูกที่เมื่อลูกๆ ทะเลาะกันก็ให้พ่อตัดสินคดีความนั้น ได้หมดพลังไปจากจินตนาการของคนรุ่นใหม่แล้ว หรือหากพวกเขาจะถูกปลูกฝังมา พวกเขาก็ไม่มีวัน "อิน" กับจินตนาการแบบนั้นอีกต่อไป โลกของคนหน้าใหม่ทางการเมืองไทยเหล่านี้ยึดมั่นในการตัดสินใจของตนเอง การเป็นตัวของตัวเอง การมีส่วนร่วมในการปกครองตนเองมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

3) เงื่อนไขทางการเมือง ภูมิทัศน์การเมืองใหม่ที่สร้าง "ชนชั้นใหม่" ซึ่งเป็นชนชั้นกลางทางการเมืองและเศรษฐกิจ ให้เติบโตขยายตัว กระจายตัว และหยั่งรากลงลึกในท้องถิ่นต่างๆ ในเขตเมืองของจังหวัดและอำเภอต่างๆ มากยิ่งขึ้น ทำให้ประชาธิปไตยในท้องถิ่นเกิดขึ้น เข้มแข็งมากขึ้น และแผ่กระจายมากขึ้น แม้จะเกิดการรัฐประหาร 2 ครั้งติดกันใน 20 ปีที่ผ่านมา แต่พลังเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ 

ดังจะเห็นได้จากการเลือกตั้งหลังการรัฐประหารปี 2549 และการเลือกตั้งหลังรัฐประหารปี 57 ที่พรรคการเมืองฝ่าย "ก้าวหน้า" ที่เป็นตัวแทนของ "คนนอกกรุงเทพฯ" ก็ยังมีพลังในการท้าทายอำนาจรวมศูนย์ และแม้ในกรุงเทพฯ เอง ก็เกิดการแทรกเข้ามาของพรรคการเมืองฝ่ายก้าวหน้า ที่มีที่นั่งถึง 2 ใน 3 ของพรรคการเมืองฝ่านอนุรักษนิยม 

คนหน้าใหม่ที่ออกมาแสดงความเห็นในขณะนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งของพลังชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์ทางการเมืองนั่นเอง พวกเขาคือลูกหลานของชนชั้นกลางใหม่ทั้งในเมืองและในชนบท ที่ต่อสู้กับพลังอนุรักษนิยมและชนชั้นกลางเก่ามาอย่างยาวนาน พวกเขาจึงกระจายอยู่ทั่วไปไม่ต่างจากชนชั้นใหม่ หากแต่พวกเขามีเครื่องมือสื่อสาร มีความสามารถทางปัญญา และมีเทคโนโลยีทางการเมืองที่ทรงพลังต่างไปจากพ่อแม่ของพวกเขา

4) เงื่อนไขทางเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตที่เชื่อมโยงไม่เฉพาะคนในพื้นที่ออนไลน์ แต่ยังเชื่อมออกมายังคนในพื้นที่ออฟไลน์ การเคลื่อนไหวที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ชุมชนที่สร้างโดยอินเตอร์เน็ตไม่ได้ทำให้ผู้คนจมจ่อมหรือก้มหน้าอยู่กับจอโทรศัพท์มือถือ แต่ยังดึงให้พวกเขาออกมาร่วมไม้ร่วมมือกันแสดงพลังให้คนเห็นตัวตนของพวกเขาในพื้นที่สาธารณะอีกด้วย เหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คนรุ่นใหม่บรรลุผลทางการเมืองของพวกเขาได้แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้า

เงื่อนไขนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเมืองซึ่งไร้การจัดตั้งขึ้นโดยง่าย ไร้การนำโดยใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มการเมืองใดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยง่าย การรีทวีต การติดแฮชแทก การสร้างแฮชแทก เป็นทั้งการแสดงความเห็นทางการเมืองการทดสอบตรวจสอบวิพากษ์ผู้มีอำนาจทางการเมือง และการสร้างชุมชนทางการเมือง ความแหลมคมของแฮชแทกจำนวนมากสร้างความเห็นทางการเมืองที่ไม่สามารถสร้างได้ก่อนหน้าเทคโนโลยีนี้ นี่ยังไม่นับเครื่องมืออื่นๆ อย่างมีม และการถ่ายทอดสด ที่ทั้งยอกย้อน พลิกอำนาจ และทันท่วงที 

ถึงที่สุดแล้ว ที่สำคัญคือ ในแง่ของความเป็นอิสระทางการเมือง การที่พวกเขาตัดสินใจก้าวออกมาจากโลก "ในจอ" สู่โลกการเมือง "นอกจอ" ออกมาแสดงตัวให้เห็นกันตัวเป็นๆ แสดงถึงการตัดสินใจอย่างที่การสร้างเครือข่ายทางการเมืองด้วยระบบอุปถัมภ์และอุดมการณ์แบบเก่าไม่สามารถทำได้ คุณจะไม่สามารถดูถูกว่าพวกเขาถูกซื้อ ถูกจ้าง ถูกชักจูงมา ถูกสั่งมา ได้ง่ายๆ อีกต่อไป 

ถึงแม้ใครจะปรามาสว่าการแสดงออกของคนหน้าใหม่ของการเมืองไทยยังอยู่เพียงในระดับของอารมณ์โกรธแค้น แต่อารมณ์ทางการเมืองนี่แหละที่จะก่อตัวขึ้นเป็น "โครงสร้างอารมณ์" ที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุดมการณ์ โครงสร้างสังคม และโครงสร้างการเมืองในระยะยาวได้

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เพ่ิงกินอาหารเย็นเสร็จ วันนี้ลงมือทำสเต็กเนื้อ เนื้อโคขุนไทยๆ นี่แหละ ต้องชิ้นหนาๆ หน่อย ย่างบนกะทะเหล็กหนาๆ ที่หอบหิ้วมาจากอเมริกา เป็นกะทะเทพมากๆ เพราะความร้อนแรงดีมาก ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที เกรียมได้ที่ทั้งสองด้าน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"การศึกษา" ต้องการพื้นที่ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เมื่อความรู้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสถาบันการศึกษาเพียงเท่านั้น พื้นที่การเรียนรู้ก็ย่อมจะต้องเปลี่ยนไปด้วย แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของโลกการเรียนรู้ ยังมีคนบางกลุ่มดื้อรั้นขัดขวางการเปลี่ยนแปลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อเขียนนี้พยายามทำความเข้าใจตรรกะของพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงแสดงไว้ในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2548 ว่าพระองค์มีทัศนะต่อแนวคิด The King Can Do No Wrong อย่างไร และมาตรา 112 ควรแก้ไขเพราะเหตุใด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากพวกคุณวิจัยสำรวจอย่างตรงไปตรงมาจริงๆ พวกคุณก็ย่อมรู้อยู่แก่ใจดีว่า ชัยชนะจากคะแนนเสียงที่ "ไม่่่ท่วมท้นนัก" ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มาจากกลุ่มคนที่มีความหวังว่าเพื่อไทยจะเป็นเดินหน้าพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยอย่างจริงจังเสียที
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้ คือวันที่ 1 มกราคม 2556 ผมลองคิดบวกดูบ้าง คือคิดแบบเข้าข้างตนเองทบทวนดูว่า หนึ่งปีที่ผ่านมาได้ทำอะไรใหม่ๆ ให้ตนเองบ้าง คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในสมองผมคือ ได้อ่านหนังสืออะไรที่นับว่าตัวเองได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ บ้าง แล้วก็คิดไปเรื่อยว่า ได้ทำอะไรที่ให้การเรียนรู้ใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ บ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง