Skip to main content

สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 

ตัวอย่างล่าสุดของความดัดจริต คือการลุกขึ้นมาปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกกรณีที่ละครทีวี "เหนือเมฆ 2" ถูกงดฉายกระทันหัน แต่หากเราพิจารณาความดัดจริตกรณีอื่นๆ เราจะพบแบบแผนบางอย่างของปรากฏการณ์ที่ผมเรียกว่าวัฒนธรรมดัดจริต

(1) วัฒนธรรมดัดจริต มักอ้าง "หลักการ" เพื่อปกป้อง "หลักกู" วัฒนธรรมดัดจริตอาศัยหลักการงดงามสวยหรูเพื่อทำลายศัตรูคู่ตรงข้าม เพื่อให้ตนเองดูดี อยู่เหนือคนอื่นด้วยถ้อยคำแถๆ

เวลาพวกดัดจริตละเมิดกฎหมาย (เช่น หนีทหาร หรือเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีส่วนในการสั่งการให้ใช้กระสุนจริงสลายการชุมนุมจนมีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย) ก็จึงทำได้อย่างไม่มียางอาย เพราะในที่สุดเขาจะสามารถใช้วาทศิลป์แถหลักการใดๆ มาปกป้องตนเองได้เสมอ เพื่อให้ตนเองดูดี พ้นผิดในสายตาพวกดัดจริตด้วยกันเอง  (เช่นแถว่าตนไม่ได้เป็นคนทำหลักฐานปลอม ไม่เห็นต้องรับผิดชอบเรื่องหนีทหาร หรือแถว่านายกรัฐมนตรีไม่เห็นต้องรับผิดชอบเมื่อมีคนตายในการสลายการชุมนุมขณะที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่) 

(2) วัฒนธรรมดัดจริต จะไม่นำหลักการสวยหรูไปใช้กับทุกๆ เรื่องกับทุกๆ คนที่ประสบปัญหาเดียวกัน วัฒนธรรมดัดจริตจะใช้หลักการนั้นเฉพาะเมื่อตนเองถูกละเมิด ที่เห็นได้ชัดคือ พวกดัดจริตจะไม่ใช้หลักการนั้นกับคนจน กับคนที่ด้อยอำนาจกว่า กับคนที่ไม่มีใครปกป้อง เพราะวัฒนธรรมดัดจริตมองไม่เห็นหัวคนเหล่านั้น

เวลาที่พวกดัดจริตเดือดร้อนเรื่องการเซ็นเซอร์ละคร พวกเขาจึงไม่ได้กำลังเดือดร้อนกับการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกโดยทั่วๆ ไป จริงๆ หรอก เพราะที่ผ่านมา ไม่เห็นพวกเขามาต่อสู้ให้กรณีอื่นๆ พวกดัดจริตไม่พร้อมที่จะปกป้องสิทธิในการแสดงออกในทุกๆ เรื่องอย่างเป็นสากล (universal) หรอก ไม่ใช่ว่าพวกเขาขี้ปอด แต่เพราะพวกเขาพร้อมที่จะปกป้องสิทธิในกรณีที่กระทบกับตนเอง หรือกรณีที่สามารถใช้แซะฝ่ายตรงข้ามกับตนเองได้เท่านั้น

เวลาที่พวกดัดจริตวิจารณ์นโยบายรถคันแรก พวกเขาไม่ได้ห่วงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ห่วงเรื่องวินัยการคลัง ไม่ได้ห่วงเรื่องการกระจายรายได้หรอก พวกเขาหงุดหงิดว่ามีคนมาแย่งใช้ถนนที่รถ 3-4 ค้นที่พวกเขาครอบครองอยู่ก่อนแล้วมากกว่า หรือไม่พวกดัดจริตก็หงุดหงิดว่าตนไม่ได้โอกาสในการครอบครองรถเอาไว้ไปจ่ายตลาดอีกคันนึงเท่านั้นเอง

เวลาพวกดัดจริตแสดงท่าทีเดือนร้อนเรื่องสิทธิมนุษยชน พวกเขาไม่ได้กำลังเดือนร้อนเรื่องสิทธิมนุษยชนหรอก แต่พวกเขาเดือดร้อนที่พรรคพวกของเขาถูกละเมิดสิทธิ พวกดัดจริตจึงเลือกให้รางวัลกับคนกลุ่มหนึ่ง มองไม่เห็นว่านักสิทธิมนุษยชนในสังคมที่ต่อสู้เพื่อคนถูกละเมิดคือใครกันแน่ พวกดัดจริตมองไม่ออกว่าการละเมิดชีวิตในกรณีสลายการชุมนุม ปี 52-53 การละเมิดเสรีภาพในร่างกายกรณีนักโทษการเมือง นักโทษคดี ม. 112 โดยรัฐบาลที่เป็นพรรคพวกของเขา และการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก เช่นกรณี ม. 112 เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร

(3) วัฒนธรรมดัดจริต คิดไม่รอบด้าน เข้าใจปัญหาด้านเดียว มักวกวนกลับมาคิดเข้าข้างตนเอง เนื่องจากปัญหาใหญ่คือ พวกดัดจริตไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้อะไร ก็เลยขยันคิดขยันอยากทำงานบนความเข้าใจคับแคบของตนเอง (อย่างที่บางคนเรียก "โง่แต่ขยัน")

เวลาที่พวกดัดจริตเดือดร้อนเรื่องการบุกรุกป่า พวกเขาไม่ได้ต้องการปกป้องป่า พวกเขาต้องการปกป้องอำนาจในการดูแลป่ามากกว่า พวกเขาไม่เคยต้องการเข้าใจเรื่องการใช้ป่าของผู้คนที่อาศัยอยู่กับป่า ไม่เข้าใจว่าคนสามารถอยู่กับป่าได้ แต่เวลาพวกเขาเอาป่าไปดูแล ก็กลับเอาป่าไปให้สัมปทาน แล้วป่าก็หมดทุกที

แต่พวกดัดจริตจะชอบคนแบบนี้ พวกเขาจะชอบคนที่ดูขึงขัง ต้องการแก้ปัญหา ดูมีท่าทีเสียสละ แม้ว่าคนพวกนั้นจะไม่ได้เข้าใจปัญหาอย่างรอบด้าน แต่พวกนั้นก็มักได้ใจพวกดัดจริต กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้วที่เราได้คนพวกนั้นมาทำงานรับใช้พวกดัดจริต แล้วคนพวกนั้นก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้จริงจังสักที แต่กลับก่อปัญหาอื่นต่อไปเรื่อยๆ 

(4) วัฒนธรรมดัดจริต มักกระจุกตัวอยู่ในหมู่ผู้มีอำนาจและชนชั้นกลางระดับบน พวกเขาต่อสู้ทางการเมืองด้วยคะแนนเสียงแล้วพ่ายแพ้ แต่อาศัยที่พวกเขามีวาทศิลป์ และมีปากมีเสียงดังกว่าคนส่วนใหญ่ 

พวกดัดจริตคุมสื่อมวลชนกระแสหลัก พวกเขาไม่ได้ต้องการครอบงำควบคุมคนส่วนใหญ่ พวกเขาเพียงคุมความคิดความอ่านของผู้มีอำนาจ กล่อมเกลาให้คนถือปืนเชื่อฟัง ชักจูงให้คนตัดสินความเป็นความตายผู้อื่นเอนเอียงหลงเชื่อ ป้อยอให้คนลงนามในเอกสารสำคัญๆ คล้อยตามพวกเขาได้ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว พวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องให้คนส่วนใหญ่ดัดจริตตามพวกเขา เพราะพวกเขาไม่เชื่อในคะแนนเสียงส่วนใหญ่ เท่ากับคุณความดีแบบดัดจริตของพวกเขา

(5) วัฒนธรรมดัดจริต อ้างว่าวัฒนธรรมตนเท่านั้นที่เป็นวัฒนธรรมคนดี มองว่าหลักศีลธรรมของตนเองเท่านั้นที่ดีที่สุด นอกจากไม่เห็นหัวชาวบ้านแล้ว พวกดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมดัดจริตจึงมักอยากควบคุม ปกครองชาวบ้าน ในนามของความรักความเห็นใจชาวบ้าน 

เวลาชาวบ้านต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องประชาธิปไตย พวกดัดจริตจะบอกว่า "พวกเธอยังยากจนอยู่ ไม่รู้หรอกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นอย่างไร" 

พวกดัดจริตชอบใช้วิถีชีวิตตนเองเป็นมาตรฐานวัดความสูงต่ำของชีวิตคนอื่น เวลาเห็นคนจนกินเหล้า ก็จะว่า "จนแล้วไม่น่าโง่เอาค่าข้าวค่ายามาสิ้นเปลืองไปกับค่าเหล้า"

แต่พวกดัดจริตก็รับไม่ได้หากชาวบ้านจะมีความกินอยู่ทัดเทียมกับตนเอง เวลาเห็นชาวบ้านร้านตลาดใช้สมาร์ทโฟน เห็นเด็กๆ บ้านนอกจะได้ใช้แท็บเล็ต เห็นพ่อแม่ผ่อนมอเตอร์ไซค์ให้ลูกๆ ขี่ไปโรงเรียน พวกดัดจริตก็จะบ่นว่า "ชาวไร่ชาวนาทุกวันนี้ถูกวัตถุนิยม-บริโภคนิยมครอบงำ" เวลาเห็นคนจนอยากรวย อยากมีเงิน ก็จะพร่ำสอนว่า "ทำไมไม่รู้จักพอเพียง" 

สังคมดัดจริตเป็นสังคมของคนกลุ่มน้อย แต่เข้าถึงและคลุกคลีกับคนมีอำนาจได้ง่าย คนในสังคมดัดจริตไม่เชื่อในเสียงส่วนใหญ่ ไม่เห็นความดีของคนอื่น ไม่เห็นหัวชาวบ้าน มองว่าคุณความดีแบบตนเองเท่านั้นที่ดีที่สุด และพยายามควบคุมกำกับให้ชีวิตคนอื่นดัดจริตแบบพวกตน 

วัฒนธรรมดัดจริตเป็นอำนาจนิยมในเชิงวัฒนธรรม เป็นการสร้างชนชั้นทางสังคมด้วยคำพูดสวยหรู วัฒนธรรมดัดจริตเป็นวัฒนธรรมของสังคมที่มีความรู้สูง รู้หลักการดีๆ ของสังคมโลกสมัยใหม่ แต่วัฒนธรรมดัดจริตไม่ได้เคารพคุณค่าสากลของหลักการดีๆ เหล่านั้น วัฒนธรรมดัดจริตจึงนำเอาหลักการสากลเหล่านั้นมารับใช้สังคมแคบๆ ของตนเท่านั้น

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์