Skip to main content

สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 

ตัวอย่างล่าสุดของความดัดจริต คือการลุกขึ้นมาปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกกรณีที่ละครทีวี "เหนือเมฆ 2" ถูกงดฉายกระทันหัน แต่หากเราพิจารณาความดัดจริตกรณีอื่นๆ เราจะพบแบบแผนบางอย่างของปรากฏการณ์ที่ผมเรียกว่าวัฒนธรรมดัดจริต

(1) วัฒนธรรมดัดจริต มักอ้าง "หลักการ" เพื่อปกป้อง "หลักกู" วัฒนธรรมดัดจริตอาศัยหลักการงดงามสวยหรูเพื่อทำลายศัตรูคู่ตรงข้าม เพื่อให้ตนเองดูดี อยู่เหนือคนอื่นด้วยถ้อยคำแถๆ

เวลาพวกดัดจริตละเมิดกฎหมาย (เช่น หนีทหาร หรือเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีส่วนในการสั่งการให้ใช้กระสุนจริงสลายการชุมนุมจนมีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย) ก็จึงทำได้อย่างไม่มียางอาย เพราะในที่สุดเขาจะสามารถใช้วาทศิลป์แถหลักการใดๆ มาปกป้องตนเองได้เสมอ เพื่อให้ตนเองดูดี พ้นผิดในสายตาพวกดัดจริตด้วยกันเอง  (เช่นแถว่าตนไม่ได้เป็นคนทำหลักฐานปลอม ไม่เห็นต้องรับผิดชอบเรื่องหนีทหาร หรือแถว่านายกรัฐมนตรีไม่เห็นต้องรับผิดชอบเมื่อมีคนตายในการสลายการชุมนุมขณะที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่) 

(2) วัฒนธรรมดัดจริต จะไม่นำหลักการสวยหรูไปใช้กับทุกๆ เรื่องกับทุกๆ คนที่ประสบปัญหาเดียวกัน วัฒนธรรมดัดจริตจะใช้หลักการนั้นเฉพาะเมื่อตนเองถูกละเมิด ที่เห็นได้ชัดคือ พวกดัดจริตจะไม่ใช้หลักการนั้นกับคนจน กับคนที่ด้อยอำนาจกว่า กับคนที่ไม่มีใครปกป้อง เพราะวัฒนธรรมดัดจริตมองไม่เห็นหัวคนเหล่านั้น

เวลาที่พวกดัดจริตเดือดร้อนเรื่องการเซ็นเซอร์ละคร พวกเขาจึงไม่ได้กำลังเดือดร้อนกับการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกโดยทั่วๆ ไป จริงๆ หรอก เพราะที่ผ่านมา ไม่เห็นพวกเขามาต่อสู้ให้กรณีอื่นๆ พวกดัดจริตไม่พร้อมที่จะปกป้องสิทธิในการแสดงออกในทุกๆ เรื่องอย่างเป็นสากล (universal) หรอก ไม่ใช่ว่าพวกเขาขี้ปอด แต่เพราะพวกเขาพร้อมที่จะปกป้องสิทธิในกรณีที่กระทบกับตนเอง หรือกรณีที่สามารถใช้แซะฝ่ายตรงข้ามกับตนเองได้เท่านั้น

เวลาที่พวกดัดจริตวิจารณ์นโยบายรถคันแรก พวกเขาไม่ได้ห่วงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ห่วงเรื่องวินัยการคลัง ไม่ได้ห่วงเรื่องการกระจายรายได้หรอก พวกเขาหงุดหงิดว่ามีคนมาแย่งใช้ถนนที่รถ 3-4 ค้นที่พวกเขาครอบครองอยู่ก่อนแล้วมากกว่า หรือไม่พวกดัดจริตก็หงุดหงิดว่าตนไม่ได้โอกาสในการครอบครองรถเอาไว้ไปจ่ายตลาดอีกคันนึงเท่านั้นเอง

เวลาพวกดัดจริตแสดงท่าทีเดือนร้อนเรื่องสิทธิมนุษยชน พวกเขาไม่ได้กำลังเดือนร้อนเรื่องสิทธิมนุษยชนหรอก แต่พวกเขาเดือดร้อนที่พรรคพวกของเขาถูกละเมิดสิทธิ พวกดัดจริตจึงเลือกให้รางวัลกับคนกลุ่มหนึ่ง มองไม่เห็นว่านักสิทธิมนุษยชนในสังคมที่ต่อสู้เพื่อคนถูกละเมิดคือใครกันแน่ พวกดัดจริตมองไม่ออกว่าการละเมิดชีวิตในกรณีสลายการชุมนุม ปี 52-53 การละเมิดเสรีภาพในร่างกายกรณีนักโทษการเมือง นักโทษคดี ม. 112 โดยรัฐบาลที่เป็นพรรคพวกของเขา และการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก เช่นกรณี ม. 112 เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร

(3) วัฒนธรรมดัดจริต คิดไม่รอบด้าน เข้าใจปัญหาด้านเดียว มักวกวนกลับมาคิดเข้าข้างตนเอง เนื่องจากปัญหาใหญ่คือ พวกดัดจริตไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้อะไร ก็เลยขยันคิดขยันอยากทำงานบนความเข้าใจคับแคบของตนเอง (อย่างที่บางคนเรียก "โง่แต่ขยัน")

เวลาที่พวกดัดจริตเดือดร้อนเรื่องการบุกรุกป่า พวกเขาไม่ได้ต้องการปกป้องป่า พวกเขาต้องการปกป้องอำนาจในการดูแลป่ามากกว่า พวกเขาไม่เคยต้องการเข้าใจเรื่องการใช้ป่าของผู้คนที่อาศัยอยู่กับป่า ไม่เข้าใจว่าคนสามารถอยู่กับป่าได้ แต่เวลาพวกเขาเอาป่าไปดูแล ก็กลับเอาป่าไปให้สัมปทาน แล้วป่าก็หมดทุกที

แต่พวกดัดจริตจะชอบคนแบบนี้ พวกเขาจะชอบคนที่ดูขึงขัง ต้องการแก้ปัญหา ดูมีท่าทีเสียสละ แม้ว่าคนพวกนั้นจะไม่ได้เข้าใจปัญหาอย่างรอบด้าน แต่พวกนั้นก็มักได้ใจพวกดัดจริต กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้วที่เราได้คนพวกนั้นมาทำงานรับใช้พวกดัดจริต แล้วคนพวกนั้นก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้จริงจังสักที แต่กลับก่อปัญหาอื่นต่อไปเรื่อยๆ 

(4) วัฒนธรรมดัดจริต มักกระจุกตัวอยู่ในหมู่ผู้มีอำนาจและชนชั้นกลางระดับบน พวกเขาต่อสู้ทางการเมืองด้วยคะแนนเสียงแล้วพ่ายแพ้ แต่อาศัยที่พวกเขามีวาทศิลป์ และมีปากมีเสียงดังกว่าคนส่วนใหญ่ 

พวกดัดจริตคุมสื่อมวลชนกระแสหลัก พวกเขาไม่ได้ต้องการครอบงำควบคุมคนส่วนใหญ่ พวกเขาเพียงคุมความคิดความอ่านของผู้มีอำนาจ กล่อมเกลาให้คนถือปืนเชื่อฟัง ชักจูงให้คนตัดสินความเป็นความตายผู้อื่นเอนเอียงหลงเชื่อ ป้อยอให้คนลงนามในเอกสารสำคัญๆ คล้อยตามพวกเขาได้ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว พวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องให้คนส่วนใหญ่ดัดจริตตามพวกเขา เพราะพวกเขาไม่เชื่อในคะแนนเสียงส่วนใหญ่ เท่ากับคุณความดีแบบดัดจริตของพวกเขา

(5) วัฒนธรรมดัดจริต อ้างว่าวัฒนธรรมตนเท่านั้นที่เป็นวัฒนธรรมคนดี มองว่าหลักศีลธรรมของตนเองเท่านั้นที่ดีที่สุด นอกจากไม่เห็นหัวชาวบ้านแล้ว พวกดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมดัดจริตจึงมักอยากควบคุม ปกครองชาวบ้าน ในนามของความรักความเห็นใจชาวบ้าน 

เวลาชาวบ้านต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องประชาธิปไตย พวกดัดจริตจะบอกว่า "พวกเธอยังยากจนอยู่ ไม่รู้หรอกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นอย่างไร" 

พวกดัดจริตชอบใช้วิถีชีวิตตนเองเป็นมาตรฐานวัดความสูงต่ำของชีวิตคนอื่น เวลาเห็นคนจนกินเหล้า ก็จะว่า "จนแล้วไม่น่าโง่เอาค่าข้าวค่ายามาสิ้นเปลืองไปกับค่าเหล้า"

แต่พวกดัดจริตก็รับไม่ได้หากชาวบ้านจะมีความกินอยู่ทัดเทียมกับตนเอง เวลาเห็นชาวบ้านร้านตลาดใช้สมาร์ทโฟน เห็นเด็กๆ บ้านนอกจะได้ใช้แท็บเล็ต เห็นพ่อแม่ผ่อนมอเตอร์ไซค์ให้ลูกๆ ขี่ไปโรงเรียน พวกดัดจริตก็จะบ่นว่า "ชาวไร่ชาวนาทุกวันนี้ถูกวัตถุนิยม-บริโภคนิยมครอบงำ" เวลาเห็นคนจนอยากรวย อยากมีเงิน ก็จะพร่ำสอนว่า "ทำไมไม่รู้จักพอเพียง" 

สังคมดัดจริตเป็นสังคมของคนกลุ่มน้อย แต่เข้าถึงและคลุกคลีกับคนมีอำนาจได้ง่าย คนในสังคมดัดจริตไม่เชื่อในเสียงส่วนใหญ่ ไม่เห็นความดีของคนอื่น ไม่เห็นหัวชาวบ้าน มองว่าคุณความดีแบบตนเองเท่านั้นที่ดีที่สุด และพยายามควบคุมกำกับให้ชีวิตคนอื่นดัดจริตแบบพวกตน 

วัฒนธรรมดัดจริตเป็นอำนาจนิยมในเชิงวัฒนธรรม เป็นการสร้างชนชั้นทางสังคมด้วยคำพูดสวยหรู วัฒนธรรมดัดจริตเป็นวัฒนธรรมของสังคมที่มีความรู้สูง รู้หลักการดีๆ ของสังคมโลกสมัยใหม่ แต่วัฒนธรรมดัดจริตไม่ได้เคารพคุณค่าสากลของหลักการดีๆ เหล่านั้น วัฒนธรรมดัดจริตจึงนำเอาหลักการสากลเหล่านั้นมารับใช้สังคมแคบๆ ของตนเท่านั้น

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การดีเบตระหว่างนักเรียนกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่หน้ากระทรวงฯ เมื่อวาน (5 กย. 63) ชี้ให้เห็นชัดว่า หากยังจะให้คนที่มีระบบคิดวิบัติแบบนี้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ก็จะยิ่งทำให้การศึกษาไทยดิ่งลงเหวลึกไปยิ่งขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ประเด็น "สถาบันกษัตริย์" ในประเทศไทยปัจจุบันไม่ใช่เรื่องศีลธรรมและไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึก แต่เป็นเรื่องของสถาบันทางการเมืองและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองไทย ถ้าไม่เข้าใจตรงกันแบบนี้ก่อนก็จะไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ฟัง/อ่านข้อเสนอของนักศึกษา/ประชาชนที่เสนอในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปีนี้ผมอายุ 52 ผมคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าพ่อแม่เสียไป ผมจะดัดแปลงบ้านที่อยู่มายังไง จะรื้ออะไร ย้ายอะไร ผมไม่มีลูก ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อสังเกตจากการแถลงของ ผบทบ. ล่าสุด แสดงการปัดความรับผิดชอบของผู้นำกองทัพไทยอย่างเห็นได้ชัดดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียสละกับการรักษาหลักการมักถูกนำมาใช้อ้างหรือมากกว่านั้นคืออาจมีส่วนใช้ในการตัดสินใจ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้