Skip to main content

สังคมไทยมีสังคมแบบหนึ่งที่แทรกซ้อนอยู่ในสังคมขนาดใหญ่ คือสังคมดัดจริต สังคมดัดจริตไม่ได้มีขนาดใหญ่โต แต่เป็นสังคมของคนชั้นกลางและคนใหญ่คนโตที่กำลังเสื่อมอำนาจ สังคมดัดจริตคอยผลิตวัฒนธรรมดัดจริตเพื่อทำให้ตนเองดูดีมีหลักการ เพื่อให้ตนเองอยู่เหนือคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีจริตจะดัด และเหนืออื่นใดคือเพื่อปกป้องฐานะอำนาจของตนเอง 

ตัวอย่างล่าสุดของความดัดจริต คือการลุกขึ้นมาปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกกรณีที่ละครทีวี "เหนือเมฆ 2" ถูกงดฉายกระทันหัน แต่หากเราพิจารณาความดัดจริตกรณีอื่นๆ เราจะพบแบบแผนบางอย่างของปรากฏการณ์ที่ผมเรียกว่าวัฒนธรรมดัดจริต

(1) วัฒนธรรมดัดจริต มักอ้าง "หลักการ" เพื่อปกป้อง "หลักกู" วัฒนธรรมดัดจริตอาศัยหลักการงดงามสวยหรูเพื่อทำลายศัตรูคู่ตรงข้าม เพื่อให้ตนเองดูดี อยู่เหนือคนอื่นด้วยถ้อยคำแถๆ

เวลาพวกดัดจริตละเมิดกฎหมาย (เช่น หนีทหาร หรือเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีส่วนในการสั่งการให้ใช้กระสุนจริงสลายการชุมนุมจนมีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บมากมาย) ก็จึงทำได้อย่างไม่มียางอาย เพราะในที่สุดเขาจะสามารถใช้วาทศิลป์แถหลักการใดๆ มาปกป้องตนเองได้เสมอ เพื่อให้ตนเองดูดี พ้นผิดในสายตาพวกดัดจริตด้วยกันเอง  (เช่นแถว่าตนไม่ได้เป็นคนทำหลักฐานปลอม ไม่เห็นต้องรับผิดชอบเรื่องหนีทหาร หรือแถว่านายกรัฐมนตรีไม่เห็นต้องรับผิดชอบเมื่อมีคนตายในการสลายการชุมนุมขณะที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่) 

(2) วัฒนธรรมดัดจริต จะไม่นำหลักการสวยหรูไปใช้กับทุกๆ เรื่องกับทุกๆ คนที่ประสบปัญหาเดียวกัน วัฒนธรรมดัดจริตจะใช้หลักการนั้นเฉพาะเมื่อตนเองถูกละเมิด ที่เห็นได้ชัดคือ พวกดัดจริตจะไม่ใช้หลักการนั้นกับคนจน กับคนที่ด้อยอำนาจกว่า กับคนที่ไม่มีใครปกป้อง เพราะวัฒนธรรมดัดจริตมองไม่เห็นหัวคนเหล่านั้น

เวลาที่พวกดัดจริตเดือดร้อนเรื่องการเซ็นเซอร์ละคร พวกเขาจึงไม่ได้กำลังเดือดร้อนกับการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออกโดยทั่วๆ ไป จริงๆ หรอก เพราะที่ผ่านมา ไม่เห็นพวกเขามาต่อสู้ให้กรณีอื่นๆ พวกดัดจริตไม่พร้อมที่จะปกป้องสิทธิในการแสดงออกในทุกๆ เรื่องอย่างเป็นสากล (universal) หรอก ไม่ใช่ว่าพวกเขาขี้ปอด แต่เพราะพวกเขาพร้อมที่จะปกป้องสิทธิในกรณีที่กระทบกับตนเอง หรือกรณีที่สามารถใช้แซะฝ่ายตรงข้ามกับตนเองได้เท่านั้น

เวลาที่พวกดัดจริตวิจารณ์นโยบายรถคันแรก พวกเขาไม่ได้ห่วงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ห่วงเรื่องวินัยการคลัง ไม่ได้ห่วงเรื่องการกระจายรายได้หรอก พวกเขาหงุดหงิดว่ามีคนมาแย่งใช้ถนนที่รถ 3-4 ค้นที่พวกเขาครอบครองอยู่ก่อนแล้วมากกว่า หรือไม่พวกดัดจริตก็หงุดหงิดว่าตนไม่ได้โอกาสในการครอบครองรถเอาไว้ไปจ่ายตลาดอีกคันนึงเท่านั้นเอง

เวลาพวกดัดจริตแสดงท่าทีเดือนร้อนเรื่องสิทธิมนุษยชน พวกเขาไม่ได้กำลังเดือนร้อนเรื่องสิทธิมนุษยชนหรอก แต่พวกเขาเดือดร้อนที่พรรคพวกของเขาถูกละเมิดสิทธิ พวกดัดจริตจึงเลือกให้รางวัลกับคนกลุ่มหนึ่ง มองไม่เห็นว่านักสิทธิมนุษยชนในสังคมที่ต่อสู้เพื่อคนถูกละเมิดคือใครกันแน่ พวกดัดจริตมองไม่ออกว่าการละเมิดชีวิตในกรณีสลายการชุมนุม ปี 52-53 การละเมิดเสรีภาพในร่างกายกรณีนักโทษการเมือง นักโทษคดี ม. 112 โดยรัฐบาลที่เป็นพรรคพวกของเขา และการละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก เช่นกรณี ม. 112 เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไร

(3) วัฒนธรรมดัดจริต คิดไม่รอบด้าน เข้าใจปัญหาด้านเดียว มักวกวนกลับมาคิดเข้าข้างตนเอง เนื่องจากปัญหาใหญ่คือ พวกดัดจริตไม่รู้ว่าตนเองไม่รู้อะไร ก็เลยขยันคิดขยันอยากทำงานบนความเข้าใจคับแคบของตนเอง (อย่างที่บางคนเรียก "โง่แต่ขยัน")

เวลาที่พวกดัดจริตเดือดร้อนเรื่องการบุกรุกป่า พวกเขาไม่ได้ต้องการปกป้องป่า พวกเขาต้องการปกป้องอำนาจในการดูแลป่ามากกว่า พวกเขาไม่เคยต้องการเข้าใจเรื่องการใช้ป่าของผู้คนที่อาศัยอยู่กับป่า ไม่เข้าใจว่าคนสามารถอยู่กับป่าได้ แต่เวลาพวกเขาเอาป่าไปดูแล ก็กลับเอาป่าไปให้สัมปทาน แล้วป่าก็หมดทุกที

แต่พวกดัดจริตจะชอบคนแบบนี้ พวกเขาจะชอบคนที่ดูขึงขัง ต้องการแก้ปัญหา ดูมีท่าทีเสียสละ แม้ว่าคนพวกนั้นจะไม่ได้เข้าใจปัญหาอย่างรอบด้าน แต่พวกนั้นก็มักได้ใจพวกดัดจริต กี่ครั้งต่อกี่ครั้งแล้วที่เราได้คนพวกนั้นมาทำงานรับใช้พวกดัดจริต แล้วคนพวกนั้นก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้จริงจังสักที แต่กลับก่อปัญหาอื่นต่อไปเรื่อยๆ 

(4) วัฒนธรรมดัดจริต มักกระจุกตัวอยู่ในหมู่ผู้มีอำนาจและชนชั้นกลางระดับบน พวกเขาต่อสู้ทางการเมืองด้วยคะแนนเสียงแล้วพ่ายแพ้ แต่อาศัยที่พวกเขามีวาทศิลป์ และมีปากมีเสียงดังกว่าคนส่วนใหญ่ 

พวกดัดจริตคุมสื่อมวลชนกระแสหลัก พวกเขาไม่ได้ต้องการครอบงำควบคุมคนส่วนใหญ่ พวกเขาเพียงคุมความคิดความอ่านของผู้มีอำนาจ กล่อมเกลาให้คนถือปืนเชื่อฟัง ชักจูงให้คนตัดสินความเป็นความตายผู้อื่นเอนเอียงหลงเชื่อ ป้อยอให้คนลงนามในเอกสารสำคัญๆ คล้อยตามพวกเขาได้ แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว พวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องให้คนส่วนใหญ่ดัดจริตตามพวกเขา เพราะพวกเขาไม่เชื่อในคะแนนเสียงส่วนใหญ่ เท่ากับคุณความดีแบบดัดจริตของพวกเขา

(5) วัฒนธรรมดัดจริต อ้างว่าวัฒนธรรมตนเท่านั้นที่เป็นวัฒนธรรมคนดี มองว่าหลักศีลธรรมของตนเองเท่านั้นที่ดีที่สุด นอกจากไม่เห็นหัวชาวบ้านแล้ว พวกดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรมดัดจริตจึงมักอยากควบคุม ปกครองชาวบ้าน ในนามของความรักความเห็นใจชาวบ้าน 

เวลาชาวบ้านต้องการเรียกร้องความเป็นธรรม เรียกร้องประชาธิปไตย พวกดัดจริตจะบอกว่า "พวกเธอยังยากจนอยู่ ไม่รู้หรอกว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงเป็นอย่างไร" 

พวกดัดจริตชอบใช้วิถีชีวิตตนเองเป็นมาตรฐานวัดความสูงต่ำของชีวิตคนอื่น เวลาเห็นคนจนกินเหล้า ก็จะว่า "จนแล้วไม่น่าโง่เอาค่าข้าวค่ายามาสิ้นเปลืองไปกับค่าเหล้า"

แต่พวกดัดจริตก็รับไม่ได้หากชาวบ้านจะมีความกินอยู่ทัดเทียมกับตนเอง เวลาเห็นชาวบ้านร้านตลาดใช้สมาร์ทโฟน เห็นเด็กๆ บ้านนอกจะได้ใช้แท็บเล็ต เห็นพ่อแม่ผ่อนมอเตอร์ไซค์ให้ลูกๆ ขี่ไปโรงเรียน พวกดัดจริตก็จะบ่นว่า "ชาวไร่ชาวนาทุกวันนี้ถูกวัตถุนิยม-บริโภคนิยมครอบงำ" เวลาเห็นคนจนอยากรวย อยากมีเงิน ก็จะพร่ำสอนว่า "ทำไมไม่รู้จักพอเพียง" 

สังคมดัดจริตเป็นสังคมของคนกลุ่มน้อย แต่เข้าถึงและคลุกคลีกับคนมีอำนาจได้ง่าย คนในสังคมดัดจริตไม่เชื่อในเสียงส่วนใหญ่ ไม่เห็นความดีของคนอื่น ไม่เห็นหัวชาวบ้าน มองว่าคุณความดีแบบตนเองเท่านั้นที่ดีที่สุด และพยายามควบคุมกำกับให้ชีวิตคนอื่นดัดจริตแบบพวกตน 

วัฒนธรรมดัดจริตเป็นอำนาจนิยมในเชิงวัฒนธรรม เป็นการสร้างชนชั้นทางสังคมด้วยคำพูดสวยหรู วัฒนธรรมดัดจริตเป็นวัฒนธรรมของสังคมที่มีความรู้สูง รู้หลักการดีๆ ของสังคมโลกสมัยใหม่ แต่วัฒนธรรมดัดจริตไม่ได้เคารพคุณค่าสากลของหลักการดีๆ เหล่านั้น วัฒนธรรมดัดจริตจึงนำเอาหลักการสากลเหล่านั้นมารับใช้สังคมแคบๆ ของตนเท่านั้น

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ... 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้