ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ผมไม่ได้รู้จักอาจารย์พัฒนาเป็นการส่วนตัว ไม่ได้ร่วมศึกษาสถาบันเดียวกับท่านเหมือนนักวิชาการไทยหลายๆ ท่าน ไม่เคยร่วมงานวิชาการกับท่านโดยตรง แต่ใครก็ตามที่ทำงานทางวิชาการในสายสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางมานุษยวิทยา และใครก็ตามที่อยู่แวดวงไทยศึกษา ย่อมรู้จักชื่อพัฒนา กิติอาษา
ด้วยวัย 45 ปี กล่าวได้ว่าอาจารย์พัฒนาเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ผู้หนึ่ง ที่มุ่งมั่นที่จะมีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการมานุษยวิทยาของภูมิภาคนี้และของโลก การศึกษาสังคมอีสานบ้านเกิดของอาจารย์พัฒนาภายใต้การฝึกฝนกับชาร์ลส์ คายส์ (Charles Keyes) นักมานุษยวิทยาอเมริกันผู้เข้าออกอีสานมากกว่านักวิชาการไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้ทำให้ท่านเป็นเพียงนักมานุษยวิทยาพื้นถิ่นที่เพียงนำเสนอข้อมูลต่อวงวิชาการโลก หากแต่อาจารย์พัฒนายังนำเสนอภาพความเข้าใจอีสานด้วยทัศนะของท่านเอง และจากมุมมองของกลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้เป็นที่สนใจในแวดวงไทยศึกษามากนัก
ที่สำคัญคือการศึกษาคนงานอีสานในสิงคโปร์ ซึ่งชี้ให้สภาพชีวิตและการต่อสู้ของลูกอีสานยุคโลกาภิวัตน์ และผลงานล่าสุดชิ้นหนึ่งที่ทำความเข้าใจการต่อสู้ทางการเมืองของชาวอีสาน ว่าแสดงความเป็นตัวของตัวเองของชาวอีสานเอง หาใช่ว่าชาวอีสานเป็นเพียงเบี้ยที่ถูกนักการเมืองหลอกใช้ ภาพชาวอีสานดังกล่าวเพิ่มพูนความเข้าใจสังคมไทยและการต่อสู้ดิ้นรนของสามัญชนให้โลกวิชาการสังคมศาสตร์ ผู้มีอำนาจ และสาธารณชนทั่วไปอย่างยิ่ง
อาจารย์พัฒนาเป็นนักวิชาการไทยในจำนวนน้อยคนที่เลือกเส้นทางทางวิชาการที่ยากลำบาก ด้วยการก้าวออกไปสู่เวทีวิชาการนานาชาติ แม้จังหวะก้าวของท่านจะออกไปในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจในโลกวิชาการตะวันตกเริ่มตกสะเก็ด หางานยาก แต่ท่านก็ยังได้ตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาที่ก้าวหน้าในทางวิชาการมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย
การก้าวไปสู่เวทีนานาชาติเรียกร้องความเข้มงวดทางวิชาการและความสามารถเป็นอย่างยิ่ง เหนือสิ่งอื่นใด ยังเรียกร้องความอุตสาหะในการดำเนินชีวิตในต่างแดน ที่ทั้งไร้ถิ่นฐานและไร้ญาติขาดมิตร อาจารย์พัฒนาเคยเล่าว่า ส่วนหนึ่งของการไปศึกษาชาวอีสานพลัดถิ่นในสิงคโปร์ ก็เพื่อชดเชยความคิดถึงบ้านด้วยเช่นกัน
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ ที่ผมทำงานอยู่ มีโอกาสได้ฟังคำบรรยายพิเศษของอาจารย์พัฒนาครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 อาจารย์พัฒนาเล่าชีวิตการเป็นนักมานุษยวิทยาในประเทศที่แทบไม่ต้องการวิชามานุษยวิทยา ผมบันทึกไว้ตอนหนึ่งดังนี้
"ดร.พัฒนาเล่าว่า ไม่ใช่ว่าไม่มีนักมานุษยวิทยาในสิงค์โปร ตัวเขาเองก็เป็นตัวอย่างอยู่แล้ว เพียงแต่จำนวนนักมานุษยวิทยาในสิงค์โปร น้อยมาก มีไม่เกิน 10 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวสิงคโปร์เองไม่ถึง 5 คน ไม่มีสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา คณะ ภาควิชาทางมานุษยวิทยา นักมานุษฯ เหล่านี้สังกัดอยู่ในสถาบันต่างๆ ที่ไม่ได้ระบุชื่อเกี่ยวกับมานุษยวิทยา เช่น ในภาควิชาภูมิศาสตร์ หรือภาควิชาด้านภูมิภาคศึกษา นักมานุษฯ ทั้งชาวสิงค์โปร และชาวต่างชาติมักไม่ได้เก็บข้อมูลในพื้นที่ประเทศสิงคโปร์...
"ดร.พัฒนาอธิบายว่า ที่เป็นดังนี้เพราะสิงค์โปร เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ วิชามานุษยวิทยาไม่ทำเงิน และช่างตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ วิพากษ์รัฐ เข้าข้างคนยากไร้มากเกินไป รัฐจึงไม่สนับสนุน...
"ดร.พัฒนาเล่าว่า แล้วตัวเขาเองเป็นนักมานุษฯ อยู่ในสิงค์โปร ได้อย่างไร เขาเขียนบทความ พิมพ์ผลงานเกี่ยวกับประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องคนอีสาน และภายหลังได้รู้จักคุ้นเคย ผูกมิตรกับชาวอีสานที่ไปทำงานในสิงค์โปร จนได้ผลิตผลงานออกมาอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนั้น เขายังเป็นคนหลักในการพานักศึกษาทั้งสิงค์โปร และจากโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติ (NUS) กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกา ยุโรป พานักศึกษาไปประเทศไทย และประเทศในอินโดจีน"
ค่ำวันนั้น ผมมีโอกาสได้ไปสังสรรค์กับท่าน ชวนท่านไปกินข้าวที่ร้านอาหารของสามัญชนที่ควรเคารพและน่าคบหาท่านหนึ่งย่านอรุณอัมรินทร์ ร่วมกับเพื่อนนักมานุษยวิทยาที่สนิทกันอีกสามคน อาจารย์พัฒนาตื่นเต้นกับทั้งอาหาร การได้คารวะเจ้าของสถานที่ และมื้ออาหารที่แสนสนุกเย็นนั้นมาก เรื่องที่เราคุยกันก็ล้วนเป็นเรื่องที่เจ้าของสถานที่เรียกว่า "กับแกล้มในวงเหล้า"
ที่ผมประทับใจอาจารย์พัฒนาคือจริตสามัญที่แสดงออกจากความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา และเหนืออื่นใดคือ ยอมรับความตายที่กำลังเดินเข้ามาอย่างสงบเย็น คำพูดที่ผมคิดว่าแสดงความเป็นตัวตนของอาจารย์พัฒนาได้ดีคือคำพูดหนึ่งที่ท่านกล่าวไว้ในการเสวนาที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร บันทึกไว้ว่า
"ช่วงสุดท้ายของการไปพูดที่คณะสังคมวิทยาฯ มธ. เมื่อปีก่อน หลังจากที่พูดเรื่องความตายของคนอื่นจบแล้ว อาจารย์ก็พูดถึงชีวิตของตัวเองอย่างหยิกแกมหยอกว่า "ถ้าเป็นพวก medical anthro (นักมานุษยวิทยาการแพทย์) ก็จะถามแต่ว่า "why meๆๆๆๆๆๆๆ?"... แต่ผมไม่ถามอย่างนั้น ผมถามว่า "why can't it be me?" (ทำไมจะถึงคราผมบ้างไม่ได้ล่ะ)"