Skip to main content

 

แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 

 
ไม่ว่าจะเรื่องอะไร เมื่อใครมาว่าเมืองไทยอย่างไร เรามักปฏิเสธ แถมยังขอให้เขาเข้าใจเราให้ถูกต้อง เรียกร้องหรือกระทั่งประท้วงให้เขายกเลิกคำพูดเหล่านั้น เช่น ฟอร์บว่าพระมหากษัตริย์ไทยเป็นกษัตริย์ที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลก เราดีเฟนว่าไม่ถูก ไม่จริง (ทีอย่างนี้ทำไมจึงไม่ภูมิใจกันก็ไม่ทราบ) ทั่วโลกประณามการตัดสินจำคุก 10 ปีสมยศ พฤกษาเกษมสุข เราบอกว่าทั่วโลกไม่เข้าใจความเป็นไทย ประเทศหนึ่งในยุโรปเอาพระพุทธรูปไปประดับประตูห้องน้ำสาธารณะ คนไทยบอกทำร้ายจิตใจชาวพุทธ (ไม่เห็นชาวพุทธธิเบต อินเดีย จีน ลาว พม่า ซึ่งเคร่งครัดกว่าเรามากนักจะว่าอะไรเลย) จนกระทั่งกรณีโปรแกรมสอนภาษาล้อเลียนว่าไทยเป็นเมืองโสเภณี เราบอกทำภาพลักษณ์ไทยเสื่อมเสีย 
 
อะไรที่ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งเดือดร้อนกับคำพูดเหล่านั้น ความเห็นเหล่านั้นวางอยู่บนความเข้าใจชนิดไหนกัน ส่วนหนึ่งของปัญหานี้จึงไม่ใช่ปัญหาข้อเท็จจริง แต่ระบบคิดต่างหากที่เป็นปัญหา
 
ข้อแรก ผมคิดว่าคนไทยที่โกรธ โกรธเพราะคิดแบบฝรั่งเรื่อง "รัฐ-ชาติ" ในโลกทัศน์ของ "จินตกรรมรัฐ-ชาติ" ประเทศชาติถูกมองว่าเสมือนปัจเจกคนหนึ่ง ระบบคิดนี้ไม่ได้มีเพียงในวิธีคิดทางรัฐศาสตร์ แต่ยังอยู่ในวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ อยู่ในวิธีคิดทางสังคม ที่ทำให้ "คนไทย" กลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันไปหมด ยิ่งในโลกปัจจุบัน เป็นภาวะโลกาภิวัตน์ ผู้คนติดต่อกันข้ามชาติด้วยจินตกรรมว่า แต่ละประเทศเป็นปัจเจกบุคคลที่คบค้าติดต่อกัน 
 
ในระบบคิดแบบนี้ อย่าว่าแต่ "เรา" จะมองว่าเราเป็นเสมือนคนคนเดียวกันทั่วประเทศเลย "เขา" ก็มองว่าเราเป็นคนคนเดียวกันทั่วประเทศเช่นกัน ทั้งเราทั้งเขาต่างเหมารวม เวลาที่เขาล้อเลียนคนไทย เราก็เกิดเดือดร้อนไปด้วย ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ว่าเราที่เป็นตัวเราในชีวิตประจำวันสักหน่อย แต่เราที่เป็นตัวตนชาติเกิดเป็นเดือดเป็นร้อนขึ้นมา
 
ข้อที่สอง คนที่เดือดร้อน ที่จริงไม่ได้เดือดร้อนกับปัญหา แต่เดือดร้อนกับหน้าตาของ "พวกเขา" เท่านั้นมากกว่า เวลาที่ "เรา" ปกป้องภาพลักษณ์ของประเทศ "เรา" น่ะคือใครกัน เราปกป้องภาพลักษณ์ของใครกันแน่ หรือว่า "เรา" เหล่านั้นปกป้องภาพลักษณ์ของ "พวกคุณเองบางคนบางกลุ่ม" มากกว่าจะปกป้อง "เรา" ทั้งหลาย 
 
"เรา" "คนไทย" (แบบพวกคุณ) ไม่อยากให้ใครมาด่าทอดูถูกว่า วิธีที่เราแสดงความรักพระประมุข เป็นวิธีการที่ป่าเถื่อน ด้วยการลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์และบิดเบือนหลักความยุติธรรม
 
"เรา" "คนไทย" (แบบพวกคุณ) เหล่านั้นปกป้องภาพเหล่า "คนดี" ปกป้องแต่หน้าตาของชนชั้นกลาง ชนชั้นนำมากกว่าคนทั้งหลาย คนทั้งประเทศแค่นั้นหรือเปล่า 
 
"เรา" "คนไทย" (แบบพวกคุณ) จึงรักชาติสุดใจอย่าให้ใครมาว่าไทยเป็นเมืองกะหรี่
 
ประการต่อมา เราไม่เพียงปฏิเสธภาพลักษณ์เลวร้ายที่ต่างชาติป้ายสีเรา แต่เรายังปฏิเสธที่จะตรวจสอบตนเองว่า มีอะไรทำให้เราถูกมองอย่างนั้น มันง่ายกว่าที่จะปฏิเสธและต่อต้านสิ่งที่คนอื่นเขาวิจารณ์เรา แต่มันยากที่จะตรวจสอบว่า เราทำอะไรให้เขาวิจารณ์ 
 
ทำไมเขาจึงจัดพระมหากษัตริย์เราว่าเป็นกษัตริย์ที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลก ก็ไปดูในกฎหมายสิ ว่าเขากำหนดให้ใครเป็นผู้ตัดสินใจที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินได้ แล้วถ้าไม่ใช่ "เจ้าของ" แล้ว ใครจะทำได้ ทำไมทั่วโลกเขาถึงประณามการตัดสินคดีสมยศ ก็เพราะนานาอารยะชนเขาเห็นว่า การปล่อยให้ตีพิมพ์ข้อเขียนวิจารณ์ใครที่ไม่ได้ระบุชื่อ ไม่อาจทำร้ายใครได้ และไม่ได้จำเป็นต้องมีโทษจำคุกราวอาชญากรร้ายแรงถึง 10 ปีไง
 

ทำไมชาวโลกเขาถึงมองว่าเราเป็นเมืองโสเภณี ก็เพราะว่าเราเป็นไง ก็เพราะเราไม่เคยพยายามแก้ปัญหานี้อย่่างจริงจังไง ก็เพราะเราไม่มีปัญญาหาอาชีพที่ดีกว่านี้แล้วรายได้สูงเท่านี้ให้คนจำนวนมากได้ไง ก็เพราะส่วนหนึ่งของรายได้จากต่างประเทศของเราในอันดับต้นๆ มาจากการค้ากามไง ก็เพราะเรามือถือสากปากถือศีลไง 

ก็เพราะเราไม่ยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาไงว่า ก็ถ้าใครจะหารายได้ด้วยการขายบริการทางเพศแล้วทำไมคนอื่นต้องเดือดร้อนด้วย จิ๋มก็ของเขา จู๋ก็ไม่ใช่ของเรา จะเอามือไปอุดไว้ได้อย่างไร จะเอามาใส่ใจเราทำไม
 
ข้อสุดท้าย เวลาที่เราเรียกร้องให้ใครเขาเข้าใจเราอย่างถูกต้องตรงตามความจริง แล้วเราล่ะ เคยเข้าใจใครต่อใครเขาอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงหรือเปล่า เราเคยตรวจสอบวิธีมองคนอื่นของเราบ้างหรือเปล่า ไหนจะดูถูกคนลาว ไหนจะสร้างภาพยนตร์ส่งเสริมให้รังเกียจประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ สรุปคือเราก็ไม่ได้เข้าใจเขาพอๆ กับที่เขายังไม่เข้าใจเรานั่นแหละ
 
กับสังคมอเมริกันเหมือนกัน พวกคุณที่ด่าทอคนอเมริกัน แล้วบอกว่าอเมริกันฟรีเซ็กส์น่ะ ไม่มีที่ไหนในอเมริกาที่คุณจะหาซื้อบริการทางเพศตามท้องถนนได้ง่ายดายแบบในประเทศไทยหรอกนะ หรือถ้าคุณเที่ยวไปชวนใครตามท้องถนนไปสมสู่ด้วยล่ะก็ ถ้าไม่ถูกตบคว่ำ ก็คงเพราะไปเจอคนสุภาพที่สุดในอเมริกาเข้า ซึ่งเขาก็จะไปพาตำรวจมาจับคุณส่งโรงบำบัดจิตแน่ 
 
ในปัจจุบัน การศึกษาทางสังคมวิทยาได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การร่วมเพศไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการสืบเผ่าพันธ์ุเป็นหลักอีกต่อไป ลองถามตัวคุณเองที่ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ก็แล้วกัน ว่าคุณมีเพศสัมพันธ์เพื่อความบันเทิงหรือเพื่อการสืบเผ่าพันธ์ุ 
 
ฉะนั้นผมว่าดีออกที่ใครจะนึกถึงเมืองไทยว่าเมืองแห่งการร่วมเพศ เพราะมันคือความเป็นจริงของการมีเพศสัมพันธ์ในโลกปัจจุบัน และที่น่าภูมิใจคือ ภาษาไทยก็จะกลายเป็นภาษาโลกในสนามของความสุขทางเพศ ก็แล้วจะให้ผู้คนทั่วโลกเรียนภาษาไทยไปเพื่ออะไรกัน ถ้าไม่ใช่เพื่อมาหาความสุขทางเพศ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์