Skip to main content

ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรอกครับที่บรรดาคนที่หมุกมุ่นอยู่กับปัญหาการเติบโตของประชากรส่วนมากแล้วเป็นคนผิวขาวฐานะร่ำรวยที่พ้นวัยเจริญพันธุ์ไปแล้ว เพราะมันเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเพียงเรื่องเดียวที่โทษพวกเขาไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น เจมส์ เลิฟล็อค นักวิทยาศาสตร์ด้านระบบโลกผู้หลักแหลม กล่าวไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า ‘คนที่มองไม่เห็นว่าการเติบโตของประชากรและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน ถ้าไม่ขาดความรู้ก็ถูกบังตาจากความจริง ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่หลวงสองอย่างนี้แยกจากกันไม่ได้ เป็นเรื่องไร้สาระถ้าจะพูดถึงเรื่องหนึ่งโดยไม่พูดถึงอีกเรื่องหนึ่ง’[1] แต่เลิฟล็อคเองนั่นแหละครับที่ขาดความรู้และไร้สาระ

บทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Environmental and Urbanization แสดงให้เห็นว่าสถานที่ที่ประชากรเติบโตอย่างรวดเร็วคือที่ที่ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นช้าที่สุด และในทางกลับกันก็ด้วย เช่น ระหว่างปี 1980-2005 ประเทศในทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮาราผลิตประชากรร้อยละ 18.5 ของอัตราการเติบโตของประชากรโลก แต่กลับปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นแค่ร้อยละ 2.4 ขณะที่ทวีปอเมริกาเหนือมีประชากรเพิ่มขึ้นแค่ร้อยละ 4 แต่กลับปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 ประชากรเกิดใหม่ร้อยละ 63 อยู่ในที่ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยที่สุด[2]

แค่นั้นยังไม่พอ บทความยังชี้ให้เห็นอีกว่าประชากร 1 ใน 6 ของโลกมีฐานะยากจน จนแทบไม่ได้มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเลย คนกลุ่มนี้ยังเป็นกลุ่มคนที่มีอัตราเติบโตของประชากรสูงที่สุดด้วย ครอบครัวในอินเดียที่มีรายได้น้อยกว่า 3,000 รูปีต่อเดือน ใช้ไฟฟ้า 1 ใน 5 ของอัตราการใช้ไฟฟ้าต่อหัว และใช้พลังงานเชื้อเพลิงเพียง 1 ใน 7 ของครอบครัวที่มีรายรับ 30,000 รูปีต่อเดือนขึ้นไป คนไร้บ้านแทบไม่ได้ใช้ไฟฟ้าเลย ส่วนคนที่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยขยะรีไซเคิล (ชนชั้นจัณฑาลที่อาศัยอยู่ในเมืองจำนวนมาก) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าที่จะปล่อยก๊าซเสียเอง

ว่ากันแบบแฟร์ๆ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก ซึ่งเรามักจะโบ้ยความผิดให้กับประเทศยากจน จริงๆ แล้วควรมาจากพวกเรากันเองมากกว่า ตัวอย่างเช่น การเผาก๊าซทิ้งโดยบริษัทส่งออกน้ำมันจากไนจีเรียผลิตก๊าซเรือนกระจกมากกว่าแหล่งอื่นๆ ทั้งหมดในทวีปแอฟริกาตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารารวมกัน[3] กระทั่งการตัดไม้ทำลายป่าในประเทศยากจนส่วนใหญ่แล้วก็เป็นผลมาจากกิจกรรมเชิงพาณิชย์ในการส่งไม้แปรรูป เนื้อ และสัตว์ไปป้อนผู้บริโภคในประเทศที่ร่ำรวย คนยากจนในชนบททำลายโลกน้อยกว่าเรามากนัก[4]

เดวิด แซทเทิรธ์ไวท์ (David Satterthwaite) จากสถาบันนานาชาติเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (IIED) เจ้าของบทความนี้ชี้ว่า สมการเก่าแก่ที่ใช้สอนนักเรียนนักศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนา ซึ่งกำหนดให้ผลกระทบทั้งหมดเท่ากับจำนวนประชากร x ความมั่งคั่ง x เทคโนโลยี (I = PAT) เป็นสมการที่ผิด ผลกระทบทั้งหมดควรคำนวณด้วยสมการ I = CAT คือผู้บริโภค x ความมั่งคั่ง x เทคโนโลยี คนในโลกส่วนมากใช้น้อยจนไม่ปรากฏในสมการนี้ พวกเขาคือกลุ่มคนที่มีลูกมากกว่าใครเพื่อน

ในขณะที่สภาวะโลกร้อนกับการเติบโตของประชากรมีความสัมพันธ์กันน้อยมาก สภาวะโลกร้อนกับความมั่งคั่งกลับสัมพันธ์กันอย่างเข้มข้น ผมได้ไปดูเรือสำราญมาสองสามลำ เพราะต้องหาที่รับรองบรรดานักการเมืองในสไตล์ที่พวกเขาคุ้นเคย ครั้งแรก ผมไปดูแปลนเรือของบริษัท Royal Falcon Fleet รุ่น RFF135 แต่ทันที่พบว่ามันกินน้ำมันแค่ 750 ลิตรต่อชั่วโมง ผมก็คิดได้ว่าแค่นี้คงยังไม่ทำให้ลอร์ดแมนเดลสันพอใจ ที่ไบร์ทตัน ผมอาจประหลาดใจนิดหน่อยกับเรือ Overmarine Mangusta 105 ที่กินน้ำมันถึง 850 ลิตรต่อชั่วโมง แต่ลำที่ผมสะดุดตาจริงๆ คือเรือของบริษัท Wally Yachts ในโมนาโก เรือรุ่น WallyPower 180 (ซึ่งทำให้พวกคนงี่เง่ารู้สึกมีอำนาจดีเหลือเกิน) กินน้ำมัน 3,400 ลิตรต่อชั่วโมงขณะแล่นด้วยความเร็ว 60 น็อต หรือเฉลี่ยเกือบหนึ่งลิตรต่อวินาที พูดอีกอย่างได้ว่ามันใช้น้ำมัน 31 ลิตรต่อกิโลเมตร

ครับ เพื่อให้งานนี้ว้าวที่สุด ผมจะต้องควักเงินซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม้สักและไม้มะฮอกกานี พกเจ็ตสกีและเรือดำน้ำลำน้อยไปสักสองสามลำ ส่งแขกไปยังท่าจอดเรือด้วยเครื่องบินและเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัว เลี้ยงพวกเขาด้วยซูชิบลูฟินทูน่า ไข่ปลาเบลูก้าคาเวียร์ และเหยียบเรือสุดคูลลำนี้แหวกทะเลจนชนสัตว์น้ำสักครึ่งเมดิเตอร์เรเนียน ในฐานะเจ้าของหนึ่งในเรือยอชท์เหล่านี้ ผมจะสร้างความเสียหายให้กับระบบชีวภาพในเวลา 10 นาที มากกว่าที่ชาวแอฟริกันส่วนใหญ่ทำทั้งชีวิต

มิตรสหายท่านหนึ่งที่ชอบออกไปพบปะกับบรรดามหาเศรษฐีเล่าให้ผมฟังว่า ในย่านที่อยู่อาศัยของนายธนาคารทางตอนล่างของลุ่มน้ำเทมส์ มีบางคนควบคุมอุณหภูมิของสระน้ำนอกบ้านให้อุ่นเท่าน้ำในอ่างอาบน้ำอยู่ตลอดทั้งปี พวกเขาชอบนอนในสระน้ำและมองดวงดาวบนท้องฟ้าในคืนฤดูหนาว พลังงานที่คนเหล่านี้ใช้มีมูลค่า 3,000 ปอนด์ต่อเดือน คนหนึ่งแสนคนที่ใช้ชีวิตเหมือนนายธนาคารกลุ่มนี้น่าจะทำลายระบบสนับสนุนชีวิตได้รวดเร็วกว่าคน 10 ล้านคนที่ใช้ชีวิตเหมือนชาวนาแอฟริกัน แต่พวกมหาเศรษฐีก็ยังพอมีดีอยู่บ้างตรงที่พวกเขาไม่ออกลูกกันมากเกินไปนัก ดังนั้น ผมว่าเราปล่อยให้พวกคนรวยผิวขาวพูดพร่ำถึงเรื่องการเจริญพันธุ์ของมนุษย์ไปก็แล้วกัน

ในปี 2009 หนังสือพิมพ์ The Sunday Times จั่วหัวบทความชิ้นหนึ่งว่า “Billionaire Club in Bid to Curb Overpopulation” บทความนี้เผยว่า “มหาเศรษฐีชั้นนำของอเมริกาบางคนแอบพบกันลับๆ” เพื่อตกลงกันว่าพวกเขาควรสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมอันไหนกันแน่ “ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าจะสนับสนุนยุทธศาสตร์ในการต่อสู้กับการเติบโตของประชากรเนื่องจากเห็นว่ามีโอกาสที่จะเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อธรรมชาติ สังคม และอุตสาหกรรม”[5] พูดอีกอย่างก็คือ คนมหารวยเหล่านี้ตกลงกันว่าพวกคนมหาจนต่างหากที่กำลังทำลายโลกอยู่ ฟังแล้วก็ไม่รู้จะสรรหาคำไหนมาอธิบายดี

เจมส์ เลิฟล็อค รวมถึงเซอร์เดวิด แอทเท็นโบรห์และโจนาธาน พอร์ริตต์ เป็นผู้อุปถัมภ์องค์กร Optimum Population Trust (OPT) ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาโครงการและกิจกรรมการกุศลที่มีเป้าหมายหลัก คือการจูงใจให้คนไม่มีลูกเพื่อช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ผมยังไม่เคยเจอโครงการที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อรับมือกับผลกระทบของพวกคนร่ำคนรวยเลยสักอันเดียว

คนที่หมกมุ่นกับปัญหาประชากรอาจแย้งว่า คนที่มีลูกเร็วขึ้นในทุกวันนี้อาจกลายเป็นคนรวยสักวันหนึ่งก็ได้ แต่ในขณะที่มหาเศรษฐีต่างกอบโกยส่วนแบ่งมหาศาลเข้ากระเป๋าและทรัพยากรที่เหลือก็มีแต่ร่อยหลอลงทุกที โอกาสของคนยากจนส่วนใหญ่ก็ยิ่งลดน้อยลง การช่วยให้ผู้คนจัดการการเจริญพันธุ์ของตัวเองนั้นสมเหตุสมผลในทางสังคม แต่ไม่สมเหตุสมผลในทางสิ่งแวดล้อมเลย เว้นแต่ในกรณีการเจริญพันธุ์ในหมู่ประชากรที่ร่ำรวย

องค์กร Optimum Population Trust เลี่ยงที่จะกล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ว่าโลกกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านในแง่ของประชากร กล่าวคือการเติบโตของประชากรในทุกๆ ที่กำลังลดลง ตามรายงานของวารสาร Nature ตัวเลขของประชากรน่าจะถึงจุดสูงสุดในศตวรรษนี้[6] อยู่ที่ราว 1 หมื่นล้านคน[7] โดยการเติบโตส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในกลุ่มประชากรที่แทบไม่ได้บริโภคอะไรเลย

แต่ไม่มีใครเฉลียวใจถึงการเปลี่ยนแปลงในแง่ของการบริโภคสักนิด คนมีลูกน้อยลงเมื่อรวยขึ้น  แต่พวกเขาไม่ได้บริโภคน้อยลง แต่กลับยิ่งบริโภคมากขึ้น พฤติกรรมของพวกมหาเศรษฐีแสดงให้เห็นว่ามนุษย์นั้นฟุ้งเฟ้อได้ไม่สิ้นสุด คาดการณ์ได้ว่าการบริโภคคงจะเพิ่มขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจไปจนกว่าระบบชีวภาพจะถึงขีดจำกัด ใครก็ตามที่เข้าใจเรื่องนี้แล้วยังคิดว่าปัญหาสำคัญคือเรื่องประชากร ไม่ใช่การบริโภค ก็คงเป็นอย่างที่เลิฟล็อคว่าไว้ คือ “ถูกบังตาจากความจริง” ไม่มีระบบคุณพ่อรู้ดีไหนจะเลวร้ายยิ่งไปกว่าการโบ้ยความผิดให้คนจนเพื่อผลประโยชน์ของคนรวย

แล้วไหนล่ะครับขบวนการต่อต้านคนรวยระยำที่ทำลายระบบสิ่งมีชีวิต ไหนล่ะคือการท้าทายซึ่งหน้าเพื่อต่อต้านเรือสำราญและเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว ไหนล่ะสงครามชนชั้นในเวลาที่เราต้องการ

นี่เป็นช่วงเวลาที่เราต้องกล้าพูดชื่อปัญหาออกมาดังๆ ปัญหาไม่ใช่เรื่องเซ็กส์ แต่เป็นเรื่องเงิน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่คนจน แต่เป็นคนรวย.

29 กันยายน 2009

* แปลจาก George Monbiot, 'Population Myth', How Did We Get Into This Mess? (2017)



[1] Optimum Population Trust, 26th August 2009, ‘Gaia Scientist to be OPT Patron’, populationmaters.com.

[2] David Satterthwaite, September 2009, ‘The Implications of population Growth and Urbanization for Climate Change’ Environment and Population, vol. 21, no. 2, eausagepub.com.

[3] Friends of the Earth International, June 2005, Gas Flaring in Nigeria: A Human Rights, Environmental and Economic Monstrosity, maanystavat.fi.

[4] ยกตัวอย่างเช่น แซทเทิรธ์ไวท์อ้างงานวิจัยของ Gerald Leach and Robin Mearns, 1989, Beyond the Woodfuel Crisis: People, Land and trees in Africa, Earthscan Publications, London.

[5] John Harlow, 24 May 2009, ‘Billionaire Club in Bid to Curb Overpopulation’, The Sunday Times.

[6] Wolfgang Lutz, Warren Sanderson and Sergei Scherbov, 20 January 2008, ‘The Coming Acceleration of Global Population Ageing’, Nature, vol. 451, pp. 716-19, nature.com.

[7] United Nations Department of Economic and Social Affairs, 2005, ‘World Population Prospects: The 2004 Revision’, un.org.

 

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บิตคอยน์จะเป็นอย่างไรต่อไป
Apolitical
 กระบวนการทำให้เป็นดิจิทัลได้เปลี่ยนโฉมหน้าวิธีการที่เราใช้สื่อสาร บริหารจัดการ ปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนย้าย และค้าขายแลกเปลี่ยน และตอนนี้ก
Apolitical
เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา