Skip to main content

ทุนนิยมจะอยู่รอดได้ก็ด้วยรัฐสวัสดิการ
---------------------

แต่เราต้องปฏิรูปรัฐสวัสดิการเพื่อรับมือกับสังคมสูงอายุและการย้ายถิ่น

ในปกรณัมของทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา รัฐสวัสดิการคือภารกิจของสังคมนิยม ทว่าจริงๆ แล้วส่วนใหญ่ๆ ของมันกลับเป็นมรดกตกทอดทางภูมิปัญญาของเสรีนิยม วิลเลียม เบฟเวอริชจ์ (William Beveridge) ผู้ออกแบบและวางรากฐานให้กับรัฐสวัสดิการแบบอังกฤษไม่ได้ต้องการใช้อำนาจรัฐเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของรัฐเอง แต่มุ่งสร้างความมั่นคงให้กับประชาชน ให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตตามที่ตนต้องการได้ นักปฏิรูปแนวเสรีนิยมเชื่อว่ารัฐสวัสดิการจะเกื้อหนุนตลาดเสรีอย่างเป็นประชาธิปไตยด้วยการการันตีว่าประชาชนจะไม่ต้องเผชิญความเสี่ยงบางประการอันเป็นผลจากการทำลายเชิงสร้างสรรค์ (creative destruction)

ล่วงเวลาหลายทศวรรษนับตั้งแต่เบฟเวอริชจ์ตีพิมพ์รายงานชิ้นสำคัญในปี 1942 รัฐสวัสดิการกระจายตัวในวงกว้าง ขยายใหญ่โต ซับซ้อนขึ้น แต่ก็มักได้รับความนิยมน้อยลงด้วย ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลจากปัจจัยหลายประการ แต่สาเหตุประการหนึ่งคือการที่รัฐสวัสดิการมักเบี่ยงเบนออกจากหลักการฐานรากที่ต้องยึดไว้ให้มั่น นั่นคือเสรีนิยม

เมื่อเริ่มร่ำรวยเงินทอง ประเทศต่างๆ ก็มีแนวโน้มจะใช้รายได้ของประเทศไปกับบริการและประโยชน์สาธารณะเพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายด้าน ‘ความคุ้มครองทางสังคม’ อาทิ เงินบำนาญ ประกันการว่างงาน และเงินช่วยเหลือสำหรับคนยากคนจนในประเทศที่ร่ำรวยเพิ่มสูงขึ้นจากเฉลี่ยร้อยละ 5 ของ GDP ในปี 1960 เป็นร้อยละ 20 ในปัจจุบัน หากรวมกับงบประมาณด้านสาธารณสุขและการศึกษา รายจ่ายดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว สำหรับบางคน เท่านี้ก็เป็นเหตุผลเพียงพอแล้วให้เราต้องปฏิรูปรัฐสวัสดิการ

แต่สิ่งที่รัฐสวัสดิการทำอาจมีความสำคัญมากกว่าค่าใช้จ่ายมหาศาล รัฐสวัสดิการควรพยายามเปิดโอกาสให้ปัจเจกชนสามารถตัดสินใจเลือกได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าด้วยการสนับสนุนให้พ่อแม่ผู้ปกครองกลับไปทำงานเช่นในสแกนดิเนเวีย การจัดสรรงบประมาณส่วนบุคคลเพื่อให้ผู้พิการได้เลือกสิ่งที่พวกเขาต้องการเองเช่นที่เกิดขึ้นในอังกฤษ หรือการสร้างบัญชีออนไลน์เพื่อการเรียนรู้เพื่อให้คนว่างงานสามารถพัฒนาทักษะใหม่ๆ ได้เช่นในสิงคโปร์

คนทุกคนจำเป็นต้องมีให้พอเพื่อจะใช้ชีวิตต่อไป หลายคนที่หลุดออกมาจากตลาดงานหรือคนที่ทำงานในเศรษฐกิจแบบ Gig Economy ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด และบ่อยครั้งเหลือเกินที่ความช่วยเหลือที่มีให้กับคนจนมักโหดร้าย ไม่เพียงพอ ยัดเยียดให้ตามอำเภอใจ หรือชวนสับสน ในประเทศร่ำรวยบางประเทศ คนว่างงานต้องเผชิญกับอัตราภาษีส่วนเพิ่มมากกว่าร้อยละ 80 ทันทีที่กลับมามีงานทำเพราะสูญเสียสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไป

การปฏิรูปรัฐสวัสดิการใดๆ ก็ตามทำให้เราตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกระหว่างต้นทุนของนโยบายหนึ่งๆ กับผลลัพธ์ที่มีต่อความยากจนและแรงจูงใจในการทำงาน ไม่มีนโยบายใดที่สมบูรณ์แบบ แต่พื้นฐานที่ดีอย่างหนึ่งคือนโยบายคืนภาษีคนจน (Negative Income Tax) ซึ่งช่วยอุดหนุนคนทำงานที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ขณะเดียวกันก็จัดเก็บภาษีจากคนที่มีรายได้มากกว่าเกณฑ์ขึ้นไป เราสามารถประยุกต์ใช้นโยบายนี้ร่วมกับการประกันรายได้ขั้นต่ำให้กับคนทุกคน วิธีนี้นับเป็นช่องทางที่ค่อนข้างเรียบง่ายและมีประสิทธิภาพมากกว่าในการแก้ไขปัญหาความยากจนโดยไม่ทำลายแรงจูงใจในการทำงานตราบที่อัตราภาษีไม่สูงจนเกินไป

อย่างไรก็ดีการปฏิรูปเองต้องเผชิญความท้าทาย 2 ประการซึ่งไม่ได้สร้างความกังวลให้เบฟเวอริชจ์เท่าใดนัก หนึ่งคือสังคมผู้สูงอายุ คาดการณ์ว่าในประเทศที่ร่ำรวย สัดส่วนของคนวัยทำงานเมื่อเทียบกับคนสูงวัยจะลดลงจาก 4:1 ในปี 2015 เหลือ 2:1 ในปี 2050 และเมื่อคนส่วนใหญ่ของประเทศเป็นผู้สูงอายุ รายจ่ายสวัสดิการก็จะเอนเอียงไปเอื้อประโยชน์ให้กับผู้สูงอายุมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนต่างรุ่น การตัดสิทธิประโยชน์ส่วนที่ไม่จำเป็นที่สุดสำหรับผู้สูงอายุและขยายอายุเกษียณออกไปน่าจะสมเหตุสมผล

ความท้าทายที่สองคือการย้ายถิ่น ปัจจุบันแนวคิด ‘รัฐสวัสดิการแบบเลือกปฏิบัติ’ กำลังแพร่กระจายไปทั่วยุโรป แนวคิดนี้สนับสนุนรัฐสวัสดิการที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่คนยากคนจนท้องถิ่น แต่ปฏิเสธสวัสดิการสำหรับผู้อพยพ ฝ่ายประชานิยมเสนอว่าหากผู้อพยพจากประเทศยากจนย้ายมาสู่ประเทศร่ำรวยได้อย่างเสรี คนเหล่านี้จะทำให้รัฐสวัสดิการล่มสลาย ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งแย้งว่านโยบายการย้ายถิ่นอย่างเสรีต้องอาศัยการจำกัดช่องทางในการเข้าถึงรัฐสวัสดิการ พูดอีกอย่างคือเป็นการสร้างกำแพงล้อมรัฐสวัสดิการ ไม่ใช่การล้อมประเทศ ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าชาวยุโรปท้องถิ่นไม่มากนักที่ต้องการตัดสิทธิ์การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพแบบเร่งด่วนสำหรับผู้อพยพและไม่ยอมให้ลูกหลานของพวกเขาได้เรียนหนังสือ แต่ข้อจำกัดในแง่สิทธิประโยชน์ทางรายได้เช่นที่เกิดขึ้นแล้วสหรัฐฯ และเดนมาร์กอาจเป็นสิ่งจำเป็น

นักคิดเสรีนิยมอย่างเบฟเวอริชจ์ตระหนักดีว่าหนทางที่ดีที่สุดในการชักชวนให้คนหันมาสนับสนุนตลาดเสรี คือการทำให้พวกเขามีส่วนได้ส่วนเสียกับมันให้มากขึ้น รัฐสวัสดิการจึงต้องเป็นมากกว่าการแจกรองเท้าหรือซุปให้กับคนยากคนจนและสร้างความมั่นคงให้กับคนชรา ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย รัฐสวัสดิการยังเป็นหัวใจสำคัญของทุนนิยมอีกด้วย.

ถอดความจาก The Economist. "Capitalism needs a welfare state to survive". Retrieved from https://www.economist.com/leaders/2018/07/12/capitalism-needs-a-welfare-state-to-survive?fsrc=scn/fb/te/bl/ed/capitalismneedsawelfarestatetosurvivebacktobasics

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 17 ประชาธิปไตยกับภาวะปกครองไม่ได้ (Democracy and Ungovernability)
Apolitical
บทที่ 16 เสรีนิยมรูปแบบใหม่ (New Liberalism)
Apolitical
บทที่ 15 ประชาธิปไตยในความสัมพันธ์กับสังคมนิยม (Democracy as It Relates to Socialism)
Apolitical
บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)