Skip to main content

เราเขียนบันทึกสั้นๆ นี้ในโอกาสสอนหนังสือเข้าสู่ปีที่สาม และเป็นบทสะท้อนที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับนักเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา

เรามีโอกาสได้ทบทวนตัวเองจริงจังอยู่พักใหญ่ มีหลายเรื่องทำได้ดีขึ้น หลายเรื่องที่ยังผิดพลาด หลายอย่างที่พยายามปรับเปลี่ยนและปรับปรุง และหลายเรื่องที่ยังยืนยันและดันทุรังทำด้วยความเชือแบบเดิมๆ

หลังๆ นักเรียนน่าจะจับทางได้หมดแล้วว่าเรามีคำตอบในใจเสมอเวลาจะสอนอะไรและถามอะไร ซึ่งนั่นเป็นทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดี

สำหรับบางคน คำตอบในใจเป็นอุปสรรค สำหรับบางคน คำตอบในใจเป็นสิ่งที่ชวนให้คิดให้สงสัย สำหรับบางคน คำตอบในใจคือสิ่งที่กระตุ้นให้เรียนรู้

เรายอมรับเสมอว่ายังอยู่ห่างไกลจากครูที่ดีมาก อย่างน้อยก็ในความหมายว่าเป็นคนที่เปิดกว้างเพราะเชื่อว่า 'ไม่มีอะไรผิดอะไรถูก'

เราไม่เคยพูดคำนั้นกับนักเรียน

มีแน่ๆ ที่ไม่ถูกเท่าไหร่ มีแน่ๆ ที่ถูกได้มากกว่านี้ มีแน่ๆ ที่ค่อนข้างผิด แต่ผิดแล้วจะเป็นไรไป?

เราเชื่อเองลึกๆ ว่าหลายเรื่องในชีวิต หลายเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตของผู้คนในสังคม เราต้องกล้าเสนอว่าบางอย่างถูกกว่า บางอย่างไม่ถูกนัก คำตอบที่ถูกร้อยเปอร์เซนต์ตลอดเวลาอาจจะไม่มี แต่เพื่อปรับปรุงพัฒนา เราอาจจำต้องกล้าพูดว่าบางอย่างเป็นปัญหาและบางอย่างควรกว่าที่จะทำ

ครูจำเป็นต้องมีคำตอบในใจ แต่ที่สำคัญที่สุด คือต้องชี้ให้เห็นว่าเราได้คำตอบในใจนั้นมาด้วย 'เหตุผลและวิธีคิด' อย่างไร

ในการเรียนรู้ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเชิงคุณค่า เราอาจจำเป็นต้องถูกบังคับให้คิด ให้อ่าน ให้ฟัง แต่ไม่จำเป็นต้องให้เชื่อ

การเขียนคำตอบที่ถูกต้องและตรงใจราวกับท่องจำมา แต่ไม่ได้แสดงกระบวนการให้เหตุผลและวิธีคิดที่ 'ควร' จะเป็น จึงเป็นปัญหากว่าการเสนอคำตอบที่ไม่ตรงใจนัก แต่ผ่านการให้เหตุผลและวิธีคิดที่เป็นระบบพอ

สำหรับบางคน การ 'เสนอ' ข้อมูลและคำตอบที่เรามีก็เพียงพอแล้วจะทำให้รู้สึกว่าถูก 'บังคับ' ให้รู้ 'ชี้นำ' ให้เข้าใจในเรื่องที่เราอยากให้เข้าใจ

เรื่องจำเป็นจึงอาจอยู่ที่การย้ำเสมอและแสดงให้เห็นว่าคำตอบที่เรามีอาจไม่ใช่คำตอบที่เขามี แต่เพื่อจะมีคำตอบอื่นๆ ที่แตกต่างและมีคุณภาพ การ 'คิด' 'ท้าทาย' และ 'ถูกท้าทาย' เป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้

คิดอย่างไรสำคัญกว่าคิดอะไร คำตอบที่แย่ไม่ใช่เพราะตอบผิด แต่เพราะไม่ได้ผ่านวิธีคิดที่ดีกว่า

แต่จะรู้ได้ยังไงว่าสิ่งที่เราเชื่อมันดีกว่าจริง วิธีคิดของเราดีกว่าจริงๆ?

สำหรับผู้สอน ควบคู่ไปกับการกล้าเสนอสิ่งที่เราเชื่อ เราจึงอาจจำเป็นต้องกล้าให้พวกเขาท้าทาย

'เถียงสิ อย่าเชื่อที่ใครบอกง่ายๆ และสงสัยเสมอเวลามีใครเล่าเรื่องอะไรให้เราฟัง' คือบทเรียนแรกๆ ในวิชาประวัติศาสตร์ไทย 1

ช่วงเวลาที่เราเรียนรู้มากที่สุดและมีประสิทธิภาพที่สุดในชีวิตมักไม่ใช่จังหวะที่เราเออออ จดตาม และพยักหน้าตามสิ่งที่ใครพูดให้ฟัง แต่คือวินาทีที่เราเริ่มหงุดหงิด สงสัย ไม่เชื่อ และพยายามหาคำตอบ คำอธิบาย ด้วยวิธีการอื่นๆ

คนที่สอนเรามากที่สุดอาจไม่ใช่คนที่เราเห็นคล้อยตามด้วยเสมอไป คนที่สอนผมมากที่สุดคือครูบาอาจารย์ที่เราเถียงกันหน้าดำหน้าแดง ทั้งในและนอกห้องเรียน 

สำหรับผู้เรียน จงอย่าหยุดความไม่พอใจนั้นไว้ที่ข้างใน แต่พยายามออกไปหาคำตอบด้วยตัวเราเอง ด้วยวิธีการอื่นๆ

เป็นคุณในรูปแบบที่ดีขึ้น

และเราเคารพกันได้โดยไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน.

บล็อกของ Apolitical

Apolitical
บทที่ 17 ประชาธิปไตยกับภาวะปกครองไม่ได้ (Democracy and Ungovernability)
Apolitical
บทที่ 16 เสรีนิยมรูปแบบใหม่ (New Liberalism)
Apolitical
บทที่ 15 ประชาธิปไตยในความสัมพันธ์กับสังคมนิยม (Democracy as It Relates to Socialism)
Apolitical
บทที่ 14 เสรีนิยมกับประชาธิปไตยในอิตาลี (Liberalism and Democracy in Italy)