Skip to main content

 

ผมเข้าใจว่าสำหรับบรรดาภาพยนตร์ที่ทำโดยชาวตะวันตกเกี่ยวกับราชสำนักไทย  คนไทยร่วมสมัยน่าจะรู้จัก  Anna and The King  ฉบับปี 1999 ที่แสดงโดย โจเหวินฟะ และโจดี  ฟอสเตอร์เป็นอย่างดี เพราะความโด่งดังจากการเป็นภาพยนตร์ต้องห้ามสำหรับรัฐบาลไทยมาตั้งแต่ไม่ยอมอนุญาตให้ทีมงานใช้เมืองไทยเป็นสถานที่ถ่ายทำ ทำให้ทีมงานต้องไปใช้มาเลเซียแทน ด้วยการมีคนไทยเพียงคนเดียวที่มีหน้าที่ให้คำปรึกษาซ้ำร้ายตัวละครซึ่งเป็นชาวมาเลเซียที่พูดไทยไม่ได้เลยทำให้ประโยคที่พูดแต่ละคำชวนน่าขบขันและจวนเจียนจะเป็นภาพยนตร์ตลกแบบจักรๆ วงศ์ ๆ ไป การที่รัฐบาลไทยยังห้ามไม่ให้มีการนำเอาหนังเรื่องนี้เข้ามาฉายในประเทศก็เลยทำให้คนไทยต้องไปหาดูผ่านดีวีดีเถื่อนที่แม่สายหรือไปหาค้นหาเอาเองในอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าเสียดายยิ่งนักว่าทำให้เราไม่ทราบว่าฝรั่งมองเราอย่างไร  อย่างไรก็ตามภาพยนตร์ที่บทความนี้ต้องการนำเสนอก็คือเรื่อง The King and I  ซึ่งถูกสร้างเมื่อปี 1956 และมีความประณีต โด่งดังกว่า Anna and The King มากมาย แต่ก็ถูกทางการไทยในยุคนั้นสั่งห้ามฉายอีกเช่นกัน น่าเสียดายที่คนไทยสมัยนั้น (ถ้าเทียบเป็นพ.ศ.ก็คือพ.ศ. 2506) ไม่มีโอกาสได้ดูแม้แต่ดีวีดี ยกเว้นต้องบินไปดูที่อเมริกาเพียงอย่างเดียว ทำไมหนังทำนองนี้ไม่ว่าฉบับไหนถึงได้เป็นหนังต้องห้ามสำหรับชาวไทย ? ลองมาดูกันว่าเหตุใด The King and I ที่เคยเป็นละครเพลงที่มีสีสันมากที่สุดเรื่องหนึ่งสำหรับฮอลลีวูด (เช่นสามารถคว้ารางวัลออสก้าไปถึงห้ารางวัลในงานประกวดของปีนั้น)  แต่กลับกลายเป็นสีดำมากที่สุดสำหรับทางการไทย ?

 

 

 

      (ภาพจากเว็บ  www.doctormacro.com) 

 

    The King and I สร้างมาจากหนังสือนวนิยายชื่อ Anna and The King of Siam (ตีพิมพ์ 1944) ของมาร์กาเร็ต แลนดอน เป็นชีวิตของบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์นั้นคือนางแอนนา ลีโอโนแวนส์ (มีชีวิตช่วงระหว่างปี1831-1915) แม่หม้ายชาวอังกฤษผู้นำบุตรชายคือดช.หลุยส์ไปเป็นครูสอนหนังสือในพระราชวังของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือรัชกาลที่ 4 ในสมัยนั้นกรุงสยามกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อด้วยถูกแรงกดดันจากมหาอำนาจจากตะวันตกให้เปิดประเทศ ดังเช่นสยามต้องทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ใน พ.ศ. 2398 เพื่อเปิดเสรีทางการค้าซึ่งส่งผลให้รัชกาลที่ 4 เมื่อขึ้นครองราชย์จะต้องเตรียมการหลายอย่างเพื่อตอบรับกับภัยเช่นนี้เช่นการให้การศึกษาแก่พระโอรสและพระธิดาซึ่งหนึ่งในนั้นคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ  รัชกาลที่ 5   ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจอะไรที่นางแอนนาซึ่งมาเป็นพระอาจารย์ของรัชกาลที่ 5  ในวัยเยาว์จะอ้างถึงอิทธิพลของตนที่มีต่อพระองค์จากสมุดบันทึก และหนังสือของเธอซึ่งแน่นอนว่าจะเป็นข้อมูลสำหรับหนังสือของแลนดอน มิชชันนารีผู้เคยใช้ชีวิตช่วงหนึ่งในเมืองไทย กระนั้นนักประวัติศาสตร์ในยุคหลังก็ได้พยายามค้นคว้าและเปิดโปงชีวิตของเธอและพบว่ามีอยู่หลายจุดที่เธอตั้งใจะเขียนเกินจริงเพื่อให้ตัวเองดูดีกว่าเดิม เช่นแอนนาอ้างว่าเธอเกิดที่แคว้นเวลส์ แต่ว่าความจริงเธอเกิดที่อินเดียหาได้เพิ่งย้ายไปยังอินเดียเมื่ออายุ 15 ปีดังที่อ้างไม่ หรือว่าสามีคนแรกของเธอก็ไม่ใช่นายทหารดังที่อ้างหากเป็นเพียงเสมียนธรรมดาๆ คนหนึ่งเท่านั้น และรัชกาลที่ 4  หาได้ทรงมีพระสิเน่หาต่อเธอมากมายดังที่ปรากฎในนวนิยายหรือในหนังไม่ และที่สำคัญซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงการประวัติศาสตร์ว่า นางแอนนามีอิทธิพลมากน้อยเพียงไหนต่อองค์รัชทายาทในยุคนั้นคือเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ จริงหรือที่เธอได้แนะนำหนังสือเกี่ยวกับชีวิตทาสที่แสนเศร้าคือกระท่อมน้อยของลุงทอม (Uncle Tom's Cabin)  ที่แสนโด่งดังในอเมริกาจนกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ในการเลิกทาสเมื่อพระองค์ทรงได้เป็นพระมหากษัตริย์ในหลายปีต่อมา ?  กระนั้นถ้าหากมองประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์จะพบว่าแรงจูงใจในการเลิกไพร่กับทาสของรัชกาลที่ 5 มีเรื่องความพยายามรวมศูนย์อำนาจอำนาจและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเกี่ยวข้องด้วยอย่างมาก จึงน่าจะทำให้อิทธิพลของ “กระท่อมน้อยของลุงทอม” เป็นปัจจัยที่แสนเบาบางหรือว่าไม่มีเอาเสียเลย

       ก่อนหน้านี้หนังสือของแลนดอนถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ขาวดำที่มีชื่อเดียวกันมาก่อนในปี 1946 ที่กำกับโดยจอห์น ครอมเวลล์ นางเอกหรือนางแอนนาคือไอรีน ดันน์และคนแสดงเป็นรัชกาลที่ 4  คือเร็ก แฮร์ริสัน ผู้รับบทชายโสดที่เกลียดการแต่งงานในหนังเรื่อง “บุษบาริมทาง” (My Fair Lady) การประสบความสำเร็จของหนังคงจะดึงดูดให้คู่หูคนดังคือริชาร์ด ร็อดเจอร์สและออสก้า แฮมเมอร์สไตน์ที่ 3 เจ้าของผลงานชื่อดังเช่น Sound of Music และ South Pacific นำนวนิยายไปดัดแปลงเป็นละครเพลงบอร์ดเวย์ในปี 1951 ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอีกเช่นกัน ต่อมาละครก็ถูกโปรดิวเซอร์มือทองนำมาสร้างเป็นหนังสีธรรมชาติโดยมีพระเอกผู้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือหัวล้านเลี่ยนตลอดกาล คือยูล บรินเนอร์ที่เคยรับบทเป็นรัชกาลที่ 4  มาก่อนในละครบรอดเวย์ บิลเนอร์ยังมีอิทธิพลต่อหนังอย่างมากเช่นคอยชี้แนะผู้กำกับคือวัลเทอร์ แลงให้สามารถกำกับหนังจนจบ รวมไปถึงการผลักดันให้เดเบอร์ราห์ เคร์รนางเอกจากภาพยนตร์เรื่อง An Affair to Remember และ From Here to Eternity    มารับบทนางแอนนาในภาพยนตร์เรื่องนี้

    หนังเริ่มต้นโดยดำเนินเรื่องเหมือนกับหนังสือคือ นางแอนนาและเด็กชายหลุยส์เดินทางมาจากอังกฤษโดยเรือเพื่อเป็นครูสอนหนังสือในราชสำนัก (ทั้งคู่ร้องเพลง "I Whistle A Happy Tune") ต่อมาหนังก็ได้จะสร้างความตกตะลึงและเสียดแทงคนไทยที่ติดอยู่กับลัทธิราชาชาตินิยมอยู่ไม่น้อยเมื่อ The King and I นิยมใช้ธีมหลักคือเรื่องความรักแบบ Screwball comedy นั้นคือประเภทพ่อแง่ แม่งอน แน่นอนว่าหนังจะทำให้คนดูที่เป็นชาวตะวันตก (หรือแม้แต่คนไทยที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ว่า) เกิดความเชื่อว่าพระมหากษัตริย์สยามทรงตกหลุมรักแม่หม่ายชาวอังกฤษผู้หยิ่งยะโสและมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือสร้างความเจริญให้กับราชสำนักของประเทศเล็ก ๆ เช่นนี้แต่กว่าทั้งคู่จะมีใจให้กันได้ (ใน The King and I ดูไม่ชัดเจนนักเพียงแต่ให้ทั้งคู่เต้นรำด้วยกันอย่างร่าเริง และแอนนาได้บอกลูกชายของเธอว่าเธอชื่มชอบรัชกาลที่ 4 มาก แต่ใน Anna and The King เลยเถิดกว่ามากนั้นคือถึงขั้นเกือบจะจูบกัน) ก็ต้องมีการปะทะกันทางคารมและชัดเชิงเพราะความไม่เข้าใจกันหลายอย่าง ด้วยเหตุนี้กระมังผู้สร้างหนังจึงให้รัชกาลที่ 4 ทรงมีบุคลิกสองอย่างควบคู่กันไป นั้นคือเป็นกษัตริย์นักปราชญ์ พร้อม ๆ ไปกับกษัตริย์ผู้ดุดัน และเป็นเผด็จการ จะได้เกิดความขัดแย้งกับนางแอนนาซึ่งมีสุขุมแต่มีความเป็นตัวของตัวเองสูงไม่ยอมใคร สิ่งนี้ค่อนข้างจะสอดคล้องกับมุมมองของชาวตะวันตกในยุคต้นศตวรรษที่ 20 มีต่อชาวตะวันออกนั้นคือเห็นตัวเองว่ามีเหตุผล และเน้นความเสมอภาค ในขณะที่ชาวตะวันออกโดยเฉพาะกษัตริย์จะเป็นเผด็จการเน้นอำนาจ อารมณ์และกฏระเบียบ แน่นอนว่าในที่สุด ชาวตะวันตกเช่นนางแอนนาจะสามารถเอาชนะใจของกษัตริย์ตะวันออกได้ด้วยเหตุผลและความรู้ที่สูงส่งกว่าดังตอนที่นางแอนนาสอนให้รัชกาลที่ 4 ทรงเต้นรำแบบโปลกา (ตามเพลงที่เพราะที่สุดเพลงหนึ่งของเรื่องคือ  “Shall We Dance” )   ส่วนที่ดูเกินความจริงแบบออกทะเลคือตอนที่รัชกาลที่ 4 ทรงถามนางแอนนาว่า Et Cetera คืออะไร ? ทั้งที่รัชกาลที่ 4 ทรงออกผนวชร่วม  27 พรรษาและได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษกับภาษาละตินอย่างแตกฉานแต่ไม่ทราบความหมายของ คำว่า Et Cetera !?! และหนังก็ให้พระองค์ตรัสคำนี้ซ้ำไปซ้ำมาราวกับคนป่าที่เพิ่งเรียนรู้ภาษาของผู้เจริญแล้ว

    นอกจากนี้ที่น่าสนใจว่าผู้เป็นตัวกลางในการติดต่อกับนางแอนนาในช่วงต้นก็คือขุนนางผู้น่าเกรงขามอย่างเช่นพระยากลาโหม (คนอเมริกันแสดง) ซึ่งน่าจะมีเค้าโครงมาจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ขุนนางตระกูลบุนนางที่ทางอิทธิพลที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 4  จนถึงต้นรัชกาลที่ 5  ในหนังเขาดูร่างบึกบึนและมีอำนาจมากถึงขั้นเรียกได้ว่ากล้ายืนกอดอกต่อหน้าพระมหากษัตริย์ในขณะที่คนอื่นหมอบกราบกันหมด (ภาพยนตร์ทวิภพฉบับล่าสุดก็สร้างแก้ต่างให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุด ขุนนางไทยยุคนั้นไม่ผอมก็อ้วน ไม่ได้มีหุ่นดีอย่างนั้นและทุกคนก็ต้องหมอบต่อหน้าพระพักตร์พระมหากษัตริย์) แน่นอนว่าการทำให้นางแอนนาเข้าไปสัมผัสกับราชสำนักที่เต็มไปด้วยพระมเหสี หรือนางสนมรวมไปถึงพระโอรสและพระธิดาหลายสิบพระองค์ของรัชกาลที่ 4 (ที่ตัวผู้แสดงไม่ใช่คนไทย พูดไทยถูกๆ ผิดๆ ชนิดชวนน่าขบขันในสายตาคนไทยเหมือนกับเรื่อง Anna and The King) ย่อมทำให้คนดูตะวันตกเกิดความตื่นตาตื่นใจราวกับไปเยี่ยมชมฮาเร็มของสุลต่านก็ไม่ปาน ถึงแม้นางแอนนาจะเป็นคนอังกฤษแต่อย่าลืมว่าหนังทำโดยคนอเมริกันและให้คนอเมริกันดูก่อน แน่นอนว่าคนอเมริกันโดยเฉพาะในทศวรรษที่ 50 ย่อมนึกภาพไม่ออกว่าการมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนโดยไม่เรียกว่าอนุภรรยาหรือชู้นั้นเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับนางเอกในเรื่อง Sound of Music นางแอนนาได้ทำให้คนเหล่านั้นหลงรักเธออย่างไม่ยากด้วยการให้ความรักและการศึกษา เปิดหูเปิดตาให้กับพวกเขา (โดยร้องเพลง "Getting To Know You")  เช่นแนะนำแผนที่โลกแบบใหม่ หรือชุดแต่งกายของชาวตะวันตกที่ชาวราชสำนักไม่เคยเห็นมาก่อนจนไปถึงการแนะนำให้รู้ว่าหิมะเป็นอย่างไรและให้แง่คิดแก่เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์เกี่ยวกับการเลิกทาส รวมไปถึงการต่อต้านการมีภรรยาหลายคนและเทศนาลัทธิผัวเดียวเมียเดียวแก่รัชกาลที่ 4 กับชาววัง

 

       

     

             ภาพจาก  www.teachwithmovies.org

 

      ผู้ที่ทำให้หนังมีความเข้มข้นมากขึ้นคือเจ้าจอมทับทิมซึ่งเป็นเจ้าหญิงที่กษัตริย์แห่งพม่าทรงทูลถวายให้แก่รัชกาลที่ 4  เธอกลับไปรักใคร่บุรุษอีกคนนามว่าลุนตา ชายหนุ่มที่นำเธอมาถวาย เขายังคงเฝ้ารอเธออยู่ไม่ไกลจากราชวัง และแอบมาพลอดรักกับทับทิมอยู่บ่อยครั้ง (หนุ่มสาวร้องเพลง  "We Kiss in a Shadow") สุดท้ายลุนตาก็ปลอมตัวเป็นคนลากรถแอบพาเธอหนีออกไปจากวังแต่ก็ถูกจับได้ ชะตากรรมของคนทั้งคู่ทำให้คนดูฝรั่งนึกตำหนิรัชกาลที่ 4 ทั้งที่ความจริงแล้วยังไม่มีการยืนยันทางประวัติศาสตร์ได้ว่าเจ้าจอมทับทิมมีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ แต่ที่สารที่สื่อมากับหนังก็คือฮอลลีวู้ดก็ได้แสดงภาพเปรียบเทียบระหว่างความรักของชาวอเมริกัน (ชาวตะวันตก) ที่ขึ้นอยู่กับจำนงเสรีอันดูยิ่งใหญ่กว่าความรักของชาวสยาม (ตะวันออก) ที่ขึ้นอยู่กับอำนาจและหน้าที่ ในหนังสือของนางแอนนาระบุว่าทั้งคู่ถูกลงโทษโดยการเฆี่ยนและเผาทั้งเป็น (ซึ่งก็มีการโต้แย้งทางประวัติศาสตร์ได้ว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเพราะสยามประเทศไม่นิยมการประหารชีวิตคนโดยการเผาทั้งเป็น)  แต่ภาพยนตร์ดูเหมือนจะทำให้ดูนิ่มนวลกว่าเดิมคือเพียงประหารชีวิตลุนตา  นอกจากนี้เรื่องของเจ้าจอมทับทิมนี้ได้ทำให้เรื่องจบแบบไม่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์อย่างมากก็คือรัชกาลที่ 4 ทรงเกิดตรอมพระทัยจนเสด็จสวรรคตอาจเพราะไม่สามารถทนแรงกดดันจากการลงโทษเจ้าจอมทับทิมและคู่รัก อันสะท้อนว่าภาพยนตร์อาจต้องการยกย่องว่าพระองค์แท้ที่จริงเป็นคนดีคนหนึ่งแต่จำใจต้องทำตามราชประเพณี ตอกย้ำด้วยความอับอายอันเกิดจากการต่อว่าของแอนนา แต่ตามความจริงแล้วรัชกาลที่ 4 สวรรคตด้วยไข้ป่าเมื่อคราวเสด็จไปเยี่ยมชมสุริยคราสที่ตำบลหว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ 2411 และตามความเป็นจริงนางแอนนาก็ไม่ได้อยู่ในกรุงสยามตอนพระองค์สิ้นพระชนม์

    The King and I ย่อมถูกรัฐบาลไทยสั่งห้ามไม่ให้ฉาย และเมื่อ Anna and The King พบกับปรากฏการณ์นี้ซ้ำเข้าไปอีกย่อมก่อให้เกิดกระแสต้านของบุคคลบางกลุ่มที่มีหัวเสรีนิยมขึ้นด้วยเห็นว่าหนังก็คือหนัง การปิดกั้นจะทำไม่ให้เรารู้ว่าตัวหนังเป็นอย่างไร  ใกล้เคียง คาดเคลื่อนหรือบิดเบือนจากความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด (อันเป็นธรรมดาของรัฐไทยที่ไม่เคยมองเห็นว่าคนไทยเป็นคนที่มีเหตุผล) การสั่งห้ามฉายของทางการก็เกิดจากกระแสราชาชาตินิยมอันเหลือล้นที่มีอิทธิพลเหนือกลไกของรัฐไทยตั้งแต่ยุคนั้นจนถึงปัจจุบัน การตัดสินใจของรัฐจึงไม่ได้มองไปที่ไปว่าคนไทยมีเป็นคนมีเหตุผลเพียงพอที่จะแยกแยะความจริงออกจากหนังหรือไม่หากแต่มองตรงสื่อว่านำเสนอสอดคล้องกับลัทธิราชาชาตินิยมมากน้อยแค่ไหน พวกเขาเลยมองว่าถึงแม้จะไม่ใช่หนังเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน แต่ถือได้ว่ารัชกาลที่ 4  ทรงเป็นหนึ่งในภาพพจน์ของสถาบันกษัตริย์ที่มิอาจล่วงละเมิดได้ สำหรับกฎหมายมาตรา 112  ก็ใช้เกณฑ์เช่นนี้เหมือนกันแต่เพ้อเจ้อเลยไปถึงสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

    สำหรับผมแล้วได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วเห็นว่าไม่สามารถนำเอาคุณค่าทางประวัติศาสตร์มาประเมินได้เพราะมีโครงเรื่องที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่เสียหมด เหมือนกับหนังเรื่อง Amadeus การพูดหรือการแต่งกาย โดยเฉพาะฉากการแสดงโขน (?)  พร้อมเพลง"The Small House of Uncle Thomas" ที่รัชกาลที่ 4 ทรงจัดให้บรรดาทูตของต่างชาติได้เยี่ยมชมดูจะมีสีสันจัดจ้านไม่ตรงกับความเป็นจริงอย่างยิ่ง (สำหรับการแสดงดูแล้วเหมือนกับโมเดิร์น แดนซ์ประยุกต์กับโขนที่สร้างโดยคนไทยปัจจุบัน) โดยที่ผู้สร้างโดยเฉพาะ คือ ร็อดเจอร์สและ แฮมเมอร์สไตน์ ก็ประกาศไว้แล้วว่าจะสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ได้ดูความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ เพียงแต่ยืมชื่อมาเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ The King and I ก็คือลิเกร้องเพลงของฝรั่งนั้นเอง (หากเราให้นิยามว่าลิเกคือการสร้างสรรค์เรื่องราว การพูด ประเพณีของในวังโดยชาวบ้านที่คิดขึ้นมาเองด้วยไม่เคยไปในวังมาก่อน) ในเมื่อฝรั่งทำให้ฝรั่งด้วยกันเองดู จะมีคนอเมริกันในทศวรรษที่ 50 สักกี่รายที่จะรู้จักความเป็นจริงของกรุงสยามในยุคนั้นนอกจากพวกซีไอเอหรือพวกที่ทำงานกระทรวงการต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเทศในเอเชียช่วงสงครามเย็น

    The King and I จึงเป็นการสร้างภาพลวงที่เสมือนจริงของกรุงสยามและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าให้ชาวตะวันตกและชาวโลกได้รู้จัก เข้าใจว่าในยุคนั้นคงมีฝรั่งไม่น้อยที่เข้าใจว่าเมืองไทยมีช้างเดินกันขวักไขว่บนถนนเหมือนกับสุนัขจรจัด ดังแนวคิด Orientalism ของนักวัฒนธรรมนิยมผู้วายชนม์ไปแล้วคือเอ็ดเวิร์ด ซาอิดสามารถอธิบายสิ่งนี้ได้อย่างดีว่า "ชาวตะวันตกมองชาวตะวันออกจากภาพที่ตัวเองสร้างขึ้นมาและใช้อำนาจในการครอบงำให้ชาวตะวันออกเชื่อตามเช่น ชาวตะวันตกแข็งแรง/ชาวตะวันออกอ่อนแอ ชาวตะวันตกมีเหตุผล/ชาวตะวันออกไร้เหตุผล ฯลฯ" แน่นอนว่าคงมีคนตะวันออกหรือคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เผลอเชื่อในสิ่งที่ฝรั่งกำลังครอบหัวตนเพราะมันไม่ได้มีแค่ในหนังเรื่อง The King and I นี้เท่านั้น หากแฝงไปในทุกอณูของหนังฮอลลีวูดที่เราชอบกันนักกันหนาเลยละ กระนั้นผมยังมาคิดอีกว่าการปิดหูปิดตาไม่ยอมรับรู้อะไรเหมือนราชการไทยต่อหนังเรื่องนี้และอีกหลายๆ เรื่อง มันก็เลวร้ายไม่แพ้กันเพราะจะทำให้คนไทยหลงละเมออยู่กับเรื่องเล่าอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งถึงแม้จะไม่ระคายประสาทเหมือนกับที่ฝรั่งแต่งแต่ก็ทำให้เพ้อเจ้อจากการขยายความแต่งเติมไปกว่าหลายร้อยเท่าก็ไม่อาจรู้ได้

 

 

 

ขอโฆษณาหน่อยครับ

เนื่องจากคุณจอม เพชรประดับได้ให้ความกรุณาสัมภาษณ์ผมผ่านสไกป์ข้ามทวีปเมื่อเช้าวันหนึ่ง ว่างๆ ก็ลองคลิกไปดูได้ตามลิ๊งค์นี้นะครับ

ฉบับเกือบ 30 นาที

 

https://www.youtube.com/watch?v=MM4GkPL_P4o

 

ฉบับ 6 นาทีกว่า (คนละประเด็น)

 

https://www.youtube.com/watch?v=-xIvfhJoRjA

 

 

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    อุปรากรที่คนไทยน่าจะรู้จักไม่แพ้ Madame Butterfly ก็คือ Carmen ซึ่งเป็นอุปรากรฝรั่งเศสที่แต่งโดยคตีกวีที่เราไม่เคยคุ้นเคยนักและก็ไม่ถือว่าดังเหมือนเบโธเฟนหรือโมซาร์ทคือจอร์จ บิเซต์ เขาเน้นไปที่การแต่งอุปรากรและอุปรากรก็ดังแค่ไม่กี่เรื่อง แต่พฤติกรรมตัวเอกของ Carmen ทำให้อุปรากรเรื่อ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                               
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   Bicycle Thief เป็นภาพยนตร์ขาวดำสัญชาติอิตาลี ที่ออกฉายในปี 1948  และมักถูกจัดว่าเป็นตระกูลนวสัจนิยมหรือ Neo Realism ที่สะท้อนชีวิตของคนรากหญ้าเป็นหลัก   หากใครที่ไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยม ก็ลองไปดูภาพยนตร์สมัยทศวรรษที่ 10 และ 20 ของท่านมุ้ยเกี่ยวกับชีวิตของคนตัวเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อาชญากรรมและการลงทัณฑ์เป็นชื่อแปลมาจากภาษาอังกฤษคือ Crime and Punishment ซึ่งเป็นนวนิยายชิ้นเอกของนักเขียนนามอุโฆษชาวรัสเซียคือฟีออดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoevsky) ผู้มีชีวิตในช่วงระหว่างปี 1821 จนถึงปี 1881 เขาเป็นที่รู้จักอย่างดีในนวนิยายเรื่อง Brothers Karamazov ที่แสนจะยาวเหยียดและซับซ้อน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อพูดถึงอันโตนีโอ วิวัลดี (Antonio Vivaldi) คนก็ต้องนึกถึงเพลงยอดนิยมของเขาคือ Four Seasons หรือฤดูกาลทั้ง 4 (ต่อมา กลายเป็นชื่อโรงแรมอันอื้อฉาว) เป็นอันดับแรก ทั้งที่คีตกวีท่านนี้มีผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    เฮอร์มันน์ เฮสเส เป็นนักเขียนแนวจินตนิยม (Romanticism) และแนวอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ที่ประทับใจผมมาก เริ่มจากการถูกอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบังคับให้อ่านหนังสือของเขาที่คนไทยรู้จักกันดีคือ สิทธารถะ จากนั้นเมื่อได้อ่านเรื่องอื่นๆ ที่คนไทยคืออาจารย์สดใสแปลไม่ว่า ปีเตอร์คาเมนซิน &nb
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
แปลมาจากบทความของคุณอิลิซาเบท ชวาร์ม เกลสเนอร์  จาก www.w3.rz-berlin.mpg.de Symphony No.1, Op.21 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                                           
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์