Skip to main content

 

 Rear Window เป็นภาพยนตร์สีธรรมชาติ ผลงานของยอดบุรุษที่ไม่เคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทองสาขาผู้กำกับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเลยคืออัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (แต่ได้ยศเซอร์มานำหน้าและมีความยิ่งใหญ่กว่าผู้กำกับหลายคนที่ได้ตุ๊กตาทองเสียอีก) ผู้เคยฝากผลงานอันลือเลื่องมากับ Vertigo (1958) North by Northwest (1959)  Psycho (1960) หรือ Strangers on a Train ที่บล็อคนี้เคยเขียนถึงมาแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ถูกสร้างในปี 1954 ซึ่งถือว่าอยู่ในยุคทองหรือจุดสูงสุดของฝีมือการกำกับภาพยนตร์ของฮิตช์ค็อก โดยเป็นการดัดแปลงมาจากนวนิยายเรื่อง It had to be Murder ของคอร์เนลล์ วูลริช

 

                            

                                      ภาพจาก damndad.com

 

       ภาพยนตร์มีตัวเอกคือชายหนุ่มนามว่าบี เจ เจฟฟรีย์ส (เรียกสั้น ๆว่า เจฟ) นำแสดงโดยเจมส์ สจ๊วต ดาราซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในฮอลลีวูดเมื่อทศวรรษที่ 40 และ 50  ภาพยนตร์ที่ทำให้เขากลายเป็นอมตะก็ได้แก่ It's a Wonderful life และ Mr. Smith goes to Washington ที่กำกับโดยแฟรงค์ คาปรา  ในเรื่องนี้ เจฟมีอาชีพเป็นช่างกล้องที่บาดเจ็บและเข้าเฝือกที่ขาจนต้องนั่งๆ นอนๆ แกร่วอยู่แต่ในหอพักของตัวเอง ในช่วงนั้นเองเขาได้แต่ฆ่าเวลาอันน่าเบื่อโดยการเฝ้าดูพฤติกรรมของเพื่อนบ้านซึ่งอาศัยอยู่อพาร์ตเมนต์ตรงกันข้ามและได้พบกับเงื่อมงำอะไรบางอย่างที่ทำให้เชื่อว่าเพื่อนบ้านคนหนึ่งซึ่งมีอาชีพเป็นเซลล์แมนได้ฆาตกรรมภรรยาของตัวเองและเจฟก็ได้ผู้ช่วยคือแม่บ้านและแฟนสาวคือลิซ่าที่นำแสดงโดยเกรซ เคลลีย์ (ผู้โด่งดังเพราะไปแต่งงานกับเจ้าชายเรนีย์ที่ 3 แห่งโมนาโคแต่ต้องเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ด้วยวัยไม่มากนัก) มาคลี่คลายความลึกลับของคดีนี้จนประสบความสำเร็จ ถึงแม้เพื่อนตำรวจที่เจฟเรียกมาไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก

      ฮิตช์ค็อกถือได้ว่าเป็นราชาแห่งหนังอาชญากรรม การสืบสวนและเขย่าขวัญอย่างแท้จริง ภาพยนตร์ของเขาไม่ได้ตั้งใจจะขายความตื่นเต้นเพียงอย่างเดียว หากแต่พาคนดูดำดิ่งลงไปในจิตด้านมืดของมนุษย์ผ่านทางภาพยนตร์จำนวนมากอย่างเช่น Spellbound (1945) Vertigo  และ  Psycho ภาพยนตร์ของเขาล้วนมีเสน่ห์สำหรับนักวิชาการได้ทำการศึกษาจิตวิทยาอย่างลุ่มลึกโดยเฉพาะทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของซิกมันด์ ฟรอยด์  และภาพยนตร์เหล่านั้นสามารถทำให้คนดูติดตรึงกับเรื่องได้ชนิดไม่กล้าลุกไปไหนด้วยความรู้สึกตื่นเต้นและใคร่รู้ตลอดทั้งเรื่อง สำหรับ Rear Window ถือได้ว่ามีจุดเด่นคือการใช้มุมกล้อง ซึ่งถือได้ว่ามีจำนวนของมุมมองน้อยมาก เกือบทั้งหมดเป็นมุมมองจากตัวเจฟเองหรือจากห้องของเขา (จนไม่น่าเชื่อว่าผู้ที่ถูกเขาเฝ้ามองจะไม่สงสัยหรือไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังถูกเขาเฝ้ามอง) เช่นเดียวกับการมีอารมณ์ขันและจบแบบเน้นเอาใจคนดูมากกว่าภาพยนตร์ของฮิตช์ค็อกหลายเรื่อง 

      ท่านเซอร์ได้พาคนดูเพลิดเพลินไปกับเจฟที่ใช้ทั้งตาเปล่าสลับกับกล้องส่องทางไกลหรือที่ซูมจากกล้องถ่ายรูปเพื่อเฝ้ามองกิจวัตรของเพื่อนบ้านซึ่งค่อนข้างจะมีความหลากหลายไม่ว่านักดนตรีหนุ่มในสตูดิโอชั้นบน (ที่ยอดผู้กำกับโผล่ออกมาด้วยตามธรรมเนียมของเขาของภาพยนตร์เกือบทุกเรื่อง)   สาวนักเต้นบัลเลต์ทรงเสน่ห์ที่มีหนุ่มๆ มาติดพัน   คู่สามีภรรยาท่าทางน่าขบขันซึ่งมักมานอนตรงชานนอกห้องพร้อมกับสุนัขตัวน้อยที่ถูกปล่อยมากับตะกร้าให้ไปเล่นกับแปลงดอกไม้ที่อยู่ข้างล่างของอพาร์ตเมนต์   สาวโสดผู้เปลี่ยวเหงาที่อาศัยอยู่ชั้นล่างและกำลังตามหารักแท้ คู่สมรสใหม่ซึ่งวุ่นวายแต่เรื่องบนเตียงหรือผู้หญิงวัยกลางคน (ซึ่งน่าจะโสด) ที่เป็นนักประติมากรปั้นรูปปั้นแปลกๆ 

      ภาพยนตร์เรื่องนี้หากมองแบบผิวเผินก็เป็นภาพยนตร์ฆาตกรรมผสมแนวสืบสวนสอบสวนซึ่งมีตอนจบที่เดากันได้ไม่ยาก แต่ถ้ามองลึกลงไปจะเป็นการสะท้อนมุมมองของยอดผู้กำกับชาวอังกฤษคนนี้ที่มีต่ออเมริกันชนในยุคทศวรรษที่ 50 ได้ดีเรื่องหนึ่งผ่านบทสนทนาระหว่างตัวละครซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวกับความรักและการแต่งงานเช่นเดียวกับการสะท้อนภาพของสังคมอเมริกันในเมืองใหญ่ที่เพื่อนบ้านหรือคนในสังคมเดียวกันดูเหมือนจะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันน้อยมาก  ที่สำคัญภาพยนตร์ได้นำเสนอโรคทางจิตของมนุษย์นั้นคือนิสัยถ้ำมองหรือ Voyeurism คำว่าถ้ำมองในที่นี้มักจะใช้กับคนที่แอบมองคนอื่นกำลังเปลือยกายหรือมีกิจกรรมทางเพศจนติดนิสัย แต่คำนี้อาจจะใช้สำหรับคนธรรมดาที่ชอบแอบมองกิจกรรมหรือกิจวัตรของคนอื่นก็ได้ เช่นผ่านทาง Reality TV หรือถ้าวิเคราะห์ลึกไปกว่านั้นก็ได้แก่สื่อที่เราดูอยู่ทุกวันนี้ไม่ว่าโทรทัศน์ ภาพยนตร์หรืออินเทอร์เน็ตที่เป็นการเฝ้ามองวิถีชีวิตของใครก็ได้ที่ไม่ใช่เรา ว่ากันว่านิสัยเช่นนี้เป็นของฮิตช์ค็อกเอง เขาได้เพาะบ่มนิสัยเช่นนี้ให้กับคนดูให้ติดไปกับมุมมองของเจฟเกือบตลอดทั้งเรื่อง

     นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังได้แสดงว่านิสัยถ้ำมองของเจฟนั้นนอกจากความเบื่อหน่ายต่อชีวิตแล้วยังเกิดจากความคับข้องใจทางเพศ (sexual frustration)  จากการที่เขาไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ภาพยนตร์เหมือนจะบอกว่าความเป็นคนหัวเก่าของเขา(เช่นเดียวกับการถูกพันธนาการไว้กับเฝือกที่ขา) ย่อมไม่อาจทำให้เจฟมีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับลิซ่าในตอนนี้ได้แม้สาวเจ้าจะ "อ่อย" และเป็นฝ่ายรุกในการเข้าพระเข้านาง แต่การแต่งงานก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้นเพราะความกลัวการแต่งงานของเจฟ ด้วยสาเหตุที่ว่าเขาและลิซ่ามีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด  เขานั้นอายุก็ไม่น้อยแล้วคือย่างเข้าสู่วัยกลางคน ดูจืดชืดและมีโลกส่วนตัวสูง ส่วนลิซ่ายังสาวและสวยเลิศแถมเปี่ยมด้วยเสน่ห์ เธอได้พยายามที่จะรบเร้าให้เขาแต่งงานด้วย แต่เจฟยังลังเลใจจากความแตกต่างกันของวิถีชีวิตเพราะเขารักอิสระชอบผจญภัยไปกับอาชีพการเป็นช่างภาพของเขา ซ้ำร้ายเจฟยังไม่ค่อยเข้าใจผู้หญิงและยังมองผู้หญิงในด้านร้ายโดยเฉพาะตัวลิซ่าซึ่งดูเป็นสาวสังคมชั้นสูง ชอบแต่งตัวด้วยชุดที่น่าจะเพิ่งมาจากเวทีนางแบบมาหมาดๆ  ด้วยปัจจัยเช่นนี้ทำให้เจฟไม่แน่ใจว่าชีวิตของเขาและเธอภายหลังการแต่งงานจะไปรอดหรือไม่แม้ลิซ่าจะยืนยันว่าเธอจะสามารถปรับตัวเข้ากับวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายของเขา โรคกลัวการแต่งงานของเจฟย่อมได้รับแรงเสริมจากการเห็นสามีภรรยาที่อยู่อพาร์ตเมนต์ตรงกันข้ามทะเลาะเบาะแว้งกันหรือแม้แต่เพื่อนตำรวจซึ่งเจฟพยายามติดต่อให้มาคลี่คลายคดีก็ดูเจ้าชู้ไปพร้อมกับความขี้หึงของภรรยาอันสะท้อนถึงชีวิตสมรสที่เป็นการผูกมัดซึ่งกันและกันซึ่งผู้ชมสามารถสัมผัสได้แม้ภาพยนตร์ใช้เพียงเสียงของเธอผ่านโทรศัพท์เพียงครั้งเดียว   ในทางกลับกันตัวเจฟเองก็ยังปรารถนาการแต่งงานและเพศรสโดยภาพยนตร์ได้บอกเป็นนัยตอนที่เขาเผลอเอาใจช่วยสาวโสดผู้เปลี่ยวเหงาหรือการที่เขาแอบมองด้วยความอิจฉาต่อคู่สมรสใหม่ที่เอาแต่เสพสุขกัน (ภาพยนตร์บอกเป็นนัยจากห้องที่ถูกปิดด้วยม่านและเงียบสงบเกือบทั้งเรื่อง)  แต่เจฟก็ต้องเปลี่ยนความรู้สึกเช่นนี้เมื่อสามีเริ่มระอากับกิจกรรมทางเพศที่ภรรยายังต้องการอยู่ไม่วาย (ภาพยนตร์นำเสนอว่าครั้งหนึ่งให้ฝ่ายชายออกมายืนนอกหน้าต่างด้วยท่าทางอิดโรยแต่ก็ถูกฝ่ายหญิงตามมาสะกิด)  

 

 

                      

                                  ภาพจาก  jocelyniswrong.com 

 

 

  ในที่สุดการเป็นนักถ้ำมองก็กลายเป็นนิสัยที่เขาเสพติดอย่างถอนตัวไม่ขึ้นดังจะเห็นได้จากตอนที่เจฟและลิซ่ามีเพียงการกอดจูบเพียงเล็กน้อยเพราะพระเอกมัวแต่หมกมุ่นอยู่กับความสงสัยที่ว่าเซลล์แมนผู้นั้นได้ฆ่าภรรยาหรือไม่และดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะดีขึ้นเพราะพวกเขาได้ร่วมกันคลี่คลายปริศนาการฆาตกรรมภรรยาของเซลล์แมนซึ่งก็ใช้เล่ห์กลการอำพรางความชั่วของเขาที่ซับซ้อนตามแบบของฮิตช์ค็อก อย่างไรก็ตามตอนจบแบบมีความสุขยังมีสัญลักษณ์คือทั้งนักดนตรีที่อยู่ชั้นบนและสาวโสดที่อยู่ชั้นล่างหันมาตกหลุมรักกันราวกับจะบอกเป็นนัยว่าเจฟกับลิซ่าเป็นคู่กันแล้วไม่แคล้วกันแม้ภาพยนตร์อาจบอกไม่ชัดเจนแต่ก็ปล่อยให้ผู้ชมซึ่งปรารถนาจะเห็นคู่พระคู่นางได้แต่งงานกันจินตนาการเอาเอง แต่กลยุทธ์การดำเนินเรื่องทั้งหมดนี้ได้แสดงถึงความเป็นอัจฉริยะของฮิตช์ค็อกที่สามารถสร้างปฏิกิริยาสะท้อนกลับทางอารมณ์ระหว่างตัวเอกคือเจฟกับลิซ่า (ผู้มอง) กับเพื่อนบ้าน (ผู้ถูกมอง) ทั้งความเหมือนและความแตกต่าง นั้นคือการมองเป็นสิ่งที่กำหนดความเป็นตัวเรา (To watch is to be)  ซึ่งผมคิดว่าน่าจะถือได้ว่าเป็นทฤษฎีสำหรับสื่อสารมวลชนซึ่งน่าจะวิเคราะห์ได้ว่าเหตุใดเราจึงหมกมุ่นกับดาราหรือผู้มีชื่อเสียงจนทำให้สื่อมวลชนจำนวนมากติดตามและนำเสนอข่าวของพวกเขาอย่างใหญ่โตเสียยิ่งกว่าเรื่องสำคัญทางการเมืองหรือชะตากรรมของประเทศเสียอีกก็เพราะคนดังหรือดาราเหล่านั้นอาจจะสะท้อนตัวตนของพวกเราในระดับหนึ่งโดยเฉพาะตัวตนในอุดมคติของพวกเรากล่าวอีกแง่มุมหนึ่งคือพวกเรามีความปรารถนาอันซ่อนเร้นที่จะเป็นหรือมีคุณสมบัติดังพวกเขา

 

     ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการยกย่องจากคนรุ่นหลังอย่างมากเช่นถูกจัดให้เป็น 1 ใน 100 ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในรอบ 100 ปีโดยสมาคมภาพยนตร์อเมริกันและยังมีอิทธิพลต่อภาพยนตร์หลายเรื่องซึ่งใช้ประเด็นถ้ำมองเพื่อนบ้านมาเกี่ยวข้องไม่ว่า  What Lies beneath (2000) ของ  โรเบิร์ต เซเมกิสหรือ Disturbia (2007) ของดีเจ คารูโซ กระนั้นตอนที่ผมได้ดูเรื่อง 4 แพร่งที่ตอนแรกคือ "เหงา" คือตัวเอกต้องมาแกร่วอยู่แต่ในหอพักเพราะขาเข้าเฝือกจากอุบัติเหตุ แม้ว่าเธอจะไม่ได้เฝ้ามองชีวิตของคนอื่นแล้วก็พอจะเดาได้ว่าวิญญาณของท่านเซอร์ยังคงแฝงมากับภาพยนตร์ไทยโดยเฉพาะภาพยนตร์สยองขวัญในค่ายจีทีเอชนอกจากเรื่องนี้แล้วยังรวมไปถึง The Shutter ซึ่งหยิบยืมการทำบรรยากาศแห่งความน่ากลัวและการดำเนินเรื่องแบบ  Hitchcockian มาไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะฉากศพของเนตรบนเตียงนั้นเป็นการแสดงคารวะต่อภาพยนตร์ Psycho ที่โจ๋งครึ่มมาก 

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากมีใครถามว่าถ้า จู่ๆ โลกนี้ หนังสือจะหายไปหมด แต่ผมสามารถเลือกหนังสือไว้เป็นส่วนตัวได้เพียงเล่มเดียว จะให้เลือกของใคร ผมก็จะตอบว่าหนังสือ "จันทร์เสี้ยว" หรือ  Crescent Moon ของท่านรพินทรนาถ ฐากูร กวีและนักปราชญ์ชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในปี 1913  และหนังสือเล่มนี้ก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 "Whoever you are, I have always depended on the kindness of strangers." Blanche Dubois  ไม่ว่าคุณเป็นใคร ฉันมักจะพึ่งพ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากพูดถึงคำว่า Three Bs ผู้ใฝ่ใจในดนตรีคลาสสิกก็จะทราบทันทีว่าหมายถึงคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 3  ของเยอรมัน นั่นคือ Bach  Beethoven และ Brahms ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในหลายๆ ส่วน นั่นคือบาคเป็นคีตกวีในยุคบาร็อค เบโธเฟนและบราห์ม เป็นคีตกวีในยุคโรแมนติก นอกจากนี้บาคเป็นบิดาที่มีบุตรหลายคน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ถ้าจะดูอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว La Dolce Vita (1960) ของเฟเดริโก เฟลลินี สุดยอดผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิตาลี ไม่ได้ด้อยไปกว่าภาพยนตร์ในเรื่องต่อมาของเขาคือ 8 1/2 ในปี 1963 แม้แต่น้อยโดยเฉพาะการสื่อแนวคิดอันลุ่มลึกผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ เพียงแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นสัจนิยมนั้นคือไม่ยอมให้จินตนาการกับความ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    หนึ่งในบรรดาคีตกวีที่อายุสั้นแต่ผลงานสุดบรรเจิดที่เรารู้จักกันดีคือนักประพันธ์เพลงชาวออสเตรียนามว่าฟรานซ์ ชูเบิร์ต (Franz Schubert) ชูเบิร์ตเปรียบได้ดังสหายของเบโธเฟนผู้ส่งผ่านดนตรีจากคลาสสิกไปยังยุคโรแมนติก ด้วยความเป็นคีตกวีผสมนักกวี (และยังเป็นคนขี้เหงาเสียด้วย) ทำให้เขากลายเป็
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
การสังหารหมู่นักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 เป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจมากซึ่งน่าจะเป็นเรื่อง"ไทยฆ่าไทย" ครั้งสุดท้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่สงครามเย็นได้สิ้นสุดไปและคนไทยน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนดีกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่การสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองหลวงเมื่อหลายปีก่อน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
      ขออุทิศบทความนี้ให้กับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
             เป็นเรื่องตลกถึงแม้ผมเอาแต่นำเสนอแต่เรื่องของดนตรีคลาสสิก แต่ดนตรีซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่ออารมณ์ความรู้สึกของผมเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อนจนถึงปัจจุบันคือดนตรีแจ๊ส และผมฟังดนตรีชนิดนี้เสียก่อนจะฟังดนตรีคลาสสิกอย่างจริงจังเสียอีก (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าในป
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากจะเอ่ยชื่อคีตกวีชื่อดังของศตวรรษที่ 19-20 แล้ว คนๆ หนึ่งที่เราจะไม่พูดถึงเป็นไม่ได้อันขาดคือเดบูซี่ผู้ได้ชื่อว่ามีแนวดนตรีแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ (Impressionism) และแน่นอนว่าดนตรีแนวนี้ย่อมได้รับอิทธิพลจากศิลปะภาพวาดของฝรั่งเศสซึ่งโด่งดังในศตวรรษที่ 19 โดยมีโมเนต์และมาเนต์เป็นหัวหอก เพลงของเดบูซ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    เมื่อพูดถึงเพลงประสานเสียงแล้ว คนจะนึกถึงเพลงสวดศพของโมซาร์ทคือ Requiem หรือ Messiah ของแฮนเดิลเป็นระดับแรก สำหรับเบโธเฟนแล้วคนก็จะนึกถึงซิมโฟนี หมายเลข 9 เป็นส่วนใหญ่ ความจริงแล้วเพลงสวด (Mass) คือ Missa Solemnis อันลือชื่อ ของเขาก็ได้รับความนิยมอยู่ไม่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
แน่นอนว่าคนไทยย่อมรู้จักเป็นอย่างดีกับฉากของหญิงสาวผมสั้นสีทองในเสื้อและกระโปรงสีดำพร้อมผ้าคลุมด้านหน้าลายยาวที่เริงระบำพร้อมกับร้องเพลงในทุ่งกว้าง เข้าใจว่าต่อมาคงกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับหนังที่มีสาวม้งร้องเพลง "เทพธิดาดอย"อันโด่งดังเมื่อหลายสิบปีก่อน หรือแม้แต่เนื้อเพลง Lover's Concerto ที่ด
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Debate =discussion between people in which they express different opinions about something อ้างจาก