Skip to main content

   

   เมื่อพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการเขียนไดอารีของคนดังสักคนหนึ่งในโลกนี้ ไดอารีของแอนน์ แฟรงค์ (Diary of Anne Frank)  ถือได้ว่าจะเป็นชื่อแรกในความคิดของชาวโลกอย่างแน่นอน เหตุด้วยการเขียนไดอารีของเธอเปรียบได้ดังประจักษ์พยานของโศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกัน มันสามารถสะท้อนให้คนรุ่นหลังเห็นภาพอย่างกระจ่างแจ้งของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ฟ้าลิขิตให้เกิดมาเป็นคนยิวผู้ถูกเยอรมันนาซีจับกุมตัวไปเข้าค่ายกักกัน หลังจากที่เธอและครอบครัวได้ซ่อนตัวอยู่บนห้องหลังคาเป็นเวลา 2 ปี ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ในยามถูกยึดครองโดยกองทัพเยอรมัน ที่เขียนมานี้ไม่ใช่ว่าผมได้อ่านไดอารีของเธอที่ถูกตีพิมพ์และแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากมายแต่เพราะได้ดูหนังขาวดำที่สร้างมาจากไดอารีของเธอ หนังเรื่องนี้ถูกนำออกฉายในปี 1959 ผู้กำกับคือจอร์จ สตีเวนส์ สุดยอดผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่งของฮอลลีวูด

 

     The Diary of Anne Frank นั้นเคยเป็นละครเวทีมาก่อนเมื่อปี 1955 โดยอัลเบิร์ต แฮคเก็ตต์ ซึ่งได้ดัดแปลงมาจากไดอารีของแอนน์นั้นเอง ผลก็คือสามารถสร้างเสียงฮือฮาให้กับคนดูได้ถึงแม้จะมีเสียงวิจารณ์ในด้านไม่ดีอยู่บ้าง ด้วยยามนั้นเป็นเพียง 10 ปีหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกและความชั่วร้ายของพวกนาซีที่ถูกทยอยเปิดเผยมาสดๆ ร้อน ๆ ยังคงสร้างความหวาดผวาให้กับชาวโลก (อันเป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดโฉมหน้าสงครามเย็นเพราะสายตาของชาวตะวันตก ผู้ร้ายกลายเป็นคอมมิวนิสต์แทนและน่าจะมีความชั่วร้ายไม่แพ้กัน)  ค่ายหนังทเวนตีเซนจูรี ฟอกซ์ ได้ซื้อลิขสิทธิ์ไดอารีจากบิดาของแอนน์คือออตโต แฟรงค์และเริ่มต้นถ่ายทำในปี 1957 ความยากลำบากของสตีเวนส์ที่สุดอย่างหนึ่งคือการหานางเอกคนใหม่ ด้วยคนที่แสดงเป็นแอนน์ในละครเวทีปฏิเสธ มีการสรรหาดาราดาวรุ่งมาหลายคนเช่นนาตาลี วูดหรือแม้แต่ออเดรย์ แฮปเบิร์น แต่ก็ล้มเหลว สำหรับเฮปเบิร์นนั้นน่าสนใจที่ว่าเธอเกิดในปีเดียวกับแอนน์และอยู่ในเนเธอร์แลนด์ ในช่วงที่เยอรมันเข้ายึดครองพอดี ทว่านอกจากเธอตัดสินใจแสดงหนังเรื่องอื่นแล้ว เธอไม่ต้องการจะให้ประสบการณ์อันแสนเลวร้ายที่ได้เห็นพวกนาซีกวาดต้อนชาวยิวขึ้นรถกลับมาหลอกหลอนเธออีก ในที่สุดสตีเวนส์ก็ได้นางเอกที่ชื่อว่ามิลลี เพอร์กินส์ ดาราและนางแบบวัยรุ่นที่กำลังมาแรง    

 

     ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นโดยการที่ออตโต บิดาของแอนน์ผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันเพียงคนเดียวได้หวนกลับมายังห้องใต้หลังคาอีกครั้งพร้อมกับเพื่อนที่เคยช่วยเหลือในช่วงซ่อนตัว พวกเขาได้พบกับไดอารีที่ออตโตเคยซื้อให้กับลูกสาว ออตโตจึงเริ่มอ่านไดอารีที่แอนน์ใช้เวลาเขียนบันทึกเหตุการณ์และบุคคลในช่วงเวลา 2 ปี แล้วหนังก็กลับไปในเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกลงหน้าแรกของไดอารีเล่มนี้ เนื่องจากคิดว่าหนังกับเรื่องจริงคงจะไม่แตกต่างกันนัก ผมก็เลยขอเล่าทั้งสองอย่างสลับกันไป ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน กินเวลาถึง 2 ชั่วโมงกว่า และเน้นการแสดงในห้องแคบ ๆ ตามแบบละครเวทีไม่มีฉากน่าหดหู่หรืออลังการแบบหนังเรื่อง The Pianist ที่สร้างมาจากเรื่องจริงเหมือนกัน ในบางครั้งหนังดูเหมือนจะเนือย ๆ เช่นใช้เวลาค่อนข้างนานเพื่อบรรยายการแสดงอารมณ์ของแอนน์ ผู้กำลังสับสนกับความเป็นวัยรุ่นของตัวเอง รวมไปถึงฉากโรแมนติกระหว่างเธอกับปีเตอร์ สำหรับเพอร์กินส์เองก็ถูกวิจารณ์โดยคนดูในด้านลบว่าเธอดูแข็งกระด้างและอวดดีเกินไป กระนั้นก็มีหลายฉากที่ทำให้ผู้ชมตื่นเต้น ชนิดหายใจไม่ทั่วท้องได้ลุ้นว่าพวกเขาจะถูกค้นพบหรือไม่ The Diary of Anne Frank ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสกาในปี 1960 ถึง 8  สาขาแต่ได้เพียง 3  สาขา

 

 

                                            

                                                     ภาพจาก 300 mb.cc

                                              

    โปรดระวังว่าจะมีการบอกความสำคัญในหนังไปกับประโยคเหล่านี้

 

    แอนน์ แฟรงค์ นั้นมีชื่อเต็ม ๆ ว่า Annelies Marie Frank เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ปี 1929 ที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ต  พ่อของเธอ ออตโตเป็นนักธุรกิจเชื้อสายยิว เขาเคยเป็นทหารเยอรมันออกรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วมาประกอบอาชีพเป็นนายธนาคารแต่ชอบศึกษาหาความรู้ มีความเป็นนักปราชญ์อยู่มาก เขาจึงปลูกฝังให้ลูก ๆ ใฝ่หาความรู้และรักการอ่าน แน่นอนว่าย่อมมีส่วนให้แอนน์มีนิสัยชอบสังเกตสิ่งรอบข้างเพื่อเขียนไดอารี ปี 1933 ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นมามีอำนาจและกระแสต่อต้านยิวของพวกนาซีเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนออตโตเป็นผู้มองการณ์ไกล ตัดสินใจอพยพครอบครัวของเขาไปตั้งรากรากอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ กระนั้นในปี 1941 เยอรมันเข้ายึดครองประเทศนี้ได้ ครอบครัวของแอนน์ไม่สามารถหนีได้อีกต่อไป ก็ต้องพบกับชะตากรรมเดียวกับชาวยิวในทุกประเทศที่ถูกนาซียึดครองนั้นคือถูกกีดกันในทุกด้านๆ ไม่ว่าเรื่องความเป็นอยู่หรือการศึกษา และต้องสวมปลอกแขนรูปดาวดาวิด (ดังที่เราเห็นในหนังเรื่อง The Pianist) เพื่อแยกชาวยิวออกจากชาวเมืองสำหรับแผนการชั่วต่อไป

 

    แอนน์ได้รับไดอารีจากพ่อในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ปี 1942 และเริ่มต้นเขียนไดอารี ก่อนที่ในเดือนกรกฎาคม ชาวยิวในกรุงอัมสเตอร์ดัมได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัวที่ศูนย์ผู้อพยพชาวยิว หรือว่าง่ายๆ คือการเริ่มต้นพาชาวยิวเข้าค่ายกักกันนั้นเอง แต่บิดาผู้ชาญฉลาดได้พาครอบครัวของเขาคือภรรยา แอนน์และพี่สาวไปแอบซ่อนอยู่ในชั้นใต้เพดานในบริษัทของตัวเองที่มีห้องน้ำพร้อม พวกลูกจ้างของออตโตที่ไม่ใช่ยิว 2-3 คนก็แอบมาช่วยเหลือพวกเขาอย่างสม่ำเสมอไม่ว่านำเอาอาหารหรือเครื่องอำนวยความสะดวกมาให้โดยไม่หวาดกลัวต่อโทษของผู้ช่วยเหลือชาวยิวนั้นคือการยิงเป้า ออตโตยังพรางตัวโดยการทำหลักฐานปลอมให้พวกเจ้าหน้าที่ตายใจคิดว่า เขาและครอบครัวได้หนีไปยังสวิตเซอร์แลนด์แล้ว จากนั้นก็มีครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อแม่ลูกเข้ามาสมทบด้วย ผู้เป็นลูกคือเด็กหนุ่มที่ชื่อปีเตอร์ ที่ต่อมาได้มีความใกล้ชิดและผูกพันกับแอนน์ การหลบซ่อนของพวกเขาค่อนข้างจะแยบยล เช่นหน้าประตูจะเป็นตู้หนังสือทำให้คนภายนอกไม่รู้ว่ามีห้องอยู่ข้างใน ในปลายปีนั้น พวกลูกจ้างก็ได้ช่วยเหลือชายวัยกลางคนที่เป็นหมอฟันให้มาอยู่ด้วยอีกคน ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าความเป็นอยู่แบบแออัด ยัดเยียดจะทำให้คนเกิดความเครียดและมีการแสดงอารมณ์ร้ายๆ ต่อกันเพราะทนนิสัยกันไม่ได้ อย่างไรพวกเขาต้องทนทุกข์ในคุกของตัวเองนั้นคือต้องอยู่กันเงียบ ๆ ห้ามส่งเสียงดัง และกลางคืนก็ต้องทนอยู่แต่ในความมืด (แต่ในหนังไฟในห้องสว่างน่าดู เพราะขีดจำกัดของหนัง) แต่บางคืนพวกเขาเฝ้ามองกรุงอัมสเตอร์ดัมถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงจนไฟลุกโชนผ่านหน้าต่างเหนือหลังคาด้วยความหวาดกลัวว่าตึกของพวกเขาจะโดนระเบิดเข้าบ้าง แอนน์ได้เขียนบรรยายเหตุการณ์เหล่านี้อย่างละเอียดในไดอารีของเธอ รวมไปถึงความฝันเฟื่องของตัวเองโดยไม่ยอมให้ใครมาอ่านเป็นอันขาด กระนั้นในหนังก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาก็ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้ ถึงแม้จะทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นพยายามขับไล่กันและกันมาแล้ว ผู้ที่สมควรได้รับการยกย่องคือออตโตที่เป็นคนจิตใจดีงามคอยสร้างความสมานฉันท์และความหวังให้ทุกคน แอนน์นั้นจึงรักและผูกพันกับพ่อยิ่งกว่าแม่ทำให้แม่ของเธอน้อยใจเป็นยิ่งนัก

 

    นอกจากนี้เราต้องพูดถึงตัวละครอีกตัวนั้นคือแมวของปีเตอร์ที่แม้หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู แต่ก็สร้างความร้าวฉานให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน เช่นหมอฟันที่เพิ่งมาอยู่แพ้ขนแมว หรือพ่อของปีเตอร์เห็นว่าแมวมาแย่งอาหารของพวกเขาจึงควรเอาไปทิ้ง แต่ปีเตอร์ไม่ยอม แถมแมวยังส่งเสียงดังให้พวกเขาพบกับเหตุการณ์อันน่าระลึกใจนั่นคือเกือบทำให้ทหารเยอรมันที่เข้ามาตรวจในห้องทำงานของออตโตรู้ว่าพวกเขาแอบซ่อนอยู่ข้างบน เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้ผมอดนึกถึง วลาดีสลอว์ สปีลแมน ที่ โรมัน โปลันสกี ผู้กำกับหนังที่สูญเสียพ่อแม่ไปในค่ายกักกันของนาซีเหมือนกัน  เอามาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Pianist ไม่ได้ สปีลแมนซึ่งเป็นชาวยิวโปแลนด์นั้นต้องหลบซ่อนตัวเช่นเดียวกับครอบครัวของแอนน์แต่เขาต้องย้ายหลายที่และต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยว เดียวดาย ซึ่งเป็นความทุกข์สุดโต่งไปอีกแบบหนึ่ง แต่เขายังเหมือนกับออตโตที่เป็นคน ๆ เดียวในครอบครัวที่รอดชีวิตหลังสงครามโลกจนสามารถเล่าเรื่องอันแสนโหดร้ายให้กับชาวโลกได้รับฟัง

 

 

                                                

                                                             ภาพจาก  www.cdn.collider.com

 

      2  ปีผ่านไป ครอบครัวของแอนน์ยังคงอยู่บนห้องใต้เพดานต่อไปด้วยความหวัง สิ่งหนึ่งที่ช่วยชโลมจิตใจของพวกเขาก็คือวิทยุที่ลูกจ้างของออตโตแอบนำมาให้พวกเขาได้รับฟังข่าวชัยชนะในสมรภูมิต่างๆ ของฝ่ายสัมพันธมิตรจากสถานีข่าวบีบีซีของอังกฤษ พร้อมกับเพลงซิมโฟนีหมายเลข 5  ของเบโธเฟน (อันเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะเพราะ 5  มีตัวเลขภาษาอังกฤษโบราณคือ V ที่เหมือนกับ Victory) สลับไปกับความขุ่นเคืองใจกับเสียงของฮิตเลอร์ที่กำลังกล่าวคำปราศรัยอย่างบ้าคลั่งในการปลุกระดมชาวเยอรมัน และแสดงความปรารถนาที่จะเร่งกำจัดชาวยิวออกไปจากโลกนี้ เพราะชาวยิวกลายเป็นแพะรับบาปที่ทำให้เยอรมันกำลังกำลังจะแพ้สงคราม  วันหนึ่งพวกเขาก็ได้รับฟังข่าวที่โหมให้ไฟชีวิตลุกโชนนั้นคือการบุกของฝ่ายสัมพันธมิตรต่อชายฝั่งนอร์มังดีในวันที่ 6 มิถุนายน ปี 1944 (วันดีเดย์) แอนน์เขียนไดอารีในวันที่ 1 สิงหาคมเป็นหน้าสุดท้ายโดยหารู้ไม่ว่าในวันที่ 4 สิงหาคมนั้นเองตำรวจพิเศษของเยอรมันดังที่เรียกว่าหน่วยตำรวจสีเขียวหรือ Green Police ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยเอสเอส สามารถค้นพบที่ซ่อนและจับกุมตัวพวกเขาทั้งหมด ทำไมพวกนาซีถึงค้นพบที่ซ่อน ?  อาจเป็นไปได้ว่ามีผู้ไม่ประสงค์นามชี้ช่องให้พวกนาซี ถึงแม้จะมีการสืบสวนกันในภายหลังและพบกับผู้ต้องสงสัยหลายคนแต่ก็ยังชี้ชัดไม่ได้ สำหรับในหนังก็ไม่ได้บอกชัดเจนว่าเพราะอะไร เพียงแต่ให้ตัวผู้แสดงสันนิษฐานว่า อาจจะมีคนทรยศหรืออาจจะเป็นหัวขโมยที่แอบย่องเข้ามาในบริษัทของออตโต และบังเอิญได้ยินเสียงของพวกเขาบนห้องติดหลังคา ต่อมาหมอนั่นถูกจับก็เลยบอกตำรวจเพื่อเอาตัวรอด อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ในหนังที่ทำให้คนดูสะเทือนใจอย่างมากมายคือ ตอนที่ครอบครัวของแอนน์และคนอื่นกำลังยืนรอให้พวกทหารเยอรมันพังประตูเข้ามาอย่างรวดเร็วและดุดัน เหมือนกับได้เห็นความตายกำลังคืบคลานมาอยู่เบื้องหน้า แต่แล้วพ่อของแอนน์ก็พูดในประโยคที่สุดแสนจะประทับใจออกมานั้นคือ

 

    For the past two years we have lived in fear. Now we can live in hope.

    ในเวลา 2 ปีที่ผ่านมาเราต่างมีชีวิตอยู่ด้วยความกลัว แต่ตอนนี้เราสามารถอยู่ได้ด้วยความหวัง

 

    เพราะออตโตคิดว่าเยอรมันกำลังจะแพ้สงคราม และน่าจะได้รับการปลดปล่อยก่อนจะถูกไปค่ายกักกัน แต่การณ์กลับตรงกันข้ามพวกเขาทั้งหมดถูกส่งตัวไปสอบสวนโดยตำรวจเกสตาโป และเข้าค่ายกักกันเพื่อทำงานหนักด้วยโทษที่หลบซ่อนตัว ในที่สุดแล้วต้นเดือนกันยายน พวกเขาถูกส่งไปยังค่ายกักกันอีกค่ายที่อื้อฉาวที่สุดค่ายหนึ่งคือเอาซวิตซ์ (Auswitz) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของโปแลนด์ ณ ที่นั้นพวกเขาถูกแยกจากกันไปตามการแบ่งเพศ แอนน์รอดพ้นจากการถูกส่งเข้าห้องรมก๊าซพิษเพราะเธออายุเกิน 15 ปีเพียงไม่กี่เดือน แต่ต้องทำงานหนักในสถานที่อันเลวร้ายสุดจะพรรณนา ดังที่เราเคยเห็นในหนังเรื่อง Schindler's List ในเดือนมีนาคม ปี 1945 โรคไทฟอยด์ระบายไปทั่วค่าย คร่าชีวิตของนักโทษไป 17,000 คนซึ่งรวมถึงพี่สาวและตัวแอนน์ด้วย พวกเธอเสียชีวิตเพียงไม่กี่อาทิตย์ก่อนที่กองกำลังของอังกฤษจะมาปลดปล่อยชาวค่าย ประมาณกันว่ามีชาวยิวในเนเธอร์แลนด์กว่า 110,000 คนถูกส่งตัวเข้าค่ายกักกัน และมีเพียง 5,000 คนที่รอดชีวิตมาได้

 

      หลังสงคราม ออตโตพยายามเผยแพร่ไดอารีของลูกสาว จนได้รับการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายไปทั่วโลกในปี 1947 ไดอารีของ แอนน์ได้รับความสนใจจากชาวโลกอย่างมาก เพราะถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 30 ภาษาและเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนมากมาย เนลสัน เมนเดลา อดีตประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้บอกว่าตอนที่ติดคุก เขามักจะอ่านหนังสือไดอารีของแอนน์เสมอเพื่อให้เกิดกำลังใจในการต่อสู้กับลัทธิเหยียดสีผิว (Apartheid) ซึ่งร้ายแรงเช่นเดียวกับลัทธิต่อต้านยิว อย่างไรก็ตามมีข้อกล่าวหาว่าไดอารีของเธอเป็นของปลอม บางคนถึงกลับอ้างว่าเธอไม่มีตัวตนอยู่ด้วยซ้ำ แต่ก็มีการค้นหาหลักฐานที่น่าเชื่อถือ สามารถยืนยันว่าเธอมีตัวตนอยู่จริง ๆ และไดอารีเป็นของลายมือของเธอจริง ๆ ไม่ว่าอย่างไรก็ตามความทุกข์ทรมานแสนสาหัสของมนุษย์ที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกัน ก็มักเป็นจริงอยู่เสมอมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และที่น่าตกใจที่ว่ามนุษย์ที่ก่อให้เกิดความทุกข์แก่ผู้อื่นเช่นนี้มักจะมีข้ออ้างดีๆ อยู่เสมอเช่นอุดมการณ์เป็นต้น !

 

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที