Skip to main content

   

   เมื่อพูดถึงเรื่องราวเกี่ยวกับการเขียนไดอารีของคนดังสักคนหนึ่งในโลกนี้ ไดอารีของแอนน์ แฟรงค์ (Diary of Anne Frank)  ถือได้ว่าจะเป็นชื่อแรกในความคิดของชาวโลกอย่างแน่นอน เหตุด้วยการเขียนไดอารีของเธอเปรียบได้ดังประจักษ์พยานของโศกนาฏกรรมของมนุษย์ที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกัน มันสามารถสะท้อนให้คนรุ่นหลังเห็นภาพอย่างกระจ่างแจ้งของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่ฟ้าลิขิตให้เกิดมาเป็นคนยิวผู้ถูกเยอรมันนาซีจับกุมตัวไปเข้าค่ายกักกัน หลังจากที่เธอและครอบครัวได้ซ่อนตัวอยู่บนห้องหลังคาเป็นเวลา 2 ปี ในกรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ในยามถูกยึดครองโดยกองทัพเยอรมัน ที่เขียนมานี้ไม่ใช่ว่าผมได้อ่านไดอารีของเธอที่ถูกตีพิมพ์และแปลเป็นภาษาต่างประเทศมากมายแต่เพราะได้ดูหนังขาวดำที่สร้างมาจากไดอารีของเธอ หนังเรื่องนี้ถูกนำออกฉายในปี 1959 ผู้กำกับคือจอร์จ สตีเวนส์ สุดยอดผู้กำกับภาพยนตร์คนหนึ่งของฮอลลีวูด

 

     The Diary of Anne Frank นั้นเคยเป็นละครเวทีมาก่อนเมื่อปี 1955 โดยอัลเบิร์ต แฮคเก็ตต์ ซึ่งได้ดัดแปลงมาจากไดอารีของแอนน์นั้นเอง ผลก็คือสามารถสร้างเสียงฮือฮาให้กับคนดูได้ถึงแม้จะมีเสียงวิจารณ์ในด้านไม่ดีอยู่บ้าง ด้วยยามนั้นเป็นเพียง 10 ปีหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกและความชั่วร้ายของพวกนาซีที่ถูกทยอยเปิดเผยมาสดๆ ร้อน ๆ ยังคงสร้างความหวาดผวาให้กับชาวโลก (อันเป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดโฉมหน้าสงครามเย็นเพราะสายตาของชาวตะวันตก ผู้ร้ายกลายเป็นคอมมิวนิสต์แทนและน่าจะมีความชั่วร้ายไม่แพ้กัน)  ค่ายหนังทเวนตีเซนจูรี ฟอกซ์ ได้ซื้อลิขสิทธิ์ไดอารีจากบิดาของแอนน์คือออตโต แฟรงค์และเริ่มต้นถ่ายทำในปี 1957 ความยากลำบากของสตีเวนส์ที่สุดอย่างหนึ่งคือการหานางเอกคนใหม่ ด้วยคนที่แสดงเป็นแอนน์ในละครเวทีปฏิเสธ มีการสรรหาดาราดาวรุ่งมาหลายคนเช่นนาตาลี วูดหรือแม้แต่ออเดรย์ แฮปเบิร์น แต่ก็ล้มเหลว สำหรับเฮปเบิร์นนั้นน่าสนใจที่ว่าเธอเกิดในปีเดียวกับแอนน์และอยู่ในเนเธอร์แลนด์ ในช่วงที่เยอรมันเข้ายึดครองพอดี ทว่านอกจากเธอตัดสินใจแสดงหนังเรื่องอื่นแล้ว เธอไม่ต้องการจะให้ประสบการณ์อันแสนเลวร้ายที่ได้เห็นพวกนาซีกวาดต้อนชาวยิวขึ้นรถกลับมาหลอกหลอนเธออีก ในที่สุดสตีเวนส์ก็ได้นางเอกที่ชื่อว่ามิลลี เพอร์กินส์ ดาราและนางแบบวัยรุ่นที่กำลังมาแรง    

 

     ภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มต้นโดยการที่ออตโต บิดาของแอนน์ผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันเพียงคนเดียวได้หวนกลับมายังห้องใต้หลังคาอีกครั้งพร้อมกับเพื่อนที่เคยช่วยเหลือในช่วงซ่อนตัว พวกเขาได้พบกับไดอารีที่ออตโตเคยซื้อให้กับลูกสาว ออตโตจึงเริ่มอ่านไดอารีที่แอนน์ใช้เวลาเขียนบันทึกเหตุการณ์และบุคคลในช่วงเวลา 2 ปี แล้วหนังก็กลับไปในเหตุการณ์ที่ถูกบันทึกลงหน้าแรกของไดอารีเล่มนี้ เนื่องจากคิดว่าหนังกับเรื่องจริงคงจะไม่แตกต่างกันนัก ผมก็เลยขอเล่าทั้งสองอย่างสลับกันไป ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน กินเวลาถึง 2 ชั่วโมงกว่า และเน้นการแสดงในห้องแคบ ๆ ตามแบบละครเวทีไม่มีฉากน่าหดหู่หรืออลังการแบบหนังเรื่อง The Pianist ที่สร้างมาจากเรื่องจริงเหมือนกัน ในบางครั้งหนังดูเหมือนจะเนือย ๆ เช่นใช้เวลาค่อนข้างนานเพื่อบรรยายการแสดงอารมณ์ของแอนน์ ผู้กำลังสับสนกับความเป็นวัยรุ่นของตัวเอง รวมไปถึงฉากโรแมนติกระหว่างเธอกับปีเตอร์ สำหรับเพอร์กินส์เองก็ถูกวิจารณ์โดยคนดูในด้านลบว่าเธอดูแข็งกระด้างและอวดดีเกินไป กระนั้นก็มีหลายฉากที่ทำให้ผู้ชมตื่นเต้น ชนิดหายใจไม่ทั่วท้องได้ลุ้นว่าพวกเขาจะถูกค้นพบหรือไม่ The Diary of Anne Frank ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสกาในปี 1960 ถึง 8  สาขาแต่ได้เพียง 3  สาขา

 

 

                                            

                                                     ภาพจาก 300 mb.cc

                                              

    โปรดระวังว่าจะมีการบอกความสำคัญในหนังไปกับประโยคเหล่านี้

 

    แอนน์ แฟรงค์ นั้นมีชื่อเต็ม ๆ ว่า Annelies Marie Frank เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ปี 1929 ที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ต  พ่อของเธอ ออตโตเป็นนักธุรกิจเชื้อสายยิว เขาเคยเป็นทหารเยอรมันออกรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้วมาประกอบอาชีพเป็นนายธนาคารแต่ชอบศึกษาหาความรู้ มีความเป็นนักปราชญ์อยู่มาก เขาจึงปลูกฝังให้ลูก ๆ ใฝ่หาความรู้และรักการอ่าน แน่นอนว่าย่อมมีส่วนให้แอนน์มีนิสัยชอบสังเกตสิ่งรอบข้างเพื่อเขียนไดอารี ปี 1933 ฮิตเลอร์ก้าวขึ้นมามีอำนาจและกระแสต่อต้านยิวของพวกนาซีเริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ จนออตโตเป็นผู้มองการณ์ไกล ตัดสินใจอพยพครอบครัวของเขาไปตั้งรากรากอยู่ที่เนเธอร์แลนด์ กระนั้นในปี 1941 เยอรมันเข้ายึดครองประเทศนี้ได้ ครอบครัวของแอนน์ไม่สามารถหนีได้อีกต่อไป ก็ต้องพบกับชะตากรรมเดียวกับชาวยิวในทุกประเทศที่ถูกนาซียึดครองนั้นคือถูกกีดกันในทุกด้านๆ ไม่ว่าเรื่องความเป็นอยู่หรือการศึกษา และต้องสวมปลอกแขนรูปดาวดาวิด (ดังที่เราเห็นในหนังเรื่อง The Pianist) เพื่อแยกชาวยิวออกจากชาวเมืองสำหรับแผนการชั่วต่อไป

 

    แอนน์ได้รับไดอารีจากพ่อในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ปี 1942 และเริ่มต้นเขียนไดอารี ก่อนที่ในเดือนกรกฎาคม ชาวยิวในกรุงอัมสเตอร์ดัมได้รับคำสั่งให้ไปรายงานตัวที่ศูนย์ผู้อพยพชาวยิว หรือว่าง่ายๆ คือการเริ่มต้นพาชาวยิวเข้าค่ายกักกันนั้นเอง แต่บิดาผู้ชาญฉลาดได้พาครอบครัวของเขาคือภรรยา แอนน์และพี่สาวไปแอบซ่อนอยู่ในชั้นใต้เพดานในบริษัทของตัวเองที่มีห้องน้ำพร้อม พวกลูกจ้างของออตโตที่ไม่ใช่ยิว 2-3 คนก็แอบมาช่วยเหลือพวกเขาอย่างสม่ำเสมอไม่ว่านำเอาอาหารหรือเครื่องอำนวยความสะดวกมาให้โดยไม่หวาดกลัวต่อโทษของผู้ช่วยเหลือชาวยิวนั้นคือการยิงเป้า ออตโตยังพรางตัวโดยการทำหลักฐานปลอมให้พวกเจ้าหน้าที่ตายใจคิดว่า เขาและครอบครัวได้หนีไปยังสวิตเซอร์แลนด์แล้ว จากนั้นก็มีครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อแม่ลูกเข้ามาสมทบด้วย ผู้เป็นลูกคือเด็กหนุ่มที่ชื่อปีเตอร์ ที่ต่อมาได้มีความใกล้ชิดและผูกพันกับแอนน์ การหลบซ่อนของพวกเขาค่อนข้างจะแยบยล เช่นหน้าประตูจะเป็นตู้หนังสือทำให้คนภายนอกไม่รู้ว่ามีห้องอยู่ข้างใน ในปลายปีนั้น พวกลูกจ้างก็ได้ช่วยเหลือชายวัยกลางคนที่เป็นหมอฟันให้มาอยู่ด้วยอีกคน ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าความเป็นอยู่แบบแออัด ยัดเยียดจะทำให้คนเกิดความเครียดและมีการแสดงอารมณ์ร้ายๆ ต่อกันเพราะทนนิสัยกันไม่ได้ อย่างไรพวกเขาต้องทนทุกข์ในคุกของตัวเองนั้นคือต้องอยู่กันเงียบ ๆ ห้ามส่งเสียงดัง และกลางคืนก็ต้องทนอยู่แต่ในความมืด (แต่ในหนังไฟในห้องสว่างน่าดู เพราะขีดจำกัดของหนัง) แต่บางคืนพวกเขาเฝ้ามองกรุงอัมสเตอร์ดัมถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงจนไฟลุกโชนผ่านหน้าต่างเหนือหลังคาด้วยความหวาดกลัวว่าตึกของพวกเขาจะโดนระเบิดเข้าบ้าง แอนน์ได้เขียนบรรยายเหตุการณ์เหล่านี้อย่างละเอียดในไดอารีของเธอ รวมไปถึงความฝันเฟื่องของตัวเองโดยไม่ยอมให้ใครมาอ่านเป็นอันขาด กระนั้นในหนังก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาก็ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้ ถึงแม้จะทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นพยายามขับไล่กันและกันมาแล้ว ผู้ที่สมควรได้รับการยกย่องคือออตโตที่เป็นคนจิตใจดีงามคอยสร้างความสมานฉันท์และความหวังให้ทุกคน แอนน์นั้นจึงรักและผูกพันกับพ่อยิ่งกว่าแม่ทำให้แม่ของเธอน้อยใจเป็นยิ่งนัก

 

    นอกจากนี้เราต้องพูดถึงตัวละครอีกตัวนั้นคือแมวของปีเตอร์ที่แม้หน้าตาน่ารักน่าเอ็นดู แต่ก็สร้างความร้าวฉานให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมกัน เช่นหมอฟันที่เพิ่งมาอยู่แพ้ขนแมว หรือพ่อของปีเตอร์เห็นว่าแมวมาแย่งอาหารของพวกเขาจึงควรเอาไปทิ้ง แต่ปีเตอร์ไม่ยอม แถมแมวยังส่งเสียงดังให้พวกเขาพบกับเหตุการณ์อันน่าระลึกใจนั่นคือเกือบทำให้ทหารเยอรมันที่เข้ามาตรวจในห้องทำงานของออตโตรู้ว่าพวกเขาแอบซ่อนอยู่ข้างบน เหตุการณ์เช่นนี้ทำให้ผมอดนึกถึง วลาดีสลอว์ สปีลแมน ที่ โรมัน โปลันสกี ผู้กำกับหนังที่สูญเสียพ่อแม่ไปในค่ายกักกันของนาซีเหมือนกัน  เอามาสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง The Pianist ไม่ได้ สปีลแมนซึ่งเป็นชาวยิวโปแลนด์นั้นต้องหลบซ่อนตัวเช่นเดียวกับครอบครัวของแอนน์แต่เขาต้องย้ายหลายที่และต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยว เดียวดาย ซึ่งเป็นความทุกข์สุดโต่งไปอีกแบบหนึ่ง แต่เขายังเหมือนกับออตโตที่เป็นคน ๆ เดียวในครอบครัวที่รอดชีวิตหลังสงครามโลกจนสามารถเล่าเรื่องอันแสนโหดร้ายให้กับชาวโลกได้รับฟัง

 

 

                                                

                                                             ภาพจาก  www.cdn.collider.com

 

      2  ปีผ่านไป ครอบครัวของแอนน์ยังคงอยู่บนห้องใต้เพดานต่อไปด้วยความหวัง สิ่งหนึ่งที่ช่วยชโลมจิตใจของพวกเขาก็คือวิทยุที่ลูกจ้างของออตโตแอบนำมาให้พวกเขาได้รับฟังข่าวชัยชนะในสมรภูมิต่างๆ ของฝ่ายสัมพันธมิตรจากสถานีข่าวบีบีซีของอังกฤษ พร้อมกับเพลงซิมโฟนีหมายเลข 5  ของเบโธเฟน (อันเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะเพราะ 5  มีตัวเลขภาษาอังกฤษโบราณคือ V ที่เหมือนกับ Victory) สลับไปกับความขุ่นเคืองใจกับเสียงของฮิตเลอร์ที่กำลังกล่าวคำปราศรัยอย่างบ้าคลั่งในการปลุกระดมชาวเยอรมัน และแสดงความปรารถนาที่จะเร่งกำจัดชาวยิวออกไปจากโลกนี้ เพราะชาวยิวกลายเป็นแพะรับบาปที่ทำให้เยอรมันกำลังกำลังจะแพ้สงคราม  วันหนึ่งพวกเขาก็ได้รับฟังข่าวที่โหมให้ไฟชีวิตลุกโชนนั้นคือการบุกของฝ่ายสัมพันธมิตรต่อชายฝั่งนอร์มังดีในวันที่ 6 มิถุนายน ปี 1944 (วันดีเดย์) แอนน์เขียนไดอารีในวันที่ 1 สิงหาคมเป็นหน้าสุดท้ายโดยหารู้ไม่ว่าในวันที่ 4 สิงหาคมนั้นเองตำรวจพิเศษของเยอรมันดังที่เรียกว่าหน่วยตำรวจสีเขียวหรือ Green Police ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยเอสเอส สามารถค้นพบที่ซ่อนและจับกุมตัวพวกเขาทั้งหมด ทำไมพวกนาซีถึงค้นพบที่ซ่อน ?  อาจเป็นไปได้ว่ามีผู้ไม่ประสงค์นามชี้ช่องให้พวกนาซี ถึงแม้จะมีการสืบสวนกันในภายหลังและพบกับผู้ต้องสงสัยหลายคนแต่ก็ยังชี้ชัดไม่ได้ สำหรับในหนังก็ไม่ได้บอกชัดเจนว่าเพราะอะไร เพียงแต่ให้ตัวผู้แสดงสันนิษฐานว่า อาจจะมีคนทรยศหรืออาจจะเป็นหัวขโมยที่แอบย่องเข้ามาในบริษัทของออตโต และบังเอิญได้ยินเสียงของพวกเขาบนห้องติดหลังคา ต่อมาหมอนั่นถูกจับก็เลยบอกตำรวจเพื่อเอาตัวรอด อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ในหนังที่ทำให้คนดูสะเทือนใจอย่างมากมายคือ ตอนที่ครอบครัวของแอนน์และคนอื่นกำลังยืนรอให้พวกทหารเยอรมันพังประตูเข้ามาอย่างรวดเร็วและดุดัน เหมือนกับได้เห็นความตายกำลังคืบคลานมาอยู่เบื้องหน้า แต่แล้วพ่อของแอนน์ก็พูดในประโยคที่สุดแสนจะประทับใจออกมานั้นคือ

 

    For the past two years we have lived in fear. Now we can live in hope.

    ในเวลา 2 ปีที่ผ่านมาเราต่างมีชีวิตอยู่ด้วยความกลัว แต่ตอนนี้เราสามารถอยู่ได้ด้วยความหวัง

 

    เพราะออตโตคิดว่าเยอรมันกำลังจะแพ้สงคราม และน่าจะได้รับการปลดปล่อยก่อนจะถูกไปค่ายกักกัน แต่การณ์กลับตรงกันข้ามพวกเขาทั้งหมดถูกส่งตัวไปสอบสวนโดยตำรวจเกสตาโป และเข้าค่ายกักกันเพื่อทำงานหนักด้วยโทษที่หลบซ่อนตัว ในที่สุดแล้วต้นเดือนกันยายน พวกเขาถูกส่งไปยังค่ายกักกันอีกค่ายที่อื้อฉาวที่สุดค่ายหนึ่งคือเอาซวิตซ์ (Auswitz) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของโปแลนด์ ณ ที่นั้นพวกเขาถูกแยกจากกันไปตามการแบ่งเพศ แอนน์รอดพ้นจากการถูกส่งเข้าห้องรมก๊าซพิษเพราะเธออายุเกิน 15 ปีเพียงไม่กี่เดือน แต่ต้องทำงานหนักในสถานที่อันเลวร้ายสุดจะพรรณนา ดังที่เราเคยเห็นในหนังเรื่อง Schindler's List ในเดือนมีนาคม ปี 1945 โรคไทฟอยด์ระบายไปทั่วค่าย คร่าชีวิตของนักโทษไป 17,000 คนซึ่งรวมถึงพี่สาวและตัวแอนน์ด้วย พวกเธอเสียชีวิตเพียงไม่กี่อาทิตย์ก่อนที่กองกำลังของอังกฤษจะมาปลดปล่อยชาวค่าย ประมาณกันว่ามีชาวยิวในเนเธอร์แลนด์กว่า 110,000 คนถูกส่งตัวเข้าค่ายกักกัน และมีเพียง 5,000 คนที่รอดชีวิตมาได้

 

      หลังสงคราม ออตโตพยายามเผยแพร่ไดอารีของลูกสาว จนได้รับการตีพิมพ์อย่างแพร่หลายไปทั่วโลกในปี 1947 ไดอารีของ แอนน์ได้รับความสนใจจากชาวโลกอย่างมาก เพราะถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่างๆ ถึง 30 ภาษาและเป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนมากมาย เนลสัน เมนเดลา อดีตประธานาธิบดีของแอฟริกาใต้บอกว่าตอนที่ติดคุก เขามักจะอ่านหนังสือไดอารีของแอนน์เสมอเพื่อให้เกิดกำลังใจในการต่อสู้กับลัทธิเหยียดสีผิว (Apartheid) ซึ่งร้ายแรงเช่นเดียวกับลัทธิต่อต้านยิว อย่างไรก็ตามมีข้อกล่าวหาว่าไดอารีของเธอเป็นของปลอม บางคนถึงกลับอ้างว่าเธอไม่มีตัวตนอยู่ด้วยซ้ำ แต่ก็มีการค้นหาหลักฐานที่น่าเชื่อถือ สามารถยืนยันว่าเธอมีตัวตนอยู่จริง ๆ และไดอารีเป็นของลายมือของเธอจริง ๆ ไม่ว่าอย่างไรก็ตามความทุกข์ทรมานแสนสาหัสของมนุษย์ที่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ด้วยกัน ก็มักเป็นจริงอยู่เสมอมาตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และที่น่าตกใจที่ว่ามนุษย์ที่ก่อให้เกิดความทุกข์แก่ผู้อื่นเช่นนี้มักจะมีข้ออ้างดีๆ อยู่เสมอเช่นอุดมการณ์เป็นต้น !

 

 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1.  รัฐไทยคิดว่าตัวเองเปรียบได้ดัง       (10  ประเทศที่ฉ้อราษฎรบังหลวงน้อยที่สุดในโลก) 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                               
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 สหรัฐอเมริกาต้นทศวรรษที่ 60 ถือได้ว่าอยู่ในช่วงสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของสงครามเย็นนั้นคือวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) ที่รัฐบาลฟีเดล คาสโตรยินยอมให้สหภาพโซเวียตนำขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์มาตั้งไว้ในคิวบาเมื่อปี 1962 จนนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  (ผมยืนยันว่าบทความแปลคือ "จอห์น ราเบ้ นาซีผู้เป็นพระโพธิสัตว์แห่งเมืองนานกิง" นั้นต้นฉบับเป็นของผมเองซึ่งได้เขียนลงบล็อกมานานแล้ว หลังจากไปลองค้นหาดูกูเกิลก็พบว่ามีการลอกเอาบทความของผมไปลงในเว็บของตัวเอ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                        
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  หากจะพูดถึงผู้กำกับที่ชอบนำเอานวนิยายมาสร้างเป็นภาพยนตร์และประสบความสำเร็จอย่างมากมาย เซอร์ เดวิด ลีน (David Lean)ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลเหล่านั้น ดังจะเห็นได้จากผลงานอลัง
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                   ข้อสอบกลางภาควิชารัฐศาสตร์แบบสลิ่ม รหัส 11112
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้แปลมาจาก "มุมมองที่มีต่อสตาลิน : อดีตและอนาคต" (Depictions of Stalin: The Past and the Future )