Skip to main content

                               

   "เจ้าผู้ปกครองจะต้องเลียนแบบหมาจิ้งจอกและสิงห์โต ด้วยว่าสิงห์โตไม่อาจปกป้องตัวเองจากกับดัก และหมาจิ้งจอกไม่อาจป้องกันตัวเองจากหมาป่า ดังนั้นเราต้องเป็นหมาจิ้งจอกในการระแวดระวังกับดัก และเป็นสิงห์โตเพื่อที่จะทำให้หมาป่ากลัว"

                          Niccolo Machiavelli

    

     ที่ได้กล่าวเช่นนี้อาจจะดูเกินจริงไปเพราะคงมีนักการเมืองอีกค่อนโลกที่ไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร แต่เป็นที่แน่ชัดว่านักการเมืองไม่ว่าประเทศไหนไม่ว่าจะเป็นทรราชอย่างเช่น มุสโสลินี ฮิตเลอร์ สตาลิน เหมา เลนิน หรือรัฐบุรุษเช่น เชอร์ชิลล์ แท็ชเชอร์ หรือประธานาธิบดีสหรัฐฯเช่น รุสเวลส์จนไปถึงบุชพ่อลูก โอบามา ทรัมป์ คลินตัน เยลต์ซิน ปูติน จนไปถึงนักการเมืองของประเทศโลกที่ 3 อย่างตัน ฉ่วย   ซูฮาร์โต้ ทักษิณ หรือประยุทธ์ ฯลฯ ล้วนแต่ดำเนินตามทฤษฎีของเขาทั้งนั้นอาจจะโดยบังเอิญและอาจจะไม่ตรงเสียทีเดียวเพราะแต่ละคนจะต้องปรับกลยุทธ์ไปตามสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์ของตน ทั้งสำเร็จบ้างไม่สำเร็จจนไปถึงล่มจมตามกรณีไป แถมไม่นับนักปรัชญาการเมืองชื่อดังของโลกที่ได้รับอิทธิพลจากเขาอย่างมหาศาลซึ่งเราจะยกไปกล่าวในตอนท้ายของบทความ สำหรับพวกเราที่รู้จักภาษาอังกฤษดีก็จะสะดุดตากับคำว่า Machiavellian ที่เป็นคำคุณศัพท์แปลว่า "รอบจัด" หรือ "เจ้าเล่ห์" (อาจจะแปลได้อีกคำคือ "สาวกของมาเคียเวลลี") ซึ่งก็บอกอะไรหลายอย่างเกี่ยวกับตัวเขาคนนี้ได้ดี แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด ชายคนนี้ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาแห่งรัฐศาสตร์สมัยใหม่ (ส่วนสมัยเก่าคืออาริสโตเติล) และเป็นนักคิดคนสำคัญของทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่เรียกว่าสัจนิยม  เขาคือ Niccolo Machiavelli (นิคโคโล มาเคียเวลลี)

 

                                                                      

                                                                          ภาพจาก  wikimedia.com

 

       มาเคียเวลลีเกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ปี 1469 ณ หมู่บ้าน ซาน คาสเชียโน่ อิน วาล ดิ เปซา ใกล้นครฟลอเรนซ์ แห่งอิตาลี ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่ได้เป็นประเทศอย่างที่เราเห็น หากแบ่งแยกเป็นนครรัฐ (City-State) หรือนครที่อยู่ร่วมกันอย่างหลวมๆ  บิดาของเขาเป็นนักกฎหมายซึ่งน่าจะมีฐานะดีจนสามารถส่งเขาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยฟลอเรนซ์และกับปราชญ์ชื่อดังจนมีความรู้อย่างดีในด้านภาษาละตินและปรัชญามนุษย์นิยม (Humanism)ที่เฟื่องฟูในยุคการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของยุโรป (Renaissance) อย่างมาก   2  แนวคิดนี้ถือได้ว่าเป็นรากฐานทางปรัชญาการเมืองของเขาเลยก็ว่าได้ ยุคที่มาเคียเวลลีเกิดมานี้แสนจะวุ่นวาย ถือได้ว่าเป็นยุคแห่งการล่มสลายของอาณาจักรโรมันศักดิ์สิทธิ์ อันเกิดจากสงครามระหว่างกรุงโรมศักดิ์สิทธิ์และพันธมิตรแห่งคอนยัคซึ่งประกอบด้วยนครรัฐของอิตาลีเช่น มิลาน เวนิส ฟลอเรนซ์ ฝรั่งเศส ฯลฯ บรรยากาศเหล่านี้ย่อมเป็นตัวกำหนดโลกทัศน์ของมาเคียเวลลีเกี่ยวธรรมชาติของมนุษย์ได้อย่างดี ในวัยหนุ่ม เขาเข้าทำงานเป็นเสมียน ได้เป็นเลขานุการและได้เป็นทูตตัวแทนของเมืองฟลอเรนซ์ไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับแคว้นต่างๆ และรับผิดชอบกองกำลังรักษารัฐ บางแหล่งว่าเขาได้เป็นถึงรัฐมนตรีของนครฟลอเรนซ์ ในช่วงที่มาเคียเวลลีกำลังดวงขึ้นอยู่ขณะนี้ ขอย้อนกลับไปว่า นครฟลอเรนซ์เมื่อก่อนนั้นเคยถูกปกครองโดยตระกูลเมดิชีอันทรงอิทธิพล แต่แล้วประชาชนก็พร้อมใจกันขับไล่ตระกูลนี้ออกไปในปี 1494 และเปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐ แต่แล้วในปี 1512 ตระกูลนี้ก็กลับมายึดนครฟลอเรนซ์ได้อีกครั้ง มาเคียเวลลีซึ่งเคยทำงานต่อต้านตระกูลนี้มาก่อนจึงถูกจับกุม ถูกกล่าวหาและถูกทรมานจนปางตายใน 1 ปีหลังจากนั้นว่ากันว่าผู้คุมไปลอกวิธีการเช่นนี้มาจากยุคกลางเช่นจับนักโทษมัดขาแล้วห้อยขึ้นสูงจากพื้นพอประมาณ ก่อนจะปล่อยลงอย่างแรงๆ  

     โชคชะตายังเมตตาเพราะเขาได้รับการปล่อยตัวออกมาจึงลี้ภัยไปอยู่ที่บ้านไร่ชายทุ่งนอกนครฟลอเรนซ์ซึ่งได้กลายเป็นเวลาอันเหมาะสมสำหรับผลิตงานทางวรรณกรรมถึงแม้ก่อนหน้านั้นเขาก็ได้เขียนงานออกมาแล้วมากมายไม่ว่างานวิชาการ ร้อยแก้วร้อยกรอง บทละคร ที่สำคัญคือ Discourses on Livy (ถูกเขียนในช่วงปี 1512-1517) งานชิ้นสำคัญที่สุดของเขาที่บ้านไร่ชายทุ่งคือ The Prince ถูกเขียนในปลายปี 1513 เขาผลิตหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อหวังจะได้กลับไปรับราชการอีกครั้งหลังจากที่พรรคพวกในรัฐบาลของสาธารณรัฐหลายคนได้รับโอกาสเช่นนี้จากตระกูลเมดิชีแต่จนแล้วจนเล่าก็ไม่ได้เสียที เขาเลยเขียนหนังสือออกมาเรื่อยๆ เช่น The Art of War (จนมีคนนำไปเปรียบเทียบกับแนวคิดของซุ่นจื้อ ปราชญ์ทางด้านสงครามชื่อดังของจีนที่มีชื่อหนังสือคล้ายกัน) จนเมื่อปี 1520 มาเคียเวลลีก็ได้รับคำบัญชาจากคาร์ดินัล กุยลิโอ เดอเมดิชีให้เขียนประวัติของนครฟลอเรนซ์ ใช้เวลา 5 ปี จากนั้นเขาก็เริ่มได้งานจากรัฐบาลของเมดิชี แต่ถึงแก่กรรมเสียก่อนในปี 1527

    หนังสือชิ้นสำคัญที่สุดของมาเคียเวลลีคือ The Prince เป็นหนังสือที่มาเคียเวลลีเร่งเขียนเพราะต้องการจะไปนำเสนอให้กับกุยลิโน เดอเมดิชี แต่เจ้าองค์นี้สิ้นพระชนม์เสียก่อน กว่าที่โลเรนโซ เดอ เมดิชี เจ้าคนใหม่ซึ่งเขาอุทิศให้จะได้อ่านงานชิ้นนี้ก็ปาเข้าไป 1516 หนังสือเล่มนี้ มาเคียเวียลลีต้องการเสนอแนะวิธีในการปกครองนครของเจ้า ซึ่งทำให้เขานั้นกลายเป็นบิดาแห่งบิดารัฐศาสตร์ยุคใหม่ นั้นคือในยุคก่อนหน้านั้นแนวคิดทางการเมืองอิงอยู่กับยุคกลาง (Medieval Age) ซึ่งให้คุณค่าแก่เรื่องคุณธรรม ศีลธรรม และอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า แต่ "เจ้าผู้ปกครอง" ของมาเคียเวลลีกลับเป็นการเน้นไปที่เรื่องของฆราวาสล้วนๆ นั้นคือ หนังสือเล่มนี้ถูกแปลเป็นภาษาไทยภายใต้ชื่อ"เจ้าผู้ปกครอง"โดย สมบัติ จันทรวงศ์ ดังนั้นคำว่า Prince ไม่ได้หมายถึง "เจ้าชาย"ตามความหมายทั่วไป หากหมายถึง ผู้ปกครองรัฐในสมัยนั้น จึงขอใช้ชื่อไทยเพราะมันตรงมากกว่า

 

 

                                                                    

                                                                   ภาพจากwww. amazon.com

 

ต่อไปนี้คือแนวคิดสำคัญบางส่วน

มาเคียเวลลีเห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว โกหก หลอกลวง ทะเยอทะยาน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของตัวเอง ดังนั้นการที่เจ้าจะปกครองมวลชนได้ก็ต้องใช้อำนาจ แน่นอนว่ามาเคียเวลลีต้องการเอาใจพวกเมดิชี ดังนั้นเขาจึงยกย่องการปกครองแบบราชาธิปไตยอันมีการสืบต่อตำแหน่งทางสายเลือดไม่ใช่การแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง/คุณธรรมอันประเสริฐสุดไม่ใช่แบบตามแบบคริสตศาสนาในยุคกลางหากแต่หมายถึงรัฐที่มีเสถียรภาพและทรงเกียรติ เจ้าผู้ปกครองจึงต้องใช้ทุกวิถีทางในการปกป้องรัฐแม้ว่ามันจะโหดร้ายเพียงไหนก็ตาม แน่นอนมันย่อมหมายถึงเสถียรภาพของอำนาจตัวเองด้วย แต่เจ้าผู้ปกครองต้องไม่เป็นที่เกลียดชังเพราะจะทำให้ตนต้องล่มจม กระนั้นเจ้าผู้ปกครองต้องไม่ที่รักเพราะเปี่ยมด้วยความเมตตา เพราะความเมตตาจะนำปัญหามากมายมาสู่ภายหลัง เขาควรจะเป็นที่ได้รับความเกรงกลัวและเป็นที่รักจากการทำตัวให้ดูเป็นคนดี มีศีลธรรม มากกว่าเป็นคนดีจริงๆ เพราะสักวันเขาอาจจะทำอะไรบางอย่างที่ตรงข้ามกับความเป็นคนดีของตน แต่ท้ายสุดถ้าจะให้เลือกแล้วเขาควรที่จะถูกกลัวเสียมากกว่าถูกรัก  

       มาเคียเวลลีเองได้วิพากษ์ศาสนจักรซึ่งสุดแสนจะฉ้อฉลมาตั้งแต่ยุคกลางจนมาถึงยุคของเขานั้นคือยุคฟื้นฟูศิลปะวัฒนธรรม ดังนั้นศาสนาจึงไม่ใช่ความกลัวต่อพระเจ้าหากแต่เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวสำหรับประชาชนให้ประพฤติตัวดีมีศีลธรรม และยังมีความมุ่งมั่น พร้อมใจในการปกป้องนครจากศัตรู เจ้าผู้ปกครองควรที่จะสนับสนุนศาสนาเพื่อเป็นการดำรงไว้ซึ่งอำนาจของตัวเอง/เมื่อมนุษย์ (และรัฐ)  เต็มไปด้วมความชั่วร้าย แก่งแย่งชิงดีกัน มาเคียเวลลีจึงให้ความสำคัญแก่สงครามอย่างมาก สงครามเป็นสิ่งที่เจ้าผู้ปกครองต้องศึกษาไว้ให้ดี ต้องทำให้นครของตนมีกองทัพอันยิ่งใหญ่ หรืออย่างน้อยตัวนครต้องมีความแข็งแรง สามารถปกป้องและพึ่งพิงตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งทหารรับจ้างและทหารจากรัฐอื่น ซึ่งอาจทำให้อำนาจของเจ้าผู้ปกครองนครต้องสูญเสียไป /เจ้าผู้ปกครองควรจะมีที่ปรึกษาหลายคนเพราะคนเหล่านั้นย่อมให้ข้อเสนอแนะที่แตกต่างตามแต่สันดานและผลประโยชน์ของตน ดังนั้นเจ้าควรจะครุ่นคิดให้ถ่องแท้ /มาเคียเวลลีเห็นว่าเจ้าผู้ปกครองควรจะมีเจตจำนงอิสระในการตัดสินใจบริหารราชการด้วยตัวเอง ถึงเขาจะมีฝีมือความสามารถแต่ก็ยังต้องพึ่งลิขิตฟ้าที่หาความแน่นอนไม่ได้แต่เป็นตัวกำหนดชะตาของตนและรัฐเสียครึ่งหนึ่ง ดังนั้นเจ้าผู้ปกครองจึงควรที่จะปรับเปลี่ยนและหยิบฉวยลิขิตฟ้านั้นเพื่อเป็นประโยชน์แห่งตน ฯลฯ

     ด้วยแนวคิดที่ว่า "เจ้าผู้ปกครองจะต้องทำทุกวิธีทางในการทำรักษาอำนาจของตน"เลยเถิดกลายเป็นคาถาประจำใจของนักการเมืองไม่ว่ามาจากการเลือกตั้งหรือการทำรัฐประหารไปเสีย นั่นคือมุ่งแสวงหาผลประโยชน์ของตน และอ่านดูให้ดีจะเห็นนักการเมืองเหล่านั้นก็มีพฤติกรรมอย่างที่เห็นข้างบนอยู่หลายข้อถึงแม้พวกเขาอาจจะไม่เคยอ่าน "เจ้าผู้ปกครอง" มาก่อน มาเคียเวลลีจึงถูกมองจากชาวโลกส่วนใหญ่ว่าเป็นนักปรัชญาที่แสนชั่วร้าย ปัจจุบันมีนักวิชาการมากมายออกมาแก้ต่างให้ว่าที่ความจริงแล้ว นักปรัชญาชาวอิตาลีผู้นี้มุ่งเน้นไปที่เรื่องของเสถียรภาพของรัฐหรือส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว เพียงแต่เขามองธรรมชาติของมนุษย์ในแง่ร้าย เย็นชาเท่านั้น นอกจากนี้ หนังสือของมาเคียเวลลีที่ชาวโลกมักจะหลงลืมคือ Discourses on Livy (ชื่อเต็มคือ Discourses on the First Ten Books of Titus Livy) ขนาด 3 เล่มใหญ่ ที่มาเคียเวลลีกลับไปศึกษาลักษณะการเมืองของอาณาจักรโรมัน เป็นสิ่งที่แสดงถึงความศรัทธาของเขาในเรื่องสาธารณรัฐ (Republic) ซึ่งมีรัฐบาลที่ขึ้นอยู่กับการยอมรับและการมีส่วนร่วมของประชาชนระดับรากหญ้าอันมีลักษณะเป็นประชาธิปไตยอันแตกต่างกับ"เจ้าผู้ปกครอง" ที่เน้นการปกครองจากคน ๆ เดียว เขาจึงเป็นนักปรัชญาที่มี 2 แนวคิดคู่แฝดขนานกันไป สำหรับ Discourses on Livy เขากลั่นมันมาจากความคิดในเชิงอุดมคติ ส่วน "เจ้าผู้ปกครอง" เป็นหนังสือที่ทำให้เขากลายเป็นบิดาแห่งวิชารัฐศาสตร์ยุคใหม่เพราะทฤษฎีทั้งหลายในนั้นล้วนเกิดจากการสังเกตการณ์ล้วนๆ ในขณะที่แนวคิดทางการเมืองก่อนหน้านั้นใช้วิธีการนั่งคิดเอาเอง (เอาตามจริงก็ไม่เชิง แนวคิดเมื่อก่อนก็ใช้วิธีการสังเกตอยู่ไม่น้อย หากแต่เน้นเรื่องอุดมคติหรือสิ่งที่นามธรรมเสียมากเกินไป)

      นอกจากบรรดานักการเมืองแล้ว แนวคิดของมาเคียเวลลีโดยเฉพาะใน "เจ้าผู้ปกครอง" ได้มีอิทธิพลต่อนักคิดจำนวนมากในยุคหลังไม่ว่าโทมัส ฮอบส์ (ทั้งคู่จึงกลายเป็นนักปรัชญาที่ทรงอิทธิพลต่อทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ),ญอง-ญาค รุสโซ นักปรัชญาการเมืองชาวฝรั่งเศส, ฟริดริก นิชเช  นักปรัชญาชาวเยอรมันแนวคิดอัตถิภาวนิยมเจ้าของวลีอันโด่งดัง "พระเจ้าตายแล้ว"  ,นักปรัชญาลัทธิมาร์กซ์อย่างเช่น อันโตนีโอ  กรัมส์ชี  ,ลีโอ สเตราส์ นักปรัชญาอเมริกันผู้มีอิทธิพลต่อแนวคิดนวอนุรักษ์นิยมของอเมริกา รวมไปถึง เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศในสมัยของริชาร์ด นิกสัน ทั้ง 2 คนหลังนี้ทำให้เราได้รู้ว่า หากจะศึกษานโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯ ไม่ว่ายุคเก่ายุคใหม่ ก็ควรจะอ่าน "เจ้าผู้ปกครอง"เสียก่อน แต่ถ้าสนใจอิทธิพลของมาเคียเวลลีต่อการเมืองไทยก็ลองดูพฤติกรรมของคสช.ตอนนี้ก็ได้

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    อุปรากรที่คนไทยน่าจะรู้จักไม่แพ้ Madame Butterfly ก็คือ Carmen ซึ่งเป็นอุปรากรฝรั่งเศสที่แต่งโดยคตีกวีที่เราไม่เคยคุ้นเคยนักและก็ไม่ถือว่าดังเหมือนเบโธเฟนหรือโมซาร์ทคือจอร์จ บิเซต์ เขาเน้นไปที่การแต่งอุปรากรและอุปรากรก็ดังแค่ไม่กี่เรื่อง แต่พฤติกรรมตัวเอกของ Carmen ทำให้อุปรากรเรื่อ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                               
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   Bicycle Thief เป็นภาพยนตร์ขาวดำสัญชาติอิตาลี ที่ออกฉายในปี 1948  และมักถูกจัดว่าเป็นตระกูลนวสัจนิยมหรือ Neo Realism ที่สะท้อนชีวิตของคนรากหญ้าเป็นหลัก   หากใครที่ไม่คุ้นเคยกับภาพยนตร์ตระกูลนวสัจนิยม ก็ลองไปดูภาพยนตร์สมัยทศวรรษที่ 10 และ 20 ของท่านมุ้ยเกี่ยวกับชีวิตของคนตัวเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อาชญากรรมและการลงทัณฑ์เป็นชื่อแปลมาจากภาษาอังกฤษคือ Crime and Punishment ซึ่งเป็นนวนิยายชิ้นเอกของนักเขียนนามอุโฆษชาวรัสเซียคือฟีออดอร์ ดอสโตเยฟสกี (Fyodor Dostoevsky) ผู้มีชีวิตในช่วงระหว่างปี 1821 จนถึงปี 1881 เขาเป็นที่รู้จักอย่างดีในนวนิยายเรื่อง Brothers Karamazov ที่แสนจะยาวเหยียดและซับซ้อน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อพูดถึงอันโตนีโอ วิวัลดี (Antonio Vivaldi) คนก็ต้องนึกถึงเพลงยอดนิยมของเขาคือ Four Seasons หรือฤดูกาลทั้ง 4 (ต่อมา กลายเป็นชื่อโรงแรมอันอื้อฉาว) เป็นอันดับแรก ทั้งที่คีตกวีท่านนี้มีผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
    เฮอร์มันน์ เฮสเส เป็นนักเขียนแนวจินตนิยม (Romanticism) และแนวอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ที่ประทับใจผมมาก เริ่มจากการถูกอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบังคับให้อ่านหนังสือของเขาที่คนไทยรู้จักกันดีคือ สิทธารถะ จากนั้นเมื่อได้อ่านเรื่องอื่นๆ ที่คนไทยคืออาจารย์สดใสแปลไม่ว่า ปีเตอร์คาเมนซิน &nb
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
แปลมาจากบทความของคุณอิลิซาเบท ชวาร์ม เกลสเนอร์  จาก www.w3.rz-berlin.mpg.de Symphony No.1, Op.21 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                                           
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์