Skip to main content

                                  

    

 

……….This was a music I'd never heard. Filled with such longing, such unfulfillable longing, it had me trembling. It seemed to me that I was hearing the voice of God.

    .......  นี่คือดนตรีที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน ช่างเปี่ยมด้วยความปรารถนาอันล้นเหลือ ความปรารถนาที่ช่างไม่มีวันเติมเต็ม มันทำให้ผมสั่นเทิ้ม ดูราวกับว่าผมกำลังได้ยินพระสุรเสียงแห่งพระเจ้า

                                                   อันโตนีโอ ซาเรียเย่

        ผมไม่รู้เหมือนกันว่าประโยคข้างบนเป็นคำชื่นชมที่มาจากความรู้สึกภายในของซาเรียเย่ คีตกวีชื่อดังคนหนึ่งของยุคคลาสิกต่อดนตรีของโมซาร์ท หรือเป็นเพียงบทพูดที่ถูกเขียนขึ้นมาในภาพยนตร์รางวัล 8 ตุ๊กตาทองอย่าง Amadeus (1984) แต่เวลาที่ผมได้ฟังเสียงเพลงของโมซาร์ทโดยเฉพาะเปียโนนั้น ทำให้ผมคิดว่าหากดนตรีของเขาไม่ใช่พระสุรเสียงของพระเจ้า อย่างน้อยๆ  ก็ต้องเป็นเสียงเต้นของพระหทัย (หัวใจ) แห่งพระองค์ อนึ่งในฐานะพวกไม่เชื่อในพระเจ้าหรือไม่มีศาสนา พระเจ้าในที่นี้จึงเปรียบได้กับพลังหรือกฏเกณฑ์อันยิ่งใหญ่ของจักรวาล ดังปรัชญาของท่านรพินทรนาถ ฐากูร กวีรางวัลโนเบลชาวอินเดีย นอกจากผมจะตกหลุมรักเปียโนโซโนาตาของเบโธเฟนซึ่งฟังดูเปี่ยมด้วยอารมณ์รุนแรงและลึกซึ้งแล้ว (กระนั้นในหลายบท เพลงของเบโธเฟนก็นุ่มนวลและสร้างอารมณ์ชวนฝัน) ผมยังชอบฟังเปียโนโซนาตาของโมซาร์ทและมักโยงดนตรีของเขาเข้ากับทิวทัศน์รอบข้างที่เป็นชนบทจึงมักจะคิดเล่นๆ อยู่เสมอว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ปรากฏรูปโฉมมาพร้อมกับแมกไม้ซึ่งมีเบื้องหลังคือทุ่งนาสีทองอร่ามที่อยู่แนบชิดกับทิวเขาสีเขียวชอุ่ม พร้อมกับเสียงเปียโนของคีตกวีท่านนี้ ดังชื่อกลางของโมซาร์ทคือ Amadeus อันเป็นภาษาละตินแปลว่า "ความรักของพระเจ้า"  กระนั้นความมลังเมลืองของเปียโนของโมซาร์ทก็ไม่ได้จำกัดเพียงแค่โซนาตาเพียงอย่างเดียว หากรวมไปถึงการละเล่นร่วมกับไวโอลินดังไวโอลินโซนาตา (violin sonata) ที่เปียโนทำหน้าที่รองลงมาคือช่วยเป็นจังหวะให้กับไวโอลินหรือรูปแบบที่อาจจะไม่ได้นิยมเท่า แต่ช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกได้ถึงความเนิบนาบ ไปพร้อมกับความสงบและอบอุ่น ราวกับอยู่ในห้วงแห่งสมาธิก็ไม่ปาน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสวนหรือทุ่งนายามบ่ายที่มีแสงแดดสาดส่องมา ดนตรีเช่นนั้นของโมซาร์ทก็คือ Quintet in E flat major for Piano and Winds, K. 452  ที่มีเครื่องดนตรีสำหรับเป่าเข้าร่วมละเล่นกับเปียโนก็คือโอบา แคริเน็ต ฮอร์นและบาสซูน รวมจำนวนเครื่องดนตรี  5 ชิ้น

 

                                      

                                                                  ภาพจาก www.copieartistiche.it

นอกจากนี้ยังรวมถึงเปียโนที่เล่นร่วมกับวงออร์เคสเคสตรา ดังชื่อเปียโนคอนแชร์โต  (piano concerto) และ บุรุษผู้หนึ่งซึ่งน่าจะซาบซึ้งดนตรีเช่นนี้ของโมซาร์ทเป็นอย่างดีก็คือโจเซฟ สตาลินผู้นำแสนยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียตที่ได้ผลาญชีวิตของเพื่อนร่วมชาติไปกว่า 30 ล้านคนนั้นเอง ถึงแม้ข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีและนักดนตรีที่เขาค่อนข้างจำกัดไม่อล่างฉ่างหรืออลังการเหมือนกับฮิตเลอร์ และเขาก็ได้กดขี่คีตกวีรวมไปถึงนักดนตรีของสหภาพโซเวียตจากอุดมการณ์สัจนิยมสังคมนิยมของเขา จนคนเหล่านั้นแทบเจียนบ้าจากโศกนาฏกรรมของชีวิต ดังตัวอย่างของดมิตรี โชสตาโควิก และเซอร์กีย์ โปรโกเฟียฟ ซึ่งผมได้เขียนเล่าเรื่องชีวิตของคนทั้ง 2 มาแล้วนั้นเอง ดนตรีที่เขาชอบน่าจะเป็นดนตรีของโมซาร์ท นอกเหนือไปจากดนตรีพื้นบ้าน (อันสะท้อนถึงบุคลิกแบบรากหญ้าของเขา อันแตกต่างจากบุคลิกปัญญาชนอย่างวลาดิมีร์ เลนินหรือลีออน ทรอสต์กี)  จึงเป็นเรื่องย้อนแย้งที่ว่าดนตรีของโมซาร์ทไม่สามารถสื่อหรือนำไปสู่ความคิดทางสังคมนิยมหรือต่อต้านชนชั้นตามเจตจำนงของสตาลินได้ ยกเว้นอุปรากรบางเรื่องของโมซาร์ทที่เสียดสีระบบชนชั้นของยุโรปในศตวรรษที่ 18 

     ในช่วงบั้นปลายของชีวิต สตาลินเริ่มใช้ชีวิตอย่างสันโดษและมีพฤติกรรมส่อความเพี้ยนขึ้นเรื่อยๆ  เขามักหมกตัวอยู่กับบ้านพัก ไม่ยอมพบปะผู้คน งานอดิเรกแปลก ๆ ของเขาก็คือการตัดเอารูปจากหนังสือพิมพ์และนิตยสารมาติดกับกระดาษแล้วเอามาประดับผนังบ้านของตน สตาลินใช้เวลาในการฟังวิทยุมาก วันหนึ่งเขาฟังเพลงเปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 23 ของโมซาร์ทผ่านวิทยุ จึงได้ร้องขอคณะกรรมการที่รับผิดชอบการกระจายเสียงวิทยุถึงแผ่นเสียงของเพลงบทนี้ อันเป็นเรื่องน่าสะพึงกลัวว่าดนตรีที่เขาฟังนั้นเป็นการแสดงสด และไม่มีใครกล้าปฏิเสธสตาลิน เพราะเพียงเขาพยักหน้าเป็นสัญลักษณ์ คนผู้นั้นก็ต้องเข้าค่ายกักกันหรือไม่ก็ถูกยิงทิ้งเพียงสถานเดียว คณะกรรมการต้องลงทุนนำวงดนตรีมาบรรเลงเพื่ออัดเสียงโดยเฉพาะ การอัดเสียงครั้งนี้กว่าจะสำเร็จได้ ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดของผู้เกี่ยวข้องซึ่งล้วนเต็มไปด้วยความวิตกกังวลอย่างสูง ถึงขั้นต้องใช้วาทยากรถึง 3 คน เพราะ 2 คนแรกเครียดจนป่วยเป็นโรคประสาทเกินกว่าจะทำอะไรได้  กระนั้นมีบุคคลเดียวซึ่งไม่ได้รู้สึกวิตกกังวลอะไรนักคือนักเล่นเปียโนในคอนเสิร์ตครั้งนั้นนามว่า มาเรีย ยูดินา เธอนั้นจะเป็นคนโปรดของสตาลินก็ไม่อาจทราบได้ เพราะสตาลินไม่น่าจะชอบมนุษย์หน้าไหนได้เป็นพิเศษ  แต่ที่แน่ๆ คือเธอเป็นเพียงไม่กี่คนหรืออาจจะคนเดียวในแผ่นดินโซเวียตที่กล้าขัดคอสตาลินแล้วยังมีลมหายใจอยู่ต่อได้ แถมยังเขียนจดหมายเป็นเชิงตำหนิท่านผู้นำได้อีกด้วย ซึ่งสะท้อนว่าสตาลินนั้นอาจจะชื่นชอบเธอในฐานะผู้ถ่ายทอดดนตรีของโมซาร์ทเป็นอย่างน้อย

         สตาลินถึงแก่กรรมเวลา 3 ทุ่ม 50 นาทีของคืนวันที่ 5 มีนาคม ปี 1953 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว มีคนคาดการณ์ไปต่างๆ นาๆ ถึงห้วงคิดของจอมเผด็จการว่าเป็นอย่างไรก่อนที่จะลาลับจากโลกนี้ไป บ้างก็ว่าเขากำลังวางแผนจะจับกุมและสังหารคนรอบข้างไม่ว่าแพทย์ หรือแม้แต่ลูกน้องผู้ภักดีต่อตน ตามประสาของผู้ป่วยเป็นโรคหวาดระแวง การตายของเขาจึงเป็นการช่วยชีวิตของชาวโซเวียตอีกเป็นล้านๆ คน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าขนลุกหากสตาลินมีชีวิตอยู่ต่ออีกหลายปี  อย่างไรก็ตามมีการพบว่า แผ่นเสียงเปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 23 ของโมซาร์ทที่บรรเลงโดยยูดินาค้างอยู่ในเครื่องเล่นของสตาลิน จึงเป็นไปได้ว่าสตาลินคงฟังเพลง ๆ นี้ไม่นานก่อนเขาตาย อันทำให้อดจินตนาการไม่ได้ว่าในห้วงคิดคำนึงอันแสนดำมืดของทรราชก่อนลมหายใจเฮือกสุดท้ายจะออกจากร่างนั้น อาจจะมีแสงสว่างอันเกิดจากเสียงเปียโนอันงดงามของโมซาร์ทพาดผ่านอยู่ไม่มากก็น้อย    

         

                                                                    

                                                                    ภาพจาก www.amazon.com

          

 

 

    

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที