Skip to main content

                                  

    

 

……….This was a music I'd never heard. Filled with such longing, such unfulfillable longing, it had me trembling. It seemed to me that I was hearing the voice of God.

    .......  นี่คือดนตรีที่ผมไม่เคยได้ยินมาก่อน ช่างเปี่ยมด้วยความปรารถนาอันล้นเหลือ ความปรารถนาที่ช่างไม่มีวันเติมเต็ม มันทำให้ผมสั่นเทิ้ม ดูราวกับว่าผมกำลังได้ยินพระสุรเสียงแห่งพระเจ้า

                                                   อันโตนีโอ ซาเรียเย่

        ผมไม่รู้เหมือนกันว่าประโยคข้างบนเป็นคำชื่นชมที่มาจากความรู้สึกภายในของซาเรียเย่ คีตกวีชื่อดังคนหนึ่งของยุคคลาสิกต่อดนตรีของโมซาร์ท หรือเป็นเพียงบทพูดที่ถูกเขียนขึ้นมาในภาพยนตร์รางวัล 8 ตุ๊กตาทองอย่าง Amadeus (1984) แต่เวลาที่ผมได้ฟังเสียงเพลงของโมซาร์ทโดยเฉพาะเปียโนนั้น ทำให้ผมคิดว่าหากดนตรีของเขาไม่ใช่พระสุรเสียงของพระเจ้า อย่างน้อยๆ  ก็ต้องเป็นเสียงเต้นของพระหทัย (หัวใจ) แห่งพระองค์ อนึ่งในฐานะพวกไม่เชื่อในพระเจ้าหรือไม่มีศาสนา พระเจ้าในที่นี้จึงเปรียบได้กับพลังหรือกฏเกณฑ์อันยิ่งใหญ่ของจักรวาล ดังปรัชญาของท่านรพินทรนาถ ฐากูร กวีรางวัลโนเบลชาวอินเดีย นอกจากผมจะตกหลุมรักเปียโนโซโนาตาของเบโธเฟนซึ่งฟังดูเปี่ยมด้วยอารมณ์รุนแรงและลึกซึ้งแล้ว (กระนั้นในหลายบท เพลงของเบโธเฟนก็นุ่มนวลและสร้างอารมณ์ชวนฝัน) ผมยังชอบฟังเปียโนโซนาตาของโมซาร์ทและมักโยงดนตรีของเขาเข้ากับทิวทัศน์รอบข้างที่เป็นชนบทจึงมักจะคิดเล่นๆ อยู่เสมอว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ปรากฏรูปโฉมมาพร้อมกับแมกไม้ซึ่งมีเบื้องหลังคือทุ่งนาสีทองอร่ามที่อยู่แนบชิดกับทิวเขาสีเขียวชอุ่ม พร้อมกับเสียงเปียโนของคีตกวีท่านนี้ ดังชื่อกลางของโมซาร์ทคือ Amadeus อันเป็นภาษาละตินแปลว่า "ความรักของพระเจ้า"  กระนั้นความมลังเมลืองของเปียโนของโมซาร์ทก็ไม่ได้จำกัดเพียงแค่โซนาตาเพียงอย่างเดียว หากรวมไปถึงการละเล่นร่วมกับไวโอลินดังไวโอลินโซนาตา (violin sonata) ที่เปียโนทำหน้าที่รองลงมาคือช่วยเป็นจังหวะให้กับไวโอลินหรือรูปแบบที่อาจจะไม่ได้นิยมเท่า แต่ช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกได้ถึงความเนิบนาบ ไปพร้อมกับความสงบและอบอุ่น ราวกับอยู่ในห้วงแห่งสมาธิก็ไม่ปาน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในสวนหรือทุ่งนายามบ่ายที่มีแสงแดดสาดส่องมา ดนตรีเช่นนั้นของโมซาร์ทก็คือ Quintet in E flat major for Piano and Winds, K. 452  ที่มีเครื่องดนตรีสำหรับเป่าเข้าร่วมละเล่นกับเปียโนก็คือโอบา แคริเน็ต ฮอร์นและบาสซูน รวมจำนวนเครื่องดนตรี  5 ชิ้น

 

                                      

                                                                  ภาพจาก www.copieartistiche.it

นอกจากนี้ยังรวมถึงเปียโนที่เล่นร่วมกับวงออร์เคสเคสตรา ดังชื่อเปียโนคอนแชร์โต  (piano concerto) และ บุรุษผู้หนึ่งซึ่งน่าจะซาบซึ้งดนตรีเช่นนี้ของโมซาร์ทเป็นอย่างดีก็คือโจเซฟ สตาลินผู้นำแสนยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียตที่ได้ผลาญชีวิตของเพื่อนร่วมชาติไปกว่า 30 ล้านคนนั้นเอง ถึงแม้ข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีและนักดนตรีที่เขาค่อนข้างจำกัดไม่อล่างฉ่างหรืออลังการเหมือนกับฮิตเลอร์ และเขาก็ได้กดขี่คีตกวีรวมไปถึงนักดนตรีของสหภาพโซเวียตจากอุดมการณ์สัจนิยมสังคมนิยมของเขา จนคนเหล่านั้นแทบเจียนบ้าจากโศกนาฏกรรมของชีวิต ดังตัวอย่างของดมิตรี โชสตาโควิก และเซอร์กีย์ โปรโกเฟียฟ ซึ่งผมได้เขียนเล่าเรื่องชีวิตของคนทั้ง 2 มาแล้วนั้นเอง ดนตรีที่เขาชอบน่าจะเป็นดนตรีของโมซาร์ท นอกเหนือไปจากดนตรีพื้นบ้าน (อันสะท้อนถึงบุคลิกแบบรากหญ้าของเขา อันแตกต่างจากบุคลิกปัญญาชนอย่างวลาดิมีร์ เลนินหรือลีออน ทรอสต์กี)  จึงเป็นเรื่องย้อนแย้งที่ว่าดนตรีของโมซาร์ทไม่สามารถสื่อหรือนำไปสู่ความคิดทางสังคมนิยมหรือต่อต้านชนชั้นตามเจตจำนงของสตาลินได้ ยกเว้นอุปรากรบางเรื่องของโมซาร์ทที่เสียดสีระบบชนชั้นของยุโรปในศตวรรษที่ 18 

     ในช่วงบั้นปลายของชีวิต สตาลินเริ่มใช้ชีวิตอย่างสันโดษและมีพฤติกรรมส่อความเพี้ยนขึ้นเรื่อยๆ  เขามักหมกตัวอยู่กับบ้านพัก ไม่ยอมพบปะผู้คน งานอดิเรกแปลก ๆ ของเขาก็คือการตัดเอารูปจากหนังสือพิมพ์และนิตยสารมาติดกับกระดาษแล้วเอามาประดับผนังบ้านของตน สตาลินใช้เวลาในการฟังวิทยุมาก วันหนึ่งเขาฟังเพลงเปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 23 ของโมซาร์ทผ่านวิทยุ จึงได้ร้องขอคณะกรรมการที่รับผิดชอบการกระจายเสียงวิทยุถึงแผ่นเสียงของเพลงบทนี้ อันเป็นเรื่องน่าสะพึงกลัวว่าดนตรีที่เขาฟังนั้นเป็นการแสดงสด และไม่มีใครกล้าปฏิเสธสตาลิน เพราะเพียงเขาพยักหน้าเป็นสัญลักษณ์ คนผู้นั้นก็ต้องเข้าค่ายกักกันหรือไม่ก็ถูกยิงทิ้งเพียงสถานเดียว คณะกรรมการต้องลงทุนนำวงดนตรีมาบรรเลงเพื่ออัดเสียงโดยเฉพาะ การอัดเสียงครั้งนี้กว่าจะสำเร็จได้ ต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดของผู้เกี่ยวข้องซึ่งล้วนเต็มไปด้วยความวิตกกังวลอย่างสูง ถึงขั้นต้องใช้วาทยากรถึง 3 คน เพราะ 2 คนแรกเครียดจนป่วยเป็นโรคประสาทเกินกว่าจะทำอะไรได้  กระนั้นมีบุคคลเดียวซึ่งไม่ได้รู้สึกวิตกกังวลอะไรนักคือนักเล่นเปียโนในคอนเสิร์ตครั้งนั้นนามว่า มาเรีย ยูดินา เธอนั้นจะเป็นคนโปรดของสตาลินก็ไม่อาจทราบได้ เพราะสตาลินไม่น่าจะชอบมนุษย์หน้าไหนได้เป็นพิเศษ  แต่ที่แน่ๆ คือเธอเป็นเพียงไม่กี่คนหรืออาจจะคนเดียวในแผ่นดินโซเวียตที่กล้าขัดคอสตาลินแล้วยังมีลมหายใจอยู่ต่อได้ แถมยังเขียนจดหมายเป็นเชิงตำหนิท่านผู้นำได้อีกด้วย ซึ่งสะท้อนว่าสตาลินนั้นอาจจะชื่นชอบเธอในฐานะผู้ถ่ายทอดดนตรีของโมซาร์ทเป็นอย่างน้อย

         สตาลินถึงแก่กรรมเวลา 3 ทุ่ม 50 นาทีของคืนวันที่ 5 มีนาคม ปี 1953 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว มีคนคาดการณ์ไปต่างๆ นาๆ ถึงห้วงคิดของจอมเผด็จการว่าเป็นอย่างไรก่อนที่จะลาลับจากโลกนี้ไป บ้างก็ว่าเขากำลังวางแผนจะจับกุมและสังหารคนรอบข้างไม่ว่าแพทย์ หรือแม้แต่ลูกน้องผู้ภักดีต่อตน ตามประสาของผู้ป่วยเป็นโรคหวาดระแวง การตายของเขาจึงเป็นการช่วยชีวิตของชาวโซเวียตอีกเป็นล้านๆ คน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าขนลุกหากสตาลินมีชีวิตอยู่ต่ออีกหลายปี  อย่างไรก็ตามมีการพบว่า แผ่นเสียงเปียโนคอนแชร์โตหมายเลข 23 ของโมซาร์ทที่บรรเลงโดยยูดินาค้างอยู่ในเครื่องเล่นของสตาลิน จึงเป็นไปได้ว่าสตาลินคงฟังเพลง ๆ นี้ไม่นานก่อนเขาตาย อันทำให้อดจินตนาการไม่ได้ว่าในห้วงคิดคำนึงอันแสนดำมืดของทรราชก่อนลมหายใจเฮือกสุดท้ายจะออกจากร่างนั้น อาจจะมีแสงสว่างอันเกิดจากเสียงเปียโนอันงดงามของโมซาร์ทพาดผ่านอยู่ไม่มากก็น้อย    

         

                                                                    

                                                                    ภาพจาก www.amazon.com

          

 

 

    

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1.  รัฐไทยคิดว่าตัวเองเปรียบได้ดัง       (10  ประเทศที่ฉ้อราษฎรบังหลวงน้อยที่สุดในโลก) 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                               
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 สหรัฐอเมริกาต้นทศวรรษที่ 60 ถือได้ว่าอยู่ในช่วงสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของสงครามเย็นนั้นคือวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) ที่รัฐบาลฟีเดล คาสโตรยินยอมให้สหภาพโซเวียตนำขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์มาตั้งไว้ในคิวบาเมื่อปี 1962 จนนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  (ผมยืนยันว่าบทความแปลคือ "จอห์น ราเบ้ นาซีผู้เป็นพระโพธิสัตว์แห่งเมืองนานกิง" นั้นต้นฉบับเป็นของผมเองซึ่งได้เขียนลงบล็อกมานานแล้ว หลังจากไปลองค้นหาดูกูเกิลก็พบว่ามีการลอกเอาบทความของผมไปลงในเว็บของตัวเอ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                        
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  หากจะพูดถึงผู้กำกับที่ชอบนำเอานวนิยายมาสร้างเป็นภาพยนตร์และประสบความสำเร็จอย่างมากมาย เซอร์ เดวิด ลีน (David Lean)ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลเหล่านั้น ดังจะเห็นได้จากผลงานอลัง
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
                   ข้อสอบกลางภาควิชารัฐศาสตร์แบบสลิ่ม รหัส 11112
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้แปลมาจาก "มุมมองที่มีต่อสตาลิน : อดีตและอนาคต" (Depictions of Stalin: The Past and the Future )