Skip to main content
 
Ran(1985) เป็นงานชิ้นโดดเด่นและใช้ทุนสุดมหาศาลของยอดผู้กำกับภาพยนตร์อย่างอาคิระ คุโรซาวาในช่วงบั้นปลายที่เขาหันมาทำภาพยนตร์เป็นสีธรรมชาติ บางคนอาจจะชอบภาพยนตร์สีธรรมชาติเรื่องก่อนหน้านี้ของเขาคือ kagemusha หรือนักรบเงา (1980) แต่ผมคิดว่า Ran จัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่เปี่ยมด้วยเนื้อหาและอารมณ์อันหนักหน่วงและดูลงตัวกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองสาขาการแต่งกาย (1985) แต่ก็มีใครหลายคน เห็นว่าคุโรซาวาน่าจะได้รางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และน่าจะเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย
 
 
 
 
                                               
 
                                                       ภาพจาก www.brianformo.com 
 
 
Ran เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่าความสับสนวุ่นวาย (Chaos) คุโรซาวารังสรรค์เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้โดยได้รับแรงบันดาลใจ 3 แหล่งคือจากชีวิตของโชกุนท่านหนึ่งในยุคสงครามกลางเมืองของญี่ปุ่นเมื่อศตวรรษที่ 17  รวมไปถึงบทละครซึ่งมีเนื้อหาคล้ายคลึงกันของ วิลเลียม เชคสเปียร์ คือ King lear ซึ่งตัวละครเป็นกษัตริย์มีพระธิดา 3  องค์ แต่ในเรื่องของคุโรซาวาเป็นบุตรชาย 3  คนของโชกุนผู้ยิ่งใหญ่หรือ Great Lord  นามว่า ฮิเดโตรา  ที่สำคัญเนื้อเรื่องยังเป็นการจำลองชีวิตของเขาเองในวัยชราซึ่งเปรียบได้กับสุนัขล่าเนื้อที่อ่อนพลังในยามอุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่นต้องพบการท้าทายจากโทรทัศน์ เพราะหลังจาก Ran แล้วคุโรซาวาไม่ได้สร้างภาพยนตร์ขนาดใหญ่เช่นนี้อีกเลย 
 
เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา โชกุนฮิเดโตราผู้สร้างความยิ่งใหญ่จากการปราบปรามและเข่นฆ่าศัตรูอย่างโหดเหี้ยม ต้องการวางมือโดยการแบ่งอาณาจักร (โดยมีสัญลักษณ์คือปราสาท)  ออกเป็น 3 ส่วนให้กับลูกทั้ง 3 คน และลูกชายคนโตเป็นผู้รับมอบตำแหน่งของเขาอย่างเป็นทางการ กระนั้นลูกชายคนสุดท้องซึ่งรักและจริงใจต่อพ่อกลับถูกขับไล่ไปเพียงเพราะเขาพูดตรงไปตรงมามากจนเกินไป เมื่อเวลาผ่านไป ฮิเดโตราก็พบว่าเขาคิดผิดเสียแล้ว....... ไม่นาน ฮิเดโตราถูกลูกคนโตหักหลัง ซึ่งต่อมาภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นว่าสาเหตุหนึ่งที่ลูกชายกระทำเยี่ยงนี้ต่อบิดาเพราะได้รับการยุยงจากภรรยาที่เคยเป็นลูกศัตรูเก่าและต้องการล้างแค้นฮิเดโตรา อนึ่งภรรยาของลูกชายคนโตของฮิเดโตราช่างมีบุคลิกผู้หญิงที่ชั่วร้ายเหมือนปีศาจตามแบบผู้หญิงในภาพยนตร์หลายเรื่องของคุโรซาวาไม่ว่า Throne of Blood (1958) ที่เขาดัดแปลงมาจากละคร MacBeth ของเช็คสเปียร์ หรือแม้แต่ไอ้เคราแดง อย่าง Red Beard (1965) จนมักถูกโจมตีว่าเป็นการมองผู้หญิงในด้านลบ (แม้ว่าผู้หญิงในภาพยนตร์คุโรซาวาจะมีบุคลิกและบทบาทอันหลากหลายก็ตาม)  เป็นเรื่องน่าเศร้าว่าฮิเดโตรายังถูกปฏิเสธจากลูกคนกลางไม่ให้พำนักด้วย จนต้องเร่ร่อนไปไม่มีจุดหมาย ต่อมาลูกคนโตพยายามสังหารพ่อตัวเอง แต่ฮิเดโตราสามารถหนีรอดไปได้ ทหารกับข้าทาสบริวารที่ติดตามเขาถูกฆ่าตายหมด เหลือแต่ตัวตลกคนเดียวที่เป็นประจักษ์พยานเห็นเขากำลังกลายเป็นบ้า 
 
ภาพยนตร์สามารถสร้างพัฒนาการของการเป็นบ้าของฮิเดโตราได้ดีมากจากการพบความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า ฉากหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นฉากตลกร้ายที่สุดของวงการภาพยนตร์โลก คือตอนที่ตัวตลกสร้างมงกุฎจากดอกไม้สวมหัวให้กับฮิเดโตราซึ่งกำลังดื่มด่ำกับความเป็นบ้าของตัวเอง ราวกับคุโรซาวาต้องการบอกว่า อำนาจและทรัพย์สินอันมีค่าทีฮิเดโตราเคยมีล้วนแต่เป็นอนิจจัง บัดนี้เขายังคงเป็น Great Lord แต่เป็น Great Lord of fools หรือ ยอดโชกุนแห่งตัวตลก !!
 
 
 
                                              
 
                                                         ภาพจาก www.arte.tv
 
 
อย่างไรก็ตามอาการบ้าของเขายังเป็นๆ หายๆ อันเป็นการซ้ำเติมให้เขาเหมือนตกนรกได้หลายๆ ครั้งจากความทรมานทางจิตใจ อย่างเช่นได้พบกับลูกของอดีตศัตรูที่เขาเคยฆ่าและควักลูกตาเด็กชายคนนั้นทิ้งจนตาบอด แต่เด็กชายคนนั้นเองเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่เขาในด้านที่พักในยามสิ้นไร้ไม้ตอก ที่ร้ายที่สุด เขายังมีสติดีในการพบลูกชายคนที่ 3 ที่รักเขาจนยอมเสี่ยงชีวิตมาช่วยเขา ถูกยิงตายคาอ้อมกอดของตัวเอง ในที่สุดฮิเดโตราไม่ได้เป็นบ้าอีกต่อไปเพราะเขาหัวใจแตกสลายตายเสียแล้ว
 
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะและฉากที่เด่นอยู่ 3  จุดคือ จุดแรกคุโรซาวาชอบใช้การถ่ายภาพของเขาไปที่ท้องฟ้าเหมือนกับ Rashomon (1950)  โดยการใช้สีธรรมชาติถ่ายภาพท้องฟ้าในเวลาต่างๆ ทำให้ภาพยนตร์ดูมีพลังและเป็นสัญลักษณ์ราวกับจะบอกว่า พระเจ้าซึ่งอยู่บนท้องฟ้ากำลังประทับอยู่เหนือความสับสนวุ่นวายของมนุษย์ นักวิจารณ์ท่านหนึ่งถือว่าคุโรซาวาเปรียบได้กับพระเจ้าที่กำลังเฝ้ามองมนุษย์ตกลงจากสวรรค์ และสวรรค์อันแสนยิ่งใหญ่นี้กำลังลงทัณฑ์ฮิเดโตราด้วยความโหดเหี้ยมสุดแสนจะพรรณนา 
 
จุดที่ 2  คือ การทำสงครามกันระหว่างลูกชายทั้ง 3  ซึ่งคุโรซาวาประสบความสำเร็จในการสร้างสีของแต่ละกลุ่มเพื่อไม่ให้คนดูสับสน น่าสังเกตว่าหลายต่อหลายครั้ง ภาพยนตร์จะเน้นไปที่ฉากของความตายอันน่าสยดสยองของทหาร (โดยเฉพาะเหล่าทหารของฮิเดโตรา) ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของคุโรซาวาก็ว่าได้ที่ต้องการเน้นความไร้สาระ (Absurdity) ของสงคราม และยังมีอีกหลายๆ ฉากคือการตกจากหลังม้าของทหาร ซึ่งอาจตีความเชิงสัญลักษณ์ได้ว่าคือการตกต่ำของมนุษย์ที่เกิดจากความผิดบาป
 
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นไม่อาจจะเทียบได้กับจุดที่ 3 คือฉากสุดท้ายที่ลูกชายศัตรูเก่าของฮิเดโตราซึ่งตาบอดและแต่งตัวเป็นหญิงได้ออกเดิน ภายหลังทนรอพี่สาวของเขาซึ่งเป็นภรรยาของลูกชายคนที่ 2 ไม่ไหว โดยไม่ทราบว่าพี่สาวของเขาถูกฆ่าเสียแล้ว  เขาได้ทำภาพวาดของพระพุทธองค์หล่นลงในหน้าผาและตัวเองก็หยุดชะงักด้วยความสงสัยว่ามีบางอย่างรออยู่ตรงหน้า เราสามารถตีความสัญลักษณ์จากฉากสุดท้ายนี้ได้ว่าเปรียบดังมนุษย์ที่กำลังตาบอดหรือหลงทาง ไม่รู้ว่าชีวิตอันไร้สาระของตนนี้กำลังพาไปที่ใด แม้แต่พระพุทธองค์ (หรือพระเจ้าตามแบบของพุทธศาสนานิกายมหายาน) ยังไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้
 
Ran จึงน่าจะจัดได้ว่าเป็นภาพยนตร์ซามูไรที่ดีที่สุดของโลกเรื่องหนึ่งเท่าที่สร้างกันมา (หรืออย่างน้อยๆ ที่สุดก็น่าจะทศวรรษที่ 80)  แม้ว่าจะไม่ได้มีฉากการฟันกันดุเดือด เลือดสาดเหมือนกับภาพยนตร์ซามูไรที่เราคุ้นชินกันมา 
 
 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที