Ran(1985) เป็นงานชิ้นโดดเด่นและใช้ทุนสุดมหาศาลของยอดผู้กำกับภาพยนตร์อย่างอาคิระ คุโรซาวาในช่วงบั้นปลายที่เขาหันมาทำภาพยนตร์เป็นสีธรรมชาติ บางคนอาจจะชอบภาพยนตร์สีธรรมชาติเรื่องก่อนหน้านี้ของเขาคือ kagemusha หรือนักรบเงา (1980) แต่ผมคิดว่า Ran จัดว่าเป็นภาพยนตร์ที่เปี่ยมด้วยเนื้อหาและอารมณ์อันหนักหน่วงและดูลงตัวกว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองสาขาการแต่งกาย (1985) แต่ก็มีใครหลายคน เห็นว่าคุโรซาวาน่าจะได้รางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และน่าจะเป็นภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมอีกด้วย
ภาพจาก www.brianformo.com
Ran เป็นภาษาญี่ปุ่นแปลว่าความสับสนวุ่นวาย (Chaos) คุโรซาวารังสรรค์เนื้อเรื่องของภาพยนตร์เรื่องนี้โดยได้รับแรงบันดาลใจ 3 แหล่งคือจากชีวิตของโชกุนท่านหนึ่งในยุคสงครามกลางเมืองของญี่ปุ่นเมื่อศตวรรษที่ 17 รวมไปถึงบทละครซึ่งมีเนื้อหาคล้ายคลึงกันของ วิลเลียม เชคสเปียร์ คือ King lear ซึ่งตัวละครเป็นกษัตริย์มีพระธิดา 3 องค์ แต่ในเรื่องของคุโรซาวาเป็นบุตรชาย 3 คนของโชกุนผู้ยิ่งใหญ่หรือ Great Lord นามว่า ฮิเดโตรา ที่สำคัญเนื้อเรื่องยังเป็นการจำลองชีวิตของเขาเองในวัยชราซึ่งเปรียบได้กับสุนัขล่าเนื้อที่อ่อนพลังในยามอุตสาหกรรมภาพยนตร์ญี่ปุ่นต้องพบการท้าทายจากโทรทัศน์ เพราะหลังจาก Ran แล้วคุโรซาวาไม่ได้สร้างภาพยนตร์ขนาดใหญ่เช่นนี้อีกเลย
เมื่อย่างเข้าสู่วัยชรา โชกุนฮิเดโตราผู้สร้างความยิ่งใหญ่จากการปราบปรามและเข่นฆ่าศัตรูอย่างโหดเหี้ยม ต้องการวางมือโดยการแบ่งอาณาจักร (โดยมีสัญลักษณ์คือปราสาท) ออกเป็น 3 ส่วนให้กับลูกทั้ง 3 คน และลูกชายคนโตเป็นผู้รับมอบตำแหน่งของเขาอย่างเป็นทางการ กระนั้นลูกชายคนสุดท้องซึ่งรักและจริงใจต่อพ่อกลับถูกขับไล่ไปเพียงเพราะเขาพูดตรงไปตรงมามากจนเกินไป เมื่อเวลาผ่านไป ฮิเดโตราก็พบว่าเขาคิดผิดเสียแล้ว....... ไม่นาน ฮิเดโตราถูกลูกคนโตหักหลัง ซึ่งต่อมาภาพยนตร์ได้แสดงให้เห็นว่าสาเหตุหนึ่งที่ลูกชายกระทำเยี่ยงนี้ต่อบิดาเพราะได้รับการยุยงจากภรรยาที่เคยเป็นลูกศัตรูเก่าและต้องการล้างแค้นฮิเดโตรา อนึ่งภรรยาของลูกชายคนโตของฮิเดโตราช่างมีบุคลิกผู้หญิงที่ชั่วร้ายเหมือนปีศาจตามแบบผู้หญิงในภาพยนตร์หลายเรื่องของคุโรซาวาไม่ว่า Throne of Blood (1958) ที่เขาดัดแปลงมาจากละคร MacBeth ของเช็คสเปียร์ หรือแม้แต่ไอ้เคราแดง อย่าง Red Beard (1965) จนมักถูกโจมตีว่าเป็นการมองผู้หญิงในด้านลบ (แม้ว่าผู้หญิงในภาพยนตร์คุโรซาวาจะมีบุคลิกและบทบาทอันหลากหลายก็ตาม) เป็นเรื่องน่าเศร้าว่าฮิเดโตรายังถูกปฏิเสธจากลูกคนกลางไม่ให้พำนักด้วย จนต้องเร่ร่อนไปไม่มีจุดหมาย ต่อมาลูกคนโตพยายามสังหารพ่อตัวเอง แต่ฮิเดโตราสามารถหนีรอดไปได้ ทหารกับข้าทาสบริวารที่ติดตามเขาถูกฆ่าตายหมด เหลือแต่ตัวตลกคนเดียวที่เป็นประจักษ์พยานเห็นเขากำลังกลายเป็นบ้า
ภาพยนตร์สามารถสร้างพัฒนาการของการเป็นบ้าของฮิเดโตราได้ดีมากจากการพบความผิดหวังครั้งแล้วครั้งเล่า ฉากหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นฉากตลกร้ายที่สุดของวงการภาพยนตร์โลก คือตอนที่ตัวตลกสร้างมงกุฎจากดอกไม้สวมหัวให้กับฮิเดโตราซึ่งกำลังดื่มด่ำกับความเป็นบ้าของตัวเอง ราวกับคุโรซาวาต้องการบอกว่า อำนาจและทรัพย์สินอันมีค่าทีฮิเดโตราเคยมีล้วนแต่เป็นอนิจจัง บัดนี้เขายังคงเป็น Great Lord แต่เป็น Great Lord of fools หรือ ยอดโชกุนแห่งตัวตลก !!
ภาพจาก www.arte.tv
อย่างไรก็ตามอาการบ้าของเขายังเป็นๆ หายๆ อันเป็นการซ้ำเติมให้เขาเหมือนตกนรกได้หลายๆ ครั้งจากความทรมานทางจิตใจ อย่างเช่นได้พบกับลูกของอดีตศัตรูที่เขาเคยฆ่าและควักลูกตาเด็กชายคนนั้นทิ้งจนตาบอด แต่เด็กชายคนนั้นเองเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่เขาในด้านที่พักในยามสิ้นไร้ไม้ตอก ที่ร้ายที่สุด เขายังมีสติดีในการพบลูกชายคนที่ 3 ที่รักเขาจนยอมเสี่ยงชีวิตมาช่วยเขา ถูกยิงตายคาอ้อมกอดของตัวเอง ในที่สุดฮิเดโตราไม่ได้เป็นบ้าอีกต่อไปเพราะเขาหัวใจแตกสลายตายเสียแล้ว
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะและฉากที่เด่นอยู่ 3 จุดคือ จุดแรกคุโรซาวาชอบใช้การถ่ายภาพของเขาไปที่ท้องฟ้าเหมือนกับ Rashomon (1950) โดยการใช้สีธรรมชาติถ่ายภาพท้องฟ้าในเวลาต่างๆ ทำให้ภาพยนตร์ดูมีพลังและเป็นสัญลักษณ์ราวกับจะบอกว่า พระเจ้าซึ่งอยู่บนท้องฟ้ากำลังประทับอยู่เหนือความสับสนวุ่นวายของมนุษย์ นักวิจารณ์ท่านหนึ่งถือว่าคุโรซาวาเปรียบได้กับพระเจ้าที่กำลังเฝ้ามองมนุษย์ตกลงจากสวรรค์ และสวรรค์อันแสนยิ่งใหญ่นี้กำลังลงทัณฑ์ฮิเดโตราด้วยความโหดเหี้ยมสุดแสนจะพรรณนา
จุดที่ 2 คือ การทำสงครามกันระหว่างลูกชายทั้ง 3 ซึ่งคุโรซาวาประสบความสำเร็จในการสร้างสีของแต่ละกลุ่มเพื่อไม่ให้คนดูสับสน น่าสังเกตว่าหลายต่อหลายครั้ง ภาพยนตร์จะเน้นไปที่ฉากของความตายอันน่าสยดสยองของทหาร (โดยเฉพาะเหล่าทหารของฮิเดโตรา) ซึ่งเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกของคุโรซาวาก็ว่าได้ที่ต้องการเน้นความไร้สาระ (Absurdity) ของสงคราม และยังมีอีกหลายๆ ฉากคือการตกจากหลังม้าของทหาร ซึ่งอาจตีความเชิงสัญลักษณ์ได้ว่าคือการตกต่ำของมนุษย์ที่เกิดจากความผิดบาป
แต่ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นไม่อาจจะเทียบได้กับจุดที่ 3 คือฉากสุดท้ายที่ลูกชายศัตรูเก่าของฮิเดโตราซึ่งตาบอดและแต่งตัวเป็นหญิงได้ออกเดิน ภายหลังทนรอพี่สาวของเขาซึ่งเป็นภรรยาของลูกชายคนที่ 2 ไม่ไหว โดยไม่ทราบว่าพี่สาวของเขาถูกฆ่าเสียแล้ว เขาได้ทำภาพวาดของพระพุทธองค์หล่นลงในหน้าผาและตัวเองก็หยุดชะงักด้วยความสงสัยว่ามีบางอย่างรออยู่ตรงหน้า เราสามารถตีความสัญลักษณ์จากฉากสุดท้ายนี้ได้ว่าเปรียบดังมนุษย์ที่กำลังตาบอดหรือหลงทาง ไม่รู้ว่าชีวิตอันไร้สาระของตนนี้กำลังพาไปที่ใด แม้แต่พระพุทธองค์ (หรือพระเจ้าตามแบบของพุทธศาสนานิกายมหายาน) ยังไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้
Ran จึงน่าจะจัดได้ว่าเป็นภาพยนตร์ซามูไรที่ดีที่สุดของโลกเรื่องหนึ่งเท่าที่สร้างกันมา (หรืออย่างน้อยๆ ที่สุดก็น่าจะทศวรรษที่ 80) แม้ว่าจะไม่ได้มีฉากการฟันกันดุเดือด เลือดสาดเหมือนกับภาพยนตร์ซามูไรที่เราคุ้นชินกันมา
บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. รัฐไทยคิดว่าตัวเองเปรียบได้ดัง (10 ประเทศที่ฉ้อราษฎรบังหลวงน้อยที่สุดในโลก)
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
สหรัฐอเมริกาต้นทศวรรษที่ 60 ถือได้ว่าอยู่ในช่วงสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของสงครามเย็นนั้นคือวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) ที่รัฐบาลฟีเดล คาสโตรยินยอมให้สหภาพโซเวียตนำขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์มาตั้งไว้ในคิวบาเมื่อปี 1962 จนนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
(ผมยืนยันว่าบทความแปลคือ "จอห์น ราเบ้ นาซีผู้เป็นพระโพธิสัตว์แห่งเมืองนานกิง" นั้นต้นฉบับเป็นของผมเองซึ่งได้เขียนลงบล็อกมานานแล้ว หลังจากไปลองค้นหาดูกูเกิลก็พบว่ามีการลอกเอาบทความของผมไปลงในเว็บของตัวเอ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากจะพูดถึงผู้กำกับที่ชอบนำเอานวนิยายมาสร้างเป็นภาพยนตร์และประสบความสำเร็จอย่างมากมาย เซอร์ เดวิด ลีน (David Lean)ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลเหล่านั้น ดังจะเห็นได้จากผลงานอลัง
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ข้อสอบกลางภาควิชารัฐศาสตร์แบบสลิ่ม รหัส 11112
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้แปลมาจาก "มุมมองที่มีต่อสตาลิน : อดีตและอนาคต" (Depictions of Stalin: The Past and the Future )