Skip to main content

       คนไทยมักจะรู้จักอุปรากร Madame Butterfly  หรือ คุณนายผีเสื้อ  เป็นอย่างดีผ่านบทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้าของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่ทรงดัดแปลงหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากอุปรากรเรื่องนี้ซึ่งแสดงถึงโศกนาฏกรรมของความรักระหว่างคน 2 เชื้อชาติคือญี่ปุ่นและอเมริกันอันมีสถานภาพทางสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างกันอย่างมาก ถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่เคยดูละครที่ว่านั้นเอาจริงๆ จัง ๆ สำหรับละครสาวเครือฟ้า สาวญี่ปุ่นถูกปรับเปลี่ยนเป็นแม่ยิงเหนือเจ้าของชื่ออันไพเราะว่า “เครือฟ้า” และนายทหารเรืออเมริกันได้กลายเป็นนายทหารหนุ่มจากกรุงเทพฯ คือร้อยตรีพร้อม  ละครเพลงเรื่องนี้ก็ถูกผลิตซ้ำหลายครั้งเช่นในรูปแบบภาพยนตร์เมื่อ ปี 2496 ที่กำกับโดย ทวี ณ บางช้าง จนสาวเครือฟ้ากลายเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของแม่ยิงเหนือซึ่งคงทนอย่างยาวนาน ดังเพลงล่องแม่ปิง ของจรัล มโนเพ็ชรที่กล่าวยกย่องแม่ยิงเหนือในตอนหนึ่งว่า

                          ...สาวเอยสาวเวียงพิงค์ สาวเครือฟ้าเคยซมซาน

                          อีกแม่สาวบัวบาน..นั่นคือนิทานสอนใจ

       สำหรับชาวตะวันตกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก็จะรู้จักชาวตะวันออกโดยเฉพาะญี่ปุ่นมากขึ้นผ่าน Madame Butterfly  ทั้ง ๆ ที่คนแต่งเป็นชาวอิตาลีและไม่เคยไปญี่ปุ่นเลย   ชาวอิตาลีที่ว่าคือจัคโคโม ปุชชินี (Giocomo Puccini)  คตีกวีชื่อดัง เจ้าของอุปรากรเรื่องอื่น ๆ ที่โด่งดังไม่แพ้กันเช่น   La Boheme (ความรักอันแสนรันทดของผู้ยากไร้) และ Tosca (ความรักระหว่างนักร้องสาวกับ จิตรกรหนุ่ม)   และยังมีเรื่องซึ่งใช้ฉากซึ่งเป็นดินแดนอันน่าตื่นตาตื่นใจอย่างเช่นสหรัฐฯ คือ La fanciulla del West  และ จีนอย่าง Turandot (ความรักระหว่างเจ้าชายแห่งมองโกลและเจ้าหญิงราชวงศ์หมิง)   สำหรับ Madame Butterfly น่าจะถือกำเนิดมาจากการที่ปุชชินีนำเข้าเอาวัฒนธรรมแบบตะวันตกอย่างญี่ปุ่นตามกระแสญี่ปุ่นนิยม (Japonism) ที่พวกศิลปินยุโรปในสมัยนั้นนิยมกันเพื่อมาผสมกับงานศิลปะของตัวเองไม่ว่าภาพวาด เครื่องประดับ การแกะสลัก ละคร รวมไปถึงอุปรากรเป็นต้น  ปุชชินีนำอุปรากรเรื่องนี้ออกแสดงในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ปี1904 ที่โรงละคร La Scala เมืองมิลาน แต่ก็ต้องอาศัยผู้แต่งบทละครทั้งสองคนคือลุยจิ อิลลิกา และจูเซปเป เกียโคซา อุปรากรยังอิงอยู่กับเรื่องสั้นที่แต่งโดยจอห์น ลูเธอร์ ลองที่ได้รับข้อมูลจากประสบการณ์ของพี่สาวของเขาเองซึ่งเดินทางพร้อมกับสามีไปเป็นมิชชันนารีที่ญี่ปุ่น  

      ตอนแรกอุปรากรเรื่องนี้มีอยู่ 2 องค์ แต่เมื่อได้นำออกแสดงครั้งแรกที่ทำให้ปุชชินีต้องปวดใจเพราะประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ด้วยคนดูส่งเสียงด่า เป่าปากหรือทำเสียงเลียนแบบแมวรบกวนอยู่ตลอดเวลา ปุชชินีจึงจัดการเปลี่ยนแปลงอุปรากรคือหั่นองค์ที่ 2 ออกเป็น 2  ส่วนไม่ให้เยิ่นเย้อ (อุปรากรจึงมีทั้งหมด 3 องค์) และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ จากนั้นก็นำออกแสดงอีกครั้งที่เมืองเบรสชา และที่ โรงละครเมโทรโปลิแตน นครนิวยอร์ก ก็ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล

                                                       

                                                         ภาพจาก www.understandingitaly.com 

      Madame Butterfly เป็นเรื่องของ นายทหารหนุ่มชาวอเมริกันนามว่าร้อยเอกบี พี พิงค์เกอร์ตัน ผู้เดินทางมากับเรือรบ ยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น เพื่อประจำการที่ เมืองนางาซากิ ญี่ปุ่นในปี 1904 และได้แต่งงานกับเกอิชา ซึ่งเป็นสาวน้อยอายุเพียง 15 ปีนามว่า โจโจ้ซัง (ผมได้ยินชื่อนี้มานานแล้วและเพิ่งมารู้ว่าคนไทยคุ้นเคยจากอุปรากรเรื่องนี้เอง) หรืออีกนามหนึ่งว่า คุณนายผีเสื้อถึงแม้การแต่งงานจะเกิดจากการชักนำจากโกโร นายหน้าจัดหาคู่ แต่ โจโจ้ซัง ก็มอบกายถวายใจให้แก่นายทหารหนุ่มจนถึงขั้นยอมเปลี่ยนศาสนา แม้ว่าจะต้องยอมถูกประณามและยังถูกตัดขาดจากคนรอบข้าง แม้แต่ผีบรรพบุรุษซึ่งยังอุตสาห์ปรากฏตัวในอุปรากรด้วย ทั้งคู่ครองรักอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แสนหวานชื่น จวบเมื่อเวลาผ่านไป 3   ปี พิงค์เกอร์ตันก็หมดสิ้นภารกิจ ได้เวลากลับสหรัฐฯ  ก่อนกลับเขาสัญญากับภรรยาสุดที่รักว่าจะกลับมาอีกครั้งเมื่อ                           

        " Oh, Butterfly, my little wife, I shall return with the roses, when the earth is full of joy, when the robin makes his nest." (โอ้ เจ้าผีเสื้อ ยอดยายี ผมจะกลับมาพร้อมกับช่อดอกกุหลาบเมื่อโลกนี้เปี่ยมสุขและนกกางเขนมาทำรัง)

         แต่แล้วชะตากรรมก็หาได้ทำให้โลกเปี่ยมสุขไม่ เมื่อพิงค์เกอร์ตันกลับมาที่นางาซากิ อีกครั้งพร้อมกับภรรยาใหม่ที่เป็นชาวอเมริกัน เพื่อจะมารับเอาตัวลูกชายที่เกิดกับโจโจ้ซัง ก่อนหน้านี้พิงค์เกอร์ตัน ได้ส่งจดหมายมาให้ ชาร์ปเลส กุงศลอเมริกันที่ต้องรับหน้าที่นำสารแจ้งข่าวการแต่งงานใหม่ให้โจโจ้ซังผู้ยังคงรอคอยสามีของหล่อนอย่างใจจดใจจ่อ ชาร์ปเลส ผู้เห็นอกเห็นใจโจโจ้ซังจึงไม่กล้าบอกข่าวร้ายนี้  ท้ายสุดเมื่อโจโจ้ซังได้ประจักษ์ถึงความเป็นจริง เธอกลับสงบเหยือกเย็น และทระนงต่อความเป็นลูกผู้หญิง และแล้ว คุณนายผีเสื้อ ก็ได้เอาดาบสั้นแทงตัวเองจนเสียชีวิต เยี่ยงบิดาของหล่อน ด้วยดาบสั้นเล่มนี้เป็นสมบัติจากบิดาของเธอซึ่งเคยเป็นซามูไรและคว้านท้องตัวเองตาย

      สำหรับเพลงอันแสนไพเราะและโด่งดังที่สุดก็คือเพลง Un Bel di - วันนี้ช่างแสนสวยงาม ขับร้องโดยโจโจ้ซัง เช่นเดียวกับเพลงร้องคู่ระหว่างโจโจ้ซังและพิงค์เคอร์ตันในช่วงที่กำลังพร่ำรักต่อกัน นั่นคือ Bimba Dagli Occhi Pieni Di Malia – เธอผู้มีนัยน์ตาอันชวนฝัน นอกจากนี้ Madame Butterfly ยังมีเรื่องการเมืองแฝงอยู่ด้วย ดังในช่วงต้น ๆ ของอุปรากรที่ พิงค์เกอร์ตันสนทนาและร่ำสุรากับชาร์ปเลส (ชื่อเพลงคือ Dovunque al mondo) ปุชชินีจะดัดแปลงมาจากทำนองเพลงชาติของอเมริกา ราวกับจะตอกย้ำภาพความยิ่งใหญ่ของอเมริกันไปพร้อม ๆกับการเสียดสีความเป็นจักรวรรดินิยมของอเมริกา ในขณะที่โจโจ้ซังคือตัวแทนของคนในประเทศด้อยพัฒนาอันหมายถึงญี่ปุ่นในสมัยปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20  ที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของประเทศที่เจริญกว่า  ซึ่งน่าจะเข้าค่ายแนวคิด Orientalism ของเอ็ดเวิร์ด ซาอิดนั่นเองภาพปรากฎหรือภาพพจน์ของเอเชียโดยเฉพาะตะวันออกกลางซึ่งมีรูปแบบตายตัวอันเป็นมุมมองจากพวกจักรวรรดินิยมในอดีตซึ่งถูกผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมผ่านหนังสือ ตำราเรียน สื่อบันเทิงอย่างเช่นละคร อุปรากร ภาพยนตร์ เพลง ฯลฯ ดังเช่นการมองคนในประเทศโลกที่ 3 ว่าเป็นพวกอ่อนแอ  ขี้โกง โง่เขลา เป็นคนป่าเถื่อน ฯลฯ ในขณะที่คนตะวันตกถูกเสนอภาพว่าเป็นคนเข้มแข็ง ซื่อสัตย์ ฉลาด และเป็นพวกเจริญแล้ว ฯลฯ ผู้หญิงตะวันตกจึงทำหน้าเป็นฝ่ายตอบสนองความรักและความใคร่จากผู้ชายตะวันตก กระนั้นแต่ในที่นี้เป็นการสะท้อนแบบแปลกๆ คือตามมุมมองของคนอิตาลีต่อและผ่านคนอเมริกัน อุปรากรจึงน่าจะแฝงด้วยการเสียดสีความคิดหลงตัวเองแบบอเมริกันอีกด้วย

 

                             

                                   ภาพจาก www.starkinsider.com 

    นอกจากนี้ สาวเครือฟ้ายังเป็นภาพสะท้อนจากการที่เชื้อพระวงศ์ไทยนำมาผลิตซ้ำกับบริบทแบบไทยๆ ก็คือการสร้างภาพเข้ามาครอบงำท้องถิ่นของกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับการแสดงถึงความยิ่งใหญ่และเปี่ยมด้วยศักดิ์ศรีของระบบราชการไทยดังเช่นพระเอกเป็นทหาร (ละครคงมีความขลังน้อยลงหากพระเอกเป็นพ่อค้าหรือกรรมกร) โดยอาศัยวิธีการแบบเดียวกับที่ฝรั่งทำ ในอดีตคนภาคกลางย่อมมองตัวเองว่ามีความใกล้เคียงกับฝรั่งมากกว่าและมีความเหนือกว่าคนท้องถิ่น เช่นแต่งตัวฝรั่ง ขับรถยนต์ พูดไทยปนอังกฤษ ในขณะเดียวกันก็เหยียดคนท้องถิ่นซึ่งพูดภาษาภาคกลางไม่ชัด ฐานะด้อยกว่าและไม่รู้จักฝรั่งดีเท่าตน (แน่นอนว่าคนอู้เหนือหรือเว้าอีสานปนภาษาอังกฤษจึงดูตลก)  ผู้หญิงท้องถิ่นจะต้องสวยงาม นุ่มนวล ซื่อสัตย์ และเป็นฝ่ายอยู่ใต้อำนาจของผู้ชายซึ่งมาจากกรุงเทพฯ   การฆ่าตัวตายก็คือสัญลักษณ์แห่งการอุทิศตนขั้นสูงสุดต่อผู้ชายที่อยู่ภาคกลาง ดังนั้นละครก็คงจะจืดชืดไป หากสาวเครือฟ้าประกาศตนไปหาสามีใหม่หรือดิ้นรนต่อสู้ สร้างฐานะด้วยตัวเองในตอนจบ  หรืออีกนัยคือการตอกย้ำภาพของคนตะวันออกหรือคนท้องถิ่นซึ่งยึดมั่นในคุณธรรมบางอย่างที่คนตะวันตกหรือคนกรุงเทพฯ ไม่มี ดังที่ฝรั่งเองก็มองคนตะวันออกว่าเป็นพวกที่มีหลักทางศาสนาเช่นเดียวกับความลึกลับ (Mysticism)  ดังดาราฮอลลีวูดให้ความศรัทธาต่อพระทิเบต หรือใน Madame Buttefly ให้ผีบรรพบุรุษตามมาอาละวาดนางเอก ส่วนสาวเครือฟ้านั้น ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะมีฉากที่ตอกย้ำความเชื่อท้องถิ่นหรือศาสนาพุทธแบบทางเหนือหรือไม่  อย่างไรก็ตามความเป็นจริง ผู้หญิง (และผู้ชาย) ท้องถิ่นหาเป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่

    แม้ว่าคนรุ่นใหม่อาจจะเคยได้ยินเพียงชื่อของ Madame Butterfly และสาวเครือฟ้า แต่กระบวนการสร้างภาพปรากฏเช่นนี้ของคนท้องถิ่นก็อาจจะแฝงมากับสื่ออื่นๆ ที่เราเสพในปัจจุบันอย่างต่อเนื่องเสมอมา 

 

 You can contact me via "Atthasit Muang-in"  in facebook 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามองว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  สำหรับโวห์ลสเตเตอร์และสานุศิษย์ แม็ดนั้นทั้งไร้ศิลธรรมและไร้ประสิทธิภาพ ที่ไร้ศีลธรรมคือมันจะสร้างความเสียหายให้กับพลเรือน และที่ไร้ประสิทธิภาพคือ มันจะทำให้เกิดการยุติการสะสมระเบิดนิวเคลียร์ของทั้งคู่ ในทางกลับกัน โวห์ลสเตเตอ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.พลเอกประยุทธ์และคสช.มองว่าตัวเองเป็น  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความนี้แปลมาจาก   www.counterpunch.org The Strategist and the PhilosopherLeo Strauss and Albert Wohlstetter
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  Concerto มาจากภาษาอิตาลีคือคำว่า Concerti หมายถึงการเล่นประสานกันระหว่างวงดนตรีขนาดใหญ่กับเครื่องดนตรีชนิดใดชนิดหนึ่ง (คำว่า Concerti จึงเป็นที่มาของคำว่า Concert ที่ใช้กันในปัจจุบัน) ถ้าเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
   
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ตามความเข้าใจของเราที่ได้รับอิทธิพลจากยุควิคตอเรียนของอังกฤษ ผู้หญิงในสังคมของทุกชาติในอดีตมักเป็นช้างเท้าหลังที่สงบเสงี่ยม ทำตามคำสั่งของสามีอยู่ต้อยๆ แต่พวกเราเองก็ยอมรับว่ามีผู้หญิงไม่น้อยที่เข้ามามีอิทธิพลต่อสามีซึ่งเป็นผู้ยิ่งใหญ่ของโลกหรื