Skip to main content

       คนไทยมักจะรู้จักอุปรากร Madame Butterfly  หรือ คุณนายผีเสื้อ  เป็นอย่างดีผ่านบทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้าของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ที่ทรงดัดแปลงหรือได้รับแรงบันดาลใจมาจากอุปรากรเรื่องนี้ซึ่งแสดงถึงโศกนาฏกรรมของความรักระหว่างคน 2 เชื้อชาติคือญี่ปุ่นและอเมริกันอันมีสถานภาพทางสังคมและวัฒนธรรมที่ต่างกันอย่างมาก ถึงแม้ส่วนใหญ่จะไม่เคยดูละครที่ว่านั้นเอาจริงๆ จัง ๆ สำหรับละครสาวเครือฟ้า สาวญี่ปุ่นถูกปรับเปลี่ยนเป็นแม่ยิงเหนือเจ้าของชื่ออันไพเราะว่า “เครือฟ้า” และนายทหารเรืออเมริกันได้กลายเป็นนายทหารหนุ่มจากกรุงเทพฯ คือร้อยตรีพร้อม  ละครเพลงเรื่องนี้ก็ถูกผลิตซ้ำหลายครั้งเช่นในรูปแบบภาพยนตร์เมื่อ ปี 2496 ที่กำกับโดย ทวี ณ บางช้าง จนสาวเครือฟ้ากลายเป็นอัตลักษณ์หนึ่งของแม่ยิงเหนือซึ่งคงทนอย่างยาวนาน ดังเพลงล่องแม่ปิง ของจรัล มโนเพ็ชรที่กล่าวยกย่องแม่ยิงเหนือในตอนหนึ่งว่า

                          ...สาวเอยสาวเวียงพิงค์ สาวเครือฟ้าเคยซมซาน

                          อีกแม่สาวบัวบาน..นั่นคือนิทานสอนใจ

       สำหรับชาวตะวันตกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ก็จะรู้จักชาวตะวันออกโดยเฉพาะญี่ปุ่นมากขึ้นผ่าน Madame Butterfly  ทั้ง ๆ ที่คนแต่งเป็นชาวอิตาลีและไม่เคยไปญี่ปุ่นเลย   ชาวอิตาลีที่ว่าคือจัคโคโม ปุชชินี (Giocomo Puccini)  คตีกวีชื่อดัง เจ้าของอุปรากรเรื่องอื่น ๆ ที่โด่งดังไม่แพ้กันเช่น   La Boheme (ความรักอันแสนรันทดของผู้ยากไร้) และ Tosca (ความรักระหว่างนักร้องสาวกับ จิตรกรหนุ่ม)   และยังมีเรื่องซึ่งใช้ฉากซึ่งเป็นดินแดนอันน่าตื่นตาตื่นใจอย่างเช่นสหรัฐฯ คือ La fanciulla del West  และ จีนอย่าง Turandot (ความรักระหว่างเจ้าชายแห่งมองโกลและเจ้าหญิงราชวงศ์หมิง)   สำหรับ Madame Butterfly น่าจะถือกำเนิดมาจากการที่ปุชชินีนำเข้าเอาวัฒนธรรมแบบตะวันตกอย่างญี่ปุ่นตามกระแสญี่ปุ่นนิยม (Japonism) ที่พวกศิลปินยุโรปในสมัยนั้นนิยมกันเพื่อมาผสมกับงานศิลปะของตัวเองไม่ว่าภาพวาด เครื่องประดับ การแกะสลัก ละคร รวมไปถึงอุปรากรเป็นต้น  ปุชชินีนำอุปรากรเรื่องนี้ออกแสดงในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ปี1904 ที่โรงละคร La Scala เมืองมิลาน แต่ก็ต้องอาศัยผู้แต่งบทละครทั้งสองคนคือลุยจิ อิลลิกา และจูเซปเป เกียโคซา อุปรากรยังอิงอยู่กับเรื่องสั้นที่แต่งโดยจอห์น ลูเธอร์ ลองที่ได้รับข้อมูลจากประสบการณ์ของพี่สาวของเขาเองซึ่งเดินทางพร้อมกับสามีไปเป็นมิชชันนารีที่ญี่ปุ่น  

      ตอนแรกอุปรากรเรื่องนี้มีอยู่ 2 องค์ แต่เมื่อได้นำออกแสดงครั้งแรกที่ทำให้ปุชชินีต้องปวดใจเพราะประสบความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ด้วยคนดูส่งเสียงด่า เป่าปากหรือทำเสียงเลียนแบบแมวรบกวนอยู่ตลอดเวลา ปุชชินีจึงจัดการเปลี่ยนแปลงอุปรากรคือหั่นองค์ที่ 2 ออกเป็น 2  ส่วนไม่ให้เยิ่นเย้อ (อุปรากรจึงมีทั้งหมด 3 องค์) และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ จากนั้นก็นำออกแสดงอีกครั้งที่เมืองเบรสชา และที่ โรงละครเมโทรโปลิแตน นครนิวยอร์ก ก็ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาล

                                                       

                                                         ภาพจาก www.understandingitaly.com 

      Madame Butterfly เป็นเรื่องของ นายทหารหนุ่มชาวอเมริกันนามว่าร้อยเอกบี พี พิงค์เกอร์ตัน ผู้เดินทางมากับเรือรบ ยูเอสเอส อับราฮัม ลินคอล์น เพื่อประจำการที่ เมืองนางาซากิ ญี่ปุ่นในปี 1904 และได้แต่งงานกับเกอิชา ซึ่งเป็นสาวน้อยอายุเพียง 15 ปีนามว่า โจโจ้ซัง (ผมได้ยินชื่อนี้มานานแล้วและเพิ่งมารู้ว่าคนไทยคุ้นเคยจากอุปรากรเรื่องนี้เอง) หรืออีกนามหนึ่งว่า คุณนายผีเสื้อถึงแม้การแต่งงานจะเกิดจากการชักนำจากโกโร นายหน้าจัดหาคู่ แต่ โจโจ้ซัง ก็มอบกายถวายใจให้แก่นายทหารหนุ่มจนถึงขั้นยอมเปลี่ยนศาสนา แม้ว่าจะต้องยอมถูกประณามและยังถูกตัดขาดจากคนรอบข้าง แม้แต่ผีบรรพบุรุษซึ่งยังอุตสาห์ปรากฏตัวในอุปรากรด้วย ทั้งคู่ครองรักอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข แสนหวานชื่น จวบเมื่อเวลาผ่านไป 3   ปี พิงค์เกอร์ตันก็หมดสิ้นภารกิจ ได้เวลากลับสหรัฐฯ  ก่อนกลับเขาสัญญากับภรรยาสุดที่รักว่าจะกลับมาอีกครั้งเมื่อ                           

        " Oh, Butterfly, my little wife, I shall return with the roses, when the earth is full of joy, when the robin makes his nest." (โอ้ เจ้าผีเสื้อ ยอดยายี ผมจะกลับมาพร้อมกับช่อดอกกุหลาบเมื่อโลกนี้เปี่ยมสุขและนกกางเขนมาทำรัง)

         แต่แล้วชะตากรรมก็หาได้ทำให้โลกเปี่ยมสุขไม่ เมื่อพิงค์เกอร์ตันกลับมาที่นางาซากิ อีกครั้งพร้อมกับภรรยาใหม่ที่เป็นชาวอเมริกัน เพื่อจะมารับเอาตัวลูกชายที่เกิดกับโจโจ้ซัง ก่อนหน้านี้พิงค์เกอร์ตัน ได้ส่งจดหมายมาให้ ชาร์ปเลส กุงศลอเมริกันที่ต้องรับหน้าที่นำสารแจ้งข่าวการแต่งงานใหม่ให้โจโจ้ซังผู้ยังคงรอคอยสามีของหล่อนอย่างใจจดใจจ่อ ชาร์ปเลส ผู้เห็นอกเห็นใจโจโจ้ซังจึงไม่กล้าบอกข่าวร้ายนี้  ท้ายสุดเมื่อโจโจ้ซังได้ประจักษ์ถึงความเป็นจริง เธอกลับสงบเหยือกเย็น และทระนงต่อความเป็นลูกผู้หญิง และแล้ว คุณนายผีเสื้อ ก็ได้เอาดาบสั้นแทงตัวเองจนเสียชีวิต เยี่ยงบิดาของหล่อน ด้วยดาบสั้นเล่มนี้เป็นสมบัติจากบิดาของเธอซึ่งเคยเป็นซามูไรและคว้านท้องตัวเองตาย

      สำหรับเพลงอันแสนไพเราะและโด่งดังที่สุดก็คือเพลง Un Bel di - วันนี้ช่างแสนสวยงาม ขับร้องโดยโจโจ้ซัง เช่นเดียวกับเพลงร้องคู่ระหว่างโจโจ้ซังและพิงค์เคอร์ตันในช่วงที่กำลังพร่ำรักต่อกัน นั่นคือ Bimba Dagli Occhi Pieni Di Malia – เธอผู้มีนัยน์ตาอันชวนฝัน นอกจากนี้ Madame Butterfly ยังมีเรื่องการเมืองแฝงอยู่ด้วย ดังในช่วงต้น ๆ ของอุปรากรที่ พิงค์เกอร์ตันสนทนาและร่ำสุรากับชาร์ปเลส (ชื่อเพลงคือ Dovunque al mondo) ปุชชินีจะดัดแปลงมาจากทำนองเพลงชาติของอเมริกา ราวกับจะตอกย้ำภาพความยิ่งใหญ่ของอเมริกันไปพร้อม ๆกับการเสียดสีความเป็นจักรวรรดินิยมของอเมริกา ในขณะที่โจโจ้ซังคือตัวแทนของคนในประเทศด้อยพัฒนาอันหมายถึงญี่ปุ่นในสมัยปลายศตวรรษที่ 19 จนถึงช่วงต้นศตวรรษที่ 20  ที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของประเทศที่เจริญกว่า  ซึ่งน่าจะเข้าค่ายแนวคิด Orientalism ของเอ็ดเวิร์ด ซาอิดนั่นเองภาพปรากฎหรือภาพพจน์ของเอเชียโดยเฉพาะตะวันออกกลางซึ่งมีรูปแบบตายตัวอันเป็นมุมมองจากพวกจักรวรรดินิยมในอดีตซึ่งถูกผลิตซ้ำทางวัฒนธรรมผ่านหนังสือ ตำราเรียน สื่อบันเทิงอย่างเช่นละคร อุปรากร ภาพยนตร์ เพลง ฯลฯ ดังเช่นการมองคนในประเทศโลกที่ 3 ว่าเป็นพวกอ่อนแอ  ขี้โกง โง่เขลา เป็นคนป่าเถื่อน ฯลฯ ในขณะที่คนตะวันตกถูกเสนอภาพว่าเป็นคนเข้มแข็ง ซื่อสัตย์ ฉลาด และเป็นพวกเจริญแล้ว ฯลฯ ผู้หญิงตะวันตกจึงทำหน้าเป็นฝ่ายตอบสนองความรักและความใคร่จากผู้ชายตะวันตก กระนั้นแต่ในที่นี้เป็นการสะท้อนแบบแปลกๆ คือตามมุมมองของคนอิตาลีต่อและผ่านคนอเมริกัน อุปรากรจึงน่าจะแฝงด้วยการเสียดสีความคิดหลงตัวเองแบบอเมริกันอีกด้วย

 

                             

                                   ภาพจาก www.starkinsider.com 

    นอกจากนี้ สาวเครือฟ้ายังเป็นภาพสะท้อนจากการที่เชื้อพระวงศ์ไทยนำมาผลิตซ้ำกับบริบทแบบไทยๆ ก็คือการสร้างภาพเข้ามาครอบงำท้องถิ่นของกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับการแสดงถึงความยิ่งใหญ่และเปี่ยมด้วยศักดิ์ศรีของระบบราชการไทยดังเช่นพระเอกเป็นทหาร (ละครคงมีความขลังน้อยลงหากพระเอกเป็นพ่อค้าหรือกรรมกร) โดยอาศัยวิธีการแบบเดียวกับที่ฝรั่งทำ ในอดีตคนภาคกลางย่อมมองตัวเองว่ามีความใกล้เคียงกับฝรั่งมากกว่าและมีความเหนือกว่าคนท้องถิ่น เช่นแต่งตัวฝรั่ง ขับรถยนต์ พูดไทยปนอังกฤษ ในขณะเดียวกันก็เหยียดคนท้องถิ่นซึ่งพูดภาษาภาคกลางไม่ชัด ฐานะด้อยกว่าและไม่รู้จักฝรั่งดีเท่าตน (แน่นอนว่าคนอู้เหนือหรือเว้าอีสานปนภาษาอังกฤษจึงดูตลก)  ผู้หญิงท้องถิ่นจะต้องสวยงาม นุ่มนวล ซื่อสัตย์ และเป็นฝ่ายอยู่ใต้อำนาจของผู้ชายซึ่งมาจากกรุงเทพฯ   การฆ่าตัวตายก็คือสัญลักษณ์แห่งการอุทิศตนขั้นสูงสุดต่อผู้ชายที่อยู่ภาคกลาง ดังนั้นละครก็คงจะจืดชืดไป หากสาวเครือฟ้าประกาศตนไปหาสามีใหม่หรือดิ้นรนต่อสู้ สร้างฐานะด้วยตัวเองในตอนจบ  หรืออีกนัยคือการตอกย้ำภาพของคนตะวันออกหรือคนท้องถิ่นซึ่งยึดมั่นในคุณธรรมบางอย่างที่คนตะวันตกหรือคนกรุงเทพฯ ไม่มี ดังที่ฝรั่งเองก็มองคนตะวันออกว่าเป็นพวกที่มีหลักทางศาสนาเช่นเดียวกับความลึกลับ (Mysticism)  ดังดาราฮอลลีวูดให้ความศรัทธาต่อพระทิเบต หรือใน Madame Buttefly ให้ผีบรรพบุรุษตามมาอาละวาดนางเอก ส่วนสาวเครือฟ้านั้น ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะมีฉากที่ตอกย้ำความเชื่อท้องถิ่นหรือศาสนาพุทธแบบทางเหนือหรือไม่  อย่างไรก็ตามความเป็นจริง ผู้หญิง (และผู้ชาย) ท้องถิ่นหาเป็นเช่นนั้นเสมอไปไม่

    แม้ว่าคนรุ่นใหม่อาจจะเคยได้ยินเพียงชื่อของ Madame Butterfly และสาวเครือฟ้า แต่กระบวนการสร้างภาพปรากฏเช่นนี้ของคนท้องถิ่นก็อาจจะแฝงมากับสื่ออื่นๆ ที่เราเสพในปัจจุบันอย่างต่อเนื่องเสมอมา 

 

 You can contact me via "Atthasit Muang-in"  in facebook 

 

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  1.บวรศักดิ์ อุวรรณโณคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญของตนนั้นเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความต่อไปนี้บางส่วนเอามาจากบทความของคุณเดวิด เบอร์นาร์ด จาก http://www.chambersymphony.com/   เข้าใจว่าโซโฟนีหมายเลข 7 นี้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  บทความนี้ได้รับการแปลและตัดต่อบางส่วนจากเว็บ The History Place:World War in Euroe ผู้เขียนไม่ทราบชื่อ  บทความนี้ยังถูกนำเสนอเนื่องในโอกาสครบรอบการเสียชีวิตของฮิตเลอร์เมื่อ 70 ปีที่แล้ว (30 เมษายน ปี 1945) เช่นเดียวกับก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 คงมีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถสะท้อนความคิดทางปรัชญาอันลุ่มลึกและมักทำให้ผมระลึกถึงอยู่เสมอเวลาดูข่าวต่างๆ หรือไม่เวลาพบกับเหตุการณ์ทางการเมือง ภาพยนตร์เหล่านั้นนอกจากราโชมอนของ อาคิระ คุโรซาวาแล้วยังมี Being There ที่ภาพยนตร์สุดฮิตอย่า
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1. กลุ่มกปปส.ต่อหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์คิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1. เพลง  Give It Up ของวง  KC&Sunshine Band  (ปี 1983)  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.Don Giovanni คีตกวี วู๊ฟกัง อมาเดอุส โมสาร์ต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  The Pianist ซึ่งกำกับโดยโรมัน โปลันสกีถูกนำออกฉายในปี 2002  และได้รับการยกย่องรวมไปถึงรางวัลออสการ์และอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างมาจากหนังสืออัตชีวประวัต
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 1.คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะคิดว่าตัวเองเป็น 
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
  เมื่อพูดถึงเพลงคลาสสิก ภาพแรกที่ปรากฏอยู่ในหัวของทุกคนก็คือผู้ชายหรือไม่ก็เด็กชายฝรั่งสวมวิคแต่งชุดฝรั่งโบราณกำลังเล่นเปียโนอยู่ หากจะถามว่าคนๆ นั้นคือใคร ทุกคนก็จะตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเขาคือ โมสาร์ต คีตกวีผู้มีชื่อเสียงมากที