ถ้าจะดูอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว La Dolce Vita (1960) ของเฟเดริโก เฟลลินี สุดยอดผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิตาลี ไม่ได้ด้อยไปกว่าภาพยนตร์ในเรื่องต่อมาของเขาคือ 8 1/2 ในปี 1963 แม้แต่น้อยโดยเฉพาะการสื่อแนวคิดอันลุ่มลึกผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ เพียงแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นสัจนิยมนั้นคือไม่ยอมให้จินตนาการกับความทรงจำของตัวละครเข้ามาแทรกแซงพื้นที่ของความเป็นจริงมากเท่าเรื่องที่ 2 และเรื่องนี้ได้สะท้อนให้เห็นตัวตนของเฟลลินี่ได้ชัดเจนกว่า สำหรับ La Dolce Vita ยังเป็นผลงานชิ้นแรกที่เฟลลินีแยกตัวเองออกจากตระกูลลัทธินวสัจนิยม (Neo-realism) ซึ่งเคยยิ่งใหญ่ในอิตาลีในช่วงปลายและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยการเปลี่ยนจากชีวิตของชนรากหญ้ามาเป็นชนชั้นกลางแทน ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตในช่วง 7 วัน 7 คืนของมาร์เชลโล รูบินี (มาร์เชลโล มาสโตรเอนนี่) นักข่าวหนุ่มเจ้าสำราญซึ่งชีวิตวุ่นวายไปงานและกิจกรรมบันเทิงกับชนชั้นกลางใหม่ของอิตาลีที่เต็มไปด้วยคนนิสัยประหลาด ๆ (เฟลลินีให้สัมภาษณ์ว่าเกิดจากประสบการณ์การเดินทางที่ไปพบคนมากหน้าหลายตาของเขาเอง) แน่นอนว่ามาร์เชลโลต้องพาตัวเองไปพัวพันบรรดาสาวๆ ทั้งหลายที่มีตัวตนที่แตกต่างหลากหลาย แต่ปัญหาก็คือเขาไม่เคยพบตัวตนที่แท้จริงของตัวเองเลย ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์เพียง 1 รางวัลในสาขาเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม (ภาพยนตร์ที่ชนะเลิศในปีนั้นคือ West Side Story) และชนะเลิศใบปาล์มทองคำที่เมืองคานส์รวมไปถึงเวทีอื่นๆ อีกมากมาย หากมีการจัดอันดับภาพยนตร์ยอดเยี่ยมตลอดกาลของโลก ภาพยตร์เรื่องนี้ก็มักจะถูกรวมในลำดับต้นๆ อีกด้วย
ภาพจาก www.moviepostershop.com
โปรดระวัง บทความต่อไปนี้คือการแนะนำและการวิเคราะห์ภาพยนตร์ จึงมีการเปิดเผยใจความสำคัญทั้งหมด
La Dolce Vita ดูเหมือนจะมีเนื้อหาที่เรียบเงียบแต่ความจริงแฝงด้วยปรัชญาชีวิตและการวิพากษ์สังคมอิตาลีอันเน่าเฟะในยุคหลังสงครามโลกที่ทุนนิยมและลัทธิวัตถุนิยมเข้าครอบงำอย่างเจ็บแสบ กระนั้นก็สร้างปัญหาให้คนที่ไม่คุ้นเคยกับบริบทของสังคมอิตาลีและศาสนาคริสต์อยู่มากเอาการ (ดังนั้นการตีความผมก็ต้องอาศัยความคิดเห็นบางส่วนจากคนอื่นอีกที คงไม่ว่ากัน) ภาพยนตร์เปิดฉากมาก็สร้างความอื้อฉาวโดยให้เฮลิคอปเตอร์ใช้เส้นลวดยกรูปปั้นพระเยซูบินว่อนไปทั่วกรุงโรมเพื่อถวายองค์สันตะปะปาที่นครรัฐวาติกัน แต่สามารถตีความได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการที่สังคมอิตาลีตัดรากเหง้าของตนออกจากศาสนา และให้เฮลิคอปเตอร์อีกลำที่ติดตามนั้นมีนักข่าวอยู่ด้วย 2 คนซึ่งหนึ่งในนั้นคือมาร์เชลโลร่อนลงมาจีบพวกสาวๆ ที่ใส่ชุดบิกีนีอาบแดดอยู่บนดาดฟ้าราวกับจะบอกว่าภาพยนตร์ต่อไปนี้เป็นเรื่องทางเนื้อหนังมังสาเสียทั้งหมด (ถ้าลองเป็นเมืองไทยเช่นให้เฮลิคอปเตอร์บรรทุกพระพุทธรูปและตามด้วยภาพของสาว ๆ คงจะโดนแบนจนเสียหนังไปเลย) ซึ่งก็จริงเพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ของภาพยนตร์จะนำเสนอการแสวงหาความสุขของหนุ่มสาวชนชั้นกลางจากการดื่มกินเต้นรำและเกมประหลาด ๆในงานเลี้ยงกลางคืนชนิดดื่มเมรัยแก้วต่อแก้ว บุหรี่มวนต่อมวน ไม่เช้าไม่เลิก (ภาพยนตร์เรื่องอื่นที่นำเสนอชีวิตแบบนี้ได้อย่างยอดเยี่ยมคือ La Notte ของมิคัลอันเจโล อันโตนีโอนี)
ฉากที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่น่าเบื่อ ไร้เป้าหมายของชนชั้นกลางอิตาลีก็คือมาร์เชลโลกับแม็ดดาเลนา(อานุก แอมเม่)ไฮโซสาว ที่ขับรถไปเรื่อยเปื่อยในกรุงโรมยามค่ำคืนได้ตีสนิทกับโสเภณีที่ขายตัวอยู่บริเวณนั้นเพื่อพาทั้งคู่ไปมีสัมพันธ์สวาทในบ้านโกโรโกโสของหล่อน แต่นั้นเป็นเพียงการแสวงหาความแสวงหาความสนุกตื่นเต้นของคนทั้งคู่ (หากเป็นภาพยนตร์ปัจจุบันก็คงจะแสดงถึงฉากร่วมรักพร้อมกัน 3 คนไปด้วย) มาร์เชลโลยังไปตกหลุมรักกับซิลเวียดาราสาวเจ้าเสน่ห์ที่เดินทางมาโฆษณาตัวเองท่ามกลางการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ของสื่ออิตาลี แต่ดูเหมือนสาวเจ้าจะไม่ค่อยเล่นกับมาร์เชลโลด้วยเท่าไรนักอาจเพราะมีชายอื่นเข้ามาแห่แหนมากเกินไป แต่ฉากที่น่าประทับใจก็คือเขาและเธอเตร็ดเตร่ไปในกรุงโรมยามกลางคืนและเธอก็ได้โดดลงไปเล่นน้ำในสระที่มีน้ำพุอันเป็นภาพนิ่งที่สำคัญของภาพยนตร์ก็ว่าได้ (แต่เบื้องหลังการถ่ายทำถือว่าเป็นฉากที่ทำได้ยากเย็นที่สุด) กระนั้นมาร์เชลโลยังต้องเวียนหัวกับเอ็มม่าแฟนสาวที่เพียรจะจับเขาแต่งงานให้ได้ถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย ความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่เป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะทั้งคู่โกรธเคืองและทะเลาะกันแต่ก็คืนดีกันอย่างรวดเร็วเหมือนเด็ก มาร์เชลโลหลงรักและหลายครั้งตกอยู่ใต้อำนาจเอ็มม่าแต่ไม่อยากจะให้เธอผูกมัดจนเกินไป เมื่อเขาพยายามหนีสุดท้ายก็กลับมาหาเธอจนได้
สิ่งสำคัญหนึ่งที่ภาพยนตร์ต้องการโจมตีอย่างหนักหน่วงคือความไร้ศีลธรรมของสื่อโดยสะท้อนผ่านบรรดานักข่าวซึ่งเป็นเพื่อนของมาร์เชลโลซึ่งมุ่งเสนอการทำข่าวอย่างไม่สนใจต่อความเป็นส่วนตัวของคนอื่น ฉากตลกที่ขำไม่ออกก็คือมาร์เชลโลถูกดาราหนุ่มอเมริกันทำร้ายร่างกายด้วยความหึงหวงต่อซิลเวีย พวกช่างภาพก็กรูกันไปถ่ายภาพกันสนุกสนานแทนที่จะทำให้การช่วยเหลือพวกเดียวกัน นอกจากนี้ภาพยนตร์ยังให้สื่อมวลชนกระล่อนไม่เลิกโดยการปั่นข่าวเด็ก 2 คนที่อ้างว่าได้พบกับมาดอนน่าหรือพระนางมาเรียนั้นเอง ทำให้ชาวอิตาลีจำนวนมากแห่กันไปสวดขอพรกันยกใหญ่ หลายคนพาคนแก่ป่วยหนักไปเพื่อจะได้พรให้หายแต่ก็สิ้นใจเสียก็มี อันนี้สื่อให้เห็นคล้ายคลึงกับ The Bicycle Thief ของผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิตาลีอีกคนคือ วิคตอริโอ เดอ ซิก้าที่สื่อให้เห็นถึงความงมงายของชาวอิตาลีในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้มอบสมบัติอันล้ำค่าให้กับวัฒนธรรมแบบประชานิยมของโลกนั้นคือคือต้นกำเนิดของคำว่า ปาปารัสซี่หรือนักข่าวที่ชอบติดตามดาราเพื่อถ่ายรูปอย่างไม่คิดชีวิตนั้นคือเพื่อนนักข่าวของมาร์เชลโลคนหนึ่งมีชื่อว่า ปาปารัสโซ่ (paparazzo) โดยคำว่า paparazzi เป็นพหูพจน์ คำนี้คนเขียนบทได้มาจากชื่อของเจ้าของโรงแรมในงานเขียนสารคดีท่องเที่ยวในอิตาลีของนักเขียนชาวอังกฤษคนหนึ่ง
ภาพจาก www.i.ytimg.com
La Dolce Vita คือภาษาอิตาลีแปลว่า The Sweet Life หรือ"ชีวิตอันแสนหวาน" ดูผิวเผินว่ามาร์เชลโลมีความสุขอยู่กับชีวิตแบบนี้ของเขาแต่ว่าลึก ๆแล้วเขากลับเบื่อหน่าย ระอากับชีวิตของเด็กที่ไม่รู้จักโตของตัวเอง ภาพยนตร์ยังชี้ให้เห็นว่าสาเหตุหนึ่งก็เพราะเขาไม่ได้ใกล้ชิดกับบิดามากนัก ภาพในอุดมคติของมาร์เชลโลจึงถ่ายโอนไปยังเพื่อนของเขาคนหนึ่งคือสไตเนอร์ นักดนตรีและปัญญาชน ที่มีครอบครัวอันอบอุ่น ภรรยาและลูกน่ารัก 2 คนคือภาพอันแสนสมบูรณ์แบบที่มาร์เชลโลอิจฉาและหลงไหล แต่แล้วภาพยนตร์ก็ได้ทำเขาตกใจสุดขีดโดยการให้สไตน์เนอร์สังหารลูกและตัวเขาเอง จึงไม่แปลกที่เฟลลินีจะให้สไตเนอร์คือตัวแทนของชนชั้นกลางอิตาลีที่มีชีวิตสมบูรณ์แบบ เป็นพวกอนุรักษ์นิยมที่แสวงหาแต่สิ่งดีงาม แต่ลึกๆ แล้วกลับกลัวที่จะถูกขังภายในกรอบที่ตัวเองสร้างขึ้นมา แน่นอนว่าเมื่อขาดต้นแบบแล้วมาร์เชลโลย่อมสิ้นหลังและหันไปหมกมุ่นกับใช้ชีวิตอันแสนหวานของตนต่อไป นักวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าแท้ที่จริงสไตเนอร์ก็คืออีกมุมหนึ่งของตัวตนของมาร์เชลโลนั้นเอง นอกจากนี้เฟลลินีก็เสียดสีชนชั้นกลางที่ชอบทำตัวเหมือนกับเป็นปัญญาชนทั้งที่ไม่รู้เรื่องอะไรจริงๆ ผ่านแขกในงานของสไตเนอร์ที่มาเชลโลเข้าร่วมด้วย
ผู้หญิงอีกคนในชีวิตมาร์เชลโลที่น่ากล่าวถึงก็คือ เปาโล เด็กสาว 16 ปีที่มาร์เชลโลรู้จักเพราะไปทานอาหารในร้านที่เธอเป็นเด็กเสิร์ฟ ลักษณะอันงดงามใสซื่อบริสุทธิ์ของเธอถูกนักวิชาการตีความว่าเปรียบได้ดังนางฟ้าหรือความงดงามทางจิตวิญญาณของมนุษย์ (ลักษณะเช่นนี้ยังถูกพัฒนาไปเป็นคลอเดีย ดาราสาวในฝันของกุยโด้พระเอกในเรื่อง 8 1/2) ฉากสุดท้ายของภาพยนตร์เรื่องนี้ถือได้ว่าทรงพลังและสื่อความหมายอย่างมากมาย บรรดาไฮโซทั้งหลายรวมทั้งมาร์เชลโลที่เมากันสุดเหวี่ยง ละเล่นกันสุดชีวิตทั้งคืนได้เดินทางไปเที่ยวที่ชาดหาดที่อยู่ไม่ไกลในยามเช้าตรู่ ณ ที่นั้นชาวประมงเหวี่ยงแหได้ปลาประหลาดที่ตายมาหลายวันได้ทำให้ชาวไฮโซแห่กันไปดู มาร์เชลโลได้พบกับเปาโลอีกครั้ง เธอได้พยายามย้ำเตือนอะไรบางอย่างให้แก่เขาแต่เพราะทั้งคู่อยู่ไกลกันทำให้เสียงคลื่นกลบเสียงของเธอ ทำให้คนดูได้คาดเดาจากอากัปกิริยาของเธอต่างๆ นาๆ มีคนตีความว่าเปาโลนั้นพยายามเตือนเขาให้กลับไปเขียนหนังสือหรือสร้างสรรค์ศิลปะอันจะเป็นตัวสร้างคุณค่าให้กับชีวิตมากกว่าจะอยู่แบบพวกสุขนิยมหรือ Hedonism อันมีซากปลาประหลาดอาจจะหมายถึงชีวิตอันเน่าเหม็นของชนชั้นกลาง ส่วนปฏิกิริยาของมาร์เชลโลหลังจากนั้นคือไม่ยอมเข้าใจเธอก่อนจะโบกมือลากลับไปรวมกลุ่มเพื่อนไฮโซเพื่อดื่มด่ำอยู่กับ "ชีวิตอันแสนหวาน"ต่อไป
บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ถือได้ว่า It's A Wonderful Life เป็นภาพยนตร์ที่อเมริกันชนแสนจะรักใคร่มากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้นอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับหนังชีวิตในยุคหลังมากมายหลายเรื่องแล้ว ภาพยนตร์ขาวดำเรื่องนี้ยังถูกนำมาฉายทางโทรทัศน์ในช่วงคริสต์มาสของทุกปีในอเมริกา คอหนังอเมริกันมักจะเอยชื่อหนังเรื่อง
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ผลพวงแห่งความคับแค้นหรือ The Grapes of Wrath เป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวโจดส์ที่อาศัยอยู่ใน รัฐโอกลาโอมา พวกเขาเป็นหนึ่งในหลาย ๆ หมื่นครอบครัวของชนชั้นระดับรากหญ้าของอเมริกาที่ต้องพบกับความยากลำบากของชีวิตในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (Great Depression) ในทศวรรษที่ 30 ซึ่งสหรัฐฯเป็นต้นกำเนิดนั้นเอง  
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เคยสังเกตไหมว่าพวกที่เป็นเซเลบและพวกที่ไม่ได้เป็นเซเลบแต่อยากจะเป็นเซเลบ มักจะหันมาใช้อาวุธชนิดหนึ่งในการโฆษณาสร้างภาพตัวเองซึ่งดูเหมือนจะได้ผลไม่น้อยไปกว่าให้หน้าม้ามาโผล่ตามเว็บไซต์ต่างๆ หรือเสนอหน้าผ่านเกมโชว์หรือรายการทั้งหลายในโทรทัศน์ก็คือหนังสือนั้นเอง หนังสือที่ว่ามักจะเป็นเรื่องเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้แปลมาจากบทความของโรเจอร์ อีเบิร์ต ที่เขียนขึ้นในเวบ Rogerebert.com เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม ปี ค.ศ.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1."วันข้างหน้า ถ้าไม่มีมาตรา 44 ไม่มีคสช.เราจะอยู่กันอย่างไร"
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
from A to Z , rest of one's life If the officers want to inspect Dhammakay temple from A to Z , they must spend the rest of their lives.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับของหมอดูที่ผมรวบรวมมาจากการประสบพบเองบ้าง (ในชีวิตนี้ก็ผ่านการดูหมอมาเยอะ) จากการสังเกตการณ์และนำมาครุ่นคิดเองบ้าง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความถึงหมอดูทุกคน เพราะคงมีจำนวนไม่น้อยที่มีฝีมือจริงๆ กระนั้นผมเห็นว่าไม่ว่าเก่งหรือไม่เก่ง พวกเขาหรือเธอต้องใช้เคล็ดลับ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากพูดถึงหนังเรื่อง Lolita ไม่ว่าเวอร์ชั่นไหนแล้วคำ ๆ แรกที่ทุกคนนึกถึงก็คือ Paedophilia หรือโรคจิตที่คนไข้หลงรักและต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กที่อายุน้อย ๆ สาเหตุที่ถูกตีตราว่าโรคจิตแบบนี้เพราะสังคมถือว่ามนุษย์จะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อมีอายุที่สมควรเท่านั้น และสำคัญที่มันผิดทั้งกฏหมายและศี
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1.Blade Runner (1982) สุดยอดหนังไซไฟที่มองโลกอนาคตแบบ Dystopia นั่นคือเต็มไปด้วยความมืดดำและความเสื่อมโทรม ถึงแม้บางคนอาจจะผิดหวังในตอนจบ(แต่นั่นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหนัง) แต่ด้วยฝีมือ Ridley Scott ที่สร้างมาจากงานเขียนของ Philip K.Dick ทำให้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
มีการถกเถียงกันทางญาณวิทยาซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญามาเป็นพัน ๆ ปีว่าความจริง (Truth) แท้จริงเป็นอย่างไร แล้วเราจะสามารถรู้หรือเข้าสู่ความจริงได้หรือไม่ แน่นอนว่าผู้อ่านย่อมสามารถโต้ตอบผู้เขียนได้ว่าความจริงที่เรากำลังสัมผัสอยู่ขณะนี้เช่นหูได้ยินหรือจ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
จำได้ว่าตั้งแต่เกิดมาเป็นตัวเป็นตน ภาพยนตร์ที่สร้างความเพลิดเพลินและความชื่นอกชื่นใจให้แก่ผมมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือหนังเรื่อง "มนตร์รักลูกทุ่ง" ของสยามประเทศนี่เอง เคยดูเป็นเวอร์ชั่นโรงใหญ่จากโทรทัศน์ก็ตอนเด็ก ๆ ความจำก็เลือนลางไป เมื่อเข้าเรี
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อาคิระ คุโรซาวาเป็นผู้กำกับญี่ปุ่นชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก ด้วยความยิ่งใหญ่จนถึงระดับคลาสสิกของภาพยนตร์ที่เขาสร้างหลายสิบเรื่องทำให้มีผู้ยกย่องเขาว่าเหมือนกับจักรพรรดิหรือแห่งวงการภาพยนตร์ไม่ว่าญี่ปุ่นหรือแม้แต่ระดับนานาชาติคู่ไปกับสแตนลีย์ คิวบริก อัลเฟรด