Skip to main content

มีการถกเถียงกันทางญาณวิทยาซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญามาเป็นพัน ๆ ปีว่าความจริง (Truth) แท้จริงเป็นอย่างไร แล้วเราจะสามารถรู้หรือเข้าสู่ความจริงได้หรือไม่ แน่นอนว่าผู้อ่านย่อมสามารถโต้ตอบผู้เขียนได้ว่าความจริงที่เรากำลังสัมผัสอยู่ขณะนี้เช่นหูได้ยินหรือจมูกได้กลิ่น หรือการสัมผัสแป้นคีย์บอร์ดย่อมเป็นจริง แต่ปัญหาก็คือเราสามารถสัมผัสได้อย่างที่คนอื่นสัมผัสของเหล่านี้ได้หรือเปล่าหรือว่าสอดคล้องกับความจริงที่ไม่ขึ้นอยู่กับประสาทสัมผัสของมนุษย์ได้หรือไม่ (ดังที่เรียกว่าความจริงเชิงภววิสัย หรือ Objective truth เช่น เสียงของมะพร้าวที่ตกลงในป่าโดยไม่มีคนอยู่เป็นอย่างไร) อาจด้วยลักษณะเฉพาะตัวของประสาทสัมผัสของเราแต่ละคน (เช่นเวลาไฟลนนิ้วเรา เรารู้สึกเจ็บ แต่ขอถามว่าเรารู้สึก"เจ็บ"เหมือนอย่างที่นาย ก.โดนไฟลนหรือไม่)หรืออาจจะเกิดจากความบกพร่องทางประสาทสัมผัสก็ได้เช่นขณะนี้ เราอาจจะไม่ได้กลิ่นบางอย่างที่เพื่อนที่นั่งข้างๆ เพราะเราเป็นหวัดบ่อยทำให้ประสาทการได้กลิ่นไม่ดีนัก 

ข้อโต้แย้งเหล่านี้ย่อมเป็นเรื่องปลีกย่อย ไร้สาระถ้าเทียบกับความเป็นจริงทางสังคมและการเมืองซึ่งมีความซับซ้อนอย่างยิ่งเพราะเต็มไปด้วยประโยคคำพูดที่หรูหรา ฟุ่มเฟือยและเป็นนามธรรมมีความจริงทางสังคมและการเมืองมากมายที่เรายอมรับไม่ใช่เพราะประจักษ์สัมผัสด้วยตัวเองแต่เป็นการถูกปลูกฝังด้วยระยะเวลาอันยาวนานโดยองค์กรที่เราเรียกว่า "รัฐ" เช่นสำนึกของความเป็นชาติ ชาติตามแนวคิดของนักวิชาการบางคนคือชุมชนในจินตนาการ (Imagined Community) แนวคิดชาติในจินตนาการเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าเราคิดขึ้นมาเอง แต่หมายความว่าเราสามารถรับรู้ความเป็นชาติโดยผ่านระบบสัญลักษณ์ต่างๆ ที่รัฐปลูกฝังให้เรามาตั้งแต่เป็นทารกหัวยังกลวงเปล่า ผ่านระบบการศึกษาและสื่อมวลชนที่เข้ามาตอกย้ำเราอยู่ทุกวัน เช่นเรารู้สึกว่าตัวเราคือ "คนไทย" ใช้ภาษาไทย ต้องรักชาติไทย กินอาหารไทย หวงแหนมรดกไทย ฯลฯ เราจะรู้สึกว่าเป็นคนชาติเดียวกับลุงปั๋นที่ไถนาอยู่ในตำบลแม่นาเรือพะเยา ถึงแม้เราเป็นชนชั้นกลาง นั่งทำงานอยู่ในตึกชั้นที่ 25 กลางกรุงเทพฯ เกิดที่กรุงเทพฯ ไม่เคยไปพะเยาหรือจังหวัดใด ๆ ในภาคเหนือ เพียงแต่เราสัมผัสชีวิตแบบลุงปั๋นได้ผ่านโทรทัศน์ที่เสนอรายการชาวไร่ เรารู้ว่ายิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรีผู้หญิงคนแรกของไทยก็ผ่านโทรทัศน์ วิทยุ อินเทอร์เน็ต ถึงแม้เราจะไม่เคยเห็นสัมผัสตัวยิ่งลักษณ์เป็นๆ มาก่อน 

ชุมชนในจินตนาการยังมีการโยงไปในเรื่องของอดีตซึ่งยิ่งดำมืดไม่มีความชัดเจนขึ้นไปอีกและไม่ค่อยจะสอดคล้องกับความจริงในปัจจุบันนักเช่นคนเชียงใหม่จะถูกทำให้เชื่อว่าพระนเรศวรเป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ของตนทั้งที่ในอดีตอาณาจักรล้านนารู้สึกเป็นปรปักษ์กับกรุงศรีอยุธยาไม่ต่างจากพม่ารามัญเลย  หรือแม้แต่คนภาคกลางเองที่บางคนประกาศว่าตัวเองเป็นลูกพระองค์ดำก็ไม่ค่อยทราบถึงตัวตนของพระองค์เท่าไรนัก หลายคนไม่ทราบด้วยซ้ำว่าพระองค์จริงๆ มีนิสัยอย่างไร สิ้นพระชนม์อย่างไร ที่ไหน (และพระองค์ทรงมีสำนึกความเป็นไทยหรือห่วงใยลูกหลานไทยถึงขนาดทรงย่อมเหน็ดเหนื่อย ยอมสละพระชนม์เพื่อ "ชาติไทย"ที่ในยุคของพระองค์ไม่เคยมี มีแต่เพียงอาณาจักรอโยธยาหรือไม่) เพียงแต่เพราะเราถูกครูสอนในชั้นเรียนและไปชมภาพยนตร์ที่ยาวเหยียดเหมือนหนังชุดเกาหลีของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคลซึ่งแต่งสีเพิ่มสันลงไปอย่างไม่บันยะบันยัง 

ผู้ที่สามารถกุมอำนาจรัฐจะมีพื้นที่ขนาดใหญ่ในการเสริมสร้าง(หรือยัดเหยียด)สำนึกความเป็นชาติอันนำไปสู่การสถาปนาชุดแห่งความจริงทางสังคมและการเมืองได้อย่างมากมายให้กับพลเมืองซึ่งถูกคุมขังภายในชุมชนที่ถูกจินตนาการขึ้น  การยัดเหยียดจะยิ่งทรงพลังมากขึ้นหากใช้กำลัง (Coercive force) เข้ามาประกอบเช่นผ่านทางกฎหมายโดยมีเครื่องมือของรัฐคือตำรวจกับทหาร รัฐโดยเฉพาะรัฐที่เป็นเผด็จการหรือมีลักษณะเป็นเผด็จการทั้งที่ประกาศตนว่าเป็นประชาธิปไตย มักออกกฎหมายบังคับให้พลเมืองเชื่อในชุดความจริงชุดหนึ่ง เพียงถ้าพลเมืองคนใดแสดงความไม่เชื่อในชุดความจริงนั้นก็จะถูกลงโทษเช่นถูกจับติดคุกหรือประหารชีวิต ถูกประณามว่าเป็นคนไม่ภักดีต่อชาติ 

ความเป็นจริงทางสังคมและการเมืองเช่นนี้ไม่ได้มีเพียงมีลักษณะในอดีตหรือเป็นข้อมูลหยุดนิ่งไม่ แต่ยังหมายถึงการตัดสินใจหรือทัศนคติหรือความเห็นพ้องร่วมกัน (Consensus) ของคนในชาติต่อเหตุการณ์หลายอย่างประจำวัน รัฐ (ที่หมายถึงรัฐาธิปัตย์ซึ่งยิ่งใหญ่กว่า รัฐบาล) มีวิธีในการสร้างสำนึกหรือความเห็นพ้องร่วมกันให้กับพลเมืองทั้งหลายด้วยวิธีที่แยบยลและทรงพลังเช่นนอกจากกฎหมายแล้วยังสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในการควบคุมหรือชี้นำสื่อมวลชนให้นำเสนอสารที่สอดคล้องกับชุดความจริงนั้นๆ (อย่างที่เรียกว่า Propaganda หรือโฆษณาชวนเชื่อ) ชุดความจริงเช่นนี้ยิ่งดูเสมือนจริงยิ่งขึ้น เพราะพรางตาพลเมืองให้เข้าใจว่าอยู่นอกเหนือปริมณฑลของอำนาจรัฐ

การสร้างชุดความจริงยังทำได้ก็ต่อเมื่อการพรางตาให้กับพลเมืองโดยการสรุปจากชุดความจริงที่สร้างโดยกลุ่มๆ หนึ่งแล้วชี้นำให้มวลชนซึ่งไม่มีชุดความจริงอยู่ในหัวเชื่อว่าพลเมืองทุกคนในรัฐคิดหรือเชื่อเหมือนกัน  ตามวิสัยของมนุษย์มักเห็นว่าสิ่งที่คนอื่นเชื่อร่วมกันมากๆ มักจะเป็นความจริงสูงสุด เข้าทำนองเดียวกับสำนวนภาษาอังกฤษว่า Jump on the bandwagon เมื่อทุกคนเชื่อกันมากๆ เข้าก็ย่อมเข้าข่ายอุปทานหมู่ (Mass hysteria) หลงละเมอเพ้อพกอยู่ในจินตนาการร่วมกันที่จะถูกสร้างหรือเนรมิตให้เป็นอย่างไรก็ได้โดยรัฐ แม้คนจำนวนไม่น้อยจะไม่เชืีอตามรัฐก็ต้องเงียบเสียงหรือจำกัดการแสดงออกแนวคิดส่วนตัวในแวดวงที่ตนไว้ใจอย่างเช่นคนรอบข้าง

ปรากฎการณ์เช่นนี้ไม่จำกัดอยู่เฉพาะรัฐที่เป็นเผด็จการเท่านั้น แม้แต่รัฐที่เป็นประชาธิปไตยก็ต้องมีวิธีการเช่นนี้นักวิชาการบางคนอาจจะการ กระทำเช่นนี้ก็เพื่อความอยู่รอดและประโยชน์ของรัฐเอง แต่ถ้ามองตามแว่นของนักคิดแบบลัทธิมาร์กซ์คือเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นปกครอง เราอาจจะไม่ต้องสนใจว่าความจริงที่แท้จริงเป็นอย่างไร เพราะความจริงที่แท้จริงอาจจะไม่มี และไม่มีวันถูกค้นพบได้ ต่อให้เรามียานย้อนเวลาหรือเป็นพระเจ้าก็ตาม !  

บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์

อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ถือได้ว่า It's A Wonderful Life เป็นภาพยนตร์ที่อเมริกันชนแสนจะรักใคร่มากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้นอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับหนังชีวิตในยุคหลังมากมายหลายเรื่องแล้ว ภาพยนตร์ขาวดำเรื่องนี้ยังถูกนำมาฉายทางโทรทัศน์ในช่วงคริสต์มาสของทุกปีในอเมริกา คอหนังอเมริกันมักจะเอยชื่อหนังเรื่อง
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ผลพวงแห่งความคับแค้นหรือ The Grapes of Wrath เป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวโจดส์ที่อาศัยอยู่ใน รัฐโอกลาโอมา พวกเขาเป็นหนึ่งในหลาย ๆ หมื่นครอบครัวของชนชั้นระดับรากหญ้าของอเมริกาที่ต้องพบกับความยากลำบากของชีวิตในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (Great Depression) ในทศวรรษที่ 30 ซึ่งสหรัฐฯเป็นต้นกำเนิดนั้นเอง &nbsp
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เคยสังเกตไหมว่าพวกที่เป็นเซเลบและพวกที่ไม่ได้เป็นเซเลบแต่อยากจะเป็นเซเลบ  มักจะหันมาใช้อาวุธชนิดหนึ่งในการโฆษณาสร้างภาพตัวเองซึ่งดูเหมือนจะได้ผลไม่น้อยไปกว่าให้หน้าม้ามาโผล่ตามเว็บไซต์ต่างๆ หรือเสนอหน้าผ่านเกมโชว์หรือรายการทั้งหลายในโทรทัศน์ก็คือหนังสือนั้นเอง หนังสือที่ว่ามักจะเป็นเรื่องเ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
บทความเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้แปลมาจากบทความของโรเจอร์ อีเบิร์ต ที่เขียนขึ้นในเวบ Rogerebert.com เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคม ปี ค.ศ.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1."วันข้างหน้า ถ้าไม่มีมาตรา 44  ไม่มีคสช.เราจะอยู่กันอย่างไร"
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
from A to Z , rest of one's life If the officers want to inspect  Dhammakay temple from A to Z , they must spend the rest of their lives.
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
 ต่อไปนี้เป็นเคล็ดลับของหมอดูที่ผมรวบรวมมาจากการประสบพบเองบ้าง (ในชีวิตนี้ก็ผ่านการดูหมอมาเยอะ) จากการสังเกตการณ์และนำมาครุ่นคิดเองบ้าง ซึ่งก็ไม่ได้หมายความถึงหมอดูทุกคน เพราะคงมีจำนวนไม่น้อยที่มีฝีมือจริงๆ  กระนั้นผมเห็นว่าไม่ว่าเก่งหรือไม่เก่ง พวกเขาหรือเธอต้องใช้เคล็ดลับ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากพูดถึงหนังเรื่อง Lolita ไม่ว่าเวอร์ชั่นไหนแล้วคำ ๆ แรกที่ทุกคนนึกถึงก็คือ Paedophilia หรือโรคจิตที่คนไข้หลงรักและต้องการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กที่อายุน้อย ๆ สาเหตุที่ถูกตีตราว่าโรคจิตแบบนี้เพราะสังคมถือว่ามนุษย์จะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อมีอายุที่สมควรเท่านั้น และสำคัญที่มันผิดทั้งกฏหมายและศี
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
1.Blade Runner (1982)  สุดยอดหนังไซไฟที่มองโลกอนาคตแบบ Dystopia นั่นคือเต็มไปด้วยความมืดดำและความเสื่อมโทรม ถึงแม้บางคนอาจจะผิดหวังในตอนจบ(แต่นั่นเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหนัง) แต่ด้วยฝีมือ Ridley Scott ที่สร้างมาจากงานเขียนของ Philip K.Dick ทำให้
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
มีการถกเถียงกันทางญาณวิทยาซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของปรัชญามาเป็นพัน ๆ ปีว่าความจริง (Truth) แท้จริงเป็นอย่างไร แล้วเราจะสามารถรู้หรือเข้าสู่ความจริงได้หรือไม่ แน่นอนว่าผู้อ่านย่อมสามารถโต้ตอบผู้เขียนได้ว่าความจริงที่เรากำลังสัมผัสอยู่ขณะนี้เช่นหูได้ยินหรือจ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
จำได้ว่าตั้งแต่เกิดมาเป็นตัวเป็นตน ภาพยนตร์ที่สร้างความเพลิดเพลินและความชื่นอกชื่นใจให้แก่ผมมากที่สุดเรื่องหนึ่งก็คือหนังเรื่อง "มนตร์รักลูกทุ่ง" ของสยามประเทศนี่เอง เคยดูเป็นเวอร์ชั่นโรงใหญ่จากโทรทัศน์ก็ตอนเด็ก ๆ ความจำก็เลือนลางไป เมื่อเข้าเรี
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อาคิระ คุโรซาวาเป็นผู้กำกับญี่ปุ่นชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของโลก ด้วยความยิ่งใหญ่จนถึงระดับคลาสสิกของภาพยนตร์ที่เขาสร้างหลายสิบเรื่องทำให้มีผู้ยกย่องเขาว่าเหมือนกับจักรพรรดิหรือแห่งวงการภาพยนตร์ไม่ว่าญี่ปุ่นหรือแม้แต่ระดับนานาชาติคู่ไปกับสแตนลีย์ คิวบริก อัลเฟรด