ถือได้ว่า It's A Wonderful Life เป็นภาพยนตร์ที่อเมริกันชนแสนจะรักใคร่มากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ก็ว่าได้นอกจากจะเป็นแรงบันดาลใจสำหรับหนังชีวิตในยุคหลังมากมายหลายเรื่องแล้ว ภาพยนตร์ขาวดำเรื่องนี้ยังถูกนำมาฉายทางโทรทัศน์ในช่วงคริสต์มาสของทุกปีในอเมริกา คอหนังอเมริกันมักจะเอยชื่อหนังเรื่องนี้ด้วยความรักและชื่นชมเพราะมันสามารถสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการอะไรบางอย่างทางจิตวิญญาณของพวกเขาในสังคมโลกยุคโลกาภิวัฒน์ที่กำลังทวีความซับซ้อนมากขึ้นทุกขณะจนคนจำนวนมากก้าวตามไม่ทัน
It's A Wonderful Life ถูกนำออกฉายเป็นครั้งแรกในปี 1946 เป็นเรื่องของชายจิตใจดีงามคนหนึ่งนามว่าจอร์จ เบเลย์ ผู้รู้สึกแปลกแยกกับชีวิตและการทำงานในเมืองเล็กๆ วันหนึ่งจอร์จได้พบกับปัญหาชีวิตคิดจะฆ่าตัวตาย สวรรค์ได้ส่งเทวดามาช่วยให้เขาได้ตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับตอนจบที่ถือว่า "ต้นร้ายปลายดี"คนดูสามารถเดินออกจากโรงด้วยคราบน้ำตาปนรอยยิ้มแล้วกลับไปนอนบ้านด้วยใจอิ่มเอม (อ่านเนื้อเรื่องขยายได้ข้างล่าง) ฟังดูคุ้นๆ ไหม อย่างที่บอกไว้ว่า It's A Wonderful Life สร้างความประทับใจต่อผู้กำกับรุ่นหลังๆ จนต้องทำหนังที่มีเนื้อเรื่องคล้ายๆ กันหรือไม่ก็รีเม็คแบบกลาย ๆ และหลายเรื่องเราได้ดูมาแล้ว ไว้เฉลยตอนหลังว่ามีเรื่องอะไรบ้าง อย่างไรก็ตามการที่หนังเรื่องนี้จะออกมาโผล่โฉมมาสู่โลกได้ต้องขอบคุณยอดผู้กำกับนามว่าแฟรงค์ คาปรา ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในช่วงกลางศตวรรษที่ยี่สิบจากหนังที่ถึงระดับขึ้นหิ้งไม่ว่า It Happened One Night ,Mr.Deeds Goes to Town , Mr.Smith Goes to Washington , You Can't Take It with You (ไม่ได้เรียงตามปีที่ออกฉาย) ที่สำคัญมากที่ต้องกล่าวถึงคือในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง คาปราได้สร้างหนังสารคดีในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองให้รัฐบาลอเมริกาเพื่อต่อสู้กับพวกอักษะ หนังสารคดีเป็นชุด ๆ ชื่อว่า Why We Fight เพื่อต่อสู้กับหนังเรื่อง Triumph of The Will ของเลนี รีเฟนสตาห์ลของพวกนาซี ภาพยนตร์ที่ได้กล่าวมานี้ทำให้คาปรารู้จักคุ้นเคยกับเวทีรางวัลออสการ์เป็นยิ่งนัก ชนิดที่ว่าต้องลุกจากเก้าอี้มารับรางวัลจนเมื่อยขา หนังของคาปราส่วนใหญ่จะเป็นหนังเชิงอุดมคติ แม้ตัวเอกที่เป็นคนดีศรีสังคมจะต้องฝ่าฟันกับความชั่วร้ายอยู่บ้างแต่สุดท้ายก็จบเรื่องอย่างมีความสุข ถือได้ว่าเขาเป็นผู้กำกับหนังที่มองโลกในแง่ดีที่สุดในโลกคนหนึ่ง
ภาพจาก www. Rottentomatoes.com
สำหรับ It's A Wonderful Life เรายังต้องขอบคุณใครหลายคนที่ช่วยเขียนเนื้อเรื่องให้ โดยเฉพาะฟิลิป ฟาน ดอเรน สเติร์น ผู้ให้กำเนิดที่แท้จริงในรูปแบบของนวนิยาย ตอนแรกเขาตั้งใจจะส่งให้โรงพิมพ์ แต่เมื่อถูกปฏิเสธ เขาจึงเอามันแนบไปกับการ์ดอวยพรวันคริสต์มาสอันมีชื่อว่า "The Greatest Gift" แจกให้กับเพื่อนฝูง แต่ค่ายหนัง RKO เกิดไปสะดุดตาเข้าก็ได้ซื้อลิขสิทธิ์ของเรื่องด้วยเงินที่ถือว่าสูงมากในยุคนั้นคือหมื่นเหรียญ แต่ก็ต้องพับโครงการไปเพราะประสบปัญหาหลายอย่าง ต่อมาคาปราประทับใจกับหนังเรื่องนี้จึงปัดฝุ่นมาสร้างอีกครั้ง ถึงแม้ค่ายหนังจะเคยคิดถึงแครี แกรนท์ แต่คาปรากลับไปเลือกพระเอกหน้าตาที่หล่อน้อยกว่าที่เคยร่วมงานกับเขามาแล้วในเรื่อง Mr.Smith Goes to Washington คือเจมส์ สจ๊วต ผู้มีความสามารถในการแสดงหนังชีวิตไปพร้อมๆ กับหนังตลก และยังแสดงในหนังสืบสวนสอบสวนหลายเรื่องของอัลเฟรด ฮิตช์ค็อก เขาสามารถแสดงบทของจอร์จแกนหลักของเรื่องที่ต้องแสดงบทบาททั้ง ตลก ชีวิตเศร้า โรแมนติกได้อย่างมีพลัง (แม้ส่วนที่สามจะดูขัด ๆ อยู่บ้างเพราะจอร์จไม่ใช่คนประเภทโรแมนติกเท่าไรนัก) ส่วนนางเอกนั้นคาปราได้ดอนนา รีด สาวสวยผู้ต่อมาจะได้รางวัลออสการ์จากบทบาทโสเภณีในหนังเรื่อง From Here to Eternity แต่ถ้าได้ดู It's A Wonderful Life จบแล้วจะรู้สึกได้ว่าเธอน่าจะได้ตุ๊กตาทองจากหนังเรื่องนี้เสียด้วยซ้ำ ด้วยบทบาทของหญิงสาวผู้ตกหลุมรักจอร์จมาตลอดชีวิตและหลังแต่งงานก็ได้สนับสนุนและช่วยเหลือสามีอย่างน่าชมเชย นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าทึ่งว่าหนังเรื่องนี้ใช้ฉากเกือบทั้งหมดในไร่กว้างและเมืองจำลองของ RKO ในแคลริฟอร์เนีย และน่าจะมีบางส่วนเป็นสตูดิโอเพราะมีฉากหิมะตก
แน่นอนว่าเบลฟอร์ด ฟอลล์ส เมืองที่พระเอกอาศัยอยู่จึงเป็นเมืองในจินตนาการแต่ด้วยใช้ทุนมหาศาลเช่นนี้ ภาพยนตร์จึงสามารถเนรมิตมาอย่างสมจริงทำให้เมืองดูมีชีวิตชีวา ผสมผสานกับการดำเนินเรื่องเป็นไปอย่างสนุกสนานมีเอกภาพแม้จะต้องพยายามนำตัวละครที่เกี่ยวข้องกับพระเอกมาให้ผู้ชมได้เห็นให้มากที่สุด แต่ก็มีฉากที่ดูแล้วสะดุดอยู่บ้างเช่นตอนที่น้องชายของจอร์จออกรบ คาปราก็เอาภาพของน้องชายที่เป็นทหารไปตัดต่อกับภาพยนตร์ข่าวตัวจริง ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาของหนังสมัยทศวรรษที่สี่สิบเหมือน Casablanca ที่เอาภาพยนตร์ข่าวเยอรมันบุกปารีสมาในตอนต้นเรื่องหรือว่าคาปราอาจจะไม่อยากหมดเงินไปกับฉากเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ต้องใช้เงินมากมาย ชะรอยว่าภาพยนตร์ปัจจุบันหากจะดำเนินเรื่องคล้ายคลึงกัน จึงมักจะสร้างฉากเสียใหม่ หรือไม่ก็เอาภาพยนตร์ข่าวมาสลับกับหนังตัวเองโดยให้หนังตัวเองเป็นขาวดำเหมือนกันเพื่อให้เกิดความกลมกลืม แต่ไม่ให้ตัวผู้แสดงเข้าไปทับในฉากของข่าวเป็นอันขาดด้วยเห็นว่าถ้าใช้เทคนิคแบบนี้คงจะเชยน่าดู
สาเหตุที่It's A Wonderful Life เป็นที่ชอบใจของคนอเมริกันเพราะเป็นหนังประวัติศาสตร์กลาย ๆ นั้นคือได้แบ่งชีวิตของจอร์จออกเป็นสี่ส่วน ในแต่ละส่วนได้แสดงให้เห็นถึงสังคมอเมริกันในแต่ละทศวรรษไม่ว่า ตอนเป็นเด็กในทศวรรษที่ยี่สิบ ตอนวัยรุ่นทศวรรษที่สามสิบ ตอนเป็นผู้ใหญ่คือทศวรรษที่สี่สิบนั้นคือช่วงสงคราม และช่วงหลังสงคราม ซึ่งหนังบรรยายเหตุการณ์เหล่านี้ผ่านดวงตาของพวกเทวดาบนสวรรค์ (ที่ตอนแรกคาปราให้เป็นกลุ่มดาวแทนที่จะเป็นคนมีปีก) จอร์จเป็นเด็กที่นิสัยดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น เช่นช่วยไม่ให้น้องชายต้องจมน้ำตาย จนตัวเองต้องหูติดเชื้อไม่สามารถได้ยินไปข้างหนึ่ง และเขายังช่วยเหลือไม่ยอมเอายาที่นายจ้างคือเจ้าของร้านยาปรุงยาผิดไปให้คนไข้ที่เป็นเด็ก นอกจากนี้หนังได้แสดงถึงลักษณะเศรษฐกิจของอเมริกานั่นคือความเป็นทุนนิยมจ๋าแต่มีความขัดแย้งในตัวเองนั้นคือปีเตอร์ เบลลี บิดาของจอร์จเป็นนักธุระกิจฐานะปานกลางแต่จิตใจดีงามชอบช่วยเหลือชาวเมือง และต้องมาปะทะกับหุ้นส่วนใหญ่ซึ่งเป็นนักธุระกิจเฒ่าผู้ชั่วร้าย คือคุณพ็อตเตอร์ ( Mr. Potter) ดังที่ได้กล่าวแต่ต้นว่าจอร์จนั้นมีความไม่พอใจชีวิตของตัวเองตั้งแต่เด็กนับตั้งแต่ต้องการออกไปเผชิญโลกภายนอกทว่าบิดามาเสียชีวิตเสียก่อน เขาจึงต้องอยู่ดูแลกิจการ ให้น้องชายไปเรียนมหาวิทยาลัยเอง จนเมื่อได้มาแต่งงานกับสาวที่เขารู้จักตั้งแต่เด็กคือมารี แฮช (ดอนนา รีด) ทั้งที่ความจริงแล้วเขาไม่ต้องการมีครอบครัวเพราะจะเป็นการผูกตัวเองไว้กับเมืองนี้ตลอดไป แต่สุดท้ายเขาก็กลายเป็นผู้ชายที่ถูกล่ามไว้กับคุณค่าเท่าที่ชนชั้นกลางของอเมริกาพึงจะมี นั้นคือมีเมียมีลูกเป็นโขยง (สมัยนั้นคงธรรมดาเพราะเป็นยุค Babyboom หรือจำนวนประชาการสหรัฐ ฯขยายตัวหลังสงครามแต่เดี๋ยวนี้คนมีลูกน้อยลง) เป็นประธานบริษัทเงินกู้ ธุรกิจรัดตัว แต่เขาก็ยังคงรักษาอุดมการณ์ในการเอื้ออาทรต่อคนจนไว้อย่างดี แม้จะจวนเจียนจะล้มละลายอยู่ครั้งหนึ่ง
แต่ด้วยอุบัติเหตุที่เกิดจากความซุ่มซ่ามของน้าที่เป็นผู้ช่วยของเขาคือลุงบิลลี ทำให้จอร์จต้องสูญเสียเงินเป็นจำนวนมาก หากหาเงินมาไม่ทันการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ธุรกิจต้องล้มละลายและเขาอาจติดคุก จอร์จจมอยู่ในความทุกข์ ดื่มเหล้าจนเมามายและคิดจะโดดลงในแม่น้ำท่ามกลางหิมะกำลังตกหนักในคืนวันคริสต์มาส แน่นอนว่าเป็นภาระกิจของเทวดาชั้นสองคือคลาเรนซ์ ที่จะมาช่วยเขาโดยมีรางวัลจากเทวดาที่มีศักดิ์สูงกว่าคือปีกทั้งสองข้าง เขาได้แปลงร่างจากดวงดาวมาเป็นชายชราต๊องนิด ๆ และแกล้งทำเป็นตกน้ำจนจอร์จต้องมาช่วยแทนที่จะฆ่าตัวตายและเขาก็ให้พรแก่จอร์จตามคำตัอพ้อของตัวชายหนุ่มเองที่ว่า "ไม่อยากจะเคยเกิดมาบนโลกนี้" เมื่อกลับเข้าไปในเมืองอีกครั้ง จอร์จก็ตกใจและเสียใจจนแทบคลั่งที่พบว่าคนรอบข้างปฏิบัติต่อเขาราวกับว่าเขาไม่เคยมีตัวตนมาก่อน แถมทำให้ทุกอย่างในเมืองเปลี่ยนไปเพราะเขาไม่เคยเกิดบนโลกนี้มาก่อน เขาจึงได้รู้แจ้งว่าชีวิตที่แม้กำลังถึงจุดต่ำสุดของเขานั้นคือชีวิตที่แสนอัศจรรย์ ชีวิตอันแสนอัศจรรย์คือการได้มีความสัมพันธ์ ได้รัก ถูกรัก และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (ในขณะที่ พ็อตเตอร์คือภาพตรงกันข้าม เขาไม่ได้แต่งงานและไม่รักผู้อื่นเลย) ที่น่าซาบซึ้งใจจนน้ำตาไหลตอนจบนั้น เมื่อคลาเรนซ์ได้ทำให้โลกเดิมของจอร์จกลับมาอีกครั้ง ชาวเมืองที่รักใคร่จอร์จก็ได้มาช่วยเหลือให้เขาพ้นจากวิกฤตการณ์นั้นไปได้พร้อมกับเพลง Auld Lang Syne ที่ทุกคนร้องในปาร์ตี้ที่จัดในบ้านของจอร์จนั้นเอง
ภาพจาก www.rogerebert.com
เนื้อเรื่องของ It's A Wonderful Life อันซาบซึ้งใจนี้ย่อมมีอิทธิพลมากมายต่อหนังหลายเรื่อง เช่น Back to The Future ภาคสองที่มาร์ตี้พระเอกกลับมาจากโลกในอนาคตและพบว่าตาเฒ่าบิฟได้กลายเป็นเศรษฐีที่เปลี่ยนให้เมืองที่เขาอยู่กลายเป็นเมืองอันเลวร้าย และชีวิตของเขาและคนรู้จักได้เปลี่ยนไป แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือหนังเรื่อง Bruce Almighty ที่มีดาราจอมทะเล้นคือจิม แคร์รี ที่ตัวหนังแสดงความเคารพต่อ It's A Wonderful Life อย่างออกหน้าออกตาโดยให้มีฉากตัวเอกดูหนังเรื่อง It's A Wonderful Life ทางโทรทัศน์ด้วย และหากพิจารณ์ธีมแล้วเหมือนกัน ส่วนหนึ่งราวกับเป็นหนังรีเม็คเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีหนังเรื่อง Dave ที่เอาส่วนผสมของ Mr.Smith Goes to Washington และ It's A Wonderful Life กลายเป็นประธานาธิบดีตัวปลอมผู้รักและทำทุกอย่างเพื่อประชาชน หรือหนังเรื่อง Family Man ที่ นิโคลัส เคจ แสดงก็เดินเรื่องแบบเดียวกัน นั้นคือ เคจเป็นนักธุรกิจหนุ่มผู้กลัวการแต่งงานแต่ก็มาเปลี่ยนใจเพราะการช่วยเหลือของเทวดาผิวดำ จนมาถึงหนังเรื่องล่าสุดที่พวกเราชาวไทยแลนด์ได้ดูคือเรื่อง Click ที่แสดงโดยอดัม แซนด์เลอร์ ฯลฯ
ดังนั้นจึงไม่น่าประหลาดใจว่าทำไมมีนักวิชาการบอกว่าIt's A Wonderful Life เป็นการจำลองหรือภาพของสังคมอเมริกันในจินตนาการที่ตอบสนองความต้องการเช่นนี้ของอเมริกันชนได้ในยามที่คนจำนวนมากอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่ต้องใช้ชีวิตแบบต่างคนต่างอยู่นับตั้งแต่ทศวรรษที่ห้าสิบเป็นต้น เช่นเดียวกับชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ที่ถวิลหาสังคมของ ปีติ มานะวีระ ฯลฯ จากหนังสือเรียนภาษาไทยที่เขาเคยเรียนตอนเด็ก ๆ ผมไม่ทราบเหมือนกันว่านายทุนอเมริกันจะมีนิสัยเช่นเดียวกับจอร์จหรือพ่อของเขามากน้อยแค่ไหน ทราบแต่ว่าเมื่อ It's A Wonderful Life ออกฉาย ฝ่ายขวาหรือพวกอนุรักษ์นิยมจำนวนมากถือว่าหนังของคาปรานี้มีสารสื่อไปทางคอมมิวนิสต์อยู่มาก เพราะเห็นว่าแนวคิดหลักของเรื่องคือการโจมตีระบบทุนนิยมโดยมีสัญลักษณ์คือ พ็อตเตอร์เป็นนายทุนที่เห็นแก่ได้ หากเป็นพรรครีพับริกันแล้วคงจะเกลียดหนังเรื่องนี้เหมือนกันเพราะรัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์สนับสนุนนายทุนและกำลังพยายามผลักดันให้ออกกฏหมายเอื้อต่อนายทุนมากมาย
It's A Wonderful Life แตกต่างจากหนังหลายเรื่องของคาปราถึงแม้จะเป็นหนังสุดรักของเขา และตัวสจ๊วต พระเอกของเรื่อง และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ถึง ห้าสาขา รวมไปถึงสาขานักแสดงนำฝ่ายชายและผู้กำกับยอดเยี่ยม ทว่า It's A Wonderful Life พลาดหมด แถมรายได้ก็แสนจะน่าเศร้า จากทุนที่ลงไปถึง อาจเพราะถูกเข้าชิงในปีเดียวกับหนังที่ทรงพลังอย่างเช่น The Best Years of Our Lives ของวิลเลียม ไวย์เลอร์ ที่นำเสนอชีวิตของทหารผ่านศึกอเมริกันสามคนที่ต้องพบกับเหตุการณ์ชีวิตอันผันผวนหลังจากกลับมาใช้ชีวิตแบบพลเรือนในบ้านเกิดเมืองนอนหลังสงครามสิ้นสุดลง The Best Years of Our Lives สามารถโกยรางวัลออสการ์ได้ถึงเจ็ดสาขา ความแตกต่างของหนังทั้งสองเรื่องอยู่ที่ว่าThe Best Years of Our Lives มีลักษณะเป็นสัจนิยม นำเสนอเรื่องปัญหาของทหารผ่านศึกช่วงหลังสงคราม ในขณะที่ It's A Wonderful Life ใช้สัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมายทางปรัชญาอันลึกซึ้งนั้นความมหัศจรรย์ของชีวิตคือการมีชีวิตอยู่ร่วมกันด้วยความรักและความเอื้ออาทร หรือปัญหาทางจริยธรรมแบบอ้อม ๆ ที่ว่า นายทุนควรจะรับผิดชอบอย่างไรต่อชุมชน
กระนั้นหากนำมาเปรียบเทียบกันชนิดนิ้วต่อนิ้วแล้ว It's A Wonderful Life ไม่ได้ด้อยไปกว่า The Best Years of Our Lives เลย แต่การที่ The Best Years of Our Lives ประสบความสำเร็จก็เพราะคณะกรรมการเห็นว่าควรจะให้ความสำคัญแก่หนังที่สร้างความประทับใจให้กับทหารผ่านศึกหลายล้านคนที่เพิ่งกลับบ้าน และแล้วกาลเวลาก็ทำให้เห็นว่ารางวัลออสการ์นึกถึงสถานการณ์ทางการเมืองมากกว่าคุณสมบัติของตัวหนังจริง ๆ เพราะถึงแม้ The Best Years of Our Lives จะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในร้อยภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรอบร้อยปีและได้คะแนนความนิยมในรายการอื่นมากมายเช่นเดียวกับ It's A Wonderful Life แต่เมื่อพูดถึงหนังที่ทำให้เกิดความอิ่มเอมใจต่อความงดงามของชีวิต (โดยเฉพาะช่วงวันคริสต์มาส) อเมริกันชนทุกคนน่าจะเอ่ยถึงชื่อ It's A Wonderful Life เป็นชื่อแรกก่อน The Best Years of Our Lives หรือแม้แต่หนังเรื่องอื่น ๆ ที่เคยถูกทำขึ้นมาบนโลกนี้เสียด้วยซ้ำ
บล็อกของ อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากมีใครถามว่าถ้า จู่ๆ โลกนี้ หนังสือจะหายไปหมด แต่ผมสามารถเลือกหนังสือไว้เป็นส่วนตัวได้เพียงเล่มเดียว จะให้เลือกของใคร ผมก็จะตอบว่าหนังสือ "จันทร์เสี้ยว" หรือ Crescent Moon ของท่านรพินทรนาถ ฐากูร กวีและนักปราชญ์ชาวอินเดียผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ในปี 1913 และหนังสือเล่มนี้ก
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
"Whoever you are, I have always depended on the kindness of strangers." Blanche Dubois ไม่ว่าคุณเป็นใคร ฉันมักจะพึ่งพ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากพูดถึงคำว่า Three Bs ผู้ใฝ่ใจในดนตรีคลาสสิกก็จะทราบทันทีว่าหมายถึงคีตกวีผู้ยิ่งใหญ่ทั้ง 3 ของเยอรมัน นั่นคือ Bach Beethoven และ Brahms ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในหลายๆ ส่วน นั่นคือบาคเป็นคีตกวีในยุคบาร็อค เบโธเฟนและบราห์ม เป็นคีตกวีในยุคโรแมนติก นอกจากนี้บาคเป็นบิดาที่มีบุตรหลายคน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ถ้าจะดูอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว La Dolce Vita (1960) ของเฟเดริโก เฟลลินี สุดยอดผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอิตาลี ไม่ได้ด้อยไปกว่าภาพยนตร์ในเรื่องต่อมาของเขาคือ 8 1/2 ในปี 1963 แม้แต่น้อยโดยเฉพาะการสื่อแนวคิดอันลุ่มลึกผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ เพียงแต่ภาพยนตร์เรื่องแรกเป็นสัจนิยมนั้นคือไม่ยอมให้จินตนาการกับความ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หนึ่งในบรรดาคีตกวีที่อายุสั้นแต่ผลงานสุดบรรเจิดที่เรารู้จักกันดีคือนักประพันธ์เพลงชาวออสเตรียนามว่าฟรานซ์ ชูเบิร์ต (Franz Schubert) ชูเบิร์ตเปรียบได้ดังสหายของเบโธเฟนผู้ส่งผ่านดนตรีจากคลาสสิกไปยังยุคโรแมนติก ด้วยความเป็นคีตกวีผสมนักกวี (และยังเป็นคนขี้เหงาเสียด้วย) ทำให้เขากลายเป็
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
การสังหารหมู่นักศึกษาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 เป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจมากซึ่งน่าจะเป็นเรื่อง"ไทยฆ่าไทย" ครั้งสุดท้ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่สงครามเย็นได้สิ้นสุดไปและคนไทยน่าจะมีความรู้เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนดีกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน แต่การสังหารหมู่ประชาชนกลางเมืองหลวงเมื่อหลายปีก่อน
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
ขออุทิศบทความนี้ให้กับโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เป็นเรื่องตลกถึงแม้ผมเอาแต่นำเสนอแต่เรื่องของดนตรีคลาสสิก แต่ดนตรีซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่ออารมณ์ความรู้สึกของผมเมื่อ 2-3 ทศวรรษก่อนจนถึงปัจจุบันคือดนตรีแจ๊ส และผมฟังดนตรีชนิดนี้เสียก่อนจะฟังดนตรีคลาสสิกอย่างจริงจังเสียอีก (ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าในป
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
หากจะเอ่ยชื่อคีตกวีชื่อดังของศตวรรษที่ 19-20 แล้ว คนๆ หนึ่งที่เราจะไม่พูดถึงเป็นไม่ได้อันขาดคือเดบูซี่ผู้ได้ชื่อว่ามีแนวดนตรีแบบอิมเพรสชั่นนิสต์ (Impressionism) และแน่นอนว่าดนตรีแนวนี้ย่อมได้รับอิทธิพลจากศิลปะภาพวาดของฝรั่งเศสซึ่งโด่งดังในศตวรรษที่ 19 โดยมีโมเนต์และมาเนต์เป็นหัวหอก เพลงของเดบูซ
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
เมื่อพูดถึงเพลงประสานเสียงแล้ว คนจะนึกถึงเพลงสวดศพของโมซาร์ทคือ Requiem หรือ Messiah ของแฮนเดิลเป็นระดับแรก สำหรับเบโธเฟนแล้วคนก็จะนึกถึงซิมโฟนี หมายเลข 9 เป็นส่วนใหญ่ ความจริงแล้วเพลงสวด (Mass) คือ Missa Solemnis อันลือชื่อ ของเขาก็ได้รับความนิยมอยู่ไม่
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
แน่นอนว่าคนไทยย่อมรู้จักเป็นอย่างดีกับฉากของหญิงสาวผมสั้นสีทองในเสื้อและกระโปรงสีดำพร้อมผ้าคลุมด้านหน้าลายยาวที่เริงระบำพร้อมกับร้องเพลงในทุ่งกว้าง เข้าใจว่าต่อมาคงกลายเป็นแรงบันดาลใจสำหรับหนังที่มีสาวม้งร้องเพลง "เทพธิดาดอย"อันโด่งดังเมื่อหลายสิบปีก่อน หรือแม้แต่เนื้อเพลง Lover's Concerto ที่ด
อรรถสิทธิ์ เมืองอินทร์
Debate =discussion between people in which they express different opinions about something อ้างจาก